คุก7ปี2นักข่าวเมียนมาคุ้ยฆ่าโรฮีนจา


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลเมียนมาสั่งจำคุกคนละ 7 ปีสองนักข่าวรอยเตอร์ขุดคุ้ยฆ่าหมู่ "โรฮีนจา" ระบุมีความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายความลับทางราชการ เรียกเสียงประณามจากนานาชาติ-แอมเนสตี้ ชี้เป็นการแทรกแซงและบั่นทอนเสรีภาพสื่อมวลชน จี้ปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข ขณะที่ 2 นักข่าวหัวเห็ดลั่น! ไม่ได้ทำผิด-ไม่กลัว จับเข้าคุกได้แต่อย่าปิดหูปิดตาประชาชน 
    สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กันยายน 2561 ศาลแขวงซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของนครย่างกุ้งมีคำพิพากษาคดีที่ได้รับการจับตามองจากทั่วโลก โดยผู้พิพากษา เย ลวิน  ตัดสินว่า วา โลน อายุ 32 ปี และจ่อ โซ อู อายุ 28 ปี มีความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายความลับของทางราชการ มาตรา 3.1 ซี และตัดสินจำคุกจำเลยทั้งสองรายละ 7 ปี โดยโทษจำคุกจะหักจำนวนวันที่ทั้งคู่โดนคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2561 และจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลระดับภาคและศาลฎีกาได้
     นักข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมา 2 รายนี้ปฏิเสธความผิด โดยให้การต่อศาลว่าพวกเขาโดนจัดฉากจับกุม เนื่องจากพวกเขากำลังสืบเหตุการณ์ฆ่าชาวมุสลิมโรฮีนจา 10 คนในหมู่บ้านอินดิน รัฐยะไข่ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วพวกเขาเดินทางไปที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง เพื่อรับประกันอาหารค่ำตามคำเชิญของตำรวจ 2 นาย จากนั้นก็ได้รับมอบเอกสารเหล่านี้ เมื่อพวกเขาออกจากร้านอาหารก็โดนตำรวจเข้าจับกุมทันที
     ตำรวจนายหนึ่งเคยให้การในฐานะพยานว่า การพบกันที่ร้านอาหารนั้นเป็นการจัดฉากเพื่อวางกับดักนักข่าวคู่นี้ เพื่อขัดขวางหรือลงโทษที่พวกเขารายงานข่าวการฆ่าหมู่ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่
     รอยเตอร์เปิดเผยว่า ภายในห้องพิจารณาคดีเมื่อวันจันทร์ มีผู้เข้าฟังการอ่านคำพิพากษาไม่ต่ำกว่า 50 คน และอีกจำนวนมากรออยู่ด้านนอก ผู้พิพากษาใช้เวลาอ่านสำนวนคำให้การฉบับย่อของพยานเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง ก่อนจะมีคำพิพากษาว่า "เอกสารลับ" ที่พบอยู่กับจำเลยทั้งสองนั้นเป็นประโยชน์ต่อรัฐข้าศึกศัตรูและองค์กรก่อการร้าย เอกสารที่ทั้งคู่ครอบครองไว้และที่พบในโทรศัพท์ของพวกเขานั้นไม่ใช่ข้อมูลของสาธารณะ
     ระหว่างที่ผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินนั้น นักข่าวหลายคนจดบันทึกทั้งน้ำตา ส่วนนางชิต ซู วิน  ภรรยาของจ่อ โซ อู ร้องไห้โฮหลังฟังคำตัดสิน คนในครอบครัวต้องช่วยพยุงเธอตอนออกจากศาล
     เมื่อถูกนำตัวออกจากศาล จ่อ โซ อู กล่าวกับกองทัพนักข่าวที่รอด้านนอกว่า เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และพวกเขาจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพต่อไป "สิ่งที่ผมอยากบอกต่อรัฐบาลนี้คือ คุณจับพวกเราขังคุกได้ แต่อย่าได้ปิดหูปิดตาประชาชน" 
     ด้านวา โลน ได้จับมือกับผู้สนับสนุนหลายคนและบอกพวกเขาว่าไม่ต้องเป็นห่วง "เรารู้ว่าเราทำอะไรลงไป เรารู้ว่าเราไม่ได้ทำผิด เราไม่กลัว เราเชื่อในความยุติธรรม ประชาธิปไตย และเสรีภาพ" เขากล่าว
     กลุ่มปกป้องเสรีภาพสื่อ, องค์การสหประชาชาติ, สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และออสเตรเลีย ต่างเรียกร้องให้พวกเขาพ้นจากข้อกล่าวหา 
      ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติเพิ่งออกรายงานระบุว่า กองทัพเมียนมาและพวกผู้บัญชาการทหาร ซึ่งรวมถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้รณรงค์ "ล้างเผ่าพันธุ์" และ "ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ 
    พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศนำตัวพวกเขามาดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศ รายงานนี้ยังโจมตีนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาโดยพฤตินัยด้วยว่า ไม่ใช้อำนาจทางศีลธรรมที่มีในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อชนกลุ่มน้อยที่มีสถานะไร้รัฐเหล่านี้
    ภายหลังคำตัดสินดังกล่าว นายสตีเฟน เจ. แอดเลอร์ บรรณาธิการสำนักข่าวรอยเตอร์ ต้นสังกัดของนายวา โลน และนายจ่อ โซ อู ออกแถลงการณ์ว่า วันนี้เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับเมียนมา สำหรับนักข่าวรอยเตอร์ทั้งสอง และสำหรับเสรีภาพสื่อทุกๆ ที่ ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเท็จ มีเจตนาเพื่อปกปิดการรายงานข่าวสารและข่มขู่สื่อมวลชน ดังนั้นรัฐบาลเมียนมาควรจะเร่งแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวโดยเร็ว
     สหภาพยุโรป หรืออียู ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ซึ่งเพิ่งถูกตัดสินจำคุกคนละ 7 ปี โดยชี้ว่าคำตัดสินดังกล่าวเป็นการบั่นทอนเสรีภาพสื่อ ปิดกั้นสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน อีกทั้งยังขัดต่อหลักนิติธรรม โดยทางการเมียนมาควรทบทวนคำตัดสินจำคุกใหม่ และปล่อยตัวนักข่าวทั้ง 2 ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
    ขณะที่โฆษกประจำนายกรัฐมนตรี นางเทเรซา เมย์ ได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อสื่อมวลชนว่า เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเมียนมาซึ่งร่วมรับฟังคำพิพากษารู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อคำตัดสิน
      "พวกเราจึงขอเรียกร้องให้ทางการเมียนมาปล่อยตัวนักข่าวรอยเตอร์ทั้งสองคนทันที ผู้สื่อข่าวต้องได้รับเสรีภาพในการทำงานโดยไม่มีความหวาดกลัวหรือถูกข่มขู่ ในขณะที่คำตัดสินดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซงเสรีภาพของสื่อในเมียนมา" โฆษกนายกฯ อังกฤษกล่าว 
    ทางด้าน ทีรานา ฮัสซัน ผู้อำนวยการฝ่ายรับมือภาวะวิกฤติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยหลังจากที่ศาลกรุงย่างกุ้งพิพากษาว่าสองนักข่าวรอยเตอร์มีความผิด ฐานละเมิดกฎหมายความลับทางราชการของเมียนมา และต้องถูกจำคุกเป็นเวลา 7 ปี ว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมากจากคำพิพากษาที่เป็นเหตุให้ "วา โลน" และ "จ่อ โซ อู" ผู้บริสุทธิ์ทั้งสองคนต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลาหลายปี เพียงเพราะเขากล้าตั้งคำถามท้าทายเกี่ยวกับความทารุณโหดร้ายของกองทัพในรัฐยะไข่ แอมเนสตี้เรียกร้องให้ยกเลิกคำตัดสินนี้ และต้องปล่อยตัวนักข่าวทั้งสองคนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
    "คำพิพากษาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสรีภาพสื่อในเมียนมา เป็นการส่งสัญญาณเตือนอย่างหนักหน่วงต่อผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ ในประเทศว่า พวกเขาอาจต้องได้รับผลกรรมร้ายแรงหากให้ความสนใจมากเกินไปกับการปฏิบัติมิชอบของกองทัพ ถือเป็นการทำให้นักข่าวหวาดกลัวและเซ็นเซอร์โดยบังคับ"
    คำพิพากษาในวันนี้ไม่สามารถปกปิดความจริงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ได้ ต้องขอบคุณการทำงานที่กล้าหาญของนักข่าวอย่างวา โลน และ จ่อ โซ อู ที่ทำให้โลกได้รับรู้ถึงความทารุณโหดร้ายของกองทัพ  แทนที่จะพุ่งเป้าโจมตีผู้สื่อข่าวทั้งสองคน ทางการเมียนมาควรเดินหน้าสอบสวนหาผู้รับผิดชอบต่อการสังหาร การข่มขืนกระทำชำเรา การทรมาน และการเผาบ้านเรือนหลายร้อยหมู่บ้านของชาวโรฮีนจา" ทีรานากล่าว 
    ทั้งนี้ วา โลน และ จ่อ โซ อู ถูกจับที่กรุงย่างกุ้ง เมืองเอกของเมียนมา เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560  โดยพวกเขาอยู่ระหว่างการทำข่าวเชิงสืบสวนปฏิบัติการทางทหารทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามองค์ประกอบกฎหมายระหว่างประเทศ ที่กระทำต่อชาวโรฮีนจา ทั้งการเนรเทศ การสังหารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การข่มขืนกระทำชำเรา การทรมาน  การเผาบ้านเรือนและหมู่บ้าน 
    ผู้สื่อข่าวทั้งสองคนถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลาสองสัปดาห์ ก่อนจะถูกส่งตัวมาฝากขังที่เรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้ง พระราชบัญญัติความลับทางราชการเป็นหนึ่งในกฎหมายเผด็จการของเมียนมา ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 14 ปี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"