ลุ้นเศรษฐกิจโตทุกส่วน


เพิ่มเพื่อน    


    สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ประกาศตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2561 พบว่า ขยายตัวสูงถึง 4.6% สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% โดยเป็นการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 4.9% และการส่งออกขยายตัวได้ 12.3% ส่วนครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยโตแรง แตะ 4.8% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.5% จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องการใช้จ่ายภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวมากขึ้น
    ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง ก็ออกมาให้ความเห็นว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2561 ที่ขยายตัวได้ 4.6% นั้น สอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ และจะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่อีกครั้งในเดือน  ก.ย.นี้ จากคาดการณ์ล่าสุดที่ว่าจีดีพีไทยในปี 2561จะขยายตัวได้ 4.4%
    ฟากฝั่งกระทรวงการคลังเอง ก็ออกมาระบุว่า ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้มากกว่า 4.8% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ซึ่งกระทรวงการคลังได้พยายามผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผ่านการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการทำให้ราคาพืชผลสูงขึ้นนั้น จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าช่วงครึ่งปีแรก
    แต่ก็เป็นที่เลี่ยงไม่ได้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเป็นไปได้อย่างดีนี้ ยังเป็นการขยายตัวดีเฉพาะในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น
    โดย “สุวิชญ โรจนวานิช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า อุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงาน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรเพิ่มขึ้นมาก
    ไม่เพียงเท่านี้ ยังยอมรับด้วยว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ขยายตัวในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่ยังลำบากอยู่ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งการพยุงราคาพืชผลทางการเกษตรให้สูงอย่างยั่งยืน การสนับสนุนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ ที่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกษตรกรยังชอบปลูกพืชตามกัน เช่น การปลูกปาล์มน้ำมันจนราคาตก และปัจจุบันหันไปปลูกทุเรียนกันจำนวนมาก ทำให้ประเมินได้ว่าอีกไม่นานก็จะมีปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำเกิดขึ้น
    ยังคงเป็นคำถามที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับประชาชนในกลุ่มฐานราก ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีจริงหรือ? ด้วยเพราะระดับรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้น สวนทางกับรายจ่ายที่ถีบตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ไปจนถึงค่าโดยสารต่างๆ ที่พยายามปรับราคาขึ้นด้วยปัจจัยทางธุรกิจ
    เหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนเศรษฐกิจฐานราก ที่อาจจะไม่ได้รู้สึกว่าได้รับปัจจัยบวกจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนี่เอง
    แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดูแลผู้มีรายได้น้อย และผู้ด้อยโอกาส เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ยังไม่ได้เห็นผลที่ชัดเจนมากนัก เพราะประชาชนฐานรากก็ยังติดอยู่กับคำว่า “รายได้ไม่พอกับรายจ่าย” นั่นเอง แต่ดูเหมือนล่าสุดกระบวนการคิดแบบยั่งยืน ด้วยการฝึกอบรมอาชีพ เพื่อเป็นการต่อยอด และสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว ถือเป็นไอเดียที่ดี และหากผลักดันจนเกิดผลสำเร็จอย่างแท้จริง น่าจะช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมั่นคงมากขึ้นด้วยเช่นกัน
    เรื่องราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค และค่าโดยสารต่างๆ เป็นเรื่องที่อาจจะควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลา และตามปัจจัยที่มีผลก็คงต้องปล่อยไปตามกลไกที่เหมาะสมแบบพอเหมาะพอควร เมื่อรวมกับความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐที่ส่งมาถึง และประชาชนฐานรากเองปรับตัว และพัฒนาตัวเองเพื่อเสริมรายได้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น
    “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการกระจายตัวจากบนลงสู่ล่าง ซึ่งหากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ จะทำให้การเติบโตลงสู่ด้านล่างอย่างแท้จริง ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"