การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กำลังมีโครงการจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิ มูลค่า 30,500,000,000 บาท กำหนดเปิดกลางปี 2563
ด้วยเหตุนี้ทาง ทอท.จึงจัดให้มีการประกวดแบบสถาปัตยกรรมเพื่อคัดเลือกสรรหาแบบที่ดีและเหมาะสมที่สุด เพื่อสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมตัวสำคัญของประเทศชาติในครั้งนี้
การประกาศเปิดเผยแบบของบริษัทที่ชนะการประกวดผ่านไปแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบให้ขรมไปหมดในหลายแง่หลายมุม โดยเฉพาะเรื่องรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคาร
ภาพที่1
การวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าขรมไปหมดนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในสื่อโซเชี่ยลต่างๆ ทั้งเป็นการโต้เถียงโต้ตอบกันไปมาจนไม่อาจจะตั้งหลักให้สังคมตั้งสติเข้าจับเพื่อรู้และเข้าใจเรื่องนี้อย่างเป็นระบบได้เลย
เหตุการณ์ผ่านไป 6-7 วัน ในฐานะสถาปนิกและพลเมืองคนหนึ่งที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้ ขอหันมาใช้หน้าหนังสือพิมพ์เป็นสื่อ ตั้งหลักเรียบเรียงและปะติดปะต่อเรื่องนี้ให้เป็น "รายงานสาธารณะ" อันหวังจะสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสำคัญของประเทศชาติเรื่องนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวกันสักตั้ง
สนามบินสำคัญอย่างไร..ทำไมถึงเป็นเรื่องสาธารณะ
ภาพที่ 2 เป็นภาพโบราณเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เห็นกระบวนเรือพระที่นั่งของพระบาท
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ที่เสด็จนิวัติจากทวีปยุโรปกลับสู่ประเทศสยาม กำลังใช้ฝีจักรแล่นเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยนั้นไม่มีเครื่องบิน เดินอากาศ ใครจะเดินทางไปหาใครก็ต้องใช้ทางเรือเดินสมุทรกันทั้งนั้น..."การเข้าพบสยาม" จึงอยู่ตรงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาริมฝั่งอ่าวไทยดังที่เห็นในภาพนี้เอง
พินิจดูภาพที่ 1 อีกครั้ง...ลิบๆตรงปากแม่น้ำจะเห็นพระเจดีย์ตั้งเสียดฟ้าเป็นภูมิ สัญลักษณ์ (LAND MARK) ตัวสำคัญ บ่งบอกให้รู้ว่ากำลังจะเข้าถึงและเข้าพบกับราชอาณาจักรสยาม ดินแดนแห่งบวรพระพุทธศาสนา
ตั้งพระเจดีย์เพื่อรับหน้าและแรกพบกันอย่างนี้ ฝรั่งสมัยก่อนจึงเรียกพระเจดีย์องค์นี้ว่า THE FIRST PAGODA OF SIAM ส่วนชาวสยามชาวบางกอกและชาวปากน้ำเรียกตามที่เห็น ว่า "พระเจดีย์กลางน้ำ" หรือ "พระสมุทรเจดีย์"
ภาพที่3
พระเจดีย์องค์นี้สร้างแต่สมัย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 เมื่อคราวต้องปรับปรุงหัวเมืองชายทะเล เพื่อพร้อมรับศึกญวนเพราะความ สัมพันธ์กำลังตึงเครียด ที่เมืองสมุทรปราการนี้ทรงโปรดให้สร้างป้อมปืนไว้ถึง 6 ป้อม พอสำเร็จโครงการก็โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้เป็นที่รำลึก
ล่วงเข้ารัชกาลที่ 4 ควันศึกญวนจางหาย แต่คลื่นอาณานิคมและการเปิดประเทศคบหาสัมพันธ์กับโลกตะวันตกกำลังเข้มข้นขึ้นทุกที ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลจึงโปรดให้ ช่างไปถ่ายแบบเจดีย์ลอมฟางจากอยุธยาแล้วนำมาสร้างสวมทับองค์พระเจดีย์เดิมให้งดงามสง่าได้ความสูง 19 วา (ภาพที่ 3) นอกจากนี้ยังโปรดให้สร้างเก๋งจีน หอเทียน หอระฆัง พระวิหาร พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร หลักผูกเรือรอบองค์พระ พร้อมทั้งอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 12 องค์จากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุแทนองค์เดิม
คิดดูดีๆ..ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการเข้าพบเมืองสยามของโลกภายนอกบริเวณปากแม่น้ำ เจ้าพระยานี้ คนโบราณท่านคิดอ่านไว้หลายแง่หลายมุม ในเชิงความมั่นคงของราชอาณาจักรก็มีกลุ่มป้อมปืนยืนคุม ทางเศรษฐกิจก็มีเมืองสมุทรปราการเป็นด่านศุลกากร ทางศิลปะและวัฒนธรรมก็มีกลุ่มงานสถาปัตยกรรมอวดตัวและทำตัวเป็นภูมิสัญลักษณ์ของทางเข้าประเทศ ทางด้านจิตวิญญาณ ก็เป็นพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ประกาศตัวตนของสังคมสยามว่าแผ่นดินที่อาคันตุกะล่วงเข้ามาพบพานนี้คือดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา
เล่ามาเป็นวรรคเป็นเวรนี้ก็เพื่อตบท้ายให้ท่านผู้อ่านตระหนักว่า สนามบินนั้นเปรียบไป
แล้วก็เหมือนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ...ที่ๆโลกภายนอกกำลังจะเข้ามา ประสบพบปะแผ่นดินและสังคมของเราอย่างนี้นั้นมีภารกิจและประโยชน์สาธารณะที่ต้องสร้างสรรค์และบริหารจัดการให้ดีให้สำเร็จเป็นหลายแง่หลายมุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติที่นอกจากจะงดงามประทับใจแล้วยังต้องมีพลังให้รำลึกได้ถึงความเชื่อและจิตวิญญาณของผู้คนที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน...ต้องเป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะขี่เรือเดินสมุทรมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อนหรือขี่เครื่องบินมาลงสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
ถามว่า..ถ้ารู้จักมองสนามบินกันในแง่ที่กล่าวมานี้ แล้วแบบประกวดที่ได้รับเลือกมาทำอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิที่ว่ากำลังมีปัญหานั้น ปัญหามันเป็นอย่างไร
ความละม้ายคล้ายเหมือนที่เป็นปัญหา
ภาพที่4
สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารนี้ชี้แจงว่า เรื่องอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารนั้นได้ตัดสินใจละวางลักษณะทางวัฒนธรรม (CULTURE) ของสังคมไทยแต่หันมาใช้ลักษณะทางธรรมชาติ (NATURE) ของแผ่นดินไทยคือป่าไม้เขตร้อนชื้นแทน
การใช้การปรากฎตัวของไม้ที่อบอุ่นและรูปทรงที่คลี่ขึ้นกระจายออกเหมือนต้นไม้ของบรรดาโครงสร้างจะช่วยบอกเล่าปลุกเร้าสร้างสรรค์เองให้รู้สึกได้ถึงมิตรภาพและน้ำใจไมตรีอัน อบอุ่นของคนไทยและบ้านเมืองของเรา (ภาพที่ 4)
ท่านผู้อ่านพึงสังเกตลักษณะการใช้ไม้ของงานชิ้นนี้ให้ดีๆ การขึ้นเสาแล้วค่อยๆวางคาน
ไม้เล็กๆจำนวนมาก ให้ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆและค่อยๆยื่น (CANTILEVER) ออกไปทุกๆ 4 ด้านในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 36X36 เมตรนั้น ในที่สุดเมื่อค่อยๆโค้งมาบรรจบกับพรรคพวกแล้ว ก็เกิดเป็นเสมือน หลังคาโค้ง (VAULT) ชุดต่างๆเชื่อมต่อเนื่องกันไป
เจ้าระบบการนำท่อนไม้มาค่อยๆซ้อนทับให้เหลื่อมและไล่กันไปเช่นนี้เองที่ก่อปัญหา เพราะมันไปละม้ายคล้ายกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งที่เป็นแบบโบราณหรือสมัยใหม่ของจีนและญี่ปุ่นอันเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก
ภาพที่5
มองกันที่มรดกทางวัฒนธรรมของจีนก่อน...ภาพที่ 5 เห็นภาพลายเส้นแสดงระบบโครงสร้างไม้ของสถาปัตยกรรมจีนโบราณ บรรดาเสาที่เสียดสูงขึ้นมาจะไม่ได้แล่นเข้าพบขื่อพบอะเสเพื่อรองรับเครื่องบนของหลังคากันดื้อๆเหมือนบ้านเรา ช่างจีนเขาจะสร้างสรรค์ ชุดของทวยเป็นคานและตุ๊กตาไม้เล็กๆโปร่งๆให้ค่อยๆยื่นและแยกย้ายกันเข้ารับเครื่องบนหลังคาของเขาเป็นหลายชั้นหลายเชิง เรียกขานกันเป็นศัพท์เทคนิคว่า DOUGONG (โต๋ก่ง)
การรับและถ่ายน้ำหนักระหว่างเสากับหลังคาด้วย "โต๋ก่ง" นี้นอกจากจะแลงดงามโปร่งตาและช่วยกันยื่นรับชายคาที่ทิ้งตัวออกมาได้แล้ว เครื่องไม้เล็กๆที่เข้าล๊อคกันเหล่านี้จะช่วยกันยืดหยุ่นตัวเวลาเกิดแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี
ภูมิปัญญาในหลักการแบบ "โต๋ก่ง" นี้ สถาปนิกจีน "เหอจิ้งถิง" ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็น CHINA PAVILION ในงาน WORLD EXPO ที่เซี่ยงไฮ้ได้อย่างไม่ขัดเขินงดงามและลงตัวเป็น "จีน" กันได้ชัดๆได้รับการยอมรับและผ่านตาผู้คนทั้งโลกไปแล้วเมื่อปีคศ.2010 (ภาพที่ 6)
หันมาดูทางญี่ปุ่นบ้าง...หลักการ "โต๋ก่ง" ของจีนนี้สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นโบราณก็รับไปปรับใช้เป็นของตน พอมีโอกาสก็นำเข้ามาใช้ในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้อย่างงดงามและมีชื่อเสียงระดับโลก
ภาพที่ 7 เห็นอาคารศาลา JAPAN PAVILION ในงาน WORLD EXPO ,1992 นคร
เซบีญา ประเทศสเปน ออกแบบโดย ทาคาโอะ อันโดะ สถาปนิกมือครูของญี่ปุ่น ท่านผู้อ่านจะเห็นปิรามิดการถ่ายแรงแบบ "โต๋ก่ง" ตั้งเป็นพระเอกของศาลา งานชิ้นนี้ก็ดังระเบิดเถิดเทิงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอีกเช่นกัน
ภาพที่ 8 KENKO KUMA สถาปนิกมือ 1 ของญี่ปุ่นในปัจจุบันออกแบบ YUSUHARA WOODEN BRIDGE MUSEUM โดยนำระบบซ้อนคานไม้มาซ้อนต่อเนื่องกันจนกลายเป็นโครงสร้างสะพานทอดข้ามลาดเขา มีอาคารเป็นทางเดินทอดตัวตั้งอยู่ข้างบนนำเข้าสู่อาคารหลัก ทั้งตัวโครงสร้างและเหตุผลที่นำมาใช้ชัดเจนเหมาะสมมีเหตุผลเห็นเป็นสัจจะความจริงของการใช้โครงสร้างไม้ โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2011 เมื่อเปิดตัวกับโลกสถาปัตยกรรมแล้วก็ได้รับการยอมรับมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอีกเช่นกัน
ทิ้งท้าย...ประเด็นที่ต้องตัดสินใจ
คำไทยว่า..ละม้าย..แปลว่าคล้ายจนเกือบเหมือน..ต้องยอมรับกันว่ารูปลักษณ์ของหมู่เสาและหัวเสาที่บานออกของแบบที่ได้รับการคัดเลือกให้เอามาทำเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินแห่งชาติไทยที่สุวรรณภูมินั้นมีความละม้ายกับงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของจีนและญี่ปุ่นที่เขาวิวัฒน์มาจากมรดกวัฒนธรรมของเขาจริงๆ
ถ้าคิดกันแบบตื้นๆลุ่นๆก็จะตั้งคำถามกันว่านี่มันไปลอกไปเลียนเค้าหรือเปล่า งานระดับชาติที่ต้องแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ของเรา ดันไปเอาของคนอื่นเค้ามาได้อย่างไร
เรื่องลอกเลียนกันหรือเปล่านี้ยากแก่การพิสูจน์ทั้งมีวาทะกรรมสารพัดเอามาหยิบตอบกันได้ต่างๆนาๆ...ว่าที่จริงแล้วงานสถาปัตยกรรมของมนุษยชาติก็เกิดจากการรับสืบทอด ทำซ้ำ ปรับใช้หรือวิวัฒน์ต่อยอดกันมาตลอดมิใช่หรือ
ถ้าคำถามเรื่องลอกเลียนตอบไม่ถนัด ก็มาถึงคำถามที่สองว่า ไม่ว่าจะลอกหรือไม่ลอกการสร้างสรรค์สนามบินอันเป็นมณฑลที่โลกจะเข้าพบบ้านเมืองของเรา อันเป็นประโยชน์และคุณค่าสาธารณะตัวสำคัญของคนไทยเราดังที่กล่าวมาแล้วแต่ต้นนั้น ถ้ามีอันไปตรงไปพ้องกับงานสถาปัตยกรรมของจีนและญี่ปุ่นที่เขาวิวัฒน์มาจากมรดกวัฒนธรรมของเขา มีความสำเร็จโด่งดังและได้รับการยอมรับไปทั้งโลกแล้วนั้น สมควรยอมรับปล่อยเลยตามเลยหรือ
ชาวต่างประเทศที่ลงเครื่องบินเข้ามา ได้ประสบพบเห็นก็ล้วนแต่จะรู้สึกและเห็นว่า.."นี่มันจีนหรือนี่มันญี่ปุ่นนี่หว่า"...กันเสียทั้งนั้น ไม่มีใครไปสามารถแก้ตัวในสถานการณ์จริง
การตกที่นั่ง "ไม่มีตัวของตัวเอง" ของสนามบินแห่งชาติเสียแต่แรกเกิดแรกพบอย่างนี้ สาธารณชนคนไทยควรจะยอมรับให้เกิดขึ้นหรือไม่..นี่ต่างหากคือคำถามรวบยอด
CR: ขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์พิเศษประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรและนักเขียนบทความอิสระ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเมืองและพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |