วงการตำรวจไม่มีทางพ้น ระบอบอุปถัมภ์


เพิ่มเพื่อน    

 รู้ไม่จริงดัดจริตมาปฏิรูป ตร. สู้แค่ตายขวาง กก.ชุด 'มีชัย'

เข้าสู่เดือนกันยายน การแต่งตั้งโยกย้าย-จัดทัพข้าราชการระดับสูงประจำปีของหลายหน่วยทำเสร็จไปบ้างแล้ว ขณะที่บางหน่วยเช่นกองทัพก็อยู่ระหว่างการรอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อีกหน่วยที่สำคัญและถูกพูดถึงมากในปีนี้ก็คือ วงการตำรวจ-สีกากี ที่เก้าอี้บิ๊กสีกากีหลายตำแหน่งถูกจับตามอง โดยเฉพาะกระแสข่าว พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ตำรวจท่องเที่ยว หรือบิ๊กโจ๊ก ที่มีข่าวรอบนี้อาจได้ตำแหน่งใหญ่ แม้จะมีอาวุโสน้อยกว่าคนอื่นมาก จนเริ่มมีข่าวโผแต่งตั้งสีกากีกำลังฝุ่นตลบ ซึ่งล่าสุดผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีมติให้ขยายเวลาการแต่งตั้งออกไปอีก 30 วัน หรือสิ้นเดือนกันยายน ทำให้การแต่งตั้งในปีนี้อาจจะเสร็จช่วงเดือนตุลาคม

ขณะที่การปฏิรูปตำรวจที่รัฐบาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน หลังมีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รวมถึงยกร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาฯ ขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอรัฐบาล หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

                พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรอง ผบ.ตร.-อดีตกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมาแล้วมากมาย ขณะที่งานด้านวิชาการก็เป็นอาจารย์สอนหลายวิชา เช่น การสอบสวนคดีอาญา-การบริหารงานบุคคลในกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตั้งแต่ปี 2516 เคยเป็นอาจารย์สอนอดีตนายกรัฐมนตรี-อดีตบิ๊กตำรวจมามากมาย และจนถึงปัจจุบันก็ยังสอนอยู่ต่อเนื่อง ให้ความเห็นต่อเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติในเชิงไม่เห็นด้วยหลายประเด็น โดยมองว่ากรรมการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ชุดมีชัย และคนที่ออกมาพูดเรื่องปฏิรูปตำรวจ ส่วนใหญ่รู้ไม่จริงในเรื่องปัญหาของตำรวจ แนวคิดบางอย่าง เช่น การให้ยึดหลักอาวุโสเป็นหลักในการตั้งตำรวจ ก็ดัดจริต โลกสวย ทำให้แทนที่จะปฏิรูปตำรวจ แต่สิ่งที่ทำกลับกลายเป็นปฏัก หรือหอกทิ่มแทงตำรวจทั่วประเทศ โดยระบุว่าหากกรรมการชุดมีชัยยังคงเคลื่อนไหวการแก้ไขกฎหมายตำรวจอยู่ ก็อาจต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากนี้ เพราะหลายเรื่องที่เขียนออกมาในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตำรวจจำนวนมากรับไม่ได้ โดยเรื่องนี้สู้แค่ตาย

“ก็แล้วแต่ แต่ผมก็มีวิธี มีมาตรการในการแสดงความคิดเห็น และการจะปฏิเสธ มันจะมี ที่ผ่านมาผมทำอย่างดี เริ่มจากแถลง ให้เกียรติ วิจารณ์ ยกตัวอย่าง แต่ถ้าไม่ฟังก็ต้องก้าวไปขั้นที่สอง ขั้นที่สาม ผมอาจจะ approach ท่านพลเอกประยุทธ์จะเอาเข้าสภาฯ หรือไม่เข้า สุดท้ายก็อยู่ที่พลเอกประยุทธ์ ประทานโทษ ขออย่ามาดัดจริต สนช.ถ้าพลเอกประยุทธ์ชี้ว่าต้องเอาอย่างนี้ จะเอาไหม คุณต้องยอมรับความจริงตรงนี้ ว่าทั้งหมดอยู่ที่พลเอกประยุทธ์

ถ้ากรรมการชุดท่านมีชัยยังจะขับเคลื่อนอะไรต่างๆ สุดท้ายผมจะบอกให้พลเอกประยุทธ์เตรียมตัว พล.ต.อ.อชิรวิทย์จะขอไปเข้าพบพลเอกประยุทธ์ ผมตอบเดี๋ยวนี้เลย ผมสู้แค่ตาย แล้วบอกให้ดีนะ ระบบตำรวจใครเป็นผู้จัดตั้ง คุณทำอะไรผิดเงื่อนไขไป คุณต้องระวัง คุณรู้ไหมใครเป็นผู้จัดตั้งระบบตำรวจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านทรงรู้จักสังคมและการปกครองไทย คุณจะทำอะไรเหมือนกับที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ บอกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งผมรักใคร่นายสุเทพมาก่อน ผมรู้เลย อิทธิพลท้องถิ่น ระเบิดภูเขา เผากระท่อม คุณปฏิเสธไม่ได้ ไปบุรีรัมย์ก็ต้องไปหาท่านเนวิน ชิดชอบ ไปชลบุรีก็ต้องไปซุ้มกำนัน” พล.ต.อ.อชิรวิทย์กล่าว หลังถามว่าหากร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติส่งไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเร็วๆ นี้จะทำอย่างไร

            พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า เรื่องกระแสเรียกร้องปฏิรูปตำรวจที่เกิดขึ้นมาตลอดในยุค คสช.มองว่าเป็นเรื่องปกติเรื่อง เพราะการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร หลังการเลือกตั้ง ต้องมีการจัดการกับตำรวจตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เพราะว่าตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ว่าจะเกลียดชังหรือปฏิเสธอย่างไร ตำรวจก็ต้องมีอยู่ เพราะตำรวจเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขประชาชน บริการประชาชน บังคับใช้กฎหมาย จับคนทำผิดมาลงโทษ อำนาจของตำรวจเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน แม้แต่นอนหลับ หากโจรเข้าบ้าน เกิดเพลิงไหม้ ตำรวจก็ต้องไประงับเหตุ

เมื่อตำรวจต้องเป็นเครื่องมือของรัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลที่บริหารประเทศ ใครเข้ามาบริหารประเทศก็ต้องกำกับดูแลตำรวจ ด้วยเหตุนี้อำนาจของตำรวจจึงถูกบังคับบัญชาโดยตรงกับผู้มีอำนาจสูงสุด ซึ่งก็เป็นหลักการที่หลายประเทศก็เป็น เช่นที่สหรัฐอเมริกา หาก ผอ.เอฟบีไอ ไม่ใช่คนที่ประธานาธิบดีสหรัฐต้องการ เขาก็เปลี่ยนตัว ของไทยเวลาใครมีอำนาจ รัฐก็ต้องไปจัดการกับตำรวจ

ในปัจจุบันที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหาร ก็ทำเรื่องตามเสียงเรียกร้องของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ แต่ก่อนหน้านี้สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ก็มีการไปแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2547 หลังใช้มา 26 ปี ส่วนยุค คสช.ก็มีการออกคำสั่ง คสช.เรื่องตำรวจหลายส่วน แล้วก็มีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาเรื่องนี้ ที่มีพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน จนพิจารณาเสร็จ แต่เมื่อนายกฯ ตั้งคณะกรรมการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรรมการชุดนี้ไม่ต้องตาต้องใจกับผลสรุปของกรรมการชุดพลเอกบุญสร้าง จึงทำเองใหม่ ที่ก็ยังสงสัยว่ากรรมการชุดนี้ไปเอาอำนาจที่ไหนมาบอกว่าต้องยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นมาใหม่

กรรมการชุดดังกล่าวที่มีด้วยกัน 16 คน แต่มีอยู่ 14 คนที่ไม่ได้เป็นตำรวจ ไม่รู้เรื่องตำรวจ แต่กลับจะมาออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับตำรวจ โดยกรรมการที่เป็นฝ่ายตำรวจ 2 คนได้แต่นั่งแบ๊ะๆ ฟังสิ่งที่กรรมการชุดมีชัยตั้งธงไว้แล้ว โดยสิ่งที่กรรมการชุดมีชัยร่างออกมา ผมรับไม่ได้ เพราะมันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง

ถ้าแก้กฎหมายตำรวจแห่งชาติตามร่างที่กรรมการชุดมีชัยทำออกมา ผมบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่การปฏิรูป ผมว่าคือปฏัก หรือหอกที่ทิ่มทั้งอกตำรวจและทิ่มทั้งอกประชาชน เพราะเมื่อตำรวจไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่กลับจะมาเพิ่มพูนปัญหาให้กับตำรวจ คนที่เดือดร้อนจริงๆ คือ ประชาชน ผมถึงไม่ใช้คำว่าปฏิรูป แต่เป็นปฏักที่ทิ่มอกตำรวจทั้งหมดกับสิ่งที่กรรมการชุดมีชัยกำลังทำวันนี้

ไล่ประเด็นหลักๆ ที่ อดีตรอง ผบ.ตร.-อดีต ก.ตร. คัดค้านโมเดลการยกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ชุดนายมีชัย และคณะ โดย พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า เช่นเรื่องที่จะให้ตำรวจบางสายงาน เช่น แพทย์-พยาบาล-การพิสูจน์หลักฐานและการสอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หลังจากนี้จะเป็นตำรวจที่ไม่มียศ ว่ากรรมการชุด อ.มีชัย ไม่เคยไปถามเขา แต่ผมถาม คุณจะอยู่ในองค์กรเดียวกัน คุณจะอยู่แบบผสมกลมกลืนหรือจะอยู่แบบแปลกแยกในองค์กรนั้น เช่น หากองค์กรหนึ่ง คนในองค์กรใส่ชุดสากลมาทำงานกันหมด แต่คุณไปบอกให้คนกลุ่มหนึ่งไปนุ่งผ้านุ่งโจงกระเบน ผู้หญิงก็ห่มสไบเฉียงมาทำงาน อยู่ในนั้นประมาณ 1-2 พันคน จากคนในองค์กรนั้นที่มีอยู่สองแสนกว่าคนที่เขาแต่งชุดสากล ก็ลองคิดตามดูว่าหน่วยงานที่ใส่เครื่องแบบทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เขาก็มีหน่วยรักษาพยาบาล มีหมอ หน่วยวิชาการที่มีครูอาจารย์  เขาก็ใส่เครื่องแบบ มียศหมด เพราะแม้บางฝ่าย เช่น หมอทหาร เขาก็ต้องไปเข้าโรงเรียนเสนาธิการของหน่วย อย่างหมอภาคย์ พ.ท.นายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน ก็ต้องเข้าไปอยู่โดยผสมกลมกลืนกับคนในหน่วยให้ได้

...อีกทั้งการเป็นหมอตำรวจ หมอทหาร แข็งแกร่งกว่าหมอปกติ กรรมการชุดมีชัย เขียนเรื่องแบบนี้มาโดยไม่เคยไปถามพวกเขา อยู่ๆ ก็มากำหนดเลย หากกรรมการถามจะได้คำตอบเลย แม้แต่หน่วยพิเศษ เช่น ที่ทำงานด้านคอมพิวเตอร์ต่างๆ หากเข้ามาแล้วไม่ให้เขาอยู่แบบผสมกลมกลืน เขาก็ไปอยู่ที่อื่นดีกว่า เขาไม่มาหรอก การมาทำให้เขาอยู่ในองค์กรนั้น ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ เช่น เป็นนายแพทย์ตำรวจ แต่ก็ได้เข้าไปอบรมตำรวจ ทำให้ไปไหนมาไหนก็มีเพื่อน ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ทหาร-ตำรวจ เขามีรุ่น แม้ไม่ได้จบโรงเรียนหลักมาด้วยกัน แต่ก็มีการอบรมในแต่ละส่วน เช่น ทหารก็มีหลักสูตร ผบ.ร้อย ผบ.พัน หลักสูตรเสนาธิการ ตำรวจก็มีหลักสูตร สารวัตร-ผู้กำกับ-ผู้บังคับการ หลักสูตรสอบสวน อย่างหลักสูตรผู้กำกับ หมอ-พยาบาลที่เป็นตำรวจ ก็ต้องมาอบรม เพราะเป็นนักบริหารชั้นต้น มันเป็นความภาคภูมิใจ

ผมถามพวกหมอที่เขาเข้ามาเป็นตำรวจ เขาบอกเขาอยากเป็นตำรวจ หากเขาต้องเป็นหมอธรรมดา เขาจะมาทำไม กรรมการชุด อ.มีชัย ก็ไม่เคยไปถามพวกเขา คิดเอง เออเองเสร็จ หรือพวกอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กองบัญชาการศึกษา เขาจะมาทำไม ก็ไป ก็ไปจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยมาสอนไม่ดีกว่าหรือ

ถามว่าหากออกมาแบบนี้จริง คือต่อไปไม่ให้มียศ จะเกิดปัญหาสมองไหล คนไม่สมัครเข้ามาหรือไม่ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่า ไม่มาแน่นอน เขาไม่มาหรอก ส่วนที่บอกกันว่าในต่างประเทศ ตำรวจที่ทำงานพวกนี้ก็ไม่มียศนั้น ในต่างประเทศ เขามีหน่วยงานพิเศษ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมมีความต่างกัน จะไปเอาแม่แบบจากประเทศหนึ่งมาใช้กับอีกประเทศไม่ได้ ต้องดูความเหมาะสม ในสหรัฐเป็นระบบท้องถิ่นเลี้ยงตัวเองได้ แต่ของไทย ท้องถิ่นก็ยังต้องได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง ระบบตำรวจในเอเชียเกือบทั้งหมดเป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ ลักษณะ ”ตำรวจแห่งชาติ” ผมไม่ได้ค้านว่าจะไม่ให้ หมอมียศ ตำแหน่ง แต่ผมถามว่า กรรมการเคยถามเขาไหม คุณจะทำอะไร เคยถามเขาไหม ไม่ใช่คิดเองเออเอง

ในเมื่อเขาต้องการผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ในนี้ จู่ๆ กรรมการจะไปแยกเขาโดยไม่ถามพวกเขาเลย แล้วหากเกิดปัญหาสมองไหล กรรมการชุด อ.มีชัย จะรับผิดชอบไหม ผมตอบได้เลย สมองไหลแน่นอน

อย่าเอาคนนอกมาคุมตำรวจ

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่อง คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ที่มีกรรมการมาจากหลายทาง เช่น อดีตผู้พิพากษา-อดีตอัยการ-อดีตตำรวจยศ พล.ต.ท.ขึ้นไป เพื่อมาพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจที่ประพฤติมิชอบ ประพฤติตนไม่เหมาะสม เรื่องนี้ก็ไม่เห็นด้วย ขอถามว่าประเทศไทย จนถึงตอนนี้ การใช้ระบบคณะกรรมการคนนอกมาควบคุมคนในองค์กรต่างๆ โดยที่ตัวเขาเองกลับไม่ควบคุมตัวเองมีอยู่เยอะไหม วันนี้ ป.ป.ช.ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ไหม ผมไม่ได้ดูถูก แต่ปัจจุบันประชาชนคือผู้ควบคุมตำรวจ ไม่ต้องไปคิดเอาคนที่คิดว่าดี แล้วจริงๆ ไม่ได้ดีมาคุมตำรวจ เคยมีมาแล้ว ก็เห็นตำรวจไปวิ่งเต้นทั้งนั้น น้ำตาลใกล้มดทั้งนั้น อย่าปฏิเสธ ถามตัวกรรมการชุดนั้น ทั้ง อ.มีชัย, อ.วิษณุ เครืองาม ดูก็ได้

ทุกคนที่วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ พอมีอะไรเกี่ยวข้องกับตำรวจ กำหนดบทบาทตำรวจ มีตำรวจไปวิ่งเต้นหรือไม่ ตอบผมหน่อย หากปฏิเสธผมจะจับไปสาบานวัดพระแก้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดเอาคนที่คิดว่าเป็นผู้วิเศษมาคุมตำรวจเลย ผมว่าไม่ได้วิเศษจริง เอากันจริงๆ ตอบกันจริงๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีหรอก แต่คนที่คุมตำรวจได้จริงคือประชาชน ยุคปัจจุบันหนีไม่พ้น กล้องเป็นล้านที่ควบคุมพฤติกรรมตำรวจอยู่ ตำรวจเองก็มี “จเรตำรวจ” เป็นหน่วยตรวจสอบพฤติกรรมของตำรวจเอง เขาเคยทราบกันไหมว่ามีการไล่ออก ปลดออก ตำรวจปีละเท่าใด มีการตั้งกรรมการสอบวินัย มีการงดบำเหน็จปีละมากน้อยแค่ไหน แล้วคุณรู้หรือไม่ ทุกวันนี้ตำรวจทำงานลำบากมาก เพราะระบบตรวจสอบเข้มแข็ง เลยกลัวๆ กล้าๆ การเป็นแบบนี้เลยยิ่งทำให้คนละเมิดกฎหมายเป็นใหญ่ เช่น กว่าศาลจะตัดสินว่าสิ่งที่ตำรวจทำถูกต้อง แต่สังคมออนไลน์ก็ด่าตำรวจเช็ดไปแล้ว ที่หากการควบคุมพฤติกรรมโดยประชาชน แม่นยำ ถูกต้อง รวดเร็ว ก็จะทำให้ตำรวจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ผมท้าได้ ตั้งแต่มีกล้องมหาศาล ยกขึ้นก็ถ่ายภาพเคลื่อนที่ได้ ตำรวจทำผิดน้อยลงเยอะเลย แล้วการควบคุมพฤติกรรมตำรวจ ตอนนี้ก็ยังใช้อยู่คือ หากผู้ใต้บังคับบัญชาไปทำอะไรที่ประพฤติมิชอบ เจ้านายโดนด้วย ตำรวจเป็นหน่วยงานเดียวที่ลงโทษผู้บังคับบัญชาด้วย หากปล่อยปละละเลย

