ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรวิชาการ International Crisis Group (ICG) นำเสนอรายงานสถานการณ์โรฮีนจาล่าสุด มีสาระสำคัญพร้อมการวิเคราะห์ว่านับตั้งแต่สิงหาคม 2017 ชาวโรฮีนจาอีก 700,000 คนหนีออกนอกประเทศซึ่งบัดนี้มีหลักฐานค่อนข้างชัดแล้วว่าเป็นฝีมือทหารเมียนมา โรฮีนจาเหล่านี้อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือพื้นที่แถบชายแดนติดกับบังคลาเทศ จนบัดนี้ยังไม่อาจกลับคืนประเทศแม้ผ่านการเจรจารอบแล้วรอบเล่า
การพาผู้อพยพคืนถิ่นยังไม่ประสบผลมาจากหลายสาเหตุ บางครั้งเป็นเพียงเอกสารที่บังคลาเทศกับเมียนมาใช้ไม่ตรงกัน ฝ่ายเมียนมาปฏิเสธการรับคนคืนหากเอกสารไม่ถูกต้องอย่างที่ต้องการ ความล้มเหลวนำผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ข้อมูลที่ชี้ว่าฝ่ายเมียนมาไม่ค่อยตระเตรียมอะไรเพื่อรองรับการกลับคืนของโรฮีนจา เป็นที่มาของคำถามว่ารัฐบาลเมียนมาจริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน ตามมาด้วยคำถามว่าหากกลับไปแล้วจะได้อยู่อย่างสงบสุขหรือเปล่า
ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อผู้อพยพจำนวนหนึ่งที่มีสิทธิ์กลับประเทศ แต่ปฏิเสธสิทธิ์ยินดีเป็นผู้อพยพลี้ภัยต่อไป (คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาฮินดู) ข้อมูลจาก IGC สรุปว่าโรฮีนจาส่วนใหญ่ไม่ต้องการไปอยู่ประเทศที่ 3 ต้องการกลับประเทศโดยมีข้อแม้ว่าต้องได้อยู่อย่างปลอดภัย ถ้าข้อสรุปนี้เป็นจริงน่าเชื่อว่าโรฮีนจาส่วนใหญ่จะอยู่ในบังคลาเทศอีกนาน สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าคงต้องอยู่ยาว รัฐบาลหลายประเทศก็คิดเช่นนั้น แต่น้อยประเทศที่คิดวางแผนช่วยเหลือระยะยาวอย่างเป็นระบบ
ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) อาศัยจังหวะนี้ขยายเครือข่ายและอิทธิพลของตนในหมู่ผู้ลี้ภัย ชี้ว่าโรฮีนจากับ ARSA มีศัตรูร่วมคือกองทัพเมียนมา มีข่าวเสมอว่ามุสลิมหลายกลุ่มหลายประเทศให้การสนับสนุน ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศ การเงิน ฯลฯ
ARSA ประกาศว่าเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อศาสนาหรือ Harakah al-Yaqin (Faith Movement) เป็นผู้โจมตีจุดตรวจฐานที่มั่นของเจ้าหน้าที่เมื่อตุลาคม 2016 กับสิงหาคม 2017 เป็นชนวนให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้อย่างรุนแรง โรฮีนจานับแสนอพยพออกนอกพื้นที่ หลายร้อยเสียชีวิต
ส่วนโรฮีนจาที่ยังอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ (Rakhine State) ราว 100,000-150,000 คนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมพื้นที่อย่างเข้มงวด มีเคอร์ฟิว การตรวจเช็ค ห้ามออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น แม้ได้อยู่ต่อแต่เหมือนคนไร้อนาคตไม่ต่างจากผู้อพยพลี้ภัยเท่าไหร่
มุมมองของรัฐบาลเมียนมา :
มิ้น อ่องไหล่ (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบันกล่าวว่า “รูปร่างลักษณะของพวกเขาและวัฒนธรรมไม่เหมือนชาติพันธุ์เมียนมา”
1992 รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ U Ohn Gyaw กล่าวถึงโรฮีนจาว่าเป็นคน “เบงกาลี” (Bengali) ภายใต้กฎหมาย 1982 Citizenship Act พลเมืองเท่านั้นที่ได้สิทธิถือครองที่ดิน สิทธิทางธุรกิจ และกล่าวว่า “ผู้อยู่ในศูนย์อพยพในบังคลาเทศน่าจะเป็นพวกที่มาจากคนธากา (Dhaka) ไม่มีคนจากประเทศพม่าสักคนที่ออกจากประเทศ”
คำพูดของผบ.สส. มิ้น อ่องไหล่ เป็นจุดยืนเดิมของทางการเมียนมาที่ชี้ว่าพวกโรฮีนจาเป็น “คนต่างชาติ” จะปฏิบัติต่อโรฮีนจาในฐานะพลเมืองเฉพาะผู้ที่สามารถพิสูจน์ว่ามีสัญชาติพม่าเท่านั้น
โรฮีนจามีผลต่อการปฏิรูปประเทศ :
International Crisis Group เห็นว่าความเป็นไปของโรฮีนจามีผลต่อการปฏิรูปเมียนมา ความเห็นของ ICG มีน้ำหนักหากข้อสรุปสุดท้ายบ่งชี้ว่ามีผู้บงการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” จริง
บางคนวิเคราะห์ไกลถึงการช่วงชิงแข่งขันของประเทศต่างๆ เช่น จีนมีแผนสร้างท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจากยูนาน เปิดทางสู่มหาสมุทรอินเดีย ความพยายามของรัฐอิสลามหลายประเทศที่กำลังเคลื่อนไหวผ่านประเด็นนี้
ล่าสุด รายงานสหประชาชาติชี้ว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่งมีส่วนสังหารหมู่โรฮีนจา ควรถูกไต่สวนด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ข่มขืนสตรี เผาหมู่บ้าน รายงานฉบับนี้ยังกล่าวโทษรัฐบาลอองซานที่เพิกเฉย ไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควร
หลังรายงานเผยแพร่ รัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส คูเวต เนเธอร์แลนด์ สวีเดนและอีกหลายประเทศร่วมกล่าวโทษรัฐบาลเมียนมาตามข้อหาจากรายงาน เห็นว่าควรนำเรื่องสู่ศาลโลก
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ประการแรก คำถามหลักประชาธิปไตย
มีข้อมูลว่าชาวพม่า คนเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากไม่อยากให้โรฮีนจากลับประเทศ การปรากฏตัวของนักรบศาสนา ARSA ข่าวเรื่องมุสลิมแบ่งแยกดินแดน การสนับสนุนจากรัฐบาลอิสลามหลายประเทศ เหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้ต่อต้านโรฮีนจา
เกิดคำถามว่าในฐานะรัฐประชาธิปไตย ควรฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ หรือว่าควรทำตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล หรือควรทำอย่างไรดี เช่น ยึดหลักความมั่นคง
จุดยืนจากฝ่ายกองทัพหรือผู้กุมอำนาจประเทศคือพวกเขาไม่ใช่คนเมียนมา คำตอบนี้ดูจะสอดคล้องกับความเห็นของคนเมียนมาส่วนใหญ่
ไม่ว่าประชาธิปไตยเมียนมาขณะนี้จะเติบใหญ่มากหรือน้อย คำตอบออกมาในทิศทางสนับสนุนไม่ยอมรับโรฮีนจา ถ้ายึดความต้องการของประชาชน ผู้นำกองทัพไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ไม่ถูกต้องในสายตานานาชาติ อาจนำสู่การถูกคว่ำบาตร ฯลฯ
เป็นกรณีคำถามที่ดีสำหรับการยึดหลักประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ
ประการที่ 2 แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
โรฮีนจาในค่ายลี้ภัยจำนวนมากคิดว่าการกลับคืนเมียนมาเป็นเรื่องอีกยาวไกล เป็นความฝันลมๆ แล้งๆ โอกาสที่ดีกว่าคือไปหางานทำต่างแดน แม้ต้องทำงานที่มนุษย์คนอื่นมักไม่ทำ ถูกกดขี่สารพัด แม้กระทั่งเสี่ยงเสียชีวิต แต่คือ “โอกาส” เพื่ออนาคตที่ดีกว่าทั้งของตัวเองและครอบครัว
ปัญหาแรงงานโรฮีนจาเข้าเมืองผิดกฎหมายจึงดำเนินต่อไป คนหลายกลุ่มหลายประเทศได้ประโยชน์จากการนี้ ดังนั้นแม้อยู่ถึงบังคลาเทศก็ยังสามารถเดินทางมาที่มาเลเซีย ข้ามหลายประเทศหลายพันกิโลเมตร
ข่าวโรฮีนจาบางคนที่สามารถตั้งหลักปักฐานในต่างแดน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่ากระตุ้นให้โรฮีนจาอีกหลายคนดิ้นรนออกจากค่ายผู้ลี้ภัย เป็นประเด็นที่ต้องร่วมหารือกับหลายองค์กรไม่ให้ปัญหาบานปลาย
ประการที่ 3 อองซาน ซีจูต้องมีส่วนรับ “ผิดและชอบ”
แม้ฝ่ายอองซาน ซูจีชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล นางอองซานเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นที่พูดกันหนาหูว่ากลุ่มของนางได้รับอำนาจเพียงบางส่วน ตัวนางอองซานเป็นคนออกหน้าออกตาในเวทีระหว่างประเทศ แต่อำนาจแท้จริงยังอยู่กับผู้กุมอำนาจกลุ่มเดิม
เป็นไปได้ว่าฝ่ายอองซานกับฝ่ายกุมอำนาจเดิมได้ตกลงกันแล้วว่าจะแบ่งการบริหารประเทศอย่างไร ถ้ามองในแง่บวก การเปิดทางให้นางอองซานคือการเปิดทางแก่เสรีประชาธิปไตย บนพื้นฐานที่ยอมรับว่ายังต้องอาศัยเวลาอีกนานปีกว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพราะประเทศจำต้องพัฒนา ประชาชนมีงานทำ
ถ้ามองในแง่ลบ คงไม่เกินไปถ้าจะกล่าวว่านางอองซานเป็นเพียงหุ่นเชิด ผู้กุมอำนาจเดิมอยู่หลังม่านอย่างสุขสบาย คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง รู้ดีว่าแม้จะผ่านอีกหลายปีอำนาจหลักยังอยู่กับพวกเขา
แต่ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร ในเวทีระหว่างประเทศรัฐบาลอองซานต้องมีส่วนรับ “ผิดและชอบ”
บัดนี้สหประชาชาติสามารถรวบรวมหลักฐานได้หนาแน่น นำสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นทุกที เรื่องโรฮีนจากำลังเข้มข้นขึ้น
การตั้งชื่อบทความ “โรฮีนจาในมืออองซาน ซูจี” อาจไม่ถูกต้องเท่าไหร่แต่เป็นเช่นนั้น
-----------------------------------
ภาพ : ฯพณฯ อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา
ที่มา : https://www.facebook.com/aungsansuukyi/photos/a.83994093420/10156716288118421/?type=3&theater
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |