ปช.โวกวาดส.ส.เกิน20ที่นั่ง


เพิ่มเพื่อน    

  ตามคาด "วันนอร์" นั่งหัวหน้าพรรคประชาชาติ "ทวี สอดส่อง" นั่งเลขาธิการ โวลั่นกวาด ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 ที่นั่ง ฟุ้งจะดับไฟใต้ตามวิถีประชาธิปไตย ขณะที่เพื่อไทยปูดที่โคราชขอบัตรประชาชนไปสมัครสมาชิกพรรคการเมือง หนุน "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ สมัยหน้า

    เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ ม.อ.ปัตตานี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ก่อตั้งพรรคประชาชาติ(ปช.) ได้มีการประชุมจัดตั้งพรรค เลือกหัวหน้า  กรรมการบริหารพรรค มีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคจากกลุ่มวาดะห์ และอดีต ส.ส. อดีต ส.ว. อาทิ นายอับดุลลายี สาแม็ง อดีต ส.ว.ยะลา, นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ว.ปัตตานี, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาส 
    นายสุดิน ภูยุทธานนท์ อดีต ส.ส.ปัตตานี, นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส, นายภิญโญ สายนุ้ยอดีต ส.ว.กระบี่, นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา อดีต ส.ส.ปัตตานี, นายอนุมัติ ชูสารอ อดีต ส.ส.ปัตตานี, นายวรวิทย์ บารู อดีต ส.ว.ปัตตานี, นายนิมุคตาร์ วาบา อดีต ส.ส.ปัตตานี, นายด่วนอับดุลเลาะ ดาโอ๊ะมารียอ อดีต ส.ส.ยะลา, นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย เดิมชื่อ นิติภูมิ นวรัตน์ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีสมาชิก นักธุรกิจคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ หอการค้า ประชาชนจากพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดอื่นเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ บทเพลงพรรค ‘ประชาชาติ’ มีนายเอกชัย ศรีวิชัย นักร้องชื่อดังชาวใต้เป็นผู้ขับร้อง
    หลังการประชุมผู้จัดตั้งพรรค สมาชิก ผู้สนับสนุน ได้เห็นชอบข้อบังคับ นโยบาย และเลือกคณะกรรมการบริการพรรค คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรค, นายมุข สุไลมาน อดีต ส.ว.ปัตตานี เป็นเหรัญญิกพรรค, นายสุรพล นาควานิช ผู้ก่อตั้งพรรค เป็นนายทะเบียนพรรค ขณะที่รองหัวหน้าพรรคมี 7 คน ประกอบด้วย 1.นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ 2.นายวรวีร์ มะกูดี 3.ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย 4.นายวรวิทย์ บารู 5.พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ 6.นายนิมุคตาร์ วาบา 7.นายปราโมทย์ แหล่ทองคำ
    นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงการจัดตั้งพรรคว่าเป็นความต้องการของประชาชนต้องการมีพรรคการเมืองเพื่อแก้ปัญหา การเปิดตัวในวันนี้ไม่มีนัยอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้อนุมัติให้พรรค ปช.สามารถประชุมได้ในวันที่ 1 กันยายน ดังนั้นจะมีการประชุมรับรองนโยบายอุดมการณ์ การเลือกผู้บริหาร ขณะนี้พรรค ปช.เพิ่งเริ่มต้นจะทำงานสักระยะหนึ่ง แต่จากการประเมินน่าจะได้เก้าอี้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 20 ที่นั่งขึ้นไป
    นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า เป็นที่น่ายินดีเพราะประชาชนในพื้นที่สนับสนุนอดีต ส.ส.ในพื้นที่ให้มารวมกันในพรรค ปช. ดังนั้น ส.ส.เขตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 11 ที่นั่ง หากดูตัวแล้วผู้สมัครลงเขตของพรรค ปช.แล้วน่าจะได้เกินครึ่งของ 11 ที่นั่ง โดยในพื้นที่ภาคใต้พรรค ปช.จะส่งผู้สมัครในนามพรรคลงทุกเขต ขณะที่ทั่วประเทศไทยจะส่งผู้สมัครอย่างน้อย 175 เขต จากจำนวน ส.ส. 350 ที่นั่ง
          "สำหรับนโยบาย จะแตกต่างจากพรรคอื่น พรรค จะให้เกียรติความเคารพต่อพี่น้องทุกเชื้อชาติพันธุ์ จะผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม ที่สำคัญประเทศมีการผูกขาดมากอำนาจ เศรษฐกิจกลุ่มทุน และการศึกษามากเกินไป พรรค ปช.จะสลายการผูกขาดนี้เพื่อกระจายไปสู่ประชาชน เช่น ท้องถิ่น รากหญ้า เพื่อให้มีอำนาจนั้นกลับคืนมา" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว
    ขณะที่นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า นายวันมูหะมัดนอร์ตั้งกลุ่มวาดะห์มาตั้งแต่ปี 2528 ภายหลังรัฐประหาร 2549 กลุ่มวาดะห์ได้แยกกันเป็น 2 กลุ่ม ไปอยู่ 2 พรรคใหญ่ ทำให้การเลือกตั้งหลังสุดกลุ่มวาดะห์ที่ลงเลือกตั้งในนามพรรคต่างๆ แพ้หมด หรือแพ้คะแนนแค่ 1,000-2,000 คะแนน ถ้ารวมกันไม่แยกจะได้ ส.ส. 7 คน ดังนั้นจึงได้มีการหารือกัน หากเลือกตั้งครั้งหน้าคนเก่าๆ ต้องมาจับมือกันพร้อมตั้งพรรคขึ้นมา คือพรรคประชาชาติ(ปช.) โดยมีแนวทางการทำงานยึดหลักประชาธิปไตย และชูนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ต้องประชาธิปไตยเท่านั้น ระบบอื่นจะทำให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น 
    นายอารีเพ็ญกล่าวว่า การตั้งพรรค ปช.ไม่ใช่แค่ชาวมุสลิมหรือแค่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะรวมคนทั่วประเทศที่มีความแตกต่างเชื้อสายชาติพันธุ์ มาร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น หากมีโอกาสเป็นรัฐบาล ก็จะพยายามทำนุบำรุงทำให้พื้นที่มีความก้าวหน้า ทั้งนี้ พรรค ปช.ตั้งเป้าได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 15 ที่นั่งจากทั่วประเทศ จากเขตประมาณ 5-6 คน
      "พรรค ปช.ยังไม่สามารถพูดได้ว่าสนับสนุนใครเป็นนายกฯ แต่ยึดหลักประชาธิปไตย พรรคใครได้เสียงข้างมากก็จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ แต่หากว่าไม่สามารถรวบรวมตั้งรัฐบาลได้ค่อยมาก๊อก 2 ที่มี ส.ว.มาร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยึดหลักว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ดังนั้นคงจะพูดอะไรตอนนี้ไม่ได้ ต้องดูสถานการณ์ความสอดคล้องปัจจุบัน ส่วนการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยังไม่คลายล็อกพรรคการเมืองนั้น ผู้มีอำนาจกลัวเกินไปว่าพรรคการเมืองจะนำความคิดไปสู่ประชาชนได้ เพราะต้องทำให้ยุติธรรมและแฟร์ ขณะที่ฝ่ายมีอำนาจลงพื้นที่ทุกวัน การไม่คลายล็อกหรือปลดล็อกทำให้การทำกิจกรรมพรรคมีอุปสรรค ควรให้โอกาสประชาชนเป็นคนตัดสิน" นายอารีเพ็ญกล่าว
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร  กล่าวว่า ภายหลังกลุ่มสามมิตรลงพื้นที่พบปะประชาชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา และรัฐบาลได้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนนั้น ทำให้วันนี้ประชาชนในหลายจังหวัดได้ประสานมาว่าอยากให้กลุ่มสามมิตรลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความเห็นกับชาวบ้าน ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร จึงได้ประชุมหารือกับแกนนำว่า หากจังหวัดไหนที่มีปัญหาเร่งด่วนก็อาจจะไปลงพื้นที่ก่อน โดยล่าสุดมีประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ และสุโขทัย ได้ประสานขอให้กลุ่มสามมิตรลงพื้นที่รับฟังปัญหา 
    นายธนกรกล่าวว่า สำหรับการคลายล็อกให้กับพรรคการเมืองนั้น หลังจากนี้กลุ่มสามมิตรจะยังจะมีสถานะเป็นกลุ่ม หรือจะไปสังกัดพรรคการเมืองไหนหรือไม่ เพราะหากสังกัดพรรคการเมือง ก็อาจจะไม่สามารถลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนได้ หลังจากเดือนกันยายน กระบวนการตั้งพรรคการเมืองคงจะมีการดำเนินการกันเรียบร้อยกันหมดแล้ว ดังนั้นกลุ่มสามมิตรก็น่าจะไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองด้วย ซึ่งการตัดสินใจว่าจะไปสังกัดพรรคการเมืองใดนั้น คงจะใช้เวลาไม่นาน เพราะผู้ใหญ่ของกลุ่มสามมิตรเองก็ได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงน่าจะมีความชัดเจนว่ากลุ่มสามมิตรจะเปลี่ยนจากกลุ่มไปเป็นพรรคการเมืองหรือไม่
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่รักประเทศชาติบ้านเมือง รักประชาธิปไตย ไม่อยากให้มีการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า จึงแจ้งเบาะแสเข้ามาที่พรรคเพื่อไทยจำนวนมากว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีการรวบรวมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด อ้างว่าจะนำไปใช้สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นเครือข่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังการเลือกตั้ง 
    นายอนุสรณ์อ้างว่า บางพื้นที่บอกว่าจะเอาไปเป็นหลักฐานการจ่ายเงินค่าตอบแทน รวมถึงนำไปเป็นหลักฐานการรับเงินในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ จึงอยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปตรวจสอบกรณีนี้ ซึ่งเกิดเหมือนๆ กันในหลายพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำการผิดกฎหมายโดยเลือกลงมือในช่วงก่อนพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ โดยมีเครือข่ายว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.นครราชสีมา ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการเรื่องนี้อย่างหนัก และทำกันอย่างเป็นกระบวนการหรือไม่
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึงกติกาของการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ล่าสุดห้ามใช้สื่อโซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊กแฟนเพจ โฆษณาชวนเชื่อ โดยยอมรับกติกาดังกล่าวได้ในช่วงก่อนที่จะมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศวันเลือกตั้ง เพราะเข้าใจว่า คสช.ต้องการจัดระเบียบเรื่องการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ
          อย่างไรก็ตาม คสช.ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองสามารถสื่อสารไปยังสมาชิกพรรคได้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงประกาศเชิญชวนให้ประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคได้ เพราะการสื่อสารไปยังสมาชิกพรรค หรือเชิญชวนประชาชนให้สมัครนั้น ไม่ใช่การรณรงค์หาเสียง
          นายไพบูลย์ยังกล่าวถึงการคลายล็อกทางการเมืองโดยใช้อำนาจหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44          ว่า เชื่อว่าจะประกาศคำสั่งหรือกติกาที่คลายล็อกหลังการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ช่วงกลางเดือนกันยายนนี้          ส่วนประเด็นที่เป็นทางออกของการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค (ไพรมารีโหวต) ที่เบื้องต้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุจะใช้ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครแทนไพรมารีโหวตนั้น เชื่อว่ารายละเอียดมาตรา 44 ที่แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจะกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการขั้นตอนใดบ้าง เพราะหากเขียนว่าเว้นการใช้ไพรมารีโหวตเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเขียนรายละเอียดและขั้นตอนบังคับไว้
         "ผมเชื่อว่าเมื่อมาตรา 44 ออกมาไม่ให้มีไพรมารีโหวต จะไม่กระทบกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครว่าต้องผ่านกระบวนการสรรหาผู้สมัคร เนื่องจากคำสั่ง คสช.นั้นเป็นระดับที่เท่ากับกฎหมายลูก นอกจากนั้น การเว้นใช้ไพรมารีโหวต จะไม่ทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางต่อการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะการให้มีคณะกรรมการสรรหา ถือเป็นกระบวนการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมระดับหนึ่ง" นายไพบูลย์กล่าว
    นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวถึงการคลายล็อกให้พรรคการเมืองว่า เบื้องต้นทราบว่าจะเป็นกระบวนการของการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 เพื่อคลายล็อกให้พรรคการเมือง โดยเฉพาะกรณีการจัดเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารีโหวต) ดังนั้น ส่วนของ สนช.คงไม่มีส่วนที่จะพิจารณา เนื่องจากไม่ใช่การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหาและรายละเอียดของคำสั่งตามมาตรา 44 จะเป็นอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ เบื้องต้นเชื่อว่าเมื่อเลือกที่จะใช้แนวทางดังกล่าวจะทำให้การเลือกตั้งเดินหน้าได้
    ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึงกรณีมหาเถรสมาคม (มส.) ออกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองภายในวัด โดยยืนยันว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องไปกำชับผู้นำท้องถิ่นใดๆ แม้จะมีบางพื้นที่อย่างเช่นในภาคใต้ที่พบ แต่ภาคอื่นในขณะนี้ยังไม่พบปัญหาดังกล่าว แต่มั่นใจว่าเมื่อ มส.ออกประกาศมาแล้ว เจ้าอาวาสวัดทั่วประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎของ มส. และมั่นใจว่าไม่มีใครกล้าขัดอย่างแน่นอน
    นายสุทธิพงษ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับว่า ในวันที่ 4 ก.ย.นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ก่อนส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปพิจารณาต่อไป ส่วนที่มีนักการเมืองหรือข้าราชการท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว ตามขั้นตอนก็มีการเปิดการรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว โดยในช่องทางของเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่ง สนช.จะต้องพิจารณาต่อไป หากเห็นว่าส่วนใดไม่ดี ก็สามารถนำไปปรับแก้ไขได้
    นายสุทธิพงษ์กล่าวต่ออีกว่า ยังไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งทั่วไปกับการเลือกตั้งท้องถิ่นสิ่งใดจะเกิดขึ้นก่อน แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)? ก็จะต้องไปหารือกับทางรัฐบาลเพื่อกำหนดเวลาการเลือกตั้งอีกครั้ง และมั่นใจว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพร้อมให้ความช่วยเหลือในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างแน่นอน
    ส่วนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้นั้น นายสุทธิพงษ์ยืนยันว่า ตามพื้นที่ขณะนี้ยังไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ และเชื่อว่าการคลายล็อกดังกล่าวจะไม่กระทบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างแน่นอน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"