รอยเตอร์จับผิดหนังสือ "ข่าวจริง" ของกองทัพเมียนมาเกี่ยวกับโรฮีนจา พบใช้ภาพจากเหตุการณ์อื่นมาปรับแต่ง เช่นรูปชายคนหนึ่งยืนถือคราด อยู่ใกล้กับศพ 2 ศพพร้อมคำบรรยาย "พวกเบงกาลีฆ่ากลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นอย่างโหดร้าย" แต่ของจริงเป็นภาพชาวเบงกาลีโดนฆ่าหมู่ที่บังกลาเทศเมื่อปี 2514
ภาพเปรียบเทียบของรอยเตอร์ ภาพบนเป็นภาพของจริงจากเหตุการณ์ที่กรุงธากา บังกลาเทศ ปี 2514 ภาพล่างเป็นภาพที่กองทัพเมียนมานำมาใช้ในหนังสือแล้วบรรยายว่าเบงกาลีฆ่าชาวเมียนมา (เครดิตภาพ บน : Anwar Hossain/Flickr, ล่าง : Myanmar Politics and the Tatmadaw: Part 1/via REUTERS)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2561 เปิดโปงว่า ภาพถ่ายนี้ปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของหนังสือที่กล่าวถึงการจลาจลของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมายุคทศวรรษ 1940 เนื้อหาในหนังสืออ้างว่าภาพถ่ายนี้แสดงเหตุการณ์ที่ชาวพุทธโดนโรฮีนจาฆ่าตาย หนังสือเรียกโรฮีนจาว่า "เบงกาลี" ซึ่งหมายถึงคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แต่การสืบสวนของรอยเตอร์พบว่า ภาพถ่ายนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามต่อสู้เพื่อเอกราชในบังกลาเทศเมื่อปี 2514 ครั้งนั้นมีชาวบังกลาเทศโดนกองทัพปากีสถานฆ่าตายนับแสนคน
รายงานกล่าวว่า ภาพนี้เป็น 1 ใน 3 ภาพที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์และสงครามจิตวิทยาของกองทัพเมียนมาตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม และถูกบิดเบือนว่าเป็นภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุในรัฐยะไข่
ภาพบน ผู้ลี้ภัยชาวฮูตูหนีความรุนแรงในรวันดาเมื่อปี 2539 ส่วนภาพล่างอยู่ในหนังสือเล่มนี้ บรรยายว่าพวกเบงกาลีบุกรุกเข้าเมียนมาหลังจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษยึดพม่าตอนล่าง (เครดิตภาพ บน : Martha Rial/Pittsburgh Post-Gazette/The Pulitzer Prizes. ล่าง : Myanmar Politics and the Tatmadaw: Part 1/via REUTERS)
รอยเตอร์กล่าวว่า การตรวจสอบพบว่าภาพถ่าย 2 ภาพนั้นแท้ที่จริงแล้วถ่ายที่บังกลาเทศและที่แทนซาเนีย ส่วนภาพที่ 3 ถูกบรรยายผิดๆ ว่าเป็นภาพที่ชาวโรฮีนจาเดินทางจากบังกลาเทศเข้าเมียนมา แต่ในความเป็นจริงเป็นภาพการอพยพออกจากเมียนมา
หนังสือ "การเมืองเมียนมาและกองทัพ : ตอนที่ 1" มีความยาว 117 หน้า กล่าวถึงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมาเมื่อเดือนสิงหาคม จากมุมมองของกองทัพ ซึ่งองค์การสหประชาชาติระบุว่ามีชาวโรฮีนจาหนีเข้าบังกลาเทศราว 700,000 คน พร้อมกับคำกล่าวหาว่าทหารสังหารหมู่, ข่มขืน และวางเพลิงบ้านเรือนชาวโรฮีนจา
ภาพบน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศที่พยายามหนีออกจากเมียนมา อยู่บนเรือที่กองทัพเรือเมียนมายึดไว้ได้ ใกล้ย่างกุ้งเมื่อปี 2558 ถูกนำมาใส่ในหนังสือเล่มนี้โดยบรรยายว่าเป็นภาพที่พวกเบงกาลีล่องเรือเข้าเมียนมา (เครดิตภาพ บน : Getty Images, ล่าง : Myanmar Politics and the Tatmadaw: Part 1/via REUTERS)
เนื้อหาส่วนมากมีที่มาจากหน่วยข้อมูล "ข่าวจริง" ของกองทัพ ซึ่งทำหน้าที่แจกจ่ายข่าวสารในมุมมองของกองทัพนับตั้งแต่เริ่มวิกฤติในรัฐยะไข่ ส่วนใหญ่ผ่านโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก
เมื่อวันจันทร์ เฟซบุ๊กได้แบนบัญชีของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา และนายทหารอีกหลายนาย ที่เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าใช้โซเชียลมีเดียนี้กระพือความตึงเครียดทางศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ วันเดียวกันนั้น คณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติกล่าวโทษ ผบ.สส.เมียนมาว่ารับผิดชอบต่อการกำกับดูแลการรณรงค์ด้วยเจตนาล้างเผ่าพันธุ์ และแนะนำให้ดำเนินคดีกับพวกนายทหารเมียนมาฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |