วงเสวนาจี้รัฐบาลไทยเร่งลงนามสัตยาบันต่อต้านการบังคับให้สูญหาย ข้องใจไม่ให้กฎหมายผ่าน หวังอุ้มหายปิดปากคนเห็นต่างที่ขัดผลประโยชน์ ชี้การ "อุ้มฆ่า" ทำเป็นขบวนการโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง "อดุลย์" แฉทหารที่ขุดหลุมฝังศพวีรชนพฤษภา'35 ทนไม่ได้สารภาพแล้ว เตือนล้มว่าที่ กสม.ชุดใหม่ ไม่ยอมแน่ "อังคณา" ผิดหวังรัฐบาลไม่จริงใจ ครวญเหยื่อที่ยังอยู่ อยู่อย่างหวาดกลัว แต่คนทำผิดมีที่ยืนในสังคม
ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันที่ 30 สิงหาคม มีการเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาส วันสากลแห่งการต่อต้านการบังคับให้สูญหาย จัดโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police watch) ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความนักสิทธิมนุษยชน, น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ), พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ผู้เขียนหนังสือ วิกฤติตำรวจและการสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม, นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.), นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535
โดย น.ส.สัณหวรรณกล่าวว่า แม้เราเคยลงนามต่อต้านการบังคับให้สูญหาย แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าเราจะไปให้สัตยาบันต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยรัฐบาลอ้างว่า เหตุที่ยังไม่ไปลงสัตยาบัน เนื่องจากต้องรอกฎหมายภายในประเทศก่อน โดยร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับนี้ มีการรับฟังความคิดเห็น ทางกลุ่มเคยทำข้อเสนอแนะ ประเด็นการพูดถึงนิยามการบังคับให้สูญหาย คือต้องมีสององค์ประกอบที่ทำให้การบังคับให้สูญหาย คือ พาตัวบุคคลไป หรือปฏิเสธว่าไม่ทราบ ซึ่งความเป็นจริงไม่น่าเกิดขึ้นได้ ต่างจากต่างประเทศที่ไม่ได้อ้างถึงเหตุผลดังกล่าว
"ขณะที่รูปแบบการสืบสวนสอบสวนตาม พ.ร.บ.มีการระบุเมื่อสูญหายต้องทำการสืบสวนจนกว่าจะพบ แต่ตามหลักแล้วอาจจะไม่พบร่างหรือทราบได้เลยว่าคนคนนั้นจะลงเอยอย่างไร ตามหลักแม้ไม่พบร่าง ควรทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อเอาผิดกับคนทำผิดให้ได้ ในส่วนของการคุ้มครองพยานต่อผู้เสียหาย การเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือ ที่ยังกังวลว่ามีการปรับปรุงหรือไม่ รวมทั้งการบังคับใช้มีประสิทธิภาพเพียงใด" น.ส.สัณหวรรณกล่าว
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การบังคับให้สูญหายมีลักษณะพิเศษในเรื่องการใช้วิธีการ หรือเรียกว่าเป็นการอุ้ม มีการดำเนินการเป็นขบวนการ บางกรณีมีรถนำขบวน ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ มีคนสั่งการที่เป็นผู้มีอำนาจ คนสั่งการมีเจตนากำจัดผู้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้บุคคลอื่นไม่กล้าออกมาเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน ซึ่งการอุ้มหายเป็นการละเมิดความเป็นมนุษย์ที่ร้ายแรงที่สุด จึงควรเป็นคดีความที่ไม่มีอายุความ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถให้อภัยโดยกาลเวลาได้
"กระทรวงยุติธรรมได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว แต่ในชั้น สนช.ได้ส่งกลับให้หน่วยงานพิจารณาเพิ่มเติม จึงต้องเร่งผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม มีข้อเรียกร้องระหว่างเครือข่ายโปลิศวอตช์ และเครือข่ายปฏิรูปวัฒนธรรม 1.ต้องไม่มีการบังคับให้คนสูญหายอีกในประเทศไทย 2.ติดตามหาผู้กระทำผิดมาลงโทษในทุกกรณี 3.ญาติ ผู้เสียหาย ต้องได้รับการคุ้มครอง ชดเชย เยียวยา 4.ออกพระราชบัญญัติป้องกันการทรมาน 5.ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศต่อต้านการบังคับให้สูญหาย" นายสุรพงษ์ กล่าว
เจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวอุ้มฆ่า
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า การบังคับสูญหาย คำนี้อยากให้เลิกใช้ ในข้อเท็จจริงคือการลักพาตัวไปฆ่าแล้วทำลายศพ หรือ "อุ้มฆ่า" โดยประชาชนทั่วไปทำไม่ได้ ต้องมีอำนาจรัฐ เข้าไปเกี่ยวข้อง ควบคุมอำนาจสอบสวน ถ้าไม่มีอำนาจจากตรงนี้ คงทำไม่ได้ เพราะจะต้องไปเกี่ยวกับการทำลายหลักฐาน อาชญากรรมร้อยละ 99 จะทิ้งร่องรอยเอาไว้ หากมีการสอบสวนอย่างจริงจังจะจับคนร้ายได้ แต่ปัญหาที่ดำมืดคือมีการส่งสัญญาณจากระดับสูง สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว มีความก้าวหน้าสูงมาก ประเด็นสำคัญคือ ผู้ที่ควบคุมตัว หากคุมตัวแล้วหายไป ต้องมีการพิสูจน์กันต่อไป ซึ่งตามหลักของตำรวจ ถ้าไม่มีศพ ไม่สามารถเริ่มขบวนการทางคดีได้ แต่ระบุให้เป็นบุคคลสูญหาย
"คนสูญหาย ส่วนใหญ่มีสัญญาณมาจากการฆาตกรรม กฎหมายนี้จะผ่านการบังคับใช้ แม้ดูแล้วรัฐบาลไม่ขัดขวาง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ออกมาบังคับใช้ เหมือนกับกฎหมายหลายฉบับ แม้ผมเป็นอดีตตำรวจ มีเสียงท้วงติงว่าทำไมต้องพูดเช่นนี้ เป็นเพราะอยากเห็นทุกอย่างถูกบังคับใช้ไปตามกระบวนการกฎหมาย" พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
ขณะที่นายอดุลย์กล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เกิดการสูญหายจำนวนมาก ตัวเลขที่กระทรวงมหาดไทยสรุปออกมากับข้อเท็จจริงนั้นไม่ตรงกัน มีข่าวออกมาทั้งถูกนำไปทิ้งตามแนวชายแดน ถูกใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไปทิ้งในทะเล สูญหายในค่ายทหารบางแห่ง แม้แต่ทหารที่ร่วมขุดหลุมฝังประชาชนนั้น ทนไม่ได้ มีการสารภาพออกมา โดยทางคณะกรรมการญาติวีรชนยังสืบค้นหาต่อไป จากเหตุการณ์ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน สูญหายไป ทำให้เกิดการตื่นตัว เริ่มความเลวร้ายจากตำรวจ กระบวนการยุติธรรม ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
"ผมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ คนที่สูญหายที่เป็นเหยื่อ ไม่เชื่อว่าผู้บังคับบัญชาจะไม่รู้ แต่ผลจากอำนาจทำให้เกิดการบิดเบือน จึงต้องการปฏิรูปตำรวจ ถ้าความยุติธรรมเบื้องต้นไม่เกิด จะนำพาไปสู่เรื่องการติดตามคนสูญหายได้อย่างไร แม้ในวันนี้การอุ้มหายจะลดน้อยลง อาจเป็นเพราะผู้มีอำนาจกลัวติดคุกในตอนบั้นปลายชีวิต นอกจากนี้ยังได้ยินมาว่ากระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่โดยสนช.นั้น ตัวแทนภาคประชาชนที่สนับสนุนการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อาจจะไม่ได้รับการโหวตให้เป็นกรรมการสิทธิฯ ซึ่งประชาชนคงไม่ยอมแน่" นายอดุลย์กล่าว
ส่วนนายวีระกล่าวว่า กรณีนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ ที่หายไปประมาณเดือน ก.พ.2551 เชื่อได้ว่าสูญหายจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากนายกมลแจ้งความให้จับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เพราะไปพบการเกี่ยวข้องการทุจริตของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งหลักฐานสุดท้ายก่อนการหายตัว พบที่สถานีตำรวจบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ลูกชายได้ไปตามบิดาให้กลับบ้านไป ซึ่งต่อมาตำรวจคนหนึ่งที่ทราบเรื่อง โทรศัพท์มาหาตน เนื่องจากนายกมลเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ โดยตนได้ไปตามเรื่อง ติดตามทุกวิถีทาง ได้ข้อมูลจากนายตำรวจมาให้ข้อมูลคือ นายกมลดิ้น เพราะถูกล็อกคอแล้วคอหัก เขาเลยเอาศพไปฝังในไร่อ้อยแห่งหนึ่งใน จ.อุดรธานี ในทางกระบวนการตำรวจ หากไม่พบศพ ไม่สามารถดำเนินการทางคดีต่อไปได้
ผิดหวังรัฐไม่จริงใจ
"ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหา ไม่รู้ว่าไม่อยากมีการแก้ไข ไม่อยากให้มีการตรวจสอบคนหาย เพราะหวังเอาไว้ใช้จัดการกับคนเห็นต่าง ขัดขวางผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ย้อนไปดู ผู้ที่ขัดขวางอาจพบชะตากรรมเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นนายทนง โพธิ์อ่าน รวมทั้งกรณีเพชรซาอุดีอาระเบีย แม้ทางการซาอุฯ ส่งคนมาร่วมติดตามคดี ปรากฏว่าถูกยิงตาย ที่ต้องพูดคือผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในข่าย อาจทำให้เกิดสูญหายไปก็ได้ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่เป็นเพื่อนผมก็ไปแล้ว คนที่ติดคุกอยู่ ไม่รู้ว่าใช่ตัวจริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเราไม่ได้ตระหนัก" นายวีระกล่าว
นายวีระกล่าวเช่นกันว่า คนที่ถูกอุ้มไปฆ่า ถูกทำลายศพ ทำลายหลักฐาน ลำพังประชาชนทำไม่ได้ หากไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ อำนาจรัฐเข้ามาทำเอง ตำรวจถ้าจะฆ่าเรา เขารู้วิธี เพราะเป็นพนักงานสอบสวน เขาย่อมรู้วิธีทำลายพยานหลักฐานเป็นอย่างไร แล้วอำนาจสืบสวนสอบสวน สั่งฟ้องหรือไม่ ยังอยู่ที่ตำรวจ ทั้งนี้คงคาดหวังอะไรไม่ได้กับเผด็จการ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย ยังไม่มีอะไรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดการเสวนาว่า ที่ผ่านมากลไกรัฐอ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ หลายครั้งกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุล เป็นที่พึ่งได้ ปัจจุบันการบังคับสูญหายมีความซับซ้อน ในบรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่รัฐบางคนยังเชื่อว่า ยังจำเป็นต้องบังคับให้สูญหายมีอยู่ต่อไป จากเหตุการณ์การทำสงครามยาเสพติด การปราบปรามผู้ไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ที่กล่าวมามีเพียงคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่อยู่ในกระบวนการศาล พยานสำคัญปากหนึ่ง หายตัวไป ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เต็มใจในการทำคดีนี้
"รู้สึกเสียใจ ผิดหวัง ที่ร่างกฎหมายกระทรวงยุติธรรมนำมาปรับปรุง ร่างในส่วนสำคัญหายไป เช่น นิยามผู้บังคับบัญชาหมายถึงใคร นอกจากนี้ยังมีข้อบกพร่องคือ ครอบครัว ญาติ ถูกกีดกันจากการร่างกฎหมาย ขอเรียกร้อง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้มีการเปิดฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวาง ให้มีการพิจารณาในระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่ามีประโยชน์มากกว่า"
นางอังคณากล่าวด้วยว่า เหยื่อทุกคนที่ยังอยู่ อยู่อย่างหวาดกลัว ถูกลดทอนศักดิ์ศรีมนุษย์ แต่ผู้กระทำความผิดกลับมีที่ยืนในสังคม ขอเรียกร้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความจริงใจ ผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคน แม้รัฐไม่สามารถคืนชีวิต แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธในการคืนความยุติธรรมให้ครอบครัว การเปิดเผยความจริง ความยุติธรรม ต้องการเพียงแค่ความจริงใจจากรัฐ การชดใช้เป็นเงิน ไม่ได้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การบังคับสูญหายถือเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การสร้างกลไกลตรวจสอบจึงมีความสำคัญ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |