รื้ออนุคตช.ปราบโกงเล็งอยู่ถาวร


เพิ่มเพื่อน    

    คตช.ยกเครื่องอนุปราบโกง ตั้งรองนายกฯ คุมขับเคลื่อน เล็งหากลไกรองรับเป็นองค์กรถาวร ไม่โดนยุบหลังรัฐบาลหมดวาระ "สุเทพ" ดอดแจง ป.ป.ช.ปมจำนองที่ดินสมุยทุนทำ กปปส. "น้องแบม" ยื่นใบสมัคร ป.ป.ท.ขอนแก่นแล้ว องค์กรต้านคอร์รัปชันแนะตีความธรรมาภิบาลใหม่
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ  (คตช.) แถลงผลการประชุม คตช. ครั้งที่ 1/2561 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธาน คตช.มอบหมายให้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน คตช.เป็นประธานการประชุมแทนว่า ที่ประชุมมีการรับทราบการดำเนินงานของ คตช.ที่ผ่านมา โดยคณะที่ 1 อนุกรรมการด้านปลูกฝังจิตสำนึกได้แจ้งผลงาน โครงการโตไปไม่โกง เพื่อปลูกสร้างคุณธรรมที่เข้มแข็งให้เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับรางวัลระดับเอเชีย ในด้านการนำการตลาดเข้ามาเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสังคม
    คณะที่ 2 อนุกรรมการด้านการป้องกันการทุจริต ได้เสนอผลงานในการลดโอกาสการทุจริต และขับเคลื่อนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 คณะที่ 3 อนุกรรมการปราบปรามการทุจริตได้เสนอผลการดำเนินการในคดีต่างๆ อาทิ คดีคลองด่านที่มีการรื้อฟื้นจนศาลปกครองกลางสามารถพิจารณาคดีนี้ใหม่อีกครั้งได้ ยังมีคดีเงินทอนวัด  คดีจำนำข้าว ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการชุดนี้ยังได้ดำเนินการจัดทำปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ แบบบูรณาการมาตราส่วน 1:4,000 เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้รอการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ
    ส่วนคณะที่ 4 อนุกรรมการด้านการประสานงานข้อตกลงคุณธรรม ได้ดำเนินการให้มีผู้สังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างส่วนราชการกับผู้ประกอบการ ตั้งแต่กระบวนการจัดทำเอกสารประกวดราคาจนถึงขั้นตอนส่งมอบงาน ซึ่งถือเป็นข้อตกลงคุณธรรม หากเห็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องในขั้นตอนใดสามารถแจ้งให้คณะอนุกรรมการทราบเพื่อปรับปรุงแก้ไขได้ต่อไป โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้สามารถดำเนินการประหยัดงบในการจัดซื้อจัดจ้างได้ 21,800 ล้านบาท ใน 79 โครงการที่เข้ามาร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ ทั้งในส่วนราชการรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 11 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 68 แห่ง ทั้งนี้จะมีการยกระดับค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศ (CPI) ของประเทศไทย จากเดิมปีที่ผ่านมาเราได้ 37 เต็ม 100 ซึ่งเป็นลำดับที่ 96 จาก 180 ประเทศ
ยกเครื่องทีมปราบโกง
    "การดำเนินครั้งต่อไปของ คตช.นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงและตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มขึ้น โดยคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ด้านการปราบปรามการทุจริตจะมีความเข้มข้นขึ้น โดยจะให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนงานในด้านนี้ และตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นใหม่ ชื่อคณะอนุกรรมการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านทุจริต เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้เด่นชัดเป็นรูปธรรม ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะต้องมาทำงานร่วมกันและคิดร่วมกัน รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดติดตามการดำเนินการตามมติ คตช.เพื่อติดตามการปฏิบัติงาน ขณะที่การทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ที่แม้ไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการ แต่มีคณะทำงานชุดย่อยที่อยู่ในฝ่ายเลขานุการ ป.ป.ท.จะทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยคอร์รัปชัน" พ.ท.กรทิพย์ระบุ
    นอกจากนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนใน คตช.ได้เสนอว่าจะทำอย่างไรให้กลไกการแก้ไขปัญหาการทุจริตของ คตช.มีอยู่ต่อไปอย่างถาวร ไม่หมดหน้าที่หรือถูกยุบไปพร้อมกับรัฐบาลเมื่อหมดวาระ แต่ตั้งให้เป็นองค์กรตามกฎหมายที่มีสถานะมั่นคงและถาวร
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ โพสต์ภาพนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลเพื่ออะไร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า นายสุเทพได้เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนพิษณุโลก ซึ่งอยู่ติดกับศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.เดิม) ตรงข้ามทำเนียบฯ เพื่อให้ถ้อยคำต่อคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำนองที่ดินบนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 25 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นทุนประเดิมตั้งเวที กปปส.เมื่อช่วงเดือน พ.ย.56     
    โดยในการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหลังพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. นายสุเทพมีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ตั้งข้อสังเกตว่า หนี้สินก้อนหนึ่งที่มาจากการจำนองที่ดินเกาะสมุยจำนวน 25 ล้านบาทนั้น ไม่ได้เป็นการซื้อขายจริง รวมทั้งราคาจำนองที่ดินเกินจริง โดย ป.ป.ช.อาจพบความผิดปกติในการแสดงบัญชีทรัพย์สินหลังพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ดังกล่าว จึงได้ตั้งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงขึ้นมา และได้ให้นายสุเทพมาให้ถ้อยคำอย่างละเอียดในวันดังกล่าว
    ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 4 ขอนแก่น น.ส.ปณิดา  ยศปัญญา หรือน้องแบม บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ที่ออกมาเปิดโปงการทุจริตโครงการเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ป่วยโรคเอดส์ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เดินทางเข้ายื่นใบสมัครและเอกสารประกอบการสมัครงานกับนายทองสุข ณ พล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขตพื้นที่ 4 ขอนแก่น  
    นายทองสุขกล่าวว่า วันนี้เป็นเพียงการรับใบสมัครของน้องแบม เพื่อดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการในการรับเข้าทำงานที่ ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น โดยหลังจากที่ ป.ป.ท.เขต 4  ขอนแก่น รับใบสมัครและเอกสารประกอบการสมัครเข้าทำงานแล้ว จะทำการส่งต่อไปยัง ป.ป.ท.ส่วนกลางเพื่อให้ได้พิจารณาตำแหน่ง 
น้องแบมสมัคร ปปท.แล้ว
    ด้านน้องแบมกล่าวว่า ขอบคุณผู้ใหญ่ทุกคนที่มอบโอกาสเข้าทำงานเป็นข้าราชการตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก โดยได้มายื่นใบสมัครตามระเบียบของทางราชการ ยืนยันว่าจะตั้งใจทำงานและยึดอุดมการณ์ความถูกต้องเช่นเดิมเพื่อตอบแทนประเทศชาติต่อไป
    ขณะที่ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวว่า เขตจะส่งต่อมายัง ป.ป.ท.ส่วนกลางเพื่อให้ประเมิน ก่อนส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อหารือว่า ก.พ.จะใช้วิธีการแบบไหน เช่นให้สอบข้อเขียนหรือสอบสัมภาษณ์ โดยอยู่ในส่วนของกระบวนการคัดสรร ไม่ใช่การสอบคัดเลือก โดยกระบวนการทั้งหมดช้าสุดไม่เกินสิ้นปีนี้ ซึ้งขณะนี้มีตำแหน่งว่าง 2 ตำแหน่ง คือ นักสืบสวนสอบสวน และนักวิชาการยุทธศาสตร์
    ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ในงานสัมมนาวิชาการครบรอบ 20 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า  มีการจัดเสวนาเรื่อง "ธรรมาภิบาลในศตวรรษที่ 21: แนวคิดสู่การปฏิบัติในสังคมไทย" โดยมีนายปกรณ์  นิลประพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร., นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย และ น.ส.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าร่วมเสวนา
       นายปกรณ์กล่าวว่า หลักธรรมาภิบาลนั้นคือเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นเราควรเน้นเรื่องการสร้างและการพัฒนาคนให้มีจิตสำนึก ให้สิ่งเหล่านี้อยู่ในใจ รวมทั้งเรื่องความโปร่งใสซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้เห็นปัญหาและรู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงพยายามเปิดไฟให้ทุกระบบ เพื่อให้เห็นถึงเรื่องที่เป็นปัญหา ในมาตรา 59 เรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ได้เป็นความลับราชการ  มาตรา 76 การบริหารบ้านเมืองที่ดี และปัจจุบันเราพยายามทำเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานราชการทุกหน่วยงานทั้งหมด และเปิดสู่สาธารณะเพื่อป้องกันการทุจริต ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งทำเรื่องนี้
        นายมานะกล่าวว่า ปัญหาคือธรรมาภิบาลไม่มีความหมายที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้มองว่าการใช้ธรรมาภิบาลนั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดการสละอำนาจในการใช้ดุลยพินิจส่วนตัว สู่กระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และทำให้เกิดการตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ส่วนรวม  เพราะกฎหมายสามารถตีความออกซ้ายหรือขวาได้ ดังนั้นควรมีเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลและการตรวจสอบจากสังคมเข้ามาช่วย แต่สิ่งที่ทำลายหลักธรรมาภิบาลในบ้านเรามาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.อภิสิทธิ์ชน  2.อุปถัมภ์ 3.อำนาจนิยม ซึ่งสร้างปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลแล้วยังเอื้อให้เกิดการทุจริต ทั้งนี้เราต้องตีความหลักธรรมาภิบาลเพื่อสร้างบรรทัดฐานธรรมาภิบาลขึ้นมาใหม่ 
    น.ส.ถวิลวดีกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคำว่าธรรมาภิบาลอยู่ 2 คำ ซึ่งธรรมาภิบาลจะเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้ง และทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม แต่ในขณะนี้สังคมยังเดินไปไม่ถึงประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งขณะนี้คิดว่าเราเดินถูกทางแต่ยังเดินไปไม่ถึง เพราะเรื่องธรรมาภิบาลจะอาศัยแค่ภาครัฐหรือราชการไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบที่เป็นอิสระและประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่ลมปาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"