“วิษณุ” เตรียมชงชื่อเลขาธิการกฤษฎีกาให้ ครม.เคาะ “จารุวรรณ-วรรณชัย-ปกรณ์” เต็ง สนช. ผวาถูกครหาเอ็นจีโอกินรวบ กสม. นัดถกตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติ 7 ว่าที่ “สมศรี” ส่อเค้าไปไม่ถึงดวงดาว
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเสนอชื่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนนายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.ว่า ไม่กล้าตอบว่าจะนำรายชื่อเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนใหม่เข้าสู่ที่ประชุม ครม.เมื่อใด แต่โดยกระบวนการนั้น ควรจะเร็ว โดยตามขั้นตอนเมื่อที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว จะต้องมีการส่งรายชื่อเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับรอง ก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
สำหรับแคนดิเดตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนใหม่นั้น พบว่ามี 3 ราย คือ 1.น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่อาวุโสที่สุด 2.นายวรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดย น.ส.จารุวรรณ และนายวรรณชัยนั้น เหลืออายุราชการอีกปีเดียว ซึ่งนายวรรณชัยที่ผ่านมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ส่วนนายปกรณ์ยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี และ ครม.เพิ่งแต่งตั้งให้มาเป็นรองเลขาธิการ ครม.
ขณะเดียวกัน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้มีหนังสือนัดประชุมสมาชิก ครั้งที่ 58/2561 ในวันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา เวลา 10.00 น. โดยมีวาระเรื่องด่วนคือ การให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พ.ศ.2560 เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติและความประพฤติทางจริยธรรม 7 ว่าที่ กสม.
สำหรับผู้ถูกเสนอชื่อจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาให้ สนช.ให้ความเห็นชอบเป็น กสม. 7 คน ประกอบด้วย 1.นางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ 2.นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม 3.นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 4.นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 5.น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม 6.น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ 7.นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)
ทั้งนี้ หลังจากคณะกรรมการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ได้ลงมติคัดเลือกผู้สมัครไว้ 7 คนเมื่อวันที่ 21 ส.ค. เพื่อส่งให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเอ็นจีโอเกินครึ่งคุม หรือกินรวบ กสม. เนื่องจากใน 7 คนเป็นเอ็นจีโอถึง 4 คน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่านางสมศรีมีท่าทีคัดค้านการลงโทษประหารชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่าคนตายอย่างเหี้ยมโหด ซึ่งสวนทางกับครอบครัวและญาติผู้ได้รับความเสียหาย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกระแสสังคมที่เห็นว่าโทษประหารชีวิตยังจำเป็นและควรมีอยู่ต่อไป อีกทั้งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการให้อภัยโทษกับผู้ต้องโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว
สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก 7 กสม.นั้น หลังจาก สนช.ตั้งคณะ กมธ.ตรวจสอบประวัติและความประพฤติในวันที่ 6 ก.ย. ภายใน 60 วัน กมธ.จะรายงานผลให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาและลงมติว่าที่ กสม.เป็นรายบุคคล หากได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ก็ต้องเปิดการสรรหาใหม่ในรายที่ไม่ได้รับความเห็นชอบ
ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวถึงกระแส สนช.จะไม่ลงคะแนนให้ว่าที่ กสม.ที่คัดค้านเรื่องโทษประหารว่า ไม่รู้ว่าเป็นใครที่เห็นว่า 7 ว่าที่ กสม.มีปัญหา ส่วนการตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติความประพฤติถือเป็นดุลพินิจของ สนช. ที่จะพิจารณาและตรวจสอบเชิงลึก เพราะบางคนอาจตกคุณสมบัติด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความเห็นเรื่องความเห็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตก็ได้ ซึ่งตอนนี้ไทยได้ลงนามเอาไว้ว่ายังให้มีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะพยายามยกเลิก และไทยจะยกเลิกหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับสังคมด้วย
“ที่ผ่านมาผลโพลพบว่าประชาชน 90% ไม่อยากให้ยกเลิก ดังนั้นจะต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง หากคิดยกเลิก รวมทั้งต้องตอบคำถาม และมีมาตรการเยียวยาญาติผู้เสียชีวิต หากมีการยกเลิก เช่นเดียวกันก็ต้องมีมาตรการหากกรณีสุดท้ายประหารชีวิตไปแล้วปรากฏว่าเป็นแพะจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะที่ผ่านมาในหลายประเทศที่ยกเลิกและไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมร้ายแรงลดลงหรือมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และหาคนผิดมาลงโทษให้มากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนั้นจะมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิตคงไม่ใช่ประเด็น” นายวัสกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |