ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ชง สนช.พิจารณา คาดเลือกตั้งท้องถิ่นหลังเลือกตั้ง ส.ส. เหตุต้องทิ้งช่วง 90 วัน จ่อเลือก 40 จว.ที่ไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ก่อน เผยเนื้อหาติดดาบ กกต. ตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้งโดยไม่ต้องมีร้องเรียน เพิกถอนสิทธิ์ได้ 1 ปี คุณสมบัติผู้สมัครเข้มห้ามมีชนักติดหลัง ยังไม่แตะปม ส.ข. แต่รอ มท.ตัดสินใจอีกครั้งจะยังมี ส.ข.อีกหรือไม่
เมื่อวันอังคาร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับว่า เรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำด้วยกัน มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหาทั้งหมดจะส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาในหลายจุด เพราะเราไม่อยากแก้อะไรตอนนี้ และการเลือกตั้งท้องถิ่นคงเป็นไปได้ยากที่จะเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่กำหนดไว้วันที่ 24 ก.พ.62 เนื่องจากอาจต้องใช้เวลาพิจารณาใน สนช. 3 เดือน และต้องเผื่อเวลาการทูลเกล้าฯ ถวายกฎหมายอีกประมาณ 2-3 เดือน เบ็ดเสร็จแล้ว 5-6 เดือน จะจบประมาณ ม.ค.62 ซึ่งมันจะใกล้กับการเลือกตั้งระดับชาติ
"ซึ่งจากการพูดคุยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ กกต.ได้ขอให้ทิ้งระยะเวลาห่าง 90 วัน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้งใหญ่ พร้อมทั้งขอให้แบ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกประมาณ 40 จังหวัด ที่ไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จากนั้นค่อยจัดการเลือกตั้งในจังหวัดที่เหลือ" นายวิษณุกล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ครม.พิจารณากฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ คสช.เป็นห่วงหรือไม่ว่า จะเป็นห่วงเรื่องอะไร เรื่องนี้ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสนช. เพียงแต่ต้องเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนหรือหลังเลือกตั้งใหญ่ 3 เดือน ซึ่งน่าจะเลือกตั้งหลังเลือกตั้งใหญ่
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในรายละเอียดมีการปรับเรื่องคุณสมบัติให้เข้มข้นขึ้น มุ่งสกัดการทุจริต อะไรล้าหลังแล้วก็ปรับออก เหลือขั้นตอนรอส่งให้ สนช.พิจารณา ในส่วนของ กทม. ประเด็น ส.ข. ซึ่งยึดตามร่างกฎหมายล่าสุด จะไม่มี ส.ข. แต่ภายหลังจากที่กทม.ปฏิรูปกฎหมายแล้ว ถึงจะรู้ว่ามี ส.ข.อีกหรือไม่ ส่วนกำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น เมื่อโรดแมปเลือกตั้งระดับประเทศเป็นอย่างนี้ ถ้ามีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนจะวุ่นวายมาก เพราะต้องใช้เวลาเตรียมการ ซึ่ง กกต.ก็ต้องดูเลือกตั้งปี 2562 ก่อน ส่วนที่เคยพูดกันว่าจะมีเลือกตั้งถ้องถิ่นก่อนเลือกตั้งทั่วไป เป็นเพียงการคาดการณ์กันไปเอง
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายกลาง เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น 1 ฉบับ ส่วนอีก 5 ฉบับเป็น พ.ร.บ.ที่ลงรายละเอียดการเลือกตั้งในแต่ละระดับ อาทิ สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 1 ฉบับ เทศบาล 1 ฉบับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ฉบับ กรุงเทพมหานคร(กทม.) 1 ฉบับ และเมืองพัทยา 1 ฉบับ โดยสาระสำคัญของกฎหมาย สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 252 กำหนดว่า ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ในกรณีที่เป็น อปท.รูปแบบพิเศษ จะมาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และสอดคล้องกับกฎหมายที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย
โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ตามกฎหมายเดิม การจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น อปท.จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่กฎหมายฉบับใหม่ระบุให้ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบ แต่สามารถมอบให้ อปท.หรือกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ 2.ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในส่วนของ ส.ข.ในพื้นที่ กทม. ยังคงมี ส.ข.อยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่าในเวลานี้ ส.ข.ทุกเขตหมดวาระทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง โดยต้องรอการตัดสินใจจาก มท.อีกครั้งว่าจะยังให้มี ส.ข.อยู่หรือไม่ ต้องมีการร่างกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว ในวันข้างหน้า 3.การได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด 4.กกต.สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมในเชิงรุก โดยมีสิทธิในการตรวจสอบเมื่อได้รับข้อมูล ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอให้มีคนมาร้องเรียน จากเดิมที่ต้องรอให้มีผู้มาร้องเรียนก่อน
5.มีการแก้คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีที่มีผลประโยชน์ยึดโยง หรือมีชนักติดหลัง โดยมีการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในส่วนนี้ได้ โดยยังคงมีวาระ 4 ปีเช่นเดิม กำหนดหน้าที่ของ อปท.แต่ละแห่งเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้ขัดกับกฎหมายของหน่วยงานอื่น จากเดิมที่มีบางข้อกฎหมายที่ยังไม่ลงตัวระหว่าง อปท.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมให้อำนาจ อปท.ในการดูแลจัดการจราจร โดยต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่โรงพักและสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ โดยเราจะกำหนดหน้าที่ของ อปท.ให้สามารถจ่ายงบประมาณสำหรับดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ต้องเป็นรายการที่ มท.ได้ออกระเบียบไว้แล้ว
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ลำดับต่อไปคือการส่งไปให้ สนช.พิจารณาภายในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน และภายในเดือน พ.ย.จะแล้วเสร็จ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการทั้งหมดในเดือน ก.พ. อาจจะพอดีกับโรดแมปที่ระบุวันเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.2561 มีข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้ระหว่าง กกต.ชุดเก่าและชุดใหม่ ซึ่งพวกเขาอยากให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมีระยะห่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ 3 เดือน เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมการ แต่คงไม่สามารถจัดทีเดียวพร้อมกันทั้งประเทศได้ แต่ต้องมีการแบ่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรกมีประมาณ 40 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งไปจากเดิม ในส่วนของจังหวัดที่เหลือที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งนั้น จะจัดขึ้นตามมา
“เดิมกำหนดให้ กกต.มีสิทธิเพิกถอนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังการประกาศผล แต่กฎหมายฉบับนี้ระบุว่าช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริต กกต.สามารถเพิกถอนสิทธิได้ 1 ปี แต่ถ้าหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต.พบข้อมูล ยืนยันได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง กกต.มีสิทธิเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมกำหนดให้ผู้ทุจริตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย” พล.ท.สรรเสริญ ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |