(วิวยามเย็นแม่น้ำฮาลา-บาลา)
ท้องฟ้าโปร่ง แสงแดดที่แรงในยามเที่ยง เป็นสัมผัสแรกเมื่อคณะของเราเดินทางมาถึงยังสนามบินจังหวัดนราธิวาส กับทริปท่องเที่ยวตลอด 3 คืน 4 วัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทำให้หลายคนคงไม่กล้าวางโปรแกรมเลือกมากเที่ยวที่นี่ ด้วยเหตุผลที่รับรู้กันดี ก็คือ ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่นั่นเอง แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์ไม่ได้รุนแรง หรืออาจจะเงียบๆ ไปบ้าง แต่ภาพความทรงจำในอดีตที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ผ่านมาคงไม่อาจจะลบหายไปได้โดยเร็ว
แต่คงจะดีกว่าหากเรามาสร้างความทรงจำใหม่ ด้วยการเปิดใจไปเที่ยว 3 จังหวัดดูสักครั้ง ทิ้งความกลัว ลบภาพอดีต ออกไปพบปะผู้คนในพื้นที่ สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่าย และออกไปรับอากาศจากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ สูดโอโซนเข้าให้เต็มปอด บางทีอาจจะทำให้เราได้เห็นความสุขเล็กๆ ที่ซ้อนอยู่ในพื้นที่สีแดงแห่งนี้ก็ได้
(พี่ลี ไกด์ท่องเที่ยว จ.ปัตตานี)
จะไปทั้งทีก็ต้องเตรียมตัว เรียนรู้เส้นทางหรือข้อปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ สักนิด ซึ่งเราก็ได้คนในพื้นที่อย่าง พี่ลี หรือนายสุไลมาน เจ๊ะแม เป็นไกด์นำเที่ยวจังหวัดปัตตานี ได้ให้คำแนะนำว่า การเดินทางมาท่องเที่ยวที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ว่าจะเป็นเดี่ยวหรือกลุ่ม อย่างแรกคือ การติดต่อเข้ามาที่สำนักงานการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด หรือคนในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก และอื่นๆ ส่วนการพักในโรงแรมบริเวณในเขตตัวเมืองก็สามารถเข้าพักได้ตามเวลาปกติทั่วไป แต่ถ้าจะที่พักในอำเภอรอบนอกก็ควรจะเข้าที่พักไม่เกิน 2 ทุ่ม และในการเดินทางควรเช่ารถจากในพื้นที่พร้อมคนขับที่จะชำนาญเส้นทาง หรือหากสะดวกขับรถมาเอง แนะนำให้ใช้เส้นทางเดียวกับที่ชาวบ้านใช้สัญจร หากจำเป็นที่จะต้องใช้เส้นทางอื่นๆ ก็ควรขอคำแนะจากคนในพื้นที่ นอกนั้นก็เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบ คือ การแต่งกายสุภาพเข้ามัสยิดที่ต้องสุภาพรัดกุม
คณะของเราได้เริ่มออกเดินทางด้วยรถตู้จากจังหวัดที่อยู่ใต้สุด นราธิวาส กับจุดหมายแรกที่ บ้านทอน ในอำเภอเมือง หมู่บ้านที่ไม่ได้มีดีแค่การทำประมงหรือชายหาดสวยเท่านั้น แต่เรือกอและที่ชาวบ้านใช้ทำการประมง แล่นอยู่ในท้องทะเลต่างหากที่กลายเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ ที่นี่จึงเป็นศูนย์ทำเรือกอและ และเรือกอและจำลองบ้านทอน
(สีสันของเรือกอและที่นราธิวาส)
นายอาหามัด สาและ ผู้ใหญ่บ้าน ออกมาต้อนรับพวกเรา พร้อมพาไปชมแหล่งทำเรือกอและขนาดใหญ่ ที่ในปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่แห่ง เรือลำขนาดใหญ่ถูกขึ้นโครงไว้รอการการแต่งแต้มสีสันเสน่ห์อันฉูดฉาด ประดับด้วยลวดลายที่ผสมผสานระหว่างลายมาลายู ลายชวา และลายไทย เพื่อให้เรือแต่ละลำมีจุดเด่น นอกจากจะมีเรือลำจริง ที่นี่ยังมีเรือลำจำลองที่ทำเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกด้วย
(ปลากุเลา ราชาแห่งปลาเค็ม ของ อ.ตากใบ)
มาถึงถิ่นปลากุเลา ราชาแห่งปลาเค็ม ใครจะพลาดได้ ต้องไปชิมให้ถึงที่อำเภอตากใบ ซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อที่ไม่ได้หาทานได้ตามฤดูกาล จะมีเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เราได้มาแวะที่ร้านป้าเอ็ง ที่คลุกคลีกับการทำและขายปลากุเลามากว่า 30 ปี เข้ามาขอส่องวิธีการทำปลากุเลาที่มีสูตรลับพิเศษในการหมัก การเลือกขนาดปลา หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการนวดปลาเพื่อให้ได้เนื้อปลาละเอียด ปลากุเลาเค็มจึงเป็นที่นิยม ถึงขนาดต้องสั่งจองล่วงหน้ากันเลย และก็เป็นโอกาสดีที่เจ้าของร้านได้ทำยำปลากุเลาให้ได้ทาน บอกได้เลยรสชาติอร่อยสมคำร่ำลือจริงๆ
(เดินสกายวอล์ก รับลมชมวิว)
อิ่มท้องแล้วก็ต้องมาย่อยสักหน่อย เราจึงเดินทางมารับลมทะเลที่เกาะยาว แต่ก่อนจะเดินไปถึงจุดหมายที่วางไว้ ก็ต้องข้ามสะพานคอยร้อยปีที่ยาว 345 เมตร พาดผ่านแม่น้ำตากใบที่มีทั้งที่เป็นสะพานปูนและสะพานไม้ หากจะเดินก็ควรเลือกสะพานไม้จะดีกว่า เพราะสะพานปูนชาวบ้านได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรรถจักรยานยนต์ หาดทรายที่ทอดยาวอาจจะดูไม่สวยเท่ากับจังหวัดที่มีทะเลยอดนิยม แต่กลับมีเสน่ห์กับบรรยากาศที่สงบเงียบ รอบๆ มีเพียงชาวบ้านในพื้นที่มานั่งเล่นกันแบบครอบครัว คู่รัก หรือแก๊งเพื่อน แต่ก็ไม่เหงาเลย เพราะชาวบ้านก็ต้อนรับพวกเราด้วยสายตาและรอยยิ้มอย่างอบอุ่น
(เกาะยาว ทะเลอันเงียบสงบ)
เช้าวันที่สอง เราได้เตรียมตัวออกเดินทางไปที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ระหว่างที่รถตู้วิ่งไปตามท้องถนนสายตาที่มองออกไปนอกหน้าต่าง ทำให้เราได้เห็นการใช้ชีวิตของชาวบ้านแบบเรียบง่าย ทั้งค้าขาย ทำเกษตร และต้นไม้ตามข้างทาง ก็ดูเขียวชอุ่ม ตัดกับสีแดงขาวของบังเกอร์ จุดตรวจของทหารที่ดูจะเป็นสิ่งปกติไปแล้วสำหรับคนที่นี่ หากใครขับรถมาเองหรือมากับรถเช่า อย่าลืมแวะชมความงามของแม่น้ำฮาลา-บาลา ขนาดช่วงสี่โมงเย็นที่ทางคณะเดินทางได้แวะลงถ่ายรูป วิวยังสวย ริมสองฟากฝังถนนก็มีนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ และชาวบ้านก็มาจอดรถเรียงรายยืนมองวิวแม่น้ำกันเยอะเชียว
(พิมพ์ลายผ้าปะลางิง)
ในที่สุดเราก็มาถึงแหล่งทอผ้าปะลางิงของกลุ่มศรียะลาบาติก โดย นายปิยะ สุวรรณพฤกษ์ เป็นผู้ก่อตั้งและพลิกฟื้นผ้าผืนนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผ้าปะลางิงมีลวดลายที่พิมพ์ด้วยเทียนและบล็อกไม้ที่มีลายจากกำแพงโบราณสถาน วังเก่าๆ ลายเล่นว่าวหรือขนมโบราณต่างๆ กว่า 200 ลาย ซึ่งแต่ละผืนที่ทอขึ้นก็ยังมีลายและสีที่ไม่ซ้ำกันอีกด้วย มีทั้งเป็นผ้าผืน เสื้อ กระเป๋า ให้ได้เลือกซื้อตั้งแต่ราคา 600 บาทขึ้นไป
(หอนาฬิกายามค่ำคืน เมืองยะลา)
เราก็ได้มาเยือนถึงถิ่นที่อำเภอเบตง บรรยากาศที่ยังคึกคักไปด้วยผู้คนออกมาหาข้าวทาน ร้านอาหารก็วุ่นวายกับการต้อนรับลูกค้า หลังจากทานข้าวเย็น เวลาประมาณ 18.30 น. เราก็มาเดินย่อย ชมย่านในตัวเมืองแถวๆ หอนาฬิกา แลนด์มาร์คในตอนกลางคืนสว่างขึ้นด้วยแสงไฟหลากสีที่ตกแต่งโดยรอบ ด้านข้างก็มีตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เดินไปอีกหน่อยก็จะเจอกับร้านโรตี รถเข็นธรรมดาแต่รสชาติที่การันตีว่าอร่อยมาก และไปเดินดูอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ใครได้มาแล้วห้ามพลาดเด็ดขาด
(ชมแสงแรกที่ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง)
เช้านี้ที่เบตง เรามีนัดไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง เวลา 04.30 น. พวกเราจึงเตรียมพร้อมออกเดินทาง เมื่อมาถึง ขึ้นบันไดไปยังจุดชมวิวก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวอีกหลายคนทั้งชาวไทยและต่างชาติมารอชมแสงแรกกัน น่าเสียดายที่ในวันนั้นทะเลหมอกมีน้อยไปนิด แต่ก็ดีไปอีกแบบเพราะเราได้เห็นวิวของภูเขาที่มีป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ตัดกับแสงพระอาทิตย์ การยืนอยู่ทามกลางธรรมชาติแบบนี้ทำให้ร่างกายหายเหนื่อยจากการเดินทางได้ดีทีเดียว
(อุโมงค์ปิยะมิตร ร่องรอยคอมมิวนิสต์มลายา)
เดินทางต่อไปที่ อุโมงค์ปิยะมิตร ร่องรอยประวัติศาสตร์ของคอมมิวนิสต์มลายาที่สร้างขึ้นเมื่อ 2519 ใช้เป็นที่ตั้งรับการโจมตีและสะสมเสบียง ปัจจุบันได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีทั้งพิพิธภัณฑ์ที่เล่าความเป็นมาของคอมมิวนิสต์ เราได้เดินเข้าชมอุโมงค์ด้านในที่ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในก็จะมีป้ายบอกทางออก ซึ่งมีทั้งหมด 6 ทาง มีแสงไฟตลอดทาง และยังมีการจัดแสดงที่นอน หลุมที่ใช้ขนส่งของ หากเดินออกมาก็จะเจอกับแมกไม้นานาพันธุ์โดยรอบ
จากนั้น เราก็เดินทางไปยังถนนอารมณ์ดี จังหวัดปัตตานี ย่านชุมชนคนจีน และไปยังเมืองท่าการค้าเก่าที่รุ่งเรืองอย่างมากในอดีต มีศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จุดศูนย์กลางของที่นี่ กาลเวลาทำให้ซบเซาลงไป คนในพื้นที่ออกไปทำงานต่างถิ่นกันมากขึ้น แต่ด้วยพลังรักบ้านเกิด กลุ่มมลายูลิฟวิ่ง กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ได้กลับมาพัฒนาถนนแห่งนี้ให้เป็นถนนคนเดิน ซึ่งเราก็ได้ พี่ลี มาเป็นไกด์พาเดินชม
การอยู่กันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมทำให้เห็นความหลากหลายที่รวมอยู่บนถนน 3 สาย ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดี หลายคนอาจจะนึกภาพว่าถนนคนเดินอาจจะดูคล้ายๆ กันหมด มีสตรีทอาร์ต มีร้านกาแฟเช็กอินคูลๆ แต่ภาพของถนนอารมณ์ดีคือความเก่าจริงๆ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงใช้ชีวิตเหมือนเดิม มีบ้างที่หันมาเปิดร้านอาหาร บ้านเก่าหลายหลังในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงมีอยู่ให้ได้ชม ตกเย็นเราก็ไปชมความสวยของมัสยิดกลางที่มีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล
ในเช้าสุดท้ายของการเดินทาง เราได้ไปยังจุดชมวิวสกายวอล์กในพื้นที่สวนแม่ลูก อำเภอเมือง ที่เปิดให้เข้าชมเมื่อปีที่แล้ว ทางเดินที่สูงราวๆ ตึก 5 ชั้น ระยะทางเดินประมาณ 400 เมตร มองเห็นวิวมุมสูงของหาดรูสะมีแล และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เห็นนาเกลือและป่าชายเลน ถ้ามาตอนช่วงบ่ายๆ อากาศต้องดีมากแน่ๆ ก่อนกลับเราก็ได้ไปฝากท้องที่ชุมชนบ้านทรายขาว อาหารพื้นบ้านฝีมือชาวบ้าน จัดเรียงอยู่เต็มโต๊ะ ทั้งใบเหลียงผัดกะทิ ข้าวยำ แกงไก่ แกงส้ม ปลาทอด แต่ละเมนูอร่อยจนต้องเพิ่มข้าวรอบสองทีเดียว
จบทริปภาคใต้ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้พาคณะไปสัมผัสบรรยากาศยังพื้นที่สีแดง เปิดมุมมองและประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอด 4 วันแห่งการเดินทางที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น หลายความรู้สึก จนกลายเป็นความทรงจำ ภาพจำที่เราจะไม่มีทางลืมอย่างแน่นอน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |