“วิษณุ” ปัดไพรมารีโหวตแบบใหม่เอื้อพรรคใหม่ ยันช่วยทุกพรรคอย่างเท่าเทียม สอดคล้องรธน.ที่เน้นการมีส่วนร่วม โบ้ยผิด-ถูก กรธ.เป็นเจ้าของเรื่อง "ป้อม" เตือนเปิดเพจได้แต่ห้ามหาเสียง "หมอระวี" ซัดแก้ไพรมารีโหวตถอยหลังลงคลอง กลับสู่พรรคนายทุนแบบเดิม "สุภรณ์" โว ปชช.ชื่นชมผลงานรัฐบาลประยุทธ์มากขึ้นเรื่อยๆ นักการเมืองจึงเร่งเร้าให้เลือกตั้ง ย้ำกวาด ส.ส.โคราชยกจังหวัด "ชวน ชูจันทร์" โต้ พท.ใส่ร้าย อ้าง กกต.ยังไม่รับรอง พปชร.ทหาร-ผู้ว่าฯ จะพาผู้สมัครพบชาวบ้านได้อย่างไร
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 31 สิงหาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าการทำไพรมารีโหวตรูปแบบใหม่เป็นการเอื้อให้กับพรรคใหม่ว่า เป็นเช่นนั้น เพราะเราต้องการช่วยเหลือทั้งพรรคเก่า พรรคใหม่ พรรคใหญ่ และพรรคเล็ก ให้ได้ใช้อย่างเท่าเทียมกัน กระบวนการนี้ไม่ได้ประหลาดหรือพิสดาร เพราะเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติขึ้น
"ส่วนจะผิดหรือถูก กรธ.เป็นเจ้าของเรื่องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการยกเลิกการทำไพรมารีโหวต เนื้อหาดังกล่าวยังคงอยู่ แต่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหลังจากการเลือกตั้งปี 62 เนื่องจากการทำไพรมารีโหวตอาจจะมีความยุ่งยาก เพราะเป็นของใหม่ ดังนั้นเราจึงถือหลักอย่างเดียวว่าให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วม ส่วนจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่"
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนกรณีมีสื่อบางแห่งนำเสนอว่าตนระบุห้ามหาเสียงออนไลน์ในช่วงนี้นั้น ขอชี้แจงว่าตนได้ระบุว่าในขณะนี้ยังทำไม่ได้ แต่เมื่อมีการปลดล็อกเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในเดือน ธ.ค.นี้ พรรคการเมืองจะขึ้นป้ายหาเสียง หรือหาเสียงผ่านแอปพลิเคชันไลน์ หรืออะไรก็ตามทำได้ทั้งหมด แต่ขณะนี้อย่าว่าแต่หาเสียงทางไลน์เลย หาเสียงธรรมดาก็ไม่ให้ทำ โดยเราจะออกคำสั่งให้เพื่อปลดหรือคลายล็อกบางอย่างให้พรรคการเมืองสามารถติดต่อกับสมาชิกผ่านไลน์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ในขณะนี้จะติดต่อกับชาวบ้านยังไม่ได้ เพราะอย่างนั้นมันคือการหาเสียง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีกรณีที่บางพรรคการเมืองแอบแฝงหาเสียงจะดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายได้อย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า จะเอาผิดหรือไม่ให้เป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างๆ ที่มีอยู่ ส่วนจะมานั่งเจาะเป็นรายกรณีว่าทำอย่างนี้ผิดหรือไม่ ตนไม่ตอบ ให้ คสช.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้พิจารณา
ถามว่า การประชุมใหญ่ของพรรคสามารถทำอะไรได้บ้าง รองนายกฯ กล่าวว่า เลือกหัวหน้าและ กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แก้ไขข้อบังคับพรรค และรับสมัครสมาชิก สำหรับพรรคเก่า ถ้าจะไม่แก้ข้อบังคับก็ใช้อันเดิมต่อไป ส่วนพรรคใหม่ กกต.ต้องขอดูข้อบังคับอยู่แล้ว แล้วจะทำอย่างไรให้โอกาสเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เป็นการเอื้ออะไรใครเลย โดยเฉพาะพรรคใหม่เขาต้องทำอยู่แล้ว คนจำนวน 250 คนเขามีอยู่แล้ว หลายพรรคการเมืองขออนุญาต คสช.ประชุมใหญ่และจัดกิจกรรมทางการเมืองไปแล้ว 70 ครั้ง คสช.อนุมัติไปประมาณ 40 ครั้ง
เมื่อถามอีกว่า การที่พรรคการเมืองจะหาสมาชิกต้องรอคำสั่ง คสช.ออกมาก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หาได้ เพราะเขาหากันมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่เกี่ยวกับมาตรา 44 แต่ปัญหาคือ เมื่อหาแล้วยังไปรับสมัครสมาชิกไม่ได้ ต้องรอให้มีการประชุมใหญ่พรรคก่อน
ถามถึงเหตุผลของ คสช.ที่ไม่อนุญาตในบางกรณีเนื่องจากเกรงเหตุแทรกซ้อน ซึ่งขัดแย้งกับเหตุผลของฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่าสถานการณ์สงบ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนหมายถึงในอดีตมันมีเหตุแทรกซ้อน ความว่าเมื่อจะมีการจัดกิจกรรมอะไรขึ้นมาก็จะมีคนนั้นคนนี้เข้าไปถือโอกาสแค่ 3-5 คน มันก็คือการแทรกซ้อน จึงไม่อนุญาตให้จัด เป็นเรื่องธรรมดา พรุ่งนี้มะรืนนี้อาจจะเกิดแบบนี้ขึ้นก็ได้ อย่าคิดว่าเหตุแทรกซ้อนคือ การแห่ขบวนกันมา แม้แต่คนเดียวถือว่าเป็นเหตุแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกัน
เปิดเพจได้ห้ามหาเสียง
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ขณะนี้นายกฯ ยังไม่ได้หารือเตรียมความพร้อมในการพูดคุยกับพรรคการเมืองในรอบที่ 2 ในเดือน ก.ย.นี้ เพราะมีการพูดคุยกันในที่ประชุม คสช.แล้วว่าเมื่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้แล้วถึงค่อยพิจารณาเรื่องดังกล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนักการเมืองเตรียมเปิดเพจต่างๆ ช่วงที่ คสช.คลายล็อก ก.ย.นี้ว่า หากเปิดเพจเพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนนั้น สามารถทำได้ แต่ห้ามโฆษณาชวนเชื่อหรือหาเสียง และถ้าผิดกฎหมายก็ไม่สามารถทำได้ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคำสั่งคสช.
"ขณะนี้ยังไม่ให้พรรคการเมืองหาเสียง ต้องให้รอ พ.ร.ป.ส.ส.บังคับใช้ก่อน โดยจะบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา (ก.ย.61) ไปแล้ว 90 วัน จึงจะมีการพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อให้ทุกพรรคสามารถดำเนินการได้พร้อมๆ กัน" พล.อ.ประวิตรกล่าว
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงเสียงวิจารณ์เรื่องการคลายล็อกทางการเมืองที่ยังไม่เปิดกว้างอย่างเต็มที่ว่า ตราบเท่าที่กติกาถูกบังคับอย่างเท่าเทียมกันทุกพรรค ภูมิใจไทยก็ไม่คิดอะไรมาก ขณะที่ส่วนตัวก็คิดว่าจะไปหวังอะไรมากมายกับรัฐบาลพิเศษ เพราะเข้าใจว่าท่านก็ต้องพยายามคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นอย่าถือสาท่านเลย เพราะอย่างน้อยเราก็เห็นว่าทุกวันศุกร์ท่านก็ยิ้มๆ อยู่
นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลังพลเมืองไทย กล่าวถึงความพร้อมการทำไพรมารีโหวตของพรรคหลังการคลายล็อกทางการเมืองว่า พรรคไม่ติดใจวิธีการทำไพรมารีโหวตไม่ว่าจะรูปแบบเก่าหรือแบบใหม่ เพียงขอให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ ถ้าทำได้พรรคก็พอใจ
“อยากฝากถึงทุกพรรคการเมือง ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ ว่าขณะนี้มีพรรคการเมืองที่จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมายเพียง 4 พรรค รวมถึงพรรคพลังพลเมืองไทย หากอยากให้มีเลือกตั้งเร็วตามคำเรียกร้อง ก็อยากให้ทุกพรรคกลับไปดูแลพรรคตัวเองให้ดีก่อนว่ามีความพร้อมด้านกฎหมายหรือยัง เพราะกลัวว่าจะมีเพียง 4 พรรค ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ นอกนั้นยังขาดคุณสมบัติการเป็นพรรคการเมืองที่สมบูรณ์ ซึ่งสำคัญกว่าการพูดถึงเรื่องการดูด ส.ส.หรือ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ควรเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง” นายสัมพันธ์กล่าว
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ถึงวันนี้เริ่มไม่มั่นใจว่า คสช.ต้องการปฏิรูปการเมือง เพื่อแก้วิกฤติการเมืองไทย ออกจากน้ำเน่าจริงหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงความต้องการสืบทอดอำนาจต่อไปเท่านั้น หลังนายวิษณุระบุว่า จะยกเลิกระบบไพรมารีโหวต ตามแนวของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ผ่าน สนช. และมาใช้แนวทางของ กรธ. คือ ให้ตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อคัดเลือกผู้สมัครแทนการใช้ไพรมารีโหวต สำหรับแนวทางที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่าน สนช. มีหลักการสำคัญคือ จะต้องมีการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรค โดยสมาชิกพรรคในเขตจังหวัด ถือเป็นหลักการสำคัญที่จะเป็นการปฏิรูปการเมืองให้พ้นวิกฤติการเมืองน้ำเน่าของประเทศไทย เป็นการขจัดปัญหานายทุนพรรคการเมือง และเริ่มพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นของสถาบันทางการเมือง แทนการเป็นบริษัทที่มีเถ้าแก่ไม่กี่คนคอยบงการ
แก้ไพรมารีถอยหลังลงคลอง
"การเปลี่ยนมาใช้ตามหลักการของ กรธ.เป็นการถอยหลังลงคลอง กลับมาสู่พรรคการเมืองแบบเดิมๆ เพื่อให้เกิดการก้าวไปข้างหน้าของการเมืองไทย จำเป็นจะต้องมีการคงหลักการไพรมารีฯ ไว้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วเกือบทุกพรรคสามารถทำได้ทัน หาก คสช.กลัวว่าพรรคการเมืองใหม่หลายพรรคจะทำไม่ทัน ขอเสนอว่าให้เลื่อนกำหนดการเลือกตั้ง จาก 24 ก.พ.62 เป็น 5 พ.ค.62 ซึ่งยังอยู่ในกรอบ 150 วัน หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ เพื่อให้ทุกพรรคทำไพรมารีโหวตทัน ดีกว่าเลือกตั้งเร็วขึ้นเพียง 2 เดือนกว่า แต่ไปยกเลิกไพรมารีโหวตพาการเมืองไทยกลับไปเป็นน้ำเน่าตามเดิม" นพ.ระวีกล่าว
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ว่าที่หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางของ คสช. ที่จะให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบในครั้งหน้า ไม่ใช่ครั้งนี้ ในปี 2562 เพราะปัจจุบันประเทศไทยจะต้องรอให้ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 40 ล้านคน ต้องมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดูแลตนเองและครอบครัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งระบบอุปถัมภ์ ผ่านอดีต ส.ส. อดีต รมต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต องค์ความรู้เรื่องประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ มีจิตใจหนักแน่นไม่หวั่นไหวต่อระบบทุจริตผ่านการทำไพรมารีโหวตแบบไม่บริสุทธิ์ หรือการลงคะแนนเลือกตั้ง เราจะต้องทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็งเรื่องปากท้อง ฐานะ ปัจจัยขั้นพื้นฐาน ก่อนประชาชนถึงจะมีความพร้อมเต็มที่กับการทำไพรมารีโหวตแบบบริสุทธิ์
ด้านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย จ.นครราชสีมา และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เชื่อมั่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รับปากว่าจะมีการเลือกตั้งในต้นปี 2562 แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคการเมืองบางพรรคที่ต่อต้านรัฐบาลและ คสช.มาตลอด จึงเร่งอยากให้มีการเลือกตั้ง เพราะมีประกาศชัดเจนแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งแน่นอนตามโรดแมป ที่พรรคการเมืองบางพรรคกลัวคือนโยบายที่รัฐบาล คสช.กำลังแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนระดับรากหญ้ากำลังเห็นผล และเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด รัฐบาลกำลังได้รับความนิยมจากประชาชนสูงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะนโยบายบัตรสวัสดิการคนจน รวมถึงการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร ราคาข้าวที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ การพักหนี้ดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ตลอดจนโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาล เช่น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ที่กำลังจะเสร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม
"พรรคการเมืองอื่นเกรงว่านโยบายและผลงานเหล่านี้จะแล้วเสร็จในรัฐบาลชุดนี้ จะทำให้ประชาชนมีความชื่นชม ชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์และ คสช.มากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากโพลหลายสำนักที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับความนิยมจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 พรรคอื่นจึงวิตกกังวล ถ้าขืนปล่อยให้รัฐบาลมีผลงานไปมากกว่านี้ ก็จะเสียเปรียบและพ่ายแพ้ในที่สุดจึงพยายามเร่งเร้าให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แต่เห็นว่าถ้าพรรคการเมืองมั่นใจว่านโยบายของตัวเองดีอยู่แล้ว ก็อย่าได้หวั่นไหว ปล่อยให้เป็นไปตามโรดแมปของ คสช.จะดีกว่า”
เขาบอกว่า สำหรับสนามเลือกตั้ง จ.นครราชสีมาทั้ง 14 เขต พปชร.พร้อมแล้ว และมั่นใจว่าจะชนะยกทั้งจังหวัด โดยจะไม่เหลือที่นั่งให้กับพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น ซึ่ง พปชร.จะส่งผู้สมัครลงสู้จริงทุกเขต ไม่มีการซูเอี๋ยหรือเกี้ยเซียะให้กับพรรคใด แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวว่าผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองบางพรรคที่เป็นพรรคแนวร่วมพันธมิตรไปขอให้ พปชร.หลีกทางให้ก็ตาม เพราะในสมรภูมิรบการเลือกตั้งไม่มีพี่ไม่มีน้อง เพราะนี่คือการแข่งขัน จะมีเพียงคำว่าชนะหรือแพ้เท่านั้น ฝากบอกผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองอื่นเลยว่า สนามเลือกตั้งเมืองย่าโม พปชร.สู้จริงทุกเขตตามกติกาทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน
ทั้งนี้ นายสุภรณ์จะลงสมัครในเขตอำเภอครบุรีและ อ.เสิงสาง ส่วนนายสัมภาษณ์ อัตถาวงศ์ อดีตส.ส.นครราชสีมา พี่ชาย ได้ตัดสินใจย้ายจากพรรคเพื่อไทยมาอยู่ พปรช.เรียบร้อยแล้ว เพราะสองพี่น้องไปไหนก็ต้องไปด้วยกัน โดยนายสัมภาษณ์จะลงสนามไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ของ พปชร.จะพิจารณาถึงความเหมาะสม
ขณะที่นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มสามมิตรที่มั่นใจว่าจะกวาดที่นั่ง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมายกทั้งจังหวัดว่า ขอใช้คำพูดของท่านหัวหน้าพรรคที่บอกว่า “เดี๋ยวปิดหีบก็รู้กัน”
พปชร.ปัดทหารช่วยหาเสียง
“ก็หวั่นๆ อยู่ว่าอีก 2 วันกลุ่มสามมิตรอาจประกาศว่าจะได้ ส.ส.ยกจังหวัดทั้ง 14 เขต กลายเป็น 18 เขต ส่วนว่าภูมิใจไทยมั่นใจพื้นที่โคราชหรือไม่นั้น อยากบอกว่าท่านหัวหน้าพรรคมีบ้านอีกหลังที่โคราช ดีไม่ดีท่านอยู่โคราชมากกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ท่านจึงรู้สภาพพื้นที่ดี ทั้งนี้ ส่วนตัวผมกับคุณภิรมย์ แกนนำสามมิตร ก็รักกันดี ผมชอบท่านนะ เพราะพุงท่านสวย พุงผมก็กำลังตามไปติดๆ”
นายศุภชัยกล่าวว่า ไม่กังวลต่อการประเมินตัวเลข ส.ส.จากกลุ่มสามมิตรว่าอาจได้ที่นั่งรวมมากกว่า 100 ที่นั่ง เพราะพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองก็ย่อมมั่นใจในตัวเองเพื่อเตรียมตัวเลือกตั้ง แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนที่เป็นผู้ลงคะแนนเพื่อตัวเอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พรรคภูมิใจไทยยอมรับได้
นายชวน ชูจันทร์ ผู้ยื่นจดตั้งพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีนายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ระบุทหารและผู้ว่าฯ อุบลฯ พาผู้สมัครจากพปชร.พบประชาชนและแจกของให้ชาวบ้านว่า พปชร.ยังไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองเลย เพราะยังไม่ได้ประชุมวิสามัญพรรค และยังไม่ได้การรับรองจาก กกต.ให้เป็นพรรคการเมือง ยังไม่มีหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ฯลฯ ดังนั้นจะมีผู้สมัครหรือคนของพรรคได้อย่างไร อยากให้คนที่ออกมาพูดนำหลักฐานมาแสดง ไม่ควรกล่าวหาว่าร้ายหรือดิสเครดิตกันเช่นนี้ เพราะผู้ยื่นจดจัดตั้งพรรคล้วนใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่อป้องกันกระแสการโจมตี และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากข้อกฎหมาย
นายชวนกล่าวว่า นายสมคิดพยายามจะสื่อให้สังคมเข้าใจว่า พปชร.เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น แต่การพูดอะไรควรมีหลักฐานที่ถูกต้อง มิเช่นนั้นผู้อื่นจะได้รับความเสียหาย ส่วนตัวไม่ทราบว่าคนที่ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าฯ อุบลฯ และทหารนั้นคือใคร แต่ไม่เกี่ยวข้องกับ พปชร.แน่นอน เพราะ พปชร.ไม่เคยลงพื้นที่พบปะประชาชนร่วมกันทหารและคนของรัฐ ทหาร ก็ไม่เคยให้การช่วยเหลือพรรคการเมืองนี้
“การที่มีคนบอกว่าจะสนับสนุน พปชร.ไม่ได้หมายความว่าเขาอยู่พรรค พปชร. วิธีการโจมตีกันอย่างนี้ ไม่ใช่วิธีการที่สร้างสรรค์ แต่เป็นวิธีการของการเมืองแบบเก่า ต้องยอมรับว่าก่อนที่ทหารจะเข้ามานั้น ประเทศมีปัญหาอะไร การเมืองเรามีปัญหาอย่างไร เพราะเรากำลังจะไปไม่รอดอยู่แล้ว การเมืองวันนั้นส่งผลให้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ส่วนตัวไม่อยากโต้ตอบทางการเมืองเลย และระวังอย่างมากเพื่อให้พรรคการเมืองนี้เกิดขึ้นให้ได้” นายชวนกล่าว และว่า พปชร.จะจัดประชุมในเดือนกันยายนนี้แน่นอน เบื้องต้นได้สถานที่แล้วคืออิมแพ็ค เมืองทองธานี ส่วนวันเวลานั้น ต้องให้ กกต.อนุมัติอีกที
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่ทราบ แต่ถ้าพูดโดยหลักการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมือง ถ้าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ต้องทำตามกฎหมาย มิฉะนั้นประเทศชาติจะวุ่นวาย ส่วนผู้ที่ต้องดูแลในเรื่องนี้คือ คสช.และ กกต. ก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ให้มีความเสมอภาคกัน มิฉะนั้นจะคุมสถานการณ์ไม่ได้
เมื่อถามว่า จะมีการกำชับผู้ว่าฯ เกี่ยวกับการวางตัวให้เป็นกลางหรือไม่ รมว.มหาดไทยกล่าวย้อนว่า นึกแล้วว่าต้องถามแบบนี้ แต่คนที่ดูแลเรื่องนี้คือ คสช.กับ กกต.
ชทพ.นัดชิมเมนูโปรดบรรหาร
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ประสานสื่อมวลชนของพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ส่งเอกสารถึงสื่อมวลชนทุกแขนงผ่านไลน์กลุ่มสื่อของพรรค ระบุว่า “ขอเชิญพี่น้องสื่อมวลชน ร่วมพบปะพูดคุยกับคุณท็อป วราวุธ ศิลปอาชา และทีมงานคนรุ่นใหม่ พร้อมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เพื่อย้อนวันวาน กับเมนูโปรดของนายบรรหาร ในบรรยากาศแบบเป็นกันเอง...แล้วพบกัน!! วันพุธที่ 5 กันยายน เวลา 10.00-12.30 น. ณ ที่ทำการพรรคชาติไทยพัฒนา”
ทั้งนี้ การแถลงข่าวและรับประทานอาหารกลางวันดังกล่าว ประกอบด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา, นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ, นายภราดร ปริศนานันทกุล, นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล และนายเสมอกัน เที่ยงธรรม หรือกลุ่มนิวบลัด ของพรรคชาติไทยพัฒนา เพื่อเปิดตัว “ว่าที่หัวหน้าและเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนาคนใหม่” ก่อนรอให้ คสช.คลายล็อก และสามารถประชุมใหญ่สามัญพรรคได้
นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต้องการขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ เพราะยังไม่มีการคลายล็อกว่า เรื่องดังกล่าวให้ คสช.และ กกต.เป็นผู้พิจารณา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ให้การต้อนรับนางชุมยา สวามินาถัน รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และคณะทำงานเฉพาะกิจภายใต้สหประชาชาติ ที่ชื่นชมการทำงานด้านสาธารณสุข ระบุโครงการบัตรทองของไทยใช้ได้จริง สร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพแก่ประชาชนไทย ว่าเห็น พล.อ.ประยุทธ์ไปนั่งยิ้มสวยต้อนรับรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ไม่แน่ใจว่าท่านทราบที่มาหลักคิดของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ทำให้คนไทยได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลหรือไม่
"อยากให้รัฐบาล คสช.รีบปลดล็อก เพื่อจะได้ไปสำรวจข้อมูลและเก็บตัวอย่างความพึงพอใจจาก แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข และประชาชน จะทำอย่างไรให้โครงการนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดีขึ้น และใช้งบประมาณของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นการปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้สามารถไปรับฟังปัญหาของประชาชนได้ นำไปสู่การจัดทำนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนต่อไป" นายอนุสรณ์กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงประกาศมหาเถรสมาคม (มส.) ห้ามใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุม หรือสัมมนา หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยกเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งมีการลงนามประกาศโดยสมเด็จพระสังฆราช เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ว่า เป็นประกาศ มส. เพื่อแจ้งแก่วัดต่างๆ เนื่องจากวัดอยู่ในอำนาจปกครองและบังคับบัญชาของ มส. ซึ่งจริงๆ แล้ว ประกาศ มส. เรื่องห้ามหาเสียงในวัดมีมานานแล้ว ซึ่งเอามาย้ำกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะห้ามใช้วัดเป็นสถานที่หาเสียงด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตอนเลือกตั้งจะมีเรื่องนี้ออกมาชัดเจน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเรื่องห้ามหาเสียงในวัดมีมานานแล้ว พอเวลาผ่านไปจึงต้องออกมาประกาศมาเตือนกันครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2561 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ได้มีประกาศมหาเถรสมาคมเรื่อง ห้ามใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุมหรือสัมมนา หรือจัดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบและความแตกแยกเกิดขึ้นในสังคม โดยประกาศให้พระสังฆาธิการปฏิบัติและกวดขันมิให้พระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง ห้ามเจ้าอาวาสยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้วัดเป็นสถานที่ชุมนุม หรือใช้จัดกิจกรรมทางการเมือง และหากมีผู้ใดมาใช้วัดเป็นสถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว ให้เจ้าอาวาสเข้าป้องกันและระงับมิให้มีกิจกรรมนั้น และหากจำเป็น ให้ขออารักขาจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |