"อนุพงษ์" ขอเวลาระบายน้ำ บอกพื้นที่ลุ่มริมน้ำหนีผลกระทบไม่พ้น ยันรัฐบาลช่วยเหลือปชช.เต็มที่ เตรียมเสนอแผนเยียวยาเกษตรกรเข้า ครม.อังคารนี้ "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" เตือน 17 จังหวัดเฝ้าระวังฝนตกหนัก "กรมชลฯ" รับมือลุ่มน้ำเจ้าพระยาคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน ส่งผลอำเภอท้ายน้ำ จ.อยุธยา-ชัยนาท จ่อน้ำสูงขึ้นจากเดิม 50 ซม. "อัศวิน" ตรวจก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำบางเขน มั่นใจน้ำไม่ท่วม กทม.แน่
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ว่า ในจังหวัดเพชรบุรีคงต้องรออีกสักหน่อย เพราะกำลังเร่งระบายน้ำอยู่ เนื่องจากระดับน้ำยังสูง ขณะที่ด้านตะวันตก เช่น เขื่อนแม่กลอง ทราบมาว่าระดับน้ำยังไม่เกินเกณฑ์กำหนด ก็น่าจะยังไม่ส่งผลกระทบมาก คิดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ถ้ารวมกับระดับน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มริมน้ำ ก็ต้องได้รับผลกระทบ อยู่ที่จะมากหรือน้อย
"การเตรียมการเพื่อช่วยเหลือประชาชนเราดำเนินการได้ดีแล้ว ทางนายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้มีการช่วยเหลือเยียวยาด้านอาชีพให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังดำเนินการอยู่ และอาจนำเสนอแผนช่วยเหลือเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้านี้" รมว.มหาดไทยกล่าว
ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมากใน 17 จังหวัด คือ ภาคเหนือ บริเวณเชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร, ภาคตะวันตก บริเวณกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออก บริเวณนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด
"โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จากการคาดการณ์แนวโน้มฝนระหว่างวันที่ 1-5 ก.ย.นี้ ปริมาณฝนตอนบนของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น" นายสำเริงกล่าว
ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า สำหรับจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมและลดผลกระทบจากปริมาณน้ำไหลเอ่อท่วมตลิ่งจากการระบายน้ำออกของเขื่อนและฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ พบมีน้ำสูงกว่าตลิ่งในแม่น้ำป่าสัก บริเวณ อ.เมืองฯ อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์, แม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี, แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร, อ.เซกา จ.บึงกาฬ, ห้วยหลวง จ.อุดรธานี, แม่น้ำโขง บริเวณ จ.นครพนม มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และแม่น้ำนครนายก บริเวณ อ.องครักษ์ จ.นครนายก, คลองพระปรง จ.สระแก้ว
คุมน้ำเขื่อนเจ้าพระยา
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกชุกและตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ส่งผลให้แม่น้ำสายหลักไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ก.ย. ยังคงมีฝนตกในพื้นที่เดิมตามฤดูกาลปกติ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งในช่วงปลายเดือน ก.ย. ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน ทำให้มีฝนตกบริเวณตอนบนของประเทศได้
นายทองเปลวกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (31 ส.ค.61) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,214 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 65 วางแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม เขื่อนภูมิพล ระบายน้ำวันละ 5-8 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำวันละ 30 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ระบายน้ำวันละ 1.30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงระบายน้ำในอัตราวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระบายยังคงไหลอยู่ในลำน้ำต่ำกว่าตลิ่ง พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
"สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (31 ส.ค.61) ที่ อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่าน 1,134 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนเขื่อนเจ้าพระยามีน้ำให้ไหลผ่าน 780 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 800 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถึงบริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 30-50 เซนติเมตร และไม่ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า ขณะนี้ยังเหลืออีก 9 จังหวัดประสบอุทกภัย ประกอบด้วย นครพนม บึงกาฬ สกลนคร เพชรบุรี นครนายก ชัยภูมิ พิจิตร และอุบลราชธานี มีประชาชนได้รับผลกระทบ 30,097 ครัวเรือน 76,332 คน
ที่ จ.กาญจนบุรี ฝนได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำแควน้อยเอ่อสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่บ้านปากแซง ม.3 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 50 ซม. ใกล้จุดสุดท้ายซึ่งเป็นจุดสูงสุดอยู่ที่ระดับ 9.00 โดยเจ้าหน้าที่ชลประทานที่ 13 ได้มาวัดระดับน้ำไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนระดับน้ำได้เอ่อล้นจากแม่น้ำแควน้อย เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 31 ส.ค. สูง 1.20 ม. ทำให้มวลน้ำขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเพิ่มขึ้นจากเดิม ขณะที่สะพานสลิงแขวน ซึ่งอยู่บริเวณบ้านปากแซง ใกล้กับรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเป็นสถานที่นักท่องเที่ยว นิยมชมชอบเดินชมลำแม่น้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำได้สูงขึ้น จนติดสะพานใกล้จม ส่วนสะพานคอนกรีตบ้านปากแซง ที่ยานพาหนะรถราต่างๆ ใช้สัญจรข้ามไปมา ระดับน้ำสูงราว 2.00 เมตร ก็จะถึงสะพานดังกล่าว
ทั้งนี้ เขื่อนวชิราลงกรณได้มีหนังสือแจ้งล่วงหน้า เรื่องการปรับแผนการระบายน้ำจากเดิมระบายน้ำอยู่ที่ 53.0 ล้าน ล.บม./วัน จะระบายน้ำเพิ่มอีก 5 ล้าน รวมเป็น 58 ล้าน ลบ.ม./วัน เริ่มตั้งแต่ 4-10 ก.ย.2561 ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ จะระบายเพิ่มขึ้นวันละ 6 ล้าน ล.บม. เป็น 28 ล้าน ล.บม./วัน โดยเริ่ม 7-13 ก.ย.2561
สำหรับสถานการณ์น้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ระดับน้ำเหนือเขื่อน 153.64 ม.รทก. ระดับน้ำท้ายเขื่อน 86.51 ม.รทก. ปริมาณน้ำกักเก็บปัจจุบัน 94.14% 8,340.56 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 5.86% 519.44 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบายผ่านเครื่อง 41.93 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบายผ่านสปิลเวย์ 10.55 ล้าน ลบ.ม. รวมแผนการระบายน้ำ 53.0 ล้าน ลบ.ม./วัน
ผู้ว่าฯ กทม.โวเอาอยู่
จ.สกลนคร ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.สกลนคร จากการที่เขื่อนน้ำอูนเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน เนื่องจากระดับน้ำสูงเกินกว่าระดับเก็บกัก โดยการติดตั้งท่อกาลักน้ำจำนวน 50 ชุด เพิ่มอัตราการระบายออกจากการระบายปกติผ่านประตูระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ทั้งพื้นที่การเกษตร นาข้าวหลายหมู่บ้าน ตลอดจนบ้านเรือนและโรงเรียนบางแห่ง ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณที่ดี หลังจากที่เขื่อนน้ำอูนยอมรับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.สกลนคร ที่เห็นสมควรให้มีการปรับลดอัตราการระบายน้ำลง เพื่อลดระดับความเสียหายในพื้นที่ท้ายเขื่อน หลังจากที่ผ่านมาเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น
นายศรชัย ศรีสถาน ประชาสัมพันธ์จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้เขื่อนน้ำอูนปรับลดการระบายผ่านท่อกาลักน้ำจากทั้งหมด 50 ชุด ลงเหลือ 30 ชุด เริ่มตั้งแต่เช้าวันที่ 31 ส.ค. ซึ่งจะทำให้อัตราการระบายน้ำออกจากเขื่อนผ่านระบบกาลักน้ำลดลงเหลือประมาณวันละ 1.2 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่อัตรา 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงในการลดปริมาณน้ำที่ระบายลงลำน้ำอูน ขณะที่การระบายผ่านประตูระบายน้ำยังคงดำเนินการตามปกติ
"การปรับลดท่อกาลักน้ำเหลือ 30 ชุด น่าจะทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดจากผลกระทบในพื้นที่ท้ายเขื่อนเริ่มคลี่คลาย และเข้าสู่ภาวะปกติภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ หากไม่มีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนอีกในระยะนี้" ประชาสัมพันธ์จังหวัดสกลนครกล่าว
วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณ สน.บางเขน เขตหลักสี่ เนื่องจากถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนบางเขน หน้า สน.บางเขน มักเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เมื่อเกิดฝนตกหนักและเป็น 1 ใน 17 จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังของสำนักการระบายน้ำ ทำให้ กทม.ก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดินบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างคืบหน้าร้อยละ 60 คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้
พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า แม้การก่อสร้างยังไม่สมบูรณ์ แต่ขณะนี้สามารถรองรับน้ำท่วมขังได้บ้างแล้ว เนื่องจากมีการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำ ค.ส.ล. จำนวน 1 บ่อ, บ่อรับน้ำ ค.ส.ล. จำนวน 2 บ่อ, บ่อส่งน้ำ จำนวน 1 บ่อ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ กำลังสูบ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม.) เมื่อฝนตกหนักบ่อส่งน้ำจะรับน้ำที่ท่วมขังส่งไปยังบ่อหน่วงน้ำ โดยระบบการระบบน้ำบริเวณวงเวียนบางเขนจะแบ่งออกเป็น 2 ทาง ส่วนหนึ่งระบายลงสู่คลองรางอ้อ-รางแก้ว และอีกส่วนจะระบายลงสู่คลองบางบัว
"สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ กทม.ช่วง 2-3 วันนี้ ทาง กทม.ยังสามารถรับมือ โดยได้ระดมเครื่องสูบน้ำ หน่วยเคลื่อนที่เร็วประจำจุดต่างๆ ส่วนแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปัจจุบันของ กทม. ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข เพราะแผนเดิมที่มีอยู่เข้มข้นและรัดกุมรอบด้านแล้ว และขอยืนยัน กทม.รับมือสถานการณ์ฝนได้ เช่นเดียวกันกับน้ำเหนือนั้น กทม.ไม่มีความกังวล เนื่องจากปริมาณน้ำที่วัดได้บริเวณสถานีวัดน้ำบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับวิกฤติมาก" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |