สร้าง 'บ้านปลา' ด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า สนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร


เพิ่มเพื่อน    

 

     

        ลำเลียงบ้านปลาปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าลงสู่ท้องทะเล จ.ชลบุรี

     

     แม้ว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลจะร้อนจัดหรือเย็นยะเยือกก็ไม่ส่งผลกระทบต่อบ้านปลาปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า โครงสร้างของลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าประกอบด้วยธาตุที่ละลายได้ แต่ไม่มีการละลายของโลหะหนักที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำทะเล นี่คือผลทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าล่าสุด ยืนยันการใช้ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าที่ปลดระวางแล้ว เป็นแนวทางช่วยฟื้นฟูแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลได้ ซึ่งนำเสนอในกิจกรรมจัดวางปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ณ หาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จัดโดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)      เมื่อวันก่อน

      อ่าวนาวิกโยธินได้รับการคัดเลือกเป็นสถานที่สร้างบ้านปลาวางปะการังเทียมมาแล้ว 3 ครั้ง จำนวน 400 ชุด ช่วยเติมเต็มระบบนิเวศชายฝั่งทะเลให้อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเหล่าประมงพื้นบ้าน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 มีเรือหลวงมันนอกร่วมภารกิจวางบ้านปลาลงใต้ทะเล

 

     

           หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินร่วมกับ กฟผ.ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล จ.ชลบุรี 

     

     นายไวยวิทย์ สุขมาก ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ. กล่าวถึงที่มาโครงการบ้านปลาฯ ว่า กฟผ.มีหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้า ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ เมื่อหมดอายุได้พิจารณาหาวิธีนำอุปกรณ์นี้มาใช้ประโยชน์ และไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม จึงนำมาช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานทางทะเล สถาบันการศึกษา เพื่อยืนยันลูกถ้วยฉวนไฟฟ้าไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ศึกษาความเป็นพิษลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ได้รับการยืนยันไม่เป็นพิษ อีกทั้งร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพาศึกษาการเจริญเติบโตของปะการังและการเข้ามาอาศัยของสัตว์น้ำก็ประสบผลสำเร็จ ล่าสุดร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำโครงการทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าภายใต้สภาวะจำลองสภาพแวดล้อมทางทะเล ผลวิจัยสรุปว่าสามารถทำได้

      "ที่หาดเตยงาม อ่าวนาวิกโยธิน วางปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าครั้งแรกปี 2556 ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 วางปะการังเทียมลงสู่ทะเล 200 ชุด รวมทั้งหมดในพื้นที่มี 600 ชุด นอกจาก จ.ชลบุรียังมีโครงการที่เกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 500 ชุด จ.ปัตตานี 300 ชุด และ จ.นราธิวาส 100 ชุด รวมโครงการ กฟผ.ได้วางบ้านปลาแล้ว 1,300 ชุด ซึ่งครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิธีการวางเดิม จากวางให้ลูกถ้วยหงายขึ้นหมดเป็นวางคว่ำและหงายสลับกัน จำนวนแถวน้อยลง เพื่อให้ปลามาวางไข่ และปะการังเจริญเติบโตอาศัยในโครงสร้างมากขึ้น ไม่แออัดจนเกินไป จากการติดตามผลเห็นชัดว่าเป็นแหล่งอาศัยสัตว์น้ำวัยอ่อน" นายไววิทย์ กล่าว

 

ติดตามผลบ้านปลามีการเติบโตของปะการังรวดเร็ว

 

      พลเรือตรีพิสัย สุขวัน รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กล่าวว่า จ.ชลบุรีมีศักยภาพด้านการทำประมงและแหล่งท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันประสบปัญหาแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลถูกทำลาย ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง โครงการบ้านปลาวางปะการังเทียมฯ  ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งเป็นการสนองพระราชเสาวนีย์พระราชินีในรัชกาลที่ 9 มีตัวชี้วัดจากประมงพื้นบ้านจับปลาได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาท้องทะเลไทยยังต้องควบคุมประมงผิดกฎหมายและงดทำประมงในฤดูวางไข่

      "พิกัดที่วางปะการังเทียมด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามีความลึก 13 เมตร ห่างจากชายฝั่ง 1,000 เมตร พื้นที่นี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเห็นชอบตั้งแต่ปี 2556 พื้นท้องทะเลไม่เป็นโคลนเหลว ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ อยู่นอกสนามฝึกซ้อมทางทะเลที่จะรบกวนปลาหรือสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างบ้านปลา ปัจจุบันเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ ส่งเสริมให้มีการเติบโตของปะการังกระจายทั่วทะเลสัตหีบ โครงสร้างที่แข็งแรงและเหมาะสม ทำให้ไม่เป็นขยะ แต่เป็นบ้านปลาในระบบนิเวศ" พลเรือตรีพิสัยกล่าว 

 

 บ้านปลาปะการังเทียมมีสัตว์ทะเลหลายชนิดเข้าอาศัย

     

     ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าทำบ้านปลาได้ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้วิจัย กล่าวว่า ในทะเลอุณหภูมิน้ำมีความแปรปรวน รวมทั้งปริมาณน้ำฝน สารอาหารและมีน้ำขึ้นน้ำลง  การสร้างบ้านแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลโดยใช้ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าจำเป็นต้องทดสอบการชะละลายของสารออกจากลูกถ้วยไฟฟ้าว่าส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร

 

วิธีการวางลูกถ้วยคว่ำ-หงายสลับกัน ช่วยปะการังเติบโตดีขึ้น

 

     "การศึกษาครั้งนี้จำลองสภาพแวดล้อมทางทะเลที่เลวร้ายที่สุด มีค่าอุณหภูมิสูงสุด 50 องศาเซลเซียส และค่าต่ำสุด 20 องศา ติดต่อกัน 3 เดือน ตลอด 24 ชั่วโมง สรุปได้ว่า สารเคมีที่ตรวจพบเป็นธาตุที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่พบการชะละลายของโลหะหนัก ปรอท แคดเมียม ทำให้มั่นใจในสภาวการณ์ปกติการใช้ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไม่อันตราย" หัวหน้าคณะวิจัยกล่าว พร้อมเสนอแนะการศึกษาต่อยอดครั้งต่อไปควรเพิ่มการศึกษาช่วงอุณหภูมิที่มีการเปลี่ยนแปลงในน้ำทะเลให้มากขึ้น รวมถึงศึกษาวิธีการวางที่เหมาะสมและการใช้วัสดุทดแทน ตลอดจนศึกษาวิจัยติดตามผลในสถานที่จริงควบคู่อย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งหมดนี้ต้องทำงานร่วมกันเพื่อขยายผลสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"