สั่งทุกจังหวัดแบ่งเขตเลือกตั้ง3แบบส่งกกต.เลือก


เพิ่มเพื่อน    

3 ก.ย. 61 - ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่มีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ดำเนินการเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า เป็นการเตรียมการไว้สำหรับกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือนก.ย. และหากมีการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นช่วงก.พ. 62 และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุจะใช้ช่วงเวลา 90 วัน ระหว่างรอการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฉะนั้นในการทำไพรมารีโหวตผู้สมัครจะลงเขตไหน พรรคจะส่งผู้สมัครในพื้นที่ใด จะต้องมีข้อมูลการแบ่งเขตก่อน

โดยในส่วนของกกต. ใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของปี 2559 ที่มีการสรุป ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 ดำเนินการคำนวณการแบ่งเขตไว้เบื้องต้น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนราษฎรรายอำเภอ ซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวนส.ส.ของแต่ละเขตมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้มีประสานไปยังผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลางราษฎรของทราบข้อมูล และได้แจ้งยังผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดให้ดำเนินการตรวจสอบอีกครั้งว่า จำนวนราษฎรล่าสุดจะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยกลางเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

"เรื่องที่ทำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่กระบวนการไพรมารีโหวต ถ้าคสช.ออกคำสั่งมาตรา 44 ให้กกต.ดำเนินการแบ่งเขตได้ เราก็จะใช้ข้อมูลราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.60 เป็นหลัก ซึ่ง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดก็จะทำหน้าที่แบ่งเขต 3 รูปแบบ และติดประกาศรูปแบบของการแบ่งเขตทั้ง 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียพรรคการเมือง เป็นเวลา 10 วัน ก่อนจะประมวลความคิดเห็นและส่งมายังกกต.ให้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดให้แล้วเสร็จ  ซึ่งทั้งกระบวนการจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าประมาณ กลางเดือน พ.ย. เรื่องของการแบ่งเขตต้องแล้วเสร็จ และเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตได้ "นายณัฏฐ์ ระบุ.

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การแบ่งเขตทั้งรูปแบบที่แต่ละจังหวัดจะดำเนินการ ร้อยละ 80 จะเป็นการแบ่งตามโซนนิ่งของอำเภอ เว้นแต่บางอำเภอที่มีเทศบาลนคร และเป็นชุมชนหนาแน่น อาจจะต้องแบ่งอำเภอออกเป็น 2 เขต แต่จะไม่มีการแบ่งตำบล และยึดหลักไม่กระทบกับความคุ้นเคยพื้นที่ของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้จากการที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือในเรื่องการประหยัดงบประมาณเลือกตั้ง และกฎหมายใหม่ได้กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 800 คนต่อหน่วย มาเป็น1,000 คนต่อหน่วย ทางสำนักงานกกต.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผอ.กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัดขอให้ประสานไปยังสำนักงานทะเบียนอำเภอว่าจะสามารถขยายหรือรวมหน่วยงานได้หรือไม่ แต่ต้องให้ไม่กระทบต่อความคุ้นเคยในการใช้สิทธิของประชาชน โดยจากเดิมที่มีหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 96,000 หน่วย ตั้งเป้าลดลงอย่างน้อย 3 เปอร์เซ็นต์

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลมีการขยับวันเลือกตั้งจากเดือนก.พ. 62 ไปเป็นพ.ค. 62 เขตเลือกตั้งและจำนวนส.ส.จะยังคงเดิมหรือไม่ นายณัฏฐ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีระบุแล้วว่าช่วงเวลาของการเลือกตั้งเร็วที่สุดคือ ก.พ.  ช้าที่สุดคือ พ.ค. 62 ซึ่งสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทยจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรแต่ละปี ในช่วง มี.ค. ของปีถัดไป ดังนั้นหากวันเลือกตั้งขยับไปเป็นเดือนพ.ค. 62 ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ ตามจำนวนประชากรที่มีการประกาศใหม่ ซึ่งจะดันให้ทุกอย่างขยับออกไปอีก 60 วัน

รองเลขาธิการ กกต. ยืนยันด้วยว่า จำนวนเขตเลือกตั้งและจำนวนส.ส.ที่ลดลงไม่ได้เกิดจากการกำหนดกกต. แต่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดจำนวนส.ส.แบ่งเขตลดลงจาก 375 เป็น 350 คน และจำนวนประชากรต่อส.ส. 1 คนมีการเปลี่ยนแปลงในทุกปี.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"