เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากบุกทำเนียบฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ คัดค้านการเพิ่มสลาก ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 90 ล้านฉบับ ชี้นอกจากไม่แพ้ปัญหาสลากแพงแล้ว ยังเป็นการมอมเมาประชาชนหนักข้อ โดยเฉพาะเยาวชนและคนจน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 กันยายนนี้ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายราเมศร ศรีทับทิม ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก พร้อมด้วยนายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และนักเรียน นักศึกษา ชาวบ้าน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนการเพิ่มจำนวนสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 90 ล้านฉบับ จากเดิม 37 ล้านฉบับ เนื่องจากสำนักงานสลากฯ มุ่งแต่จะหาเงินเข้ารัฐ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อปัญหาสังคม ทั้งมอมเมาประชาชน เพิ่มนักพนันหน้าใหม่ ปลูกฝังค่านิยมการเล่นการพนันให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชื่อ “มนุษย์สลาก” โดยนำลอตเตอรี่พันรอบตัว โปรยกระจาย เพื่อสื่อถึงการคัดค้านปริมาณที่มากเกินไป
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว กล่าวว่า จากกรณีสำนักงานสลากฯ มีมติพิมพ์สลากเพิ่มเป็น 90 ล้านฉบับ จากเดิม 37 ล้านฉบับ หรือเพิ่มถึง 53 ล้านฉบับ เพื่อจำหน่ายงวดวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ถือเป็นการพิมพ์สลากเพิ่ม 4 ครั้งในรอบปี ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาตามที่สำนักงานสลากฯ กล่าวอ้าง หากย้อนดูการทำงานของสำนักงานสลากฯ ในรัฐบาลนี้ พบว่าปัญหาสลากแพงยังไม่หมดไป ปัญหาพ่อค้าคนกลางหรือยี่ปั๊ว ยังมีอยู่และเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังสะท้อนชัดเจนว่า ปัจจุบันมีคนไทยซื้อสลากกินแบ่ง 21 ล้านคน เฉลี่ยแล้ว 1 คนจะซื้อสลาก 4.3 ใบ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินควร ซ้ำยังพบสลากค้างแผงจำนวนมาก ผู้ค้ารายย่อยต้องรับภาระเอง และในยุคสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้เกิดบรรยากาศยั่วยุการหวังโชคลาภของประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชน ผ่านช่องทางดังกล่าวรุนแรงมากขึ้นด้วย
นายณัฐพงศ์กล่าวว่า จากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลาก ระบุว่า "เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากฯ และเงื่อนไขสัญญาจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปโดยเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม" แต่ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่เกิดกลับไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด ผลงานที่ได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงที่สุดในปีงบประมาณ 2561 สะท้อนว่ามุ่งหากำไรหรือรายได้จากประชาชน โดยคนซื้อสลากส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย
ด้านนายราเมศร ศรีทับทิม กล่าวว่า แม้สลากจะเป็นการพนันที่ถูกกฎหมาย จัดให้บริการโดยรัฐ แต่ควรควบคุมปริมาณ การเข้าถึง คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม มากกว่าเรื่องของเม็ดเงินที่จะเข้ารัฐ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นมอมเมาให้ประชาชนลุ่มหลงเสพติดการพนัน อีกทั้งวิธีนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสลากแพง มีแต่จะเพิ่มพื้นที่พนัน สร้างความคุ้นชินให้เด็ก เยาวชน หรือกลุ่มเปราะบาง กลายเป็นนักพนันหน้าใหม่ในอนาคต จากข้อมูลผลสำรวจสถานการณ์การเล่นการพนันในสังคมไทย ปี 2560 ของศูนย์ศึกษาการพนัน พบว่า การเพิ่มจำนวนสลากส่งผลทำให้ผู้เล่นเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 19.07 ล้านคนในปี 58 เพิ่มเป็น 21.43 ล้านคนในปี 60 วงเงินพนันเพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 77,143 ล้านบาท เป็น 140,549 ล้านบาท และสลากเป็นประเภทการพนันที่เพิ่มจำนวนนักพนันหน้าใหม่กว่า 4 แสนคน
“เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้ 1.ทบทวนการเพิ่มจำนวนสลากจาก 90 ล้านฉบับ ให้กลับมาอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และสำนักงานสลากฯ ไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่สวนทางกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการลดปัญหาการพนัน เพราะเป็นการส่งสัญญาณที่สับสนให้เด็ก เยาวชนและประชาชน ถึงจุดยืนของรัฐบาลด้วย 2.ที่ผ่านการเพิ่มสลากเข้าสู่ระบบไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายสลากที่ตรงจุด เพราะปัจจุบันยังพบเห็นการขายเกินราคาควบคุมอยู่เกลื่อนเมือง โดยเฉพาะการขายในแบบสลากชุด จึงขอให้พิจารณาการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน รอบคอบ คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน และ 3.ขอเรียกร้องให้กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม มีบทบาทตามเจตนารมณ์ของคำสั่ง คสช.ที่ 11/2558 ให้มากกว่าที่เป็นอยู่" นายราเมศรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |