ผวาลุ่มนํ้าหลายแห่งสูงขึ้น สทนช.ถกปรับแผนรับมือ


เพิ่มเพื่อน    

    สทนช.เรียกประชุมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ 30 ส.ค.นี้ หลังหลายลุ่มน้ำมีปริมาณน้ำสูงขึ้น เตือน 31 จังหวัดรับมือฝนตกหนักต่อเนื่อง "พิจิตร" ห่วงแม่น้ำยมระดับน้ำเริ่มสูง "อ่างทอง" แจ้งประชาชนริมเจ้าพระยาเฝ้าระวังใกล้ชิด
    เมื่อวันที่ 29 ส.ค. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์  โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ถึงสถานการณ์อุทกภัยว่า ในส่วนพื้นที่ที่พ้นวิกฤติแล้ว พล.อ.ประวิตรกำชับให้คงความต่อเนื่องในการสนับสนุนฟื้นฟูสภาพพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคให้คืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ขณะเดียวกันให้เตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันกับกระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงแผนเผชิญเหตุต่างๆให้มีความทันสมัยและเหมาะกับพื้นที่ รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
    ขณะที่นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 5 ในวันที่ 30 ส.ค.นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีอ่างเก็บน้ำ หนอง และบึงในความรับผิดชอบให้ส่งข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ ทั้งแผนเผชิญเหตุภาวะวิกฤติ แผนการระบายน้ำ คู่มือในการตรวจสอบอ่างเก็บน้ำ เกณฑ์การควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ สทนช. เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการน้ำภาพรวมประเทศ รวมทั้งจะจัดทำแผนที่พยากรณ์อากาศให้เป็นแผนที่ฉบับเดียวกัน (One Map) ให้ข้อมูลเป็นเอกภาพ และให้หน่วยงานที่มีอ่างเก็บน้ำนำแผนที่พยากรณ์อากาศมาประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับตำแหน่งที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำแต่ละอ่าง
    นายสำเริงกล่าวว่า สำหรับสภาพอากาศและสถานการณ์ฝนยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมากใน 31 จังหวัด คือ ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน และตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.เลย ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี, ภาคตะวันตก ที่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออก ที่ จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด และภาคใต้ ที่ จ.ระนอง 
    "โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงบริเวณที่แม่น้ำโขงสูงกว่าตลิ่ง แม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ และแม่น้ำปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีระดับน้ำน้อย ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ มีระดับปานกลางถึงน้ำมาก จึงต้องเฝ้าระวังแม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี และแม่น้ำโขง ที่มีแนวโน้มระดับน้ำสูงขึ้นกว่าระดับตลิ่งที่ จ.นครพนม มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และต้องเฝ้าระวังบริเวณหนองคายและบึงกาฬด้วย" ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าว
    ที่ จ.พิจิตร นายพชร ศศิชาชยามร หัวหน้ายุทธศาสตร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร และนายสมศักดิ์ เกี้ยวเกิด ปลัดอาวุโสอำเภอสามง่าม พร้อมด้วยผู้นำชุมชนในเขตตำบลรังนก  อำเภอสามง่าม จ.พิจิตร ลงพื้นที่สำรวจระดับน้ำในแม่น้ำยม พบขณะนี้ระดับน้ำมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงอยู่ต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 2 เมตร ส่วนปริมาณน้ำในท้องทุ่งนามีปริมาณน้ำจำนวนมากท่วมขังอยู่ในท้องทุ่งนา แต่ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกข้าวตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2561 และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.2561 
    ทั้งนี้ ปภ.พิจิตรได้ส่งรถแบ็กโฮและเรือกำจัดผักตบชวาของกรมโยธาธิการให้ช่วยกันเร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำพิจิตรเพื่อให้เป็นแก้มลิงในการรับน้ำเพื่อบรรเทาและป้องกันน้ำท่วมอีกช่องทางหนึ่งด้วย เนื่องจากแม่น้ำพิจิตรต้นแม่น้ำเชื่อมต่อกับแม่น้ำน่านที่ตำบลย่านยาว อำเภอเมืองพิจิตร ส่วนปลายแม่น้ำเชื่อมต่อกับแม่น้ำยมที่ตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ดังนั้นการกำจัดวัชพืชก็เพื่อให้แม่น้ำพิจิตรได้มีหน้าที่ในการผันน้ำและเป็นแก้มลิงป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมดังกล่าว
    จ.อ่างทอง นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง ปี 2561 ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดอ่างทอง เพื่อเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำท่วม
    มีรายงานว่า ที่ประชุมรายงานระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เมื่อเวลา 12.00 น. อยู่ที่ +16.51 ม.(รทก.) ระดับท้าย +9.76 ม.(รทก.) ปริมาณระบายน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 660 ลบ.ม/วินาที โดยจะมีการควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตราไม่เกิน 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากไม่มีปริมาณฝนตกเพิ่มเติม
    นายวีร์รวุทธ์กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ จึงให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำเจ้าพระยา เกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมงและเพาะปลูกริมแม่น้ำเจ้าพระยา สถานประกอบการ ร้านค้า ประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เตรียมป้องกันและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"