"รัฐ "กับการรับมือสถานการณ์น้ำ 2561 


เพิ่มเพื่อน    


        

จากสถานการณ์ที่มีฝนตกมากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย นำมาสู่ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ได้สร้างความกังวลใจแก่ภาคประชาชนถึงความเสี่ยงของภัยพิบัติน้ำท่วม  ดินโคลนถล่ม รวมถึงการพังทลายของเขื่อนด้วย  ล่าสุดมวลน้ำได้ไหลท่วม จ.เพชรบุรี ไปแล้วหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ฝั่งแม่น้ำโขงยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ    


 ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมาที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้มีการเสวนาเรื่อง "รัฐ กับการรับมือสถานการณ์น้ำ 2561" โดยมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำ ทั้งในข้อเท็จจริงของปริมาณน้ำจากฝนที่มีการคาดการณ์ว่าปีนี้น้ำมากกว่าที่ผ่านมา มีการเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์เดิมน้ำท่วมปี 2554 รวมไปถึงโครงสร้างและการรองรับเขื่อน และก็การรับมือ

โดยนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า  เหตุการณ์น้ำท่วมล่าสุด เขื่อนทุกแห่งตอนนี้ยังสามารถรองรับน้ำได้ แต่ที่น่ากังวลคือในแถบเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ฯลฯ ที่มีการรายงานว่าน้ำท่วม ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่แล้ง นานๆครั้งจะมีน้ำหลาก ทำให้ด้านท้ายเขื่อนมีคนไปอยู่มาก เกิดเป็นธุรกิจริมน้ำขึ้นมากมาย ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานราชการที่ไปสร้างสถานที่กลางน้ำ ในอดีตก็ยังไม่เป็นปัญหาแต่พอเกิดน้ำสูงขึ้นล้นตลิ่งก็จะเริ่มเกิดปัญหาแล้ว ยิ่งพอน้ำหลากก็จะเกิดการหลากไปตามโครงสร้างวิศวกรรมของเขื่อนที่เขาออกแบบมา ทำให้เกิดน้ำหลากไปทางท้ายเขื่อนง่าย จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ทั้งนี้ทุกจังหวัดประเทศไทย ล้วนมีความเสี่ยงเกิดวิกฤติน้ำ เพราะแต่ละแห่งต่างสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ แต่ทุกหน่วยงานต่างทำงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง ไม่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลตั้ง สนทช.ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 60 เป็นศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เพื่อเป็นศูนย์กลางเตรียมรับมือการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤติ และรวมข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญ วิเคราะห์แก้ไขปัญหาน้ำในปัจจุบันและอนาคต 

สำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)


นายสำเริง กล่าวต่อว่า ตอนนี้ สนทช.วางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี ในการบริหารน้ำ 6 ด้าน คือ 1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพื้นที่เสื่อมโทรม 6.การบริหารจัดการ ตั้งเป้าหมายให้มีองค์กร กฎหมาย ระบบข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ดำเนินแผนตั้งแต่ 2558-2569 และกำลังมีการทำแผนยุทธการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แต่ต้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติด้วย ส่วนในสถานการณ์ล่าสุดตอนนี้ก็มีการดำเนินการร่วมมือกันช่วยเหลือทุกฝ่ายและติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลายแห่งอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ความคืบหน้าก็จะมีการรายงานและประสานไปยังหน่วยรับผิดชอบ 


สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารจัดการและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภาพรวมน้ำในประเทศไทยปีนี้ถ้าเทียบกับปี 2560 พบว่าน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีมากกว่าปีที่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าปีนี้ฝนมากกว่า เพราะจากการรายงานของกรมอุตุฯ บอกว่าปริมาณฝนทั้งสองปี ไม่ได้แตกต่างกันมาก ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าเทียบดูปริมาณฝนสะสม ค่อนข้างจะน้อยกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ ที่น้ำมากก็เกิดจากฝนสะสม จริงๆแล้วปีนี้ฝนไปตกอยู่ที่บริเวณชายขอบประเทศมาก ซึ่งเกิดจากแนวปะทะของลมมรสุมกับแนวปะทะทางด้านแม่น้ำโขง แล้วก็โซนภาคเหนือ พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ฯลฯ ขณะที่ลมมรสุมกำลังแรงก็จริง แต่เข้ามาไม่ลึก ทำให้พื้นที่ใจกลางของประเทศยังประสบปัญหาน้ำน้อย เขื่อนที่น้ำสูงในทางอีสานก็มีเขื่อนน้ำอูน ทางตะวันตกของประเทศไทย คือเขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ ส่วนแก่งกระจานกับปราณบุรี ปีที่แล้วสองเขื่อนนี้มีประมาณ 60-70% แต่ขณะที่ปีนี้มี 100% เพราะฉะนั้นวอลลุ่มน้ำพอเอามารวมเป็นภาพใหญ่คนก็จะตกใจ นักวิชาการก็เอาไปนำเสนอว่าปีนี้น้ำมากกว่าปีที่แล้ว แท้จริงแล้วมากเฉพาะบางแห่งเท่านั้น ส่วนลุ่มเจ้าพระยายังต้องลุ้น เพราะท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปีที่ผ่านมามีการระบายน้ำออกไปพันกว่าลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ระบายไปแค่หกร้อยลูกบาศก์เมตร ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงต้องลุ้น เพราะฉะนั้นมากกว่าการจับตาดูเจ้าพระยาคือต้องเตรียมรับมือกับน้ำที่เกิดจากฝนตกตามแนวชายขอบประเทศ 


ขณะที่นายภุชพันธ์ ศิริทรัพย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ฝนมาจากสองเหตุการณ์คือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กับพายุหมุนเขตร้อน ในบริเวณช่วงทางเหนือของไทย จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้มีฝนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีมาก และยังส่งผลให้ภาคกลางมีฝนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ปริมาณฝนทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติ จะมีฝนช่วงบ่ายค่ำเกือบทุกวัน และในอนาคตยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือน ต.ค. นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.จะเป็นช่วงพายุก่อตัวในทะเลแปซิฟิก คาดว่าพายุผ่านเข้ามายังประเทศไทย1-2 ลูก คือ เซินติญ กับเบบินคา ประชาชนควรระวัง แต่โดยรวมแล้วปีนี้ยังไม่ถึงขั้นปี2554 เพราะปีนั้นไม่ใช่แค่ฝนที่มาก แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำด้วยเลยวิกฤติ


นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ กล่าวเสริมอีกว่า เราไม่ได้รับพายุเซินติญโดยตรง แต่ที่เข้ามาจริงๆ มีลูกเดียว คือ เบบินคา ที่มาช่วงวันที่ 17-20 ส.ค. คำถามคือพายุเข้ามาเพียงแค่ลูกเดียว แล้วเขื่อนวชิราลงกรณ์ ศรีนครินทร์  แก่งกระจาน ปราณบุรี มีน้ำเพิ่มขึ้นจะสามารถควบคุมได้หรือไม่นั้น ตนคิดว่าที่ผ่านมาก็สามารถควบคุมได้ แต่ที่กังวลคือช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.จะเป็นสถานการณ์ที่กรมชลประทานต้องวางแผนเรื่องพร่องน้ำ วันนี้แก่งกระจานก็ยังเป็นปัญหา เพราะว่าน้ำยังระบายออกทางสปิลเวย์ หรือทางระบายน้ำล้น ซึ่งในกระบานการทำงานของสปิลเวย์ คือ ถ้าน้ำในเขื่อนเต็ม 100% ก็จะถูกระบายออกล้นทางระบาย ตอนนี้น้ำล้นสปิลเวย์อยู่ประมาณ 1 เมตร อัตราการไหลอยู่ที่ 180-190 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เกินความจุ 106%  อันนี้ก็เป็นปัญหาที่กรมชลประทานจะต้องเร่งพร่องระบาย เพราะช่วงนี้โดยค่าเฉลี่ยน้ำควรจะเข้าแก่งกระจานวันละประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเข้ามา12-13 ล้านลูกบาศก์เมตรตลอด ช่วงมากสุดคือวันที่ 20 ก.ค. เข้ามาสูงถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในวันเดียว จากที่เคยพร่องน้ำไว้ ก็ทะลุเกณฑ์เก็บกัก ซึ่งวันนั้นเขื่อนแก่งกระจานได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบ น้ำ160 ล้านลูกบาศก์เมตรถูกเก็บไว้หมด ไม่มีเล็ดลอดออกมาแม่แต่นิดเดียว จนถึงวันนี้ก็ยังเก็บกักไว้ได้ ในขณะที่น้ำอูน จ.สกลนคร ก็ไหลออกทางสปิลเวย์เช่นกัน แต่น้อยกว่าแก่งกระจาน อีกที่คือ ลุ่มน้ำปราจีน ไม่มีเขื่อน แต่วันนี้มีน้ำล้นตลิ่งท่วมตลาดเก่าในพื้นที่กบินทร์บุรีประมาณ 50 ซม. 


“น้ำในอ่างทั้งหมดไม่วิกฤติมาก ยังรองรับน้ำได้ 20,088 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้ดำเนินการ เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อทำเป็นพื้นที่ชะลอน้ำและเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยเตรียมพื้นที่ไว้ประมาณ 1.5 ล้านไร่ เก็บน้ำได้ประมาณ 2 ล้านล้าน เพื่อที่จะชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก รองรับน้ำที่จะไหลมาจากภาคเหนือเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ตั้งแต่ปทุมธานี อยุธยา กทม.คาดว่าจะรองรับน้ำช่วงฤดูฝนและพายุที่จะเกิดขึ้น 1-2 ลูก” นายสัญญา กล่าว


ในส่วนของระบบการทำงานของเขื่อนนั้น นายสมภพ สุจริต คณะกรรมการวิศวกรอาวุโส วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เขื่อนทุกเขื่อน สร้างขึ้นมาในวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน อย่างเขื่อนของ กฟผ.ก็สร้างเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่เขื่อนกรมชลประทาน สร้างขึ้นเพื่อการเกษตร แต่ผลประโยชน์จากการสร้าง ถูกออกแบบไว้สำหรับรองน้ำ และเป็นตัวช่วยชะลอน้ำเมื่อเกิดภัยพิบัติ เมื่อเขื่อนของกรมชลประทานจัดทำเพื่อการเกษตร ฉะนั้นอาคารสปิลเวย์ ส่วนใหญ่เป็นระบบอันคอนโทรล ถ้าน้ำมามากจะระบายไปล้นสปิลเวย์ที่ออกแบบมาเพื่อไม่ให้ล้นตัวเขื่อน หรือเมื่อน้ำมาเกินความสามารถที่อ่างจะเก็บรับได้ ก็จะปล่อยให้ไปล้นในทางที่ออกแบบให้ล้น เวลาล้นธรรมชาติจะควบคุม เราไม่สามารถที่จะไปบังคับได้เลย การบริหารจัดการน้ำเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะเราต้องใช้ดุลยพินิจของวิศวกรในด้านชลประทาน เราสร้างเขื่อนเพื่อให้เก็บน้ำให้ได้มากสุด อย่างไรก็ตามปริมาณฝนค่าเฉลี่ยแต่ละปีไม่เท่ากัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูการปล่อยน้ำออกจากแหล่งเก็บน้ำให้เหมาะสม และสมดุลย์ ถ้าเราเก็บน้ำไว้อย่างเดียวถ้ามามาก จะเดือดร้อนกว่านี้  เช่นเขื่อนแก่งกระจานวันที่ 20 ก.ค.ถ้าไม่มีเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีอาจจะท่วมประมาณอาคารสองชั้น เพราะน้ำไหลเข้ามาถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับมา 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่น้ำรับได้แค่ 150 ล้านลูกบาศก์เมตรเอง นี่คือประโยชน์ของเขื่อนที่ชะลอได้ 


“สำหรับในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีจุดบอดเนื่องจากไม่มีสถานีวัดน้ำฝน ทำให้การประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำเป็นไปได้ยาก จะรู้ตัวอีกครั้งเมื่อปริมาณน้ำมหาศาลแล้ว ดังนั้น ข้อมูลปริมาณน้ำฝนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยข้อมูลดังกล่าว ต้องเป็นฐานข้อมูลที่บ่งบอกสถานการณ์อย่างชัดเจน นอกจากนี้มีข้อเสนอแนะให้มีการทดลองปล่อยน้ำให้เต็มลำน้ำ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการทดสอบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระบบระบายน้ำจะทำงานได้เป็นปกติ และการคาดการณ์พื้นที่ที่ฝนจะตก เพื่อใช้ในการวิเคราะห์จัดการน้ำได้แม่นยำยิ่งขึ้น" นายสมภพ กล่าว


นายสมภพ กล่าวอีกว่า ในส่วนการแก้ไข มีหลายแบบ ยกตัวอย่างคือ พอใกล้ๆหน้าฝนเราระบายน้ำทิ้งหมดเลยก็ได้ แต่ทุกการแก้ไขก็ล้วนแต่มีความเสี่ยง ถ้าหากปีนี้แล้ง น้ำมาน้อยก็แย่ เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ในการคาดการณ์ ทุกๆ หน่วยงานต้องเอาสถิติมาคุยกันว่าปีนี้ค่าเฉลี่ยจะได้เท่าไหร่


อย่างไรก็ตามในงานเสวนาครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ยังมีข้อเสนออีกว่า อยากให้ สทนช. เป็นแหล่ง Data Center ที่สามารถดูแลจัดการ เป็นศูนย์รวมข้อมูลและคัดกรอง โดยหากมีหน่วยงานใดที่จะบริหารจัดการน้ำ สทนช.ต้องเปิดกว้างให้ผู้ดำเนินการสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลน้ำนี้ได้
 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"