เมื่ออ่าวไทยเน่า... ไทยแลนด์ 4.0 ก็เดี้ยง!


เพิ่มเพื่อน    

    สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมสัมภาษณ์ รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์, คณบดีคณะประมงของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ และประธานคณะทำงานด้านมลพิษ คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ กับรองคณบดีอาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในหัวข้อที่ผมถือว่าเป็นวิกฤติระดับชาติที่ยังไม่ได้รับความสนใจเพียงพอจากทั้งภาครัฐและเอกชน...และคนไทยทั่วไป
    อาจารย์ธรณ์เขียนสรุปประเด็นหลักของการแลกเปลี่ยนกันวันนั้นได้อย่างชัดเจน จึงขออนุญาตนำมาเล่าต่อ เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาที่หนักหน่วงและรุนแรง หากไม่แก้ไขกันในทุกระดับ หายนะจะเกิดในระดับชาติแน่นอน
    อาจารย์ธรณ์บันทึกไว้ในเพจเฟซบุ๊กไว้อย่างนี้ครับ
    ดร.เชษฐพงศ์ทำการศึกษาคุณภาพน้ำในอ่าวไทยและแม่น้ำสำคัญหลายสายมาตลอด 24 ปี อ่าวไทยตอนในกำลังเน่า ด้วยน้ำเสียที่ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูม (การสะพรั่งของแพลงก์ตอนพืช)
    เมื่อแพลงก์ตอนบลูม ออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างมาก 
    เมื่อกว่าสิบปีก่อน แพลงก์ตอนบลูมเพียงบางจุด เกิดมาก็หายไป แต่ปัจจุบันไม่ใช่
มาถึงยุคนี้ น้ำทะเลเขียวปี๋หรือเปลี่ยนสีแทบทั้งอ่าว ออกไปจากชายฝั่ง 70 กิโลเมตรก็ยังเจอ
    ปลาไม่สามารถว่ายน้ำหนีได้ เพราะน้ำเน่าเป็นพื้นที่กว้างมาก ไม่รู้หนีไปไหน
อ่าวไทยตอนในเป็นเหมือนขัน ไม่ได้กว้างใหญ่เหมือนที่เราคิด น้ำลึกสุดแค่ 30 เมตร โดยเฉลี่ยตื้นกว่านั้นมาก
    อ่าวที่ปิดสามด้าน เมื่อลมมรสุมมาจากทางใต้ อัดน้ำด้านนอกเข้ามา น้ำด้านในย่อมออกไปสู่ด้านนอกไม่ได้ วนเวียนไปมา
    น้ำเสียไหลลงมาเรื่อยๆ เติมเข้ามาในอ่าว โดยไม่หลุดออกไป ทำให้ธาตุอาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
    ปัจจุบัน ธาตุอาหารในน้ำเพิ่มสูงกว่าในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนถึง 30%
แสดงให้เห็นชัดเจนว่าคุณภาพน้ำเราย่ำแย่ลง 
    เพราะธาตุอาหารคือตัวการที่ทำให้เกิดแพลงก์ตอนบลูมเมื่อถึงจังหวะเหมาะสม
การเกิดแพลงก์ตอนบลูมไม่ใช่เกิดตลอด จะเกิดแล้วหยุดแล้วเกิดใหม่เป็นระยะ แต่ช่วงหลังเริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ และมีพื้นที่กว้างมากขึ้นเรื่อย
    การเกิดในปัจจุบันแทบจะเป็นทุก 2-3 สัปดาห์ในช่วงมรสุมหน้าฝน ผลกระทบยังรุนแรงต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ปลาตาย แต่ส่งผลต่ออาชีพประมง เช่น สัตว์น้ำในลอบตายหมด จับขึ้นมาก็ขายไม่ได้
    สาเหตุสำคัญคือ การปล่อยน้ำเสียมาจากทุกทิศทาง มาจากแทบทุกภาคส่วน
เราสามารถบอกได้หากเป็นแม่น้ำว่า พื้นที่รุนแรงอยู่ตรงไหน เช่น น้ำไหลผ่านอำเภอนี้ เดิมทีเป็นน้ำดี เมื่อผ่านมากลายเป็นน้ำเสีย
    หากมีการบริหารจัดการที่ดี มีการแบ่งพื้นที่ดูแล มีความรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ชัดเจน 
    พื้นที่บริเวณใดไม่ผ่านเกณฑ์ ก็ต้องทุ่มพลังให้หนักขึ้น วิธีการนั้นจะช่วยลดน้ำเสียจากต้นทาง จากแม่น้ำลำคลองที่ไหลลงทะเลได้บางส่วน
    เมื่อลงทะเลแล้ว ทุกอย่างปนกันหมด เราไม่สามารถแยกแยะได้ นอกจากน้ำ ขยะอินทรีย์ต่างๆ แม้กระทั่งผักตบชวา ก็จมและเน่าอยู่ที่พื้นทะเลอ่าวไทยตอนใน 
    การควบคุมมาตรฐานน้ำยังต้องปรับปรุง เช่น การควบคุมแค่มาตรฐานความเข้มข้นอย่างเดียว จะใช้ไม่ได้ เพราะหากเจือจางก็ผ่านมาตรฐาน แต่น้ำเสียก็ยังคงไหลลงทะเลอยู่ดี เช่น มีน้ำเสีย 1 แก้ว หากปล่อยตรงๆ ก็ไม่ผ่านมาตรฐาน 
    แต่ถ้าดูดน้ำบาดาลผสมเข้าไป กลายเป็นน้ำ 2 แก้ว ก็ผ่านมาตรฐานปล่อยลงไปได้ แต่น้ำเสีย 1 แก้วก็ยังคงลงไปในทะเลอยู่ดี
    การควบคุมควรเริ่มเน้นปริมาตร มากกว่าความเข้มข้น เช่น คุมว่าโรงงานนี้ปล่อยน้ำเสียได้เท่าไหร่ ไม่ใช่เข้มข้นแค่ไหน 
    บทสัมภาษณ์นี้จะนำเสนอผ่านสื่อตัวหนังสือ, ทีวี, ออนไลน์และมือถือเพื่อกระจายข้อมูลและข่าวสารเรื่องสำคัญเช่นนี้ถึงผู้คน
    พรุ่งนี้อ่านบทสรุปของอาจารย์ธรณ์ว่าด้วยเนื้อๆ ของประเด็นปัญหา
    ตระหนักไม่พอครับ ต้องตระหนกกันทั้งประเทศครับ!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"