ชายหาด “บาตู เฟอริงกี” ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะปีนัง
ความเชื่อเรื่อง “กัดรองเท้าก่อนที่รองเท้าจะกัดเรา” ของหม้ายสาวแคชเชียร์ร้านสะดวกซื้อบนถนน Jalan Penang ผู้มีต้นตระกูลเป็นชาวสยามทำให้ผมแปลกใจไม่น้อย แต่เมื่อลองค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็พบว่าเป็นความเชื่อร่วมของชาวเอเชียหลายเชื้อชาติ และอาจจะมีนอกเหนือชาวเอเชียด้วย ในทางปฏิบัติก็น่าจะได้ผลอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อกัดที่ส้นรองเท้า เพราะมันจะทำให้ส้นรองเท้ายืดหยุ่นขึ้น โอกาสทำร้ายส้นเท้าเราก็ลดลงไปหน่อย แต่จะให้ดีผมว่าใช้มือบีบคลึงหรือใช้เท้าเหยียบลงไปเลยจะได้ผลมากกว่า
ผมเดินกลับไปถึงที่พักตอนเวลาเกือบตี 3 อุตส่าห์ดีใจที่สองสาวจีนเช็กเอาต์ออกไปแล้วตอนเที่ยง คืนนี้พอจะหลับตาลงนอนกลับได้ยินเสียงคนกลุ่มใหม่ลากกระเป๋าเข้ามาพัก พวกเขาอาจจะรับกุญแจไปก่อนหน้านี้แต่เพิ่งเข้ามาพัก ทว่าเหมือนจงใจเลือกห้องบนศีรษะผมยังไงยังงั้น และพวกเขากระทำไม่ต่างกันคือเดินลงส้นเท้าเสียงดัง พื้นกระดานไม้ของอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสที่คั่นระหว่างชั้นหนึ่งและชั้นสองสะเทือนจนหลับไม่ลง เวลาประมาณตี 4 ผมตัดสินใจเข้าเว็บไซต์กดจองที่พักแห่งใหม่เป็นโรงแรมที่สร้างด้วยอิฐและปูนทั้งหลังสำหรับวันพรุ่งนี้ ห่างออกไปแค่สองสามร้อยเมตร
รุ่งขึ้นตื่นมาประสบสิ่งที่เลวร้ายยิ่ง พวกเขาเดินกระแทกเท้าเสียงดังกว่าลูกค้าจีนเมื่อวานเสียอีก เดินขึ้นไปดูเห็นสองสาวแขกพักห้องเดียวกัน เมื่อรู้ว่าเป็นผู้หญิงก็เลยไม่กล้าว่าอะไร กลับลงไปนอนลืมตาจนได้เวลาอาบน้ำและเก็บกระเป๋าเช็กเอาต์ตอนเกือบๆ เที่ยง ก็ได้เห็นกลุ่มวัยรุ่นแขกทั้งหญิง-ชาย รวมห้าหกคน พร้อมรถยนต์หน้าเกสต์เฮาส์ พวกเขาคงเช่ารถขับเที่ยวทั่วปีนัง ดูหน้าตาแล้วน่าจะเป็นคนอินเดีย จากประเทศอินเดีย
ก่อนเดินไปที่พักแห่งใหม่ผมก็แวะกินมื้อแรกที่ร้านอาหารจีน Hon Kei เหมือนเมื่อวาน วันนี้สั่งหมี่กรอบราดหน้าปลาทอด มีไข่ลวกเละๆ โปะมาด้วย รสชาติอร่อยดี ราคาประมาณ 100 บาท เรียบร้อยแล้วก็เดินไปยัง Grand Inn ตอนจองเมื่อคืนนั้นมีระเบียบเขียนว่าเช็กอินได้ตอนบ่าย 2 โมง แต่เมื่อผมไปถึงหลังเที่ยงนิดหน่อยก็สามารถเข้าพักได้เลย
ยามเย็นบนชายหาดบาตู เฟอริงกี กิจกรรมเล่นทะเลหลายอย่างยังดำเนินไป
ราคาที่พักตอนจองเมื่อคืนซึ่งจ่ายด้วยบัตรเดบิตเป็นเงิน 600 บาท มีค่าภาษี 2 ริงกิตและค่าธรรมเนียม 10 ริงกิต (สำหรับโรงแรมสองดาว) เท่ากับจ่ายจริงประมาณ 700 บาท หากวอล์คอินราคาจะมากกว่า อยู่ที่ประมาณ 960 บาท นอกจากนี้ก็มีค่ามัดจำคีย์การ์ดอีก 30 ริงกิต
เช็กอินแล้วผมก็ขึ้นไปนอนทันที ตื่นอีกครั้งเวลาบ่าย 2 กว่าๆ แล้วอาบน้ำแม้ว่าน้ำจะร้อนมาก คงเพราะแทงค์เก็บน้ำอยู่บนดาดฟ้า แล้วเดินไปหัวถนนLebuh Chulia หมายจะหากาแฟกินก่อนขึ้นรถเมล์ไป “บาตู เฟอริงกี” ร้านกาแฟชื่อ Roast & Bake Café – Dessert ตั้งอยู่ก่อนป้ายรถเมล์ประมาณ 30 เมตร ทุกอย่างจึงลงตัว เข้าไปสั่งเอสเปรซโซเพราะต้องการความเร็ว นั่งโต๊ะเล็กๆ ด้านนอกร้านเพราะจะได้มองเห็นรถเมล์ แต่ตอนที่เห็นรถเมล์แล้วลุกวิ่งไปที่ป้าย รถกลับไม่จอด คนขับทำมือเป็นสัญลักษณ์ว่าให้ขึ้นคันหลัง ผมจึงเดินกลับไปยังร้านกาแฟอีกครั้งแล้วสั่งชาเบอร์รี่ผสมมาดื่มต่อ
พนักงานสาวชื่อ “ไมรา” มีเชื้อสายไทย บอกว่าร้านเพิ่งเปิดได้ไม่นาน เธอยิ้มแย้ม ช่างเจรจา เปิดประตูออกมาคุยด้วยหลายรอบ พนักงานอีกคนเป็นหนุ่มอินเดียชื่อ “โจเซฟ” อัธยาศัยดี ยิ้มเห็นฟัน เขาเอากระดาษมาให้ผมเขียนข้อความ บอกว่าเขียนอะไรก็ได้ ผมจึงเขียนชมร้านไปตามสมควร เขาขอบคุณแล้วชวนผมเดินขึ้นไปดูชั้นบนของร้าน ดูน่านั่งทำงานหรืออ่านหนังสือ สตรีอายุราวๆ สี่สิบยิ้มให้ เธอน่าจะเป็นคนจีนหรือไม่ก็จีนที่แต่งงานกับชาวมาเลย์ที่เรียกว่า “เปรานากัน” ตอนเดินกลับลงมาถึงชั้นล่าง โจเซฟบอกว่าคนที่ยิ้มผมให้คือเจ้าของร้าน
ผมกลับไปประจำการหน้าร้านอีกครั้ง ไมราเธอน้ำใจงามเดินไปยืนรอรถเมล์ที่ป้ายให้ เธอว่า “ต้องโบก ถ้าไม่โบกก็จะไม่จอด แถมยังขับเร็วเหมือนว่าจะรีบให้ถึงปลายทางไวๆ”
ทันใดนั้นรถเมล์สาย 101 วิ่งเข้ามา ไมราโบกให้จอด น้ำชาผมเหลืออีกเกินครึ่งถ้วย จัดการซดปรู๊ดยาวรู้สึกเหมือนคอจะไหม้เหลือไว้อีกเกือบครึ่งถ้วยแล้ววิ่งไปขึ้นรถเมล์ ร้านกาแฟนี้จะปิดในวันพรุ่งนี้คือวันอังคาร ผมบอกไมราว่าจะมาอีกครั้งในวันพุธ วันที่ต้องเดินทางกลับ
บนรถเมล์ในช่วงแรกยังไม่มีที่ว่าง สักพักก็มีคนลุกลงไปที่ป้ายแถวๆ ห้างคอมตาร์ น้าชาวอินเดียขยับให้นั่ง ถามผมว่า “นี่ใช่จอร์จทาวน์ใช่ไหม” จึงรู้ว่าแกไม่ใช่คนที่นี่ คงนั่งรถเมล์คันนี้มาจากสนามบินหรือไม่ก็ท่าเรือ จากนั้นแกก็ชวนคุยอย่างเป็นมิตรมาก บอกว่ามาจากรัฐเกรละ (Kerala) ทางประเทศอินเดียตอนใต้ (ฝั่งทะเลอาหรับ) แนะนำตัวว่าชื่อ “โทมัส” เพื่อนๆ ของแกกำลังตามมาในอีกไม่กี่ชั่วโมง สุดท้ายขอเบอร์โทรศัพท์ของผมที่เมืองไทย แล้วก็ให้เบอร์แกที่อินเดียมาด้วย ผมเข้าใจดีเพราะเคยมีประสบการณ์พูดคุยกับชาวอินเดียแล้วถูกขอเบอร์โทรศัพท์และเฟซบุ๊กมาแล้วหลายครั้ง
ร้านข้าวราดแกงแขกบนถนน Jalan Penang
รถเมล์วิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที โชเฟอร์ก็ตะโกน “บาตู เฟอริงกี” น้าโทมัสที่ลุกออกไปเตรียมตัวก่อนผมกลับไม่ลง บอกว่า “ยังไม่ถึง”
ป้ายที่ผมลงเป็นจุดเริ่มต้นของชายหาด “บาตู เฟอริงกี” มีแขกยืนขายทัวร์อยู่หน้าทางลงหาด พอบอกว่า “โน แต๊งกิ้ว” เขาก็ไม่ได้ตื๊อต่อ ช่างเป็นแขกที่น่ารักจริงๆ เดินทะลุผ่านร้านขายเสื้อผ้าไปก็เป็นชายหาด เป็นจังหวะเดียวกับที่รองเท้าใหม่ของผมกัดเข้าให้อีกแล้ว จึงถอดออกแล้วคว้าแตะหนีบมาใส่ ดีนะที่เฉลียวใจเตรียมมาด้วย
เดินไปได้ครึ่งทางของหาดก็แวะดื่มเบียร์ไทเกอร์ที่ร้านชื่อ Bora Bora มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา จัดโต๊ะติดกับหาดทราย เป็นร้านที่น่านั่งรับลมมาก ราคาเบียร์ในเมนูระบุราคา 11 ริงกิต แต่ตอนมาเสิร์ฟคิด 12 ริงกิต พร้อมมะนาวฝานบางๆ สี่ห้าชิ้นใส่จานมาด้วย ทั้งที่เบียร์ที่ผมสั่งเป็นแบบ Radler ซึ่งเป็นเบียร์ที่ผสมน้ำมะนาวอยู่แล้ว
คำว่า Radler นั้นเป็นภาษาเยอรมัน แปลว่าคนปั่นจักรยาน มีที่มาจากสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีผู้พ่ายแพ้ อาคารบ้านเรือนพังยับเยิน ต้องมีการซ่อมสร้างเมืองกันขนานใหญ่ คนงานมาจากต่างประเทศ-ต่างเมือง เป็นจำนวนมาก ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง คนพวกนี้นิยมดื่มเบียร์ระหว่างพัก และเบียร์แอลกอฮอล์ต่ำผสมน้ำมะนาวแบบครึ่งต่อครึ่งก็ดูจะช่วยให้พวกเขากระปรี้กระเปร่ากลับไปทำงานต่อได้โดยไม่มีอาการง่วงซึม
บนชายหาดบาตู เฟอริงกี มีร้านอาหารและบาร์ไม่มากนัก แม้เป็นหาดที่ไม่สวยงามเท่าหาดระดับชูโรงของบ้านเรา แต่ก็มีเสน่ห์พอตัว มีกิจกรรมทางน้ำหลายอย่าง เช่น เครื่องร่อนบอลลูน เจ็ตสกี บานาน่าโบ้ท พายเรือคายัค นักท่องเที่ยวผิวขาวมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นแขกที่สวมกางเกงสแล็ค เสื้อเชิ้ต รองเท้าหนัง พวกพี่ๆ เขาชอบแต่งเต็มยศตลอดเวลาและทุกสถานที่ แต่พวกนุ่งกางเกงขาสั้นสวมเสื้อยืดก็มีเหมือนกัน นอกจากนั้นก็เป็นสตรีมุสลิมคลุมฮิญาบนุ่งกางเกงยีนส์
ทั้งนี้ “บาตู” แปลว่าหิน เนื่องจากบริเวณนี้บางช่วงมีหินโผล่ออกมาจากแนวชายฝั่ง ส่วน “เฟอริงกี” เป็นคำมาเลย์ที่หมายถึงชาวโปรตุกีสที่เป็นชาติตะวันตกที่มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อน แต่ต่อมาก็ใช้เรียกฝรั่งจากตะวันตกทั้งหมด ปัจจุบัน “บาตู เฟอริงกี” ถือเป็นเขตชานเมืองของจอร์จทาวน์ เป็นสถานที่ตั้งของรีสอร์ทตากอากาศมีชื่อ เลียบไล่ชายหาดไปตามความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร
ผู้สนับสนุนพรรคความยุติธรรมของประชาชนพร้อมทวงคืนอำนาจจากนาจิบ ราซัก
นอกจากชายหาดแห่งนี้แล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจใกล้ๆ อีก เช่น ฟาร์มผีเสื้อและสวนผลไม้นานาชนิด อุทยานแห่งชาติปีนัง สวนสมุนไพรและเครื่องเทศเขตร้อน สวนพฤกษศาสตร์ปีนัง และหอศิลป์ Yahong Art Gallery
ผมนั่งมองความเคลื่อนไหวของผู้คน หาดทราย และทะเล ที่ร้าน Bora Bora นี้อยู่จนตะวันตกดินแต่ยังมีแสงสว่าง เดินต่อไปจนเกือบสุดหาดทางด้านทิศตะวันตกแล้วเดินขึ้นถนนผ่านร้านสตาร์บัคส์ที่ตั้งขวางอยู่แบบบังคับให้เดินผ่าน ดูเหมือนว่ามีน้ำใจให้คนผ่านได้แม้ไม่ซื้อกาแฟ
ตลาดกลางคืนริมถนนเริ่มตั้งขายกันพอดี ตอนแรกผมนึกว่าจะเป็นแนวอาหารริมทาง ปรากฏว่าล้วนแต่เป็นร้านเสื้อผ้าและของประดับยาวเฟื้อยไปตามถนน เดินไปทางทิศตะวันตกเรื่อยๆ เพื่อหาร้านอาหารซึ่งก็มีหลายร้านแต่กลับไม่รู้สึกอยากกินเท่าไหร่ทั้งๆ ที่หิว เดินลงไปยังหาดอีกครั้งตรงจุดสิ้นสุดของหาด มีศูนย์อาหารแบบง่ายๆ ในนี้มีร้านอาหารหลายร้าน หนึ่งในนั้นเป็นร้านอาหารไทย มีห้องน้ำให้เข้าในราคา 30 เซนต์ แล้วผมก็เดินออกกลับไปยังถนนใหญ่อีกครั้ง เข้าร้านชำซื้อน้ำ 1.4 ริงกิต จ่ายใบ 50 ริงกิต ตั้งใจจะเอาเงินทอนขึ้นรถเมล์ ร้านชำกลับไม่มีทอน หนุ่มคนขายเห็นผมมีใบ 1 ริงกิตอยู่หนึ่งใบ เขาว่า “ริงกิตเดียวก็ได้” ผมมีเหรียญอยู่ 30 เซนต์จึงให้เขาไปด้วย
เดินไปที่ป้ายรถเมล์ หนุ่มเสื้อแดงดูแล้วเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ (อาจมีจีนผสม) บอกว่า “รถเมล์จอดตรงนี้คุณจะเดินไปไหนล่ะ” ผมตอบว่า “ไม่มีเศษเงิน ถ้าให้แบงก์ใหญ่เขาจะทอนไหม” หมอว่า “ไปซื้อของที่ร้านชำสิ แล้วชี้บอกทาง ผมก็เดินไปซื้อตามคำแนะนำ คราวนี้ซื้อถั่วอัลมอนต์ตราทองการ์เด้นราคา 3.8 ริงกิต แพงกว่าเมืองไทยนิดหน่อย ถามเจ๊คนขายว่า “ถ้าซื้อแค่นี้จะได้มั้ยครับ เพราะผมต้องการแค่เงินทอนไปขึ้นรถเมล์” เธอว่า “ได้สิ จะไปไหนล่ะ” ผมตอบ “คอมตาร์” เธอทอนกลับมาแล้วบอกว่า “นี่ฉันมีเหรียญพอสำหรับให้คุณขึ้นรถเมล์ 2.7 ริงกิต” คนปีนังน่ารักจริงๆ
กลับมาที่ป้ายรถเมล์ หนุ่มเสื้อแดงยังรอรถเมล์อยู่ มีฝรั่งหนุ่มวัยกลางคนเดินมาถามเจ๊ขายเสื้อร้านติดกับป้ายรถเมล์ถึงสายรถที่จะไปโรงแรมของเขาซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก เธอแนะให้ฝรั่งขึ้นรถชัตเติลบัส “จอดอยู่ตรงนั้น ขึ้นฟรีจ้า”
อาการท้องหิวของผมหนักขึ้นจึงเดินไปข้างหน้าทางทิศตะวันออกเผื่อว่าจะมีของกินแซมอยู่ในแถวของร้านขายเสื้อผ้าบ้างแต่ก็ไม่พบ เจอป้ายรถเมล์อีกป้าย แล้วนั่นรถเมล์กำลังมา
จากด้านข้างของห้างคอมตาร์ ผมเดินไปบนถนน Jalan Penang ผ่านหน้าร้านอาหารแขกแบบข้าวราดแกง ผมแวะโดยไม่ต้องคิด สั่งข้าวเหลืองแบบข้าวหมก โปะไก่ทอดชิ้นใหญ่และปลาทอด อาบังตักอาหารถามว่าจะเอาน้ำแกงอะไรราดลงไปด้วยไหม นี่แกงนี่ นี่แกงนั่น ผมไม่ทันตอบแกก็ราดทุกอย่างที่เอ่ยมา แต่ก็กินได้เข้ากันได้ดี ไม่เผ็ดอย่างแกงบ้านเรา ไก่ทอดเหมือนทอดมานานแล้วแต่ก็ยังอร่อย เป็นไก่ทอดแบบเดียวกับไก่แขกปักษ์ใต้ เครื่องเทศเข้าเนื้อ ปลาทอดก็อร่อยแต่เย็นไปหน่อย ค่าอาหารรวมน้ำเปล่าขวดเล็ก 14 ริงกิต
เดินผ่านร้านสะดวกซื้อร้านเดิม แคชเชียร์ชาวสยามเข้ากะมาแล้ว เธอพินิจใบหน้าหนุ่มไทยสักพักก็จำได้ ผมหยิบแชมพูยี่ห้อรีจอยส์ขวดเล็กมาที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ เธอว่า “นี่เป็นแชมพูสำหรับผู้หญิง” ผมแก้เก้อด้วยการบอกว่า “เส้นผมของผมนุ่มสลวยแบบของผู้หญิงน่ะ” แล้วยืนยันให้เธอคิดเงิน
เบกา (Beca) สามล้อถีบของมาเลเซีย ตกแต่งได้น่าใช้บริการ
ไม่ห่างจากโรงแรมที่พัก ทีมงานการเมืองพรรคความยุติธรรมของประชาชนกำลังปักธงสัญลักษณ์ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งขณะนั้นอันวาร์ อิบราฮิม ผู้เป็นประธานพรรคยังอยู่ในคุก ผมถามชายหนุ่มคนหนึ่งว่าจะเลือกใคร เขาตอบว่าจะเลือกมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่กลับเข้าการเมืองอีกครั้งเมื่อ 2 ปีก่อนและหันมาจับมือกับอันวาร์เพื่อจะโค่นนาจิบ ราซัค นายกฯ ผู้ต้องมลทินจากกรณียักยอกเงินกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ 1MDB เข้าบัญชีส่วนตัวหลายพันล้าน
ไม่ไกลกันมีกลุ่มคนถีบเบกา (Beca) หรือสามล้อมาเลย์ นั่งๆ นอนๆ รอผู้โดยสารอยู่หน้าร้านขายของชำ และบางคนก็ใช้เป็นที่หลับที่นอนอย่างจริงจัง ลุงคนจีนคนหนึ่งแกถีบสามล้อกลับไปกลับมา แล้วพูดสโลแกนทางการเมืองเป็นภาษาอังกฤษ ประมาณว่า “หนึ่งประเทศ หนึ่งหัวใจ หนึ่งเดียวนั้นคือมหาเธร์”
หลังการเลือกตั้ง มหาเธร์ก็ได้เป็นนายกฯ มาเลเซียอีกคำรบ ในวัย 7 ปี...ครบร้อย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |