สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ทีโออาร์สนามบินสุวรรณภูมิฉบับใหม่ ควรคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก กระทุ้งรัฐเปิดกว้างการทำดิวตี้ฟรี ดันเมืองไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง และสร้างเม็ดเงินในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบสัมปทาน โครงสร้างการกำกับดูแล รูปแบบการส่งมอบสินค้าปลอดอากร และระยะเวลาการได้รับสัมปทานที่จะใช้ในประเทศไทย จะช่วยให้เกิดการแข่งขันที่ดีขึ้น และขับเคลื่อนผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกในสนามบินให้สร้างแนวคิดการค้าปลีกใหม่ รวมถึงยกระดับมาตรฐานการเสนอขายสินค้าและบริการ ส่งผลให้ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากสินค้าที่หลากหลายกว่าเดิม ราคาที่แข่งขันได้ และบริการที่ดีขึ้น
ขณะที่จากการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการท่าอากาศยาน ระบุว่าสัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิ กำลังอยู่ระหว่างทีโออาร์ ซึ่งจะผนวกรวมพื้นที่เทอร์มินอลหนึ่งที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2563 และเทอร์มินอลสอง ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในปลายปี 2563 และสถานีแซทเทอร์ไลท์แล้วเปิดประมูลให้ผู้รับสัมปทานรายเดียวแบบเดิมคือ Master concession เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการของ ทอท. มองว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง การท่าฯควรคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นอันดับหนึ่ง การบริหารจัดการไม่ควรมาเป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขการประนีประนอมผลประโยชน์ของชาติ การบริหารจัดการเป็นเรื่องฝีมือของผู้บริหารที่จะต้องสร้างผลประโยชน์ชาติสูงสุด
“ทีโออาร์ฉบับต่อไปควรเน้นผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ การทำดิวตี้ฟรีต้องเปิดกว้าง อย่างในต่างประเทศบางแห่งแบ่งตามหมวดที่ผู้ประกอบการนั้นๆ มีความถนัด จึงอยากให้ทีโออาร์ฉบับใหม่ต่อประเทศชาติมากที่สุด เราไม่ควรประนีประนอมกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ และผลประโยชน์ของนักท่องเที่ยวที่จะได้รับด้วย ความฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง หรือ Thailand Shopping Paradise คงไม่ไกลจากความเป็นจริง ขณะเดียวกัน AOT ก็จะเป็นสมบัติชาติที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ” นายวรวุฒิ กล่าว
สำหรับในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีร้านค้าในลักษณะ VAT Free แต่ไม่เต็มรูปแบบ ร้านค้าในไทยถูกกำหนดให้เป็นร้านค้า VAT Refund for Tourist ซึ่งผู้บริโภคจะต้องนำเอกสารไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จุดให้บริการในสนามบิน เมื่อได้รับคืนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้จ่ายในสนามบินมากนัก เพราะมีเวลาช้อปปิ้งเหลือน้อย แต่หากต้องการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการจับจ่าย ก็สามารถกำหนดให้ร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ VAT Free Shop โดยกำหนดให้ร้านค้าขายสินค้าในราคาไม่รวม VAT หรือ ถ้าขายในราคารวม VAT นักท่องเที่ยวก็สามารถขอคืน VAT ได้ในวันที่ซื้อ ณ จุดขายทันที
ดังนั้น ภาครัฐก็ต้องส่งเสริมให้มีดำเนินการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มในเมืองได้อย่างเสรี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยว รวมทั้งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อสินค้าในร้านค้าดังกล่าว โดยเพียงแสดงเอกสารตามกฎระเบียบของกรมศุลกากรที่จุดบริการภายในบริเวณสนามบิน เหมือนหลายๆ ประเทศในทวีปยุโรป หากภาครัฐสามารถเพิ่มมาตรการส่งเสริมให้มีเปิดร้านค้าปลอดอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มในเมือง (Duty & Tax Free Down Town Shop) เพิ่มขึ้น และมีร้านค้าปลอดภาษี (VAT Free Shop) ระบบที่ร้านค้าสามารถคืนเงินภาษีให้กับนักท่องเที่ยวได้ทันที ณ จุดขายเปิดให้บริการอย่างทั่วถึง ก็จะเป็นแรงจูงใจนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวและช้อปปิ้งในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของ ททท. ระบุว่านักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทยใช้จ่ายเงินวันละ 4,000 กว่าบาทต่อคน และใน 4,000 บาท ประกอบด้วยค่าโรงแรม ค่าอาหาร เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้มีค่าช้อปปิ้ง 1,200-1,500 บาทเท่านั้น ควรเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกจับจ่ายใช้สอยมากกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |