“ชำนาญ” เปิดใจหลังถูกยื่นร้องขอถอดถอนพ้น ก.ต. ลั่นต่อสู้เรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษามาตลอด ชงใช้เครื่องบันทึกเสียงทุกศาล เลิกบันทึกเพราะมีกรณี “อมความ” ยันเร็วๆ นี้ได้เห็น “หัวโจก” เล่นการเมืองในศาล-รังแกผู้พิพากษากันเองต้องถูกปราบ สอนน้องๆ ทำหน้าที่ตัดสินต้องฟังความสองฝ่าย
เมื่อวันศุกร์ กรณีนายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2, นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำรายชื่อผู้พิพากษา 1,776 คน ยื่นคำร้องต่อนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้ดำเนินการลงมติเพื่อถอดถอนนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.) ในศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ซึ่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตรวจสอบรายชื่อผู้พิพากษาทั้งหมดแล้วพบว่ามีความถูกต้องจำนวน 1,735 คน และได้ส่งคำร้องและรายชื่อผู้พิพากษาที่ร่วมลงชื่อไปปิดประกาศที่สำนักงานศาลทั่วประเทศในวันที่ 29 ส.ค.นั้น
ล่าสุด นายชำนาญให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรกถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นต้องสังคายนาระบบ ก.ต.กันใหม่ ต้องปฏิรูปโครงสร้างการปฏิบัติหน้าที่ และต้องเปลี่ยนวิธีการสืบพยานในศาลชั้นต้นใหม่ทั้งหมด เป็นเรื่องที่ควรทำมานานแล้ว การบันทึกแบบอมความใช้ไม่ได้ ต้องแก้ไข คือผู้พิพากษาเบิกความเอง ทนายความเดือดร้อนโต้แย้งว่าพยานไม่ได้พูด แต่ศาลจดบันทึก ทั้งที่สมัยใหม่ใช้กล้องวงจรปิด เครื่องบันทึกเสียง อย่างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ใช้เครื่องบันทึกเสียง ไต่สวนพยานถามตอบอย่างไรบันทึกตรงตามนั้น รวดเร็วมาก
“ไม่ต้องโต้เถียงเรื่องบันทึกไม่ตรงคำเบิกความ สามารถแก้ไขได้ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อย แต่ผู้บริหารศาลยุติธรรมยังไม่เอาไปใช้ ถือเป็นบทเรียนที่ต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ศาลต้องเปลี่ยนวิธีการสืบพยานในศาลชั้นต้นใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าตำแหน่งของผม” นายชำนาญกล่าว
นายชำนาญกล่าวอีกว่า ไม่มีทางเลยที่จะไปแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เพราะผลักดันเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษามาตลอดมากกว่าใคร และเป็นผู้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้พิพากษามีสิทธิอุทธรณ์มติของ ก.ต. ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ เพราะ ก.ต.เองก็ไม่ใช่เทวดาที่ไหน แม้เป็น ก.ต.ก็ยอมให้ตรวจสอบได้ คือหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่แท้จริง เป็นหลักสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเสนอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของศาลชั้นต้น โดยต้องมีกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ทำหน้าที่ตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่ของศาลชั้นต้นไม่ให้ถูกแทรกแซง ซึ่งตัวท่านเองต้องทำด้วยความรอบคอบ ท่านอาจจะประมาทหรือทุจริต ถ้ามีกองตรวจสอบ ใครก็แทรกแซงไม่ได้ ทุจริตไม่ได้ ประชาชนก็อุ่นใจ เรื่องนี้เสนอมาตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) แล้ว
“สิ่งสำคัญจำเป็นต้องตรวจสอบ ถ้าศาลชั้นต้นได้มาตรฐานเท่าเทียมศาลฎีกา ประโยชน์ตกเป็นของประชาชน ฉะนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรที่มาหาว่าแทรกแซง เหลวไหลทั้งนั้น เรื่องเกิดจากผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่มิชอบต้องถูกปราบ หัวโจกเล่นการเมืองในศาลต้องถูกปราบ การบิดเบือนต้องถูกปราบ อยากเรียนให้ทราบ หัวโจกรังแกผู้พิพากษากันเองต้องถูกปราบ ท่านจะได้เห็นเร็วๆ นี้ มีที่ไหนออกข่าวผ่านสื่อเต็มไปหมด ผู้พิพากษาดีๆ เขาไม่ทำกัน” นายชำนาญระบุ
เมื่อสอบถามถึงความหมายของคำว่า อมความ นายชำนาญอธิบายว่า มีตัวอย่างสมัยหนึ่งผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นพยานเบิกความในคดีอย่างหนึ่ง ผู้พิพากษาในคดีก็ไปบันทึกอีกอย่างหนึ่ง คือสรุปไม่ตรงกัน ที่บอกว่าอมความ คือสรุปให้ใกล้เคียงกับที่พยานเบิกความ มาสรุปเป็นภาษาของผู้พิพากษาเอง อาจไม่ตรงกับถ้อยคำที่เบิกความ ซึ่งก็ไม่ทราบใครคิดคำนี้ขึ้น เหมือนเป็นผู้พิพากษาเบิกความเองทำให้ความหมายเปลี่ยนไป บางทีท่านอาจจะฟังไม่ทันหรือลืมบันทึกสิ่งที่อาจเป็นถ้อยคำสำคัญ ต่างจากการถอดเทปเป็นคำๆ พอมาเป็นผู้พิพากษามานานอยู่ศาลสูงเห็นเลยว่าผิด ประเทศอื่นทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนหมดแล้ว ไม่มีที่ไหนในโลกนี้ทำ การบันทึกเทปจะมีหมดทุกอย่าง ง่ายต่อการพิจารณา ไม่ต้องโต้เถียง การอมความที่สรุปเป็นคำพูดตนเองแล้วไม่ตรง จึงเกิดเรื่องราวกันมาตลอด ถ้าประมาท จงใจ หรือละเว้นถ้อยคำสำคัญก็ไม่ขึ้นไปถึงศาลสูง ถือเป็นอันตราย ต้องแก้ไข ถ้าปล่อยไปเสียหายต่อประชาชน เทคโนโลยีปัจจุบันก็ราคาถูกมาก เป็นผลประโยชน์ประชาชน
นายชำนาญกล่าวต่อไปว่า การอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นคือการสืบพยานในศาลชั้นต้นโดยถูกต้อง เป็นธรรม พยานเบิกความอย่างไรก็บันทึกเทปไปตามนั้น ภาพ เสียง ถ้อยคำครบถ้วน สงสัยตรงไหนก็ไปตัดมา เหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องบ้านพักศาล มีเทปบันทึกเสียงไว้ พูดอย่างไรก็ตามนั้น ไม่ยากเลย ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน ศาลต้องเปลี่ยน ที่ผ่านมาคิดแต่ไม่ทำ ต้องผลักดันแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เป็นศาลต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชน มิฉะนั้นจะเป็นไปทำไม ถ้าแก้ปัญหาอะไรไม่ได้จะเป็นทำไม ตำแหน่งเป็นแค่หัวโขน ถ้าเห็นการทุจริต ปฏิบัติหน้าที่มิชอบไม่ปราบได้หรือ การทำให้ประชาชนเสียหายถือว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทราบว่ามีการเสนอร่างกฎหมายคุ้มกันผู้พิพากษาจากการถูกดำเนินคดีเข้าไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเห็นว่าผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้รอบคอบถึงจะไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้รอบคอบถึงคุ้มกันได้ จะเรียกร้องทำอะไร เพราะไม่กลัวถูกตรวจสอบ ถ้าทำโดยสุจริตไม่ควรกลัวถูกตรวจสอบ
เมื่อถามถึงการทำเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหา จะปิดประกาศได้ในช่วงไหน นายชำนาญระบุว่า เป็นไปตามกรอบเวลาหลังพ้น 20 วัน รอให้สำนักงานศาลยุติธรรมส่งเอกสารขอคำชี้แจงเข้ามาก่อนแล้วจะส่งไป คำชี้แจงจะมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงเกิดเหตุนี้ขึ้นมา บอกได้เลยว่าผู้พิพากษากระทำผิด ปกปิดบิดเบือน เดี๋ยวก็รู้ ปิดประกาศไปทั่ว เดี๋ยวผู้สื่อข่าวก็ได้รับ ขณะนี้เขียนเสร็จแล้วไม่มีอะไรซับซ้อน ต้องรอเวลาเท่านั้น ตำแหน่งไม่ได้สำคัญ ถ้าเป็น ก.ต.แก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่มีความหมาย คนตัดสินคือประชาชน ที่จะมองว่าสิ่งที่ทำถูกต้องหรือไม่
“ผมเป็นผู้พิพากษา นอกจากผู้พิพากษาด้วยกันเองตัดสินแล้วก็คือประชาชน เรื่องใหญ่คือผมทำอะไรให้ประชาชนบ้าง ทั้งหมดที่ทำมุ่งหวังประโยชน์ประชาชน แก้ไขให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งประชาชน ตำแหน่งเล็กน้อยไม่ยึดติด ถ้าไม่สามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ ก็ไม่ควรมารับเงินเดือนสูงจากภาษีประชาชน ซึ่งคนเป็นผู้พิพากษาต้องฟังความสองฝ่าย ถ้าฟังฝ่ายเดียวแล้วออกความเห็นก็ไม่ต่างกับคนทั่วไป หลักสำคัญท่านถูกฝึกมาคือต้องฟังความสองฝ่าย ฝ่ายเดียวเชื่อมีความเห็นเลยไม่ได้ ต้องยึดหลักให้มั่นคง ก่อนจะวินิจฉัยอะไรต้องฟังสองฝ่ายเป็นหน้าที่” นายชำนาญกล่าวทิ้งท้าย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |