5ก.ย.61-เลขา สปสช. ชี้แนวคิดให้ประชาชนที่มีรายได้เกิน 1 แสน/ปี ร่วมจ่ายบัตรทอง 10-20 % เป็นเพียงแนวคิดของอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นไปได้น้อย เพราะจะกระทบประเทศ แจงจะทำได้ต้องผ่านความเห็นบอร์ด สปสฃ.ก่อน ชี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องมาคุยกันโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม นพ.สุวิทย์ชี้แนวคิดเก็บเงินผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง10-20%กระทบผู้มีรายได้น้อย-งานวิจัยชี้ชัดทำให้ใช้บริการน้อยลง
จากกรณี มีกระแสข่าว กรมบัญชีกลางมีแนวคิดจะลดสิทธิประชาชนผู้ถือบัตรทอง โดยผู้มีรายได้น้อยยังได้รับสิทธิตามเดิม แต่ให้ประชาชนที่มีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี ร่วมจ่าย 10-20 % เพื่อแบ่งเบาภาระเงินงบประมาณของประเทศในแต่ละปี ซึ่งมีฝ่ายที่ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแนวคิดของอธิบดีกรมบัญชีกลาง ยังไม่เป็นทางการเพื่อเสริมสิทธิผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเรื่องสิทธิของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมาคุยกัน โดยรัฐบาลเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นต้องมองประโยชน์ของประชาชนในภาพรวมให้มากที่สุด โดยการที่จะเสนอเป็นนโยบายนั้นตามขั้นตอนต้องมีการเสนอเรื่องเข้ามาที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งเป็นกรรมการหลักในการพิจารณาว่าจะมีนโยบายในเรื่องนี้ต่ออย่างไร ซึ่งในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในมาตรา 5มีเรื่องร่วมจ่ายอยู่ ทั้งนี้การร่วมจ่ายก็มีหลากหลายวิธีการ เช่นการร่วมจ่ายหน้างานก่อนป่วย การร่วมจ่ายหลังป่วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดดังกล่าว นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ทุกแนวคิดที่เสนอเข้ามามีความเป็นไปได้หมด การพิจารณาจะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิของประชาชนโดยรวม ดังนั้นคิดว่าโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยมาก
เมื่อถามว่าหากมีการร่วมจ่ายดังกล่าวจริง คิดว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ อย่างไร เพราะมีฝ่ายที่กังวลอยู่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า วิธีนี้คิดว่าเป็นวิธีที่ได้ผลน้อยที่สุด คิดว่ามีผลกระทบแน่นอน ซึ่งมีตัวอย่างแล้วในต่างประเทศ เรื่องการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพของประชาชนบางกลุ่ม เพราะมีความกังวล ไม่มั่นใจเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวและค่าใช้จ่ายเท่าไร เพราะแต่ละโรคก็มีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง หากบางโรคมีค่าใช้จ่ายเป็นล้าน หากประชาชนต้องร่วมจ่าย 10 % ต้องจ่ายถึง 1 แสนบาท ก็จะทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าสู่กระบวนการรักษาแม้ว่าจำเป็น ดังนั้นไม่เพียงแต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังส่งผลต่อโรคและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศที่จะมากขึ้น .
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน ให้ความเห็นกรณีเดียวกันว่า ข้อเสนอของกรมบัญฃีกลาง เป็นข้อเสนอที่ดีน้อยที่สุด เนื่องจาก การมองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่เพียงมองในเชิงว่าเป็นสิทธิของประชาชนอย่างเดียว แต่ยังพิสูจน์แล้วว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่าการลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพ 100 บาท จะได้ได้ผลตอบแทน 20 บาท เพราะมีผลที่ได้รับไม่เพียงแค่สุขภาพประชาชน แต่มีผลได้ในเชิงเศรษฐกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ โลจิสติกส์ ฯลฯ
ที่สำคัญคือธนาคารโลกประเมินแล้วพบว่าการที่ไทยลงทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่มีรายได้ระดับล่างสุด 20% มีอำนาจซื้อมากขึ้นทุกปีเพราะไม่ต้องเก็บเงินไว้สำหรับสุขภาพ สามารถเก็บเงินไว้ใช้จ่ายสิ่งของจำเป็นอื่นๆมากขึ้น นอกจากคุณภาพชีวิตดีขึ้นยังทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะที่ประเทศที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ อำนาจการซื้อของคนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ลดลงเรื่อยๆ
“ดังนั้นข้อแรก ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากเป็นสิทธิแล้วยังเป็นการลงทุนด้วย งบประมาณต่างๆที่ใช้ไป ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ไม่ควรมองเป็นภาระงบประมาณ แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าได้ทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ”นพ.สุวิทย์ กล่าว
ประเด็นต่อมาคือ เมื่อมองเป็นการลงทุน ก็เป็นคำถามว่าประชาชนควรร่วมลงทุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการร่วมลงทุนหรือร่วมจ่ายมี 2 ประเภทคือ จ่ายก่อนป่วย และจ่ายหลังป่วย หรือารจ่ายก่อนป่วยก็คือเบี้ยประกัน ขณะนี้มีเพียงประกันสังคมเท่านั้นที่มีเบี้ยประกัน บัตรทองและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไม่มี ถ้าจะมีเบี้ยประกันกับบัตรทอง ก็ควรมีเบี้ยประกันสำหรับสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วย ถ้าให้บัตรทองจ่ายแต่ข้าราชการไม่ต้องจ่าย ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรม และต้องจ่ายอย่างเป็นธรรม ใครรายได้มากก็จ่ายมาก ใครรายได้น้อยก็จ่ายน้อย นี่เป็นหลักการความเสมอภาค ถ้าทำก็ทำให้เหมือนๆกัน
ส่วนการจ่ายหลังป่วย ก็มีการจ่าย 3 แบบ 1. Co-payment หรือเรียกว่าค่าเหยียบแผ่นดิน (Co-payment) เข้าไปใช้บริการก็ต้องจ่ายทันที การจ่ายแบบนี้มีเฉพาะบัตรทอง ส่วนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกับประกันสังคมไม่มีค่าเหยียบแผ่นดิน
2.Deductible หรือจ่ายขั้นต่ำก่อนประกันจ่าย เช่น ค่ารักษา 1,000 บาท ถ้ารักษาไม่เกิน 1,000 ก็จ่ายเต็มตามจำนวนเงินจ่ายจริง แต่ถ้าค่ารักษา 1,500 บาท ก็จ่ายที่เพดาน 1,000 บาท อีก 500 ประกันจ่าย เป็นต้น ขณะนี้ยังกองทุนสุขภาพในเมืองไทยยังไม่มีการจ่ายแบบนี้
3. Co-insurance หรือร่วมประกัน ซึ่งเป็นข่าวในขณะนี้ เช่น ค่ารักษาพยาบาล 100 บาท ประกันจ่าย 90 บาท ผู้ป่วยจ่าย 10 บาท ระบบนี้ดีน้อยที่สุด การวิจัยทั่วโลกรวมทั้งงานวิจัยในประเทศไทยซึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆนี้โดยอาจารย์ อุดมศักดิ์ โง้วศิริ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่าการร่วมจ่ายแบบนี้ทำให้คนใช้บริการน้อยลง โดยที่คนจนหรือคนที่มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่สำคัญคือการไปรับบริการที่น้อยลง เกิดทั้งกับบริการที่จำเป็นและไม่จำเป็น หรือพูดง่ายๆว่ายอมป่วยอยู่บ้านแม้ว่ามีความจำเป็นต้องใช้บริการ
"อย่างไรก็ดี การประหยัดงบประมาณไปได้หลักพันล้านแต่มีผลกระทบทำให้คนระดับล่างเช่น คนที่ไม่มีบัตรคนจน ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ไปใช้บริการทั้งๆที่มีความจำเป็น แบบนี้จะเหมาะสมหรือไม่ และจะมีการแก้ไขผลกระทบอย่างไร นอกจากนี้ ถ้าจะเก็บ 10% จากบัตรทอง ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจะเก็บ 10% เหมือนกันหรือไม่ เพราะฉะนั้นหลักการง่ายๆ คือถ้าจะเก็บก็ต้องเก็บให้ทั่วถึง ทำให้เหมือนกันทั้ง 3 กองทุนและหาทางปกป้องคนยากคนจนให้ได้ ถ้าทำได้ มันก็น่าจะรับการยอมรับ และถ้าจะทำจริงๆ กรมบัญชีกลางควรจะเก็บจากสวัสดิการข้าราชการก่อน เพราะเป็นสิทธิที่กรมบัญชีกลางบริหาร ส่วนประกันสังคมต้องให้กระทรวงแรงงานพิจารณา ขณะที่บัตรทองก็เป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณา แต่ละระบบมีคนรับผิดชอบอยู่”นพ.สุวิทย์ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |