โขนพระราชทาน ตอน "พิเภกสวามิภักดิ์" ยิ่งใหญ่อลังการ สะท้อนเที่ยงธรรมสุจริต


เพิ่มเพื่อน    

การแสดงโขน ชุด พิเภกสวามิภักดิ์ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต

     

     ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดแสดงโขน สมบัติอันล้ำค่าของชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย และฟื้นฟูศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงของชาติ ทำให้การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ แต่ละปีเปิดฉากการแสดงอย่างสวยงามและมีประชาชนเฝ้ารอทุกปี
    ในปี 2561 มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” อันเป็นการสื่อความหมายของความจงรักภักดีและการรักษาความเที่ยงธรรมสุจริต มาจัดแสดงระหว่างวันที่ 3 พ.ย.-5 ธ.ค.2561 โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ย.2561 มีการจัดแสดงโขน ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” องก์ที่ 1 สุบินนิมิตขึ้น ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อโชว์ความพร้อมก่อนจัดแสดงจริง พร้อมแถลงข่าวเตรียมเปิดม่านแสดง

 


    ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” กล่าวว่า ที่มาของการจัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในปี 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 การแสดงโขนซบเซา ไม่มีผู้นิยมมากนักในสังคม ผู้คนตื่นเต้นกับการแสดงที่ทันสมัย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใน ร.9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบสานและอนุรักษ์โขนอีกทางหนึ่ง ทรงเริ่มจากการแต่งหน้าตัวละครชายและหญิงให้แตกต่างกันชัดเจน ต่อมาสนพระทัยการแต่งกายงดงามเช่นในอดีต นำมาสู่การศึกษา ค้นคว้า ทรงสนับสนุนให้นักเรียนศิลปาชีพฯ ฝึกงานด้านช่าง ทั้งช่างปัก ช่างทอ ช่างหัวโขน รวมถึงช่างวาดเขียน ช่างแกะสลัก เป็นที่มาของเครื่องแต่งกายโขนและฉากที่อลังการ
    "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รับสั่งคนไทยมีสายเลือดความเป็นช่าง หากมีช่องทางฝึกฝน แสดงออกจะพัฒนาได้เร็ว จากการแสดงโขนพระราชทาน ทำให้ผ้ายกเมืองนครฯ ฟื้นฟูกลับมา เครื่องแต่งกายตัวละครเอกเป็นผลงานของนักเรียนศิลปาชีพอ่างทอง, สิงห์บุรี, อยุธยา, ราชบุรี, กาญจนบุรี และสกลนคร โดยมีครูผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาดูแล ถ่ายทอดความรู้โดยไม่หวงวิชา ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทย เกิดนักแสดงรุ่นใหม่ๆ ก้าวขึ้นมา ทรงทำให้โขนอยู่คู่แผ่นดินไทย ทรงปลื้มพระทัยที่มีผู้ชมทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงวัย ช่วยให้สถาบันครอบครัวอบอุ่น" ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ กล่าว

 

ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา


    ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดการแสดงโขนรามเกียรติ์ 7 ตอนด้วยกัน ได้แก่ ชุด “ศึกพรหมาศ” ในปี 2550 และ 2552, ชุด “นางลอย” ในปี 2553, ชุด “ศึกมัยราพณ์” ในปี 2554, ชุด “จองถนน” ในปี 2555, ชุด “ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์” ในปี 2556, ชุด “ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ” ในปี 2557 และชุด “ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ” ในปี 2558 ปีนี้ทางมูลนิธิฯ เลือกแสดงตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ขึ้น มีนักแสดงกว่า 300 ชีวิตร่วมการแสดง
    อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง กล่าวว่า การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ ได้นำบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ฉบับต่างๆ อาทิ บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 6 และบทโขนของกรมศิลปากรที่เคยจัดแสดงมาประมวลในส่วนที่มีชั้นเชิงในการแสดง และความไพเราะของบทเพลงมาเรียงร้อยปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็นตอนต่างๆ ได้แก่ องก์ที่ 1 สุบินนิมิต ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พิเภกถูกขับ, ตอนที่ 2 พิเภกลาชายาและธิดา, ตอนที่ 3 เนรเทศ และองก์ที่ 2 ประกอบด้วย ตอนที่ 1 พบนิลเอก, ตอนที่ 2 สวามิภักดิ์, ตอนที่ 3 มณโฑทูล ตัดศึก, ตอนที่ 4 สนามรบ และตอนที่ 5 แก้หอกกบิลพัท โดยที่ผู้ชมจะได้ชมการแสดงที่ยังคงความวิจิตรและกระบวนท่ารำตามแบบฉบับโขนหลวงไว้อีกด้วย

     "ตอน พิเภกสวามิภักดิ์ แสดงถึงคุณธรรมของพิเภก ประชาชนอยากดู และมีคำถามมากว่า พิเภกเป็นยักษ์ ทำไมมาอยู่ข้างพระราม การมาดูโขนตอนนี้จะได้คำตอบ บทพระราชนิพนธ์ทั้ง 3 ฉบับ วิธีเนรเทศพิเภกจากกรุงลงกาจะต่างกัน รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 6 เหาะไป แต่การแสดงครั้งนี้ใช้บทพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 2 พิเภกลงสำเภาไป ก็เป็นบทที่ผู้ชมไม่เคยเห็นและสวยงาม ครั้งนี้นับเป็นฉากสำคัญ การบรรจุเพลงก็ทำด้วยความประณีต ได้นำการขับร้องเพลงวาซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ใกล้จะสูญหาย เป็นงานของคุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ ใช้แทนเพลงร้องช้าปี่ของเดิม รวมถึงเพลงสาธุการ นำมาแสดงด้วย ขณะที่การแสดงมีครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายยักษ์ ฝ่ายลิง ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติร่วมฟื้นฟูกระบวนท่าและประดิษฐ์ท่ารำ ทำของเก่าให้มีความงดงามมากขึ้น" อาจารย์ประเมษฐ์ กล่าว 

 


 อาจารย์ประเมษฐ์ บุณยะชัย ผู้กำกับการแสดง 

     

     สำหรับการแสดงโขนพระราชทานครั้งนี้ ได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกรุ่นใหม่เมื่อปี 2559 เพื่อร่วมการแสดงอันยิ่งใหญ่ โดยคัดเลือกจากนักเรียน นักศึกษา ทั้งจากวิทยาลัยนาฏศิลป และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกันมาร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมชาติ ซึ่งจัดให้มีคัดเลือกนักแสดง จำนวน 5 ตัวละคร คือ โขนพระ มีผู้สมัคร 73 คน ละครพระ มีผู้สมัคร 198 คน ละครนาง มีผู้สมัคร 204 คน โขนยักษ์ มีผู้สมัคร 137 คน และโขนลิง มีผู้สมัคร 160 คน รวมทั้งสิ้นมีผู้สมัคร จำนวน 772 คน ซึ่งแต่ละประเภทตัวละครจะมีเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกเพียง 5 คน รวมจำนวน 25 คน สำหรับปีนี้มีตัวละครโขนยักษ์ได้คะแนนเท่ากันในลำดับที่ 5 จึงมีผู้ที่ได้รับคัดเลือกและรับทุนการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 26 คนจากผู้สมัครทั้งหมด 

 

เรือสำเภา หนึ่งในฉากสำคัญเนรเทศพิเภกจากกรุงลงกา


    ภายในงานแถลงข่าวจากนางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ยังประกาศความพร้อมของสถานที่จัดแสดงโขนพระราชทาน โดยหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมฯ ซึ่งมีระบบแสง สี เสียง เป็นเลิศในระดับอาเซียน การแสดงโขนจะยิ่งใหญ่ตระการตาอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน สวธ.ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เผยแพร่ศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโขน เป็นการนำงานวิจิตรศิลป์ให้ต่างชาติได้ชื่นชมและรับรู้เอกลักษณ์ไทย

 


    

     สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา โทร.0-2262-3456 หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 420, 620, 820, 1,020, 1,520 และ 1,820 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 220 บาท (หยุดการแสดงทุกวันจันทร์)

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"