...กรรมการชุด อ.มีชัย สิ่งที่กรรมการรู้มันมีทั้งเท็จและจริง แต่เขาไม่ได้เข้ามาทุกข์ยากแบบพวกผม ก็เหมือนผมไม่เคยเป็นสื่อ ผมก็ไม่เคยรู้ว่าสื่อทุกข์ยากแค่ไหน ผมก็ต้องถามเขา แล้วก็รู้ไม่จริง จนกว่าจะไปเป็นสื่อเอง ผมอยากบอกว่าอยากให้กรรมการลองมาเป็นผู้กำกับโรงพักสัก 6 เดือน แล้วจะรู้เลยว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

-แต่คนมองกันว่าระบบตรวจสอบอย่างจเรตำรวจมีปัญหา มีการช่วยเหลือกันเองของพวกตำรวจ เลยต้องสร้างกลไกนี้ขึ้นมา?

ขณะนี้สิ่งที่กรรมการชุด อ.มีชัยคิด กำลังจะไปเป็นศาลเสียเอง ศาลยังมี 3 ศาล คุณจะไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขาเลยหรือ คุณเอาอะไรมาแจงนับ จะเอาสิ่งที่เป็นเรื่องผิวเผินมาพิจารณาไม่ได้ คุณก็รู้แต่เปลือก สิ่งที่กรรมการทั้งคณะรู้มันคือเปลือก ไม่ใช่แก่น ผมตอบชัดเจน แล้วท้าด้วย ให้กรรมการมาโต้กับผม วันนี้ผมพูดแบบไม่เกรงใจใคร

 -แต่โมเดลที่วางไว้ก็มีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เช่น อดีตผู้พิพากษา อดีตอัยการ ตัวแทนสภาทนายความ มาไต่สวนเรื่องร้องเรียน ก็น่าจะทำให้ได้รับการยอมรับ?

คืออย่างนี้ คุณจะไปเอาคนที่ไม่รู้ปัญหาเขามาตัดสินปัญหาเขา มันไม่ใช่ แต่หากจะเอาคนพวกนี้ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วยกันมากำหนดนโยบายตำรวจเพื่อให้สอดคล้องกับอัยการ ศาล กระบวนการยุติธรรม แบบนี้ฟังได้ อันนี้ต่างกัน เพราะการจะเอาศาล อัยการ มาควบคุมพฤติกรรมตำรวจ ในทางกลับกัน แล้วหากนำตำรวจไปควบคุมอัยการ-ศาล ถามว่ารับได้ไหม คุณจะทำอะไรต้องมองทั้งบวกและลบ เราต้องมองอย่างศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

ผมไปสอนที่ศาล ผมบอกสุจริตเป็นเรื่องเฉพาะตัว สถาบันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เถียงผมหน่อยว่าไม่จริง เพราะฉะนั้น ผมยอมรับ ถ้านำฝ่ายศาล อัยการ มานั่งเป็นกรรมการใน ก.ตร.ปัจจุบันที่กำหนดนโยบายด้วย แบบนี้ฟังได้ ไม่ปฏิเสธ แต่ไม่ใช่เอามาตรวจสอบพฤติกรรม

การตรวจสอบพฤติกรรมตำรวจ ผมยืนยันได้ว่าไม่มีใครตรวจสอบได้ดีเท่าประชาชนกับตำรวจด้วยกันเอง ผมตั้งคำถามว่า ศาล รู้จักกันดีไหม ใครจะรู้จักพฤติกรรมศาลดีเท่ากับคนในศาลด้วยกันเอง วันนี้ท่านชำนาญ รวิวรรณพงษ์ (ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาและกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ) ถูกคนในศาลด้วยกันเอง ไม่ใช่คนนอกด้วย ลงชื่อเสนอปลดออกจาก ก.ต. ลงชื่อกันพันกว่าคน ก็แปลว่าเขาควบคุมพฤติกรรมด้วยกันเอง

            ข้อเสนอผม คือให้ตำรวจชั้นผู้น้อย ควบคุม ประเมิน ความรู้ความสามารถและจริยธรรม ความสุจริต และภาวะผู้นำของหัวหน้าหน่วย หากทำแบบนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ผมเป็นคนเชื่อทฤษฎีที่ว่า ไม่มีใครรู้จักใครดีเท่ากับคนในองค์กรเดียวกัน อย่างหากอยากรู้พฤติกรรมอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คุณก็ต้องถามอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คุณจะเอาคนนอกมาทำไม ผมถามไปยังกรรมการชุดนี้ว่า คุณเชื่อหรือว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาดีกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง

เมื่อถามถึงว่า กระแสสังคมก็ต้องการเห็นระบบการควบคุมตรวจสอบองค์กร ตำรวจ ให้มี Checks And Balances ตำรวจจะไม่ปรับตัวเลยหรือ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ แย้งว่า ผมปรับ แต่การ Checks And Balances ต้องทำโดยคนภายในหน่วยงานเอง

ผมขอยกตัวอย่างกลับไปที่กรณีตัวอย่างของท่านชำนาญ เมื่อมีพฤติกรรมของท่านออกมาบางเรื่องไม่เหมาะสม เมื่อมีข่าวเกิดขึ้น ก็มีการ checking หลังเช็กแล้ว แล้วบาลานซ์ ก็คือ เขาก็ไปดูข้อกฎหมายว่าวิธีการที่จะทำให้พ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่ได้ ก็ด้วยการบาลานซ์ถ่วงดุล ผ่านการลงลายมือชื่อของผู้พิพากษา ตรงนี้ต่างหากที่ควรมีในตำรวจ ถ้า ผบ.ตร.ทำอะไรไม่เหมาะสม ก็ร่างเขียนออกมา พฤติกรรม ผบ.ตร.ไม่เหมาะสม สั่งการไม่เหมาะสม ผู้บัญชาการตำรวจขึ้นไปลงลายมือชื่อ แบบนี้คือ Checks And Balances

คุณจะรู้จักคนในครอบครัวนั้นๆ ดีกว่าคนในครอบครัวเดียวกันได้หรือไม่ คนนอกครอบครัวจะรู้จักดีได้อย่างไร ถามว่าไปสร้างกรรมการคนนอกมาแบบนี้เอามาทำไม ก็เหมือนกับกรรมการกฤษฎีกา อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นกรรมการกฤษฎีกามาหลายสิบปี ก็ย่อมรู้ดีว่ากรรมการแต่ละคนทั้งชุดใหญ่ ชุดเล็ก คนไหนถนัดด้านไหน ท่านก็รู้ของท่าน แต่ท่านไม่รู้เรื่องตำรวจ ไม่รู้ว่าใครเป็นอย่างไร ประเทศไทยชอบเอาคนนอกหน่วยไปคุม เพื่อสร้างอำนาจ สังคมไทยคุณอย่าคิดว่าคนอื่นจะวิเศษกว่ากัน ไม่มีหรอก มันดีจริงที่ไหน

 

ยกเคส 'ศรีวราห์-บิ๊กโจ๊ก'  ขวาง กก.พิทักษ์คุณธรรม

 พล.ต.อ.อชิรวิทย์-อดีตรอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่กรรมการชุดนายมีชัยเขียนให้มี คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ เช่น ตำรวจร้องทุกข์ว่ามีการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผลว่าหากมีกรรมการแบบนี้  แล้วจะเอาศาลปกครองไปไว้ที่ไหน ผมเคยเป็นประธานอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของตำรวจใน ก.ตร. ผมยกตัวอย่างเช่นกรณี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาร้องทุกข์มาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็มีการเยียวยาให้จนสุดเลย จนต่อมาไปร้องศาลปกครองก็ชนะ แล้วยังมี บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบช.ท่องเที่ยว ก็เคยร้องทุกข์มายังกรรมการชุดผม ขอความเป็นธรรมมา และยังมีอีกเป็นร้อย ถูกแซงตอนแต่งตั้งโยกย้าย ก็ร้องมา เราก็มีการพิจารณาแล้วก็ให้การเยียวยาไป พออนุกรรมการทำความเห็นให้เยียวยาไป ปีต่อมาก็ต้องแต่งตั้ง

...หากมีการตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นมา หากกรรมการมีความเห็นอย่างหนึ่ง แล้วมีการไปร้องต่อศาลปกครองต่อ โดยศาลปกครองสั่งมาอีกอย่าง ถามว่าคุณจะฟังใคร ก็ต้องฟังศาลปกครองเพราะกฎหมายสูงกว่า

อย่าไปตั้ง ตั้งไปก็เพื่อให้มีอำนาจไปมีการวิ่งเต้น ให้กร่างว่าเป็นกรรมการพิทักษ์คุณธรรม  พอไปดูตัวจริงมันไม่ได้พิทักษ์คุณธรรมหรอก หากตั้งจริงแล้วจะเอาศาลปกครองไปไว้ไหน จะเอาอนุกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของ ก.ตร.ไปไว้ไหน

ผมยกตัวอย่างให้ฟัง มี พ.ต.อ.รายหนึ่ง เป็นผู้กำกับสถานีดีเด่น อยู่เมือง แต่ผู้มีอำนาจในเมืองนั้น ไม่พอใจ พอเป็นใหญ่ในรัฐบาลก็ให้ย้ายออก ต้องออกจาก ผกก.เมืองมาเป็น ผกก.อำเภอชั้นหนึ่งที่ไม่ใช่อำเภอเมือง แต่ ผกก.คนนั้นไปอยู่โรงพักของอำเภอ ก็ปรากฏว่าสถานีดังกล่าวได้รับรางวัลดีเด่นของกองบัญชาการตำรวจภูธรภูมิภาคนั้น การแต่งตั้งมีเงื่อนไขที่บังเอิญปีนั้น มีเงื่อนไขว่าใครชนะโรงพักที่หนึ่งของภาคที่ก็คือที่หนึ่งของจังหวัด แต่คณะกรรมการที่มาตรวจโรงพักของจเรตำรวจมาตัดสินสุดท้าย กรรมการเขาถือหลักว่าต้องใช้มติ ก็ให้โรงพักดังกล่าวจากอันดับหนึ่งของภาคมาอยู่อันดับสองของจเรตำรวจ เขาเลยเอา ผกก.โรงพักอันดับหนึ่งให้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการ

ปรากฏว่าปีนั้นคำสั่งออกมา ผกก.โรงพักดีเด่นของภาคนั้น อันดับหนึ่งกับอันดับสามได้ แต่อันดับสองที่ได้ที่หนึ่งของภาค แต่ได้ที่สองของจเรตำรวจกลับไม่ได้ ผู้กำกับคนนั้นก็ร้องมายังอนุกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ ผมก็ตรวจสอบไป โดยเอาบัญชีผู้กำกับที่ได้เลื่อนเป็นรอง ผบก.เอามาดู ไล่ไปทีละคน ก็พบว่าจังหวัดนั้นมี ผกก.โรงพักชั้นสองที่ผลการประเมินโรงพักในจังหวัดอยู่อันดับที่ 17 ที่ไม่ต้องพูดถึงว่าจะอยู่อันดับที่เท่าไหร่ของภาค ไปวิ่งเต้นกับนักการเมืองผู้มีอำนาจ ได้เลื่อนเป็นรองผู้บังคับการ และที่สำคัญเป็น ผกก.มาแค่ 5 ปี แต่ผู้กำกับที่ได้ที่หนึ่งของภาคที่ร้องมาเป็น ผกก.มาแล้ว 7 ปี ผมก็เรียกผู้บัญชาการ ผู้บังคับการมาถาม เขาก็ตอบไม่ได้ เราก็มีมติเยียวยาเลื่อนตำแหน่งให้ผู้กำกับคนนั้น

ผมก็ถามว่าแล้วที่จะตั้งกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตามร่าง พ.ร.บ.ที่เขียนมา จะรู้เรื่องแบบนี้อย่างที่ผมรู้หรือไม่ จะไปตั้งกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมอะไรขึ้นมาทำไม ตั้งให้เปลือง ให้มีการวิ่งเต้น

ตั้ง ผบ.ตร.ยังไงให้ตอบโจทย์

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ยังกล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติดังกล่าว จะเปลี่ยนขั้นตอนการตั้งผบ.ตร.จากปัจจุบันตามคำสั่ง คสช.ที่ให้ ผบ.ตร.เสนอชื่อต่อที่ประชุม ก.ต.ช.มาเป็น ก.ตร.เสนอต่อ ครม. และไม่ให้มี ก.ต.ช.อีกต่อไปว่า เป็นคนยอมรับความจริง ไม่ว่าจะทำวิธีการใดก็ตามเพื่อให้ ผบ.ตร.ปลอดจากการเมือง เป็นวิธีการที่คิดได้ ทำได้ แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้ คุณเชื่อผมหากจะทำให้ ผบ.ตร.เป็นอิสระจริงต้องไปแก้ พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 เพราะในกฎหมายฉบับนี้มาตรา 11  ให้อำนาจนายกฯ ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดของแผ่นดิน

...ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเลือกใครมา จะตั้ง ผบ.ตร.กันมาอย่างไร แต่หาก ผบ.ตร.ไม่สนองนโยบายรัฐบาล เขาก็ใช้มาตรา 11 เรียกตัวไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำรองราชการโดยไม่ขาดจากตำแหน่งเดิม ในกฎหมายบอกว่าให้ขาดก็ได้ไม่ขาดก็ได้ เมื่อเป็นแบบนี้ตำแหน่ง ผบ.ตร.ก็ว่าง ก็มีการตั้งผู้รักษาการแทนมา คนที่มารักษาราชการแทนก็เสมือนหนึ่งว่าเป็นตัวจริง เรื่องนี้หากผมเสนอผมจะเสนอว่าคนจะมาเป็น ผบ.ตร. ให้ผู้บัญชาการ (พล.ต.ท.) ขึ้นไปเป็นผู้ออกเสียงเลือก ผบ.ตร.จากรอง ผบ.ตร.ที่มีอยู่ ผมว่าเราจะได้ ผบ.ตร.ที่รู้งานตำรวจจริง มีภาวะผู้นำ มีจริยธรรม แล้วจะเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้ทุกคนต้องแข่งขันกันทำดี ทำไมเขาไม่คิด

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้ ผบ.ตร.ปลอดจากการเมือง เรื่องนี้ไม่มีทางหากพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินยังอยู่ แต่ถ้าเลือกโดยนายตำรวจระดับสูงที่การทำงานของเขาไล่กันมา เพราะหากจะไปให้ตำรวจทุกคนเลือกเลย มันไกล เอาแค่ตำรวจวัยเดียวกันรุ่นไล่ๆ กัน เพราะเขาจะรู้มือรู้ไม้กัน ผู้บัญชาการใน สตช.ก็มีร่วม 20-30 คนแล้ว คนเหล่านี้ขึ้นไปเป็นผู้ออกเสียงเลือก ผบ.ตร.-ผช.ผบ.ตร.ก็ได้ออกเสียงเลือกด้วย อัยการเขาเคยทำมาแล้ว การเลือกอัยการสูงสุดเขาก็เคยทำแบบนี้ แล้วในยุค คสช.เคยมีการปลดนายอรรถพล ใหญ่สว่าง พ้นจากอัยการสูงสุดโดยใช้อำนาจ คสช. แต่ถึงตอนเลือกกรรมการข้าราชการอัยการ (ก.อ.) ปรากฏว่าอัยการทั่วประเทศออกเสียงเลือกนายอรรถพลกลับมาเป็น ก.อ. 1,600 เสียง แสดงให้เห็นว่าคนในองค์กรเดียวกันเขารู้จักกันเองดี เพราะไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนในองค์กร

 ดังนั้นคนนอกองค์กรอย่ามารู้ดีกว่าคนในองค์กรนั้น คุณจะจัดจะทำอย่างไรก็ต้องระดมคนในองค์กรให้เขาทำ คุณมีอำนาจผมไม่ว่า แต่ให้คนในกองเขาจัดมาแล้วให้ทางเลือกไป นายกฯ จะเลือก 1-2-3-4 เป็นอำนาจของนายกฯ แต่ให้องค์กรเขาทำมาแล้วหากไม่พอใจตรงนั้นก็สั่งแก้ จะได้ไปชี้แจง คนเรามันต้องเปิดกว้างเพราะตำรวจมีผลต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่มีผลต่อคณะกรรมการชุดท่านมีชัย  ทำถูกใจคน 14 คนไม่ได้หมายถึงจะถูกใจคนทั้งประเทศ หรือถูกใจคน 2 แสนกว่าคนที่เป็นตำรวจ ตอบผมให้ได้ เป็นเหตุเป็นผล คุณจะเอาถูกใจคุณไม่ได้ ก็ไม่ถูกใจพวกผม

ไม่เชื่อลองถามตำรวจสองแสนกว่าคนว่าจะเอาแบบที่กรรมการชุด อ.มีชัยทำ หรือจะเอาแบบที่ผมเสนอ ผมท้าด้วย ตอนนี้มันคืออะไร คุณเอาคนนอกมายุ่งเรื่อย แล้วไม่รู้จริงสักอย่าง บ้านเมืองถึงวุ่นวายแบบนี้ คุณเคารพความคิดเห็นของคนใน คนที่เขารู้เรื่องดี

            สำหรับข้อเรียกร้องปฏิรูปวงการตำรวจ-กระบวนการยุติธรรม ที่มีการเรียกร้องให้ อัยการ เข้ามามีส่วนร่วมสอบสวน-เห็นพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุตั้งแต่เริ่มต้นโดยเฉพาะคดีสำคัญๆ จนตอนนี้มีการร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ออกมา ประเด็นนี้ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ไม่อยากให้ความเห็นมาก  โดยบอกว่าปกติสอนวิชาการสอบสวนด้วย ผมบอกว่าหากเราให้เกียรติกัน เราเป็นกระบวนการยุติธรรม  ผมเรียนวิชาตำรวจมาหลายประเทศ เป็นหนึ่งในไม่ถึงสิบคนที่ผ่านทุกสถาบันตำรวจระดับโลก เช่น เอฟบีไอ, สกอตแลนด์ยาร์ดของอังกฤษ ในต่างประเทศอัยการเขาทำงานเชื่อมโยงกับตำรวจ เอาอย่างนี้ บางเรื่องที่ต้องมีอัยการเข้ามาร่วม เป็นต้นว่าเรื่องคดีเยาวชน คดีชันสูตรพลิกศพ เรื่องสหวิชาชีพ แค่นี้ก็ยุ่งยากแล้ว ผมไม่ปฏิเสธหากจะให้อัยการมาทำสอบสวน แต่คุณเอาไปเลยทั้งหมดได้ไหม ปัญหาจะเกิดขึ้นตรงไหน อัยการก็ต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรมหาศาล ไม่ใช่อยู่แค่จังหวัด คุณต้องมีพนักงานสอบสวนทุกพื้นที่ คุณจะเอางบประมาณจากที่ไหน

ผมพูดตรงๆ ระบบงานสอบสวนต้องเปลี่ยนใหม่ ในอนาคตทั้งศาลและอัยการ ผมทำนายทายทัก ระบบกระบวนการยุติธรรมต้องเปลี่ยนทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะตำรวจ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมทั้งงานสืบสวนและสอบสวน คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตต้องเป็นเรียลไทม์ แปลว่าจากตำรวจ at  moment ถึงอัยการเลยด้วยซ้ำ คดีจะไม่ได้ไม่คั่งค้าง และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเรียลไทม์เกิดขึ้นแน่  ตำรวจก็มีหน้าที่เบื้องต้นเท่านั้น รวบรวมข้อมูลสืบสวนให้ได้มาซึ่งหลักฐาน แล้วก็ส่งพยานหลักฐานไปอัยการไปศาลแบบเรียลไทม์เลย แม้กระทั่งการสอบสวนพยานก็เรียลไทม์ไปที่ศาลเลย เทคโนโลยีตอนนี้เร็วมากก็เก็บไว้ได้หมด การตัดสินคดีก็จะเร็วขึ้น การตรวจสอบว่าตำรวจทำถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ก็จะเกิดขึ้น ณ ขณะนั้นแบบเรียลไทม์ เช่นเวลามีอะไรในที่เกิดเหตุ ตำรวจถ่ายรูปเสร็จส่งถึงอัยการเลย ทุกอย่างเรียลไทม์

เลิกคิดไปเลยว่าจะปรับอะไรตรงไหน เต่าล้านปีผมบอกเลย วันนี้โลกไปถึงไหน แล้วยังจะมาเอาอย่างนั้นอย่างนี้อีก ไม่จำเป็นต้องไปเขียนกฎหมายอะไรให้ยุ่งยาก ตำรวจให้เกียรติอัยการอยู่แล้ว คุณจะมาเขียนอะไรทำไม ไม่ต้องมาเขียนแล้ว เรื่องนี้ขอพูดเลย หากจะทำเรื่องสอบสวนต้องรื้อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ทุกวันนี้คดีคั่งค้างเพราะไม่ไหลลื่น

พล.ต.อ.อชิรวิทย์-อดีตบิ๊กตำรวจ กล่าวว่า เรื่องเสียงวิจารณ์การทำงานของตำรวจที่เกิดขึ้นมาตลอด พอถึงเวลาด่าตำรวจก็หยิบยกเรื่องบกพร่องมาพูด ก็เหมือนกระดาษขาวที่มีจุดดำไม่กี่จุด (วาดภาพประกอบ) ขณะนี้ตำรวจที่ถูกด่าเพราะเขาไปหยิบข้อบกพร่องมาพูด แต่เขาไม่ดูสิ่งที่ไม่บกพร่อง ก็เหมือนภาพก็จะดูเฉพาะจุดดำในกระดาษ ไม่ได้ดูพื้นที่สีขาวทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้องที่ตำรวจทำ คุณละเลยได้อย่างไร แล้วผมตั้งคำถามถามทุกคน มนุษย์เราผิดเป็นครูมีไหม มีใครบ้างที่ไม่ทำอะไรผิดเลย ดีไปหมด ถูกต้องไปหมด ตอบผมด้วย อาจารย์มีชัยตอบด้วย ความถูกต้องเยอะแยะไปหมดแต่ไปมองเฉพาะสิ่งที่ผิด

คนที่ด่าตำรวจ ถามกลับไปที่เจ้าตัวว่าแล้วทั้งชีวิตคุณไม่เคยทำอะไรผิดพลาดบกพร่องเลยหรือ  หมอวินิจฉัยผิดมีไหม หมอจะผ่าเนื้อร้ายออก เขาเจาะเนื้อดีไปก่อนหรือไม่ ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่ต้องมาตอบกันให้เคลียร์ ผมดูแล้วฟังแล้ว ฟังคำวิจารณ์ต่างๆ หากผมยังเป็นโฆษกตำรวจ ผมตอกตายเลย แล้วไม่มีใครกล้าด้วย ผมท้าด้วย ส่วนการปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จหรือไม่ในยุค คสช. ผมว่าขึ้นอยู่กับพลเอกประยุทธ์ว่าจะเอาอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

-จะทำอย่างไรให้ตำรวจปลอดจากระบบอุปถัมภ์?

ไม่มีทาง ผมตายแล้วเกิดใหม่ก็ไม่มีทาง ประเทศไทยและทั้งโลก ไม่อย่างนั้นเขาไม่บอกหรอกเรื่องระบอบอุปถัมภ์กับระบบคุณธรรม มันมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ อย่าไปพยายามโลกสวย อะไรที่ตอบแล้วมันเป็นจริงไปไม่ได้ มันไม่ใช่ คุณจะมาปฏิเสธเลิกระบบอุปถัมภ์ ไม่มีทางทั้งชาตินี้และชาติหน้า เอาความจริงมาพูดกัน ผมจะพูดให้ฟัง ผมไม่เคยกลัวใคร ผมมีอำนาจ ผมบอกว่าต้องอุปถัมภ์ 20 คุณธรรม 80  รับได้ไหม อย่าโลกสวย นี่ก็ถือว่าสุดยอดแล้วนะ ลูกน้องผมรับหมด เหมือนครูใหญ่ คุณเป็นครูใหญ่ คุณไม่มีอำนาจรับเด็กนักเรียนเลยหรือ แล้วจะเป็นทำไมครูใหญ่

แนะสูตรม้าดาร์บี แต่งตั้งสีกากี

-ใน รธน.ฉบับปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมาก บัญญัติว่าในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายต้องคํานึงถึงอาวุโส และเมื่อเร็วๆ นี้มีการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้การแต่งตั้งโยกย้ายใช้สัดส่วนอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ หลังการแก้ไขกฎหมายตำรวจเสร็จไม่ทัน?

ดัดจริต คนเขียนก็ไม่ยึด โลกสวย ผมคนจริง ผมไม่ได้ปฏิเสธ โลกผมไม่ได้สวย ตอนผมทำเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายและที่เคยสอนลูกศิษย์ มันต้องเป็นหลัก 4 ส่วน คือ 40+30+20+10 = 100 โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท คือม้าใช้อยู่ใน 40 ม้าดีอยู่ที่ 30 ม้าเร็วอยู่ที่ 20 ม้าดาร์บีอยู่ที่ 10

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ อธิบายสูตรดังกล่าวว่า สำหรับม้าดาร์บีคือม้าที่ชนะที่หนึ่งมาแต่ละสนาม มาแข่งกันเอง คือระบบตำรวจทหารมีการปกครองบังคับบัญชา มีการแสดงออกซึ่งขีดความสามารถ ความประพฤติ จริยธรรม ภาวะผู้นำ การมีใจเป็นใหญ่ ไม่มีใครรู้จักคนประเภทนี้ได้นอกจากคนในองค์กรนั้นๆ  มนุษย์เราแบ่งความสามารถคนออกเป็นชั้นๆ ที่แต่ละคนจะไม่เท่ากันในเรื่องขีดความสามารถ ความประพฤติ ความรู้ และภาวะผู้นำ

หากพยายามจะเอาหลักอาวุโสให้ใช้หลักอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันเทื้อ (ทึนทึก-ไม่ว่องไว)  แต่อยู่อันดับหนึ่ง แล้วยังจะตะบันตั้งให้องค์กรพังหรือเปล่า แต่หากไม่ต้อง 33 แต่ให้ 40 เปอร์เซ็นต์ไปเลย แล้วแข่งกันเอง เช่นในองค์กรมีอยู่ร้อยคน ต้องเป็นอาวุโส 40 คน แต่ใน 40 คนต้องให้แข่งกันเองด้วยเพื่อไม่เอาคนที่กำลังพลเสื่อม อายุมาก แต่เรายังเอามาเป็นม้าลากรถ มาเป็นม้าใช้ ให้เอาคนพวกนี้มาเป็นหัวหน้าหน่วยเล็กๆ แบบนี้พอได้

...เช่นมีรองผู้กำกับ จะตั้งมาเป็น ผกก.สถานีตำรวจ ตามหลักเกณฑ์ต้องอยู่เป็นรอง ผกก.มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ที่ก็อาจมีหลายคนอยู่ในตำแหน่งนานกว่านั้น เช่น 15-18 ปี กลุ่มนี้ก็คือกลุ่มแก่ ม้าใช้ ที่อาจมีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่กลุ่มนี้ต้องแข่งกันเอง ต้องมีการประเมินด้วยเช่นความสามารถโดยแต้มต่อต้องอยู่ที่จำนวนปี เพื่อให้ปรับตัวคิดเป็นคะแนนออกมา ก็คัดกลุ่มนี้ไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์  พวกนี้คืออาวุโสจัด ม้าใช้

กลุ่มต่อมาพวกอาวุโสที่อยู่มา 11-14 ปี กลุ่มนี้คือม้าดี อาวุโสถัดลงมา มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ให้แข่งกันเอง แล้วให้มีการประเมินต่างๆ ต่อไปกลุ่มม้าเร็ว คือพวกที่อยู่มา 7-10 ปี ก็ให้แข่งขันแล้วเลือกมา 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มม้าดาร์บีคือพวกที่อยู่มา 4-6 ปี ก็มีสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ หากทำด้วยวิธีนี้เราจะมีการทดแทนกำลังพล ที่จะมีการหมุนเวียนแทนคนที่เกษียณอายุราชการออกไป จะมีการขับเคลื่อนกำลังพลอย่างมีระบบ 

เรื่องพวกนี้มันมีเทคนิค โดยที่ผู้วิเศษที่ร่างกฎหมายกันเขาไม่รู้เรื่องหรอก แล้วก็ไม่ได้ถาม ไม่ใช่จะให้อาวุโสสัดส่วน 33 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 77 เปอร์เซ็นต์ปล่อยให้วิ่งเต้น มันก็จะมีแต่เด็กหนุ่มขึ้นไป จะเกิดกรณีกำลังพลขาดช่วง ระบบราชการจะไม่ขาดตอน แล้วจะมีคนเก่งก้าวขึ้นมาจนถึงเป็นผู้นำองค์กร

หลังคุยกันเสร็จ เราถามว่าคนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจเพราะตำรวจมีปัญหาก็ยังคงมีอยู่ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ฟังแล้วก็เอ่ยกลับมาว่า ถ้าเป็นเด็กผมจะใช้คำพูดของป๋าเปรม (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) "กลับบ้านเถอะลูก" ถ้าเป็นคนแก่ก็จะบอก "กลับบ้านเถอะปู่".

.........................................................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"