"วิษณุ" แจงปรับรูปแบบไพรมารีโหวตไปใช้วิธีการของ กรธ. โดยมี กก.สรรหา 11 คน ดีกว่าสมัยที่ กก.บห.คัดเลือกฝ่ายเดียว “มีชัย” ยัน ม.44 แก้ไพรมารีโหวตไม่ขัด รธน. “สมเจตน์” เตือนกลับไปจุดเดิมพรรคถูกนายทุนครอบงำ ย้อนถามไม่คิดจะปฏิรูปแล้วหรือ ตะเพิดพรรคไหนไม่พร้อมก็ร้องขอให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปได้ ปชป.ชี้ขัดเจตนารมณ์ รธน. ประชดยกเลิกไปเลย "กลุ่มสามมิตร" เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.โคราช โวกวาดยก จว. 14 เขต
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 29 สิงหาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปรับรูปแบบไพรมารีโหวตที่จะมีคณะกรรมการของพรรคไปรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะยื่นให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาตัวผู้สมัครว่า ที่จริงแล้วยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้วิธีการนี้ แต่คงไม่มีการทำไพรมารีโหวตตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเห็นว่าวิธีการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมาแต่แรก คือให้มีกรรมการสรรหาขึ้นมาในพรรค ประกอบด้วย 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหาร 4 คน จากสมาชิกพรรค 7 คน ลงไปคุยกับสมาชิกแต่ละเขต แล้วรวบรวมรายชื่อผู้สมัครมาเสนอให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาอีกครั้ง
"ซึ่งวิธีการนี้ กรธ.รับรองว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และสามารถทำได้ ซึ่งดีกว่าสมัยก่อนที่กรรมการบริหารพรรคคัดเลือกเองฝ่ายเดียว จึงถอยกลับมายึดตามที่กรธ.เสนอ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ระบุว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้สูง แต่ขอให้ไปดูวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนอีกครั้ง"
นายวิษณุกล่าวว่า รูปแบบการคัดเลือกผู้สมัครแบบนี้ควรดำเนินการช่วง 30 วันสุดท้ายของช่วง 90 วันระหว่างรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ เพราะ 60 วันแรก จะเป็นช่วงที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตการเลือกตั้ง ก่อนเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง 150 วัน
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงกรณีคสช.เตรียมออกคำสั่งตามมาตรา 44 คลายล็อกว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการหาแนวทางเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอดูคำสั่ง คสช.ที่จะออกมา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามโรดแมปการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งการออกมาตรา 44 นั้น ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ สามารถดำเนินการได้
"สำหรับแนวทางที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ขั้นต้นนั้น ประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมได้คือประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ก็จะมีส่วนทางการเมืองด้วยการเลือก ส.ส.ในวันเลือกตั้งได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ขั้นต้นหรือไพรมารีโหวตได้" นายมีชัยกล่าว
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การผ่อนคลายล็อกการเมือง พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ เช่น การหาสมาชิกเพิ่ม การประชุมพรรค การคัดเลือกหัวหน้าพรรค การแก้ไขข้อบังคับ ส่วนการหาเสียงไม่สามารถทำได้ ต้องรอ พ.ร.ป.ให้การว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ใน 90 วัน ส่วนการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงคลายล็อกนั้น สถานการณ์ไม่ได้มีอะไร เพราะอนุญาตให้ทำกิจกรรมการเมืองได้ ทุกฝ่ายมุ่งสู่การการเลือกตั้ง สิ่งที่ห่วงใยก็คือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จทางโซเชียลฯ ต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การโจมตีกันและกัน จึงต้องขอความร่วมมือ
"ไม่ห่วงกลุ่มใด เพราะทุกฝ่ายมุ่งสู่การเลือกตั้งตามกรอบที่กำหนด ความวุ่นวายไม่น่าจะมีปัญหาใด ซึ่งในภาพรวม การดูแลด้านความมั่นคงก็ไม่มีอะไรน่ากังวล เชื่อมั่นว่าบ้านเมืองจะเรียบร้อย นำไปสู่การเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ ได้กำชับกำลังพลให้ตระหนัก รู้บทบาทของตัวเอง เป็นข้าราชการ บทบาทในการยืนอยู่ในจุดที่เหมาะสม ขณะนี้ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไปเพียงใด กำหนดกรอบไว้อย่างเร็วที่สุด 24 ก.พ. และอย่างช้าไม่เกิน 5 พ.ค.62" พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
ย้อนจุดเดิมนายทุนครอบงำ
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช. กล่าวถึงกรณีที่คสช.จะคลายล็อกเรื่องการทำไพรมารีฯ โดยให้พรรคการเมืองจัดให้มีกรรมการสรรหา 11 คนว่า ต้องดูให้ชัดเจนว่ามีปัญหาอะไรถึงทำไพรมารีฯ แบบเดิมไม่ได้ เพราะเท่าที่ฟังมา ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยก็ไม่เห็นมีปัญหา ทั้งยังบอกว่าพร้อมจะทำกันหมด จึงไม่รู้เป็นปัญหาของพรรคไหน ปัญหาของใคร และปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เพราะเราก็เขียนผ่อนคลายบ้างแล้ว ส่วนจะเป็นพรรคที่สนับสนุน คสช.หรือไม่ ตนไม่ทราบ
เมื่อถามว่า เสียดายหรือไม่ที่ไม่เป็นแบบที่เขียนพล.อ.สมเจตน์กล่าวว่า ไม่เป็นไร ไม่ได้เสียดาย เราทำหน้าที่ของเราดีที่สุด ไม่ได้ทำเพื่ออะไร แต่ทำเพื่อส่วนรวม จากเดิมที่พรรคการเมืองเป็นเพียงบริษัทพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เป็นเพียงพนักงาน มีสมาชิกพรรคที่ไม่มีสิทธิ์ มีเพียงให้ครบองค์ประกอบให้พรรคการเมืองเข้าไปบริหาร แต่เราต้องการทำเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง โดยให้สมาชิกพรรคมีสิทธิ์เลือกผู้สมัคร ส.ส.ด้วยตัวเอง เป็นการแก้ปัญหาพรรคการเมืองในอดีตที่ถูกนายทุนครอบงำ แต่เหตุใดทำไม่ได้ ปัญหาก็กลับมาสู่จุดเดิม
"ไม่มีความคิดที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรืออย่างไร เราไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไร ทำไมทำไม่ได้ ถ้าพรรคไหนบอกทำไม่ได้ หรือไม่พร้อมจะทำ ก็ร้องขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 62" พล.อ.สมเจตน์กล่าว
นายอัศวิน วิภูศิริ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การที่ คสช.หาทางออกเรื่องการทำไพรมารีโหวตด้วยการให้พรรคการเมืองตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 11 คน หากทำแบบนี้จริงๆ การเมืองจะกลับสู่วงจรเดิม และผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคก็จะไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครตามที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้ รูปแบบที่ คสช.ระบุมาไม่ใช่การทำไพรมารีโหวต และไม่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการเมืองได้
“ทำแบบนี้จะบอกว่าเป็นไพรมารีฯ ก็ไม่ใช่ ที่ผ่านมาพรรค ปชป.เคยประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญปี 2560แต่พวกเราก็ไม่เคยคิดที่จะไม่ปฏิบัติรัฐธรรมนูญทุกคนในสังคมต้องยอมรับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ จะหาทางเลี่ยงเบี่ยงเบนไม่ได้ หากจะทำวิธีแบบนี้ ผมว่ายกเลิกการทำไพรมารีโหวตไปเสียดีกว่า แต่ก็ยกเลิกไม่ได้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขอร้องว่าอย่าหาข้ออ้างอย่างนี้ เราเป็นพรรคการเมือง เป็นผู้เล่น ต้องการทางออกที่ดีตามกฎหมาย” นายอัศวินกล่าว
นพ.มโน เลาหวณิช เลขาธิการพรรคประชาชน กล่าวว่า ตอนนี้พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคก็ลงพื้นที่กันหมด อยู่ที่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ แต่โจทย์สำคัญคือไพรมารีโหวตว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งพรรคเรายืนยันว่าจะทำ ใครไม่ทำ แต่เราทำ
เพื่อแม้วย้ำปลดล็อก
นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ คสช.จะคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในบางเรื่อง แต่ยังไม่เปิดให้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน เช่น ไปประชุม พบปะประชาชนเพื่อรับฟังความเห็นกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อจัดทำนโยบายได้ เนื่องจากยังไม่ยกเลิกคำสั่งที่ 3/58 สะท้อนว่าอาจยังไม่วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งๆ ที่หลายปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำการใดที่จะกระทบความมั่นคง และ คสช.พูดเองว่าสามารถดูแลให้เกิดความสงบได้ ดังนั้นถ้า คสช.เปิดพื้นที่ให้พรรคสามารถทำงานด้านนโยบายได้ ก็จะช่วยให้บรรยากาศทางการเมืองกลับคืนสู่ปกติ ความเชื่อมันก็จะเกิดขึ้น หวังว่า คสช.จะทบทวนแล้วปลดล็อก ไม่ใช่แค่คลายล็อกเท่านั้น
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เหนือความคาดหมายที่คสช.จะทำ เพียงแค่การคลายล็อกไม่ใช่การปลดล็อก ทั้งที่ประชาชนอยากเห็นการปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การรับฟังปัญหาของประชาชนและกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลคสช.ยังคงไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมืองหรือไม่ ทั้งที่ คสช.มีเครื่องมือและเครือข่ายในการบริหารจัดการมากมาย ผลงานเด่นของ คสช.ที่คุยมาตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมา คือเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อย พรรคการเมืองต่างๆก็ไม่ได้เคลื่อนไหวจนถือเป็นภัยความมั่นคงแห่งรัฐ ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่าจะมีการโจมตีกันทางโซเชียลมีเดียนั้น คสช.มีบุคลากรและหน่วยงานต่างๆ กำกับดูแล ใครทำผิดก็ดำเนินคดีได้อยู่แล้ว แต่อย่าหาเหตุมาเหมารวมเพื่อจะไม่ปลดล็อกเลย
สำหรับความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อขอจัดการประชุมคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว โดยจะใช้เวลาช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ เมื่อ กกต.มีหนังสือตอบกลับให้ พปชร.จัดการประชุมได้ตามคำขอ และจะทำหนังสือเชิญผู้ร่วมจัดตั้งพรรค ซึ่งมีอยู่แล้ว 600 คนเข้าร่วมประชุม ซึ่งได้กำหนดสถานที่คืออิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยจะมีการเปิดตัวคณะกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค อย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ในต้นปี 62 นี้
นายภิรมย์ พลวิเศษ แกนนำและเลขาฯ กลุ่มสามมิตร กล่าวถึงข่าวนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มาอยู่กลุ่มสามมิตร รวมทั้งนายอัสนีและนางลินดา เชิดชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทายาทเจ๊เกียว ที่มีชื่อมาอยู่กลุ่มสามมิตร แต่สองคนหลังกลับไปพรรคเพื่อไทยว่า วันนี้ขอเปิดตัวเลยว่าที่มีการรับปากแล้วว่ามาอยู่กลุ่มสามมิตรแน่นอนคือ 1. นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม อดีต ส.ส.พรรคชาติพัฒนา เขต อ.ปักธงชัย, อ.วังน้ำเขียว 2.นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รับปากลงเขต อ.โชคชัย, อ.หนองบุญมาก 3.นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ อดีต ส.ส.พรรคชาติพัฒนา ลงเขต อ.คง, อ.ขามสะแกแสง 4.พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลงเขