ครหา ‘คลายล็อก’ แนวร่วม คสช. เจาะจงอำนวยสะดวก 'พรรคใหม่'


เพิ่มเพื่อน    

        มีความชัดเจนเรื่องการ คลายล็อก หลังที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบเนื้อหาที่ “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ซอยย่อยได้ 9 ข้อ

                ใน 9 ข้อ มีทั้งเรื่องการเปิดให้ประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค การแก้ไขข้อบังคับพรรค ตลอดจนรับสมัครสมาชิกได้

                นอกจากนี้ ยังแก้ไขเรื่อง “ไพรมารีโหวต” ที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยบัญญัติรูปแบบเอาไว้ โดยเปลี่ยนมาเป็นให้มีคณะกรรมการสรรหา 11 คน

                11 คนดังกล่าว มาจากตัวแทนกรรมการบริหาร 4 คน สมาชิกพรรค 7 คน แล้วลงไปคุยกับสมาชิกแต่ละเขตจังหวัด จำนวน 100 คน โดยมีองค์ประชุมเกิน 51 คน ก็สามารถเลือกผู้สมัครได้ทั้งจังหวัด แล้วนำรายชื่อไปเสนอให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาเห็นชอบ

                รายละเอียดดังกล่าวถือว่าลดขั้นตอนจาก “ไพรมารีโหวต” ฉบับเต็มไปค่อนข้างมาก แต่ไม่ขัดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติเอาไว้แค่ในเรื่อง “การมีส่วนร่วม”

                โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังกล่าว จะออกตามมาภายหลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา ประกาศใช้

                สำหรับรูปแบบการเลือกผู้สมัครเวอร์ชั่นใหม่ของ “เนติบริกร” จะเรียกว่า ไพรมารีโหวตฉบับสั้น หรือจะไม่เรียกว่าเป็นไพรมารีโหวตก็ได้ เพราะสาเหตุที่เลือกวิธีนี้ เพราะป้องกันการขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น

                สำหรับ “พรรคเก่า” หรือ “พรรคขนาดใหญ่” ดูจะไม่มีปัญหา ไม่ว่าสุดท้ายจะเลือกวิธีไหน เพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่สำหรับ “พรรคใหม่” ดูจะได้ประโยชน์เต็มๆ จาก ไพรมารีโหวตฉบับย่อ นี้

                โดยเฉพาะพรรคใหม่ที่ถูกมองว่า เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ในอนาคต

                การออกคำสั่ง คสช.ดูเหมือนเป็นการแก้ไขให้ “ตัวเอง” มากกว่าเจตนา “คลายล็อก” เพื่อพรรคการเมืองทุกพรรค ดังที่ระบุเอาไว้

                ถ้ามองประโยชน์ที่ได้ บรรดาพรรคเก่าและพรรคขนาดใหญ่ เหมือนได้แค่ประชุมพรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหาร และรับสมัครสมาชิกเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันเหมือนกับการเปิดให้พรรคการเมืองที่เคยประชุมกันในที่ลับ มาประชุมในที่แจ้งได้ โดยไม่ต้องหลบฝ่ายความมั่นคง

                อีกผลพลอยได้คือ จะเห็น “ตัวชูโรง” ของพรรคคู่แข่ง ในสนามเลือกตั้ง เพราะจะมีการเลือก “หัวหน้าพรรค” กันหลังจาก “คลายล็อก” ทำให้สามารถเตรียมตัววางยุทธศาสตร์เพื่อไปสู้ได้

                นอกจากนี้จะได้เห็นว่า สุดท้ายแล้วเมื่อถึงวัน “ประชุมใหญ่” สมาชิกของพรรค หรืออดีต ส.ส.ใครบ้างที่ยังอยู่ ใครบ้างที่ไปแล้ว และย้ายไปอยู่พรรคไหนและขั้วใด

                นอกจากนั้นทุกอย่างแทบจะเหมือนเดิมแทบทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการจริงๆ คือ การปลดโซ่ตรวน หรือ “ปลดล็อก” เพื่อให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้

                เพราะสิ่งสำคัญคือ พรรคการเมืองต้องการขยับแข้งขยับขา เพื่อไปลงพื้นที่หาเสียง ตุนคะแนน ซึ่งถ้านับตามปฏิทินของ คสช. 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะเหลือเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น

                มันน้อยเกินไปในการทำพื้นที่ สำหรับพรรคการเมืองที่ร้างกิจกรรมมานานร่วม 4 ปีกว่า ในขณะที่รัฐบาลและ คสช.ได้ทำมาตลอดในช่วงเวลาที่หายไปของพรรคการเมือง

                ในขณะที่พรรคการเมืองถูก “ล่าม” แต่ “บิ๊กตู่” และรัฐบาล ทำพื้นที่ได้อิสระ โดยใช้สถานะ “รัฐบาล” เข้าไปแก้ไขปัญหาประชาชน

                ถ้า “บิ๊กตู่” ไม่มีเรื่องของการจะเป็นนายกฯ ใน “เทอมสอง” การลงพื้นที่ในช่วงหลังๆ ที่ถี่ยิบ คงไม่ใช่ข้อคลางแคลงสงสัย หรือดูเป็นเรื่องความได้เปรียบ-เสียเปรียบต่อพรรคการเมืองอื่น

                แต่เพราะเรื่อง “บิ๊กตู่” จะลงสนามการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีเค้าลางของความเป็นจริงเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว มันจะดู “ไม่แฟร์” สำหรับพรรคการเมืองเท่าไหร่นัก

                ดังนั้น การ “คลายล็อก” จึงไม่ทำให้พรรคเก่า หรือพรรคขนาดใหญ่ รู้สึกวูบวาบ หรือมีชีวิตชีวาขึ้นมาเท่าไหร่นัก คงมีแต่พรรคใหม่ และพรรคแนวร่วมของ คสช.เท่านั้นที่ออกมากล่าว “ขอบคุณ”

                “พลังประชารัฐ” คือพรรคที่ถูกมองว่า เป็นที่มาของการแก้ไขรูปแบบไพรมารีโหวตครั้งนี้ เพราะเป็นพรรคที่ก่อตั้งใหม่เพื่อมารองรับคนในรัฐบาลปัจจุบัน

                ช่วงที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” นำโดย “ก๊วน 3 ส.” สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีการ “ดูด” อดีต ส.ส.เข้ามาจำนวนมาก เพื่อเตรียมเข้าร่วมกับ “พลังประชารัฐ”

                แต่การ ดูด ได้มาก ดูจะเป็นอุปสรรคถ้าต้องใช้วิธี “ไพรมารีโหวต” เนื่องจากจะทำให้ตัวเองไม่สามารถเลือกสมาชิกที่ต้องการในแต่ละพื้นที่เองได้ ในขณะที่ “กลุ่มสามมิตร” เองก็ไปตกปากรับคำอดีต ส.ส. เรื่องการวางตัวผู้สมัครในหลายพื้นที่เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

                การมอบอำนาจให้คณะกรรมการสรรหาของพรรคเป็นผู้คัดเลือก และให้คณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็น “แกนนำพรรค” เป็นผู้เคาะ จึงเป็นเหมือนมอบให้คนในพรรคอยู่ดี

                กระบวนการ “มีส่วนร่วม” ในระดับจังหวัด เป็นเหมือน พิธีกรรม เพื่อไม่ให้ขัดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง ในทางปฏิบัติ “ผู้มีอำนาจ” ในพรรคยังเป็นคนเลือกอยู่ดี

                “เหตุผลที่ทำให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ คงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจที่มาทำการเมือง ซึ่งเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารีโหวตเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขา แต่ต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารีโหวต” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เองก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เฉกเช่นเดียวกัน

                นอกจากเรื่อง “ไพรมารีโหวต” ที่มีการแก้ไข ซึ่งถูกมองเพ่งเล็งว่า เอื้อให้กับพรรคก่อตั้งใหม่ และพรรคร่วมของทหาร ยังมีเรื่องทุนประเดิม 1 ล้านบาท ใน 180 วัน หรือการหาสมาชิก 500 คน ใน 6 เดือน โดยจะแก้เป็นนับจากคำสั่งนี้ออกไป ส่วนการมีสมาชิก 5,000 คน ใน 1 ปี และ 10,000 คน ใน 4 ปี แก้เป็น 180 วัน และ 4 ปี นับจากคำสั่งนี้ออกไปตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                คำสั่ง “คลายล็อก” ทั้งที่น่าจะดีและเป็นที่พอใจสำหรับ “พรรคการเมือง” เพราะจะได้ขยับเขยื้อนกันได้ จึงกลับกลายมาเป็นการถูกโจมตีอย่างกว้างขวาง

                ขณะที่ คสช.เองมีแต่ “ได้” กับ “ได้” นั่นเพราะการ “คลายล็อก” เป็นเหมือนสัญญาณแห่งความหวังว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า ตามที่ผู้มีอำนาจกาง “โรดแมป” เอาไว้

                ความเชื่อมั่นจากภายนอกประเทศที่มีต่อประเทศไทยจะดูดีขึ้น สถานการณ์โดยรวมในประเทศ รวมถึงแรงกดดันจะดู “ผ่อนคลาย” ขึ้น เพราะทุกคนจะนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง

                ด้านพรรคก่อตั้งใหม่ และแนวร่วมของทหาร ได้ในสิ่งที่ตัวเองปรารถนา และเอื้อต่อเป้าหมายในสนามเลือกตั้งที่ตั้งเป้าเอาไว้

                และมันเป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่า คสช.ต้องการ “ความชัวร์” ในทุกๆ เรื่อง แม้แต่รายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้ตัวเองเป็น “ฝ่ายชนะ” ในสนามเลือกตั้ง!!!.

 

                                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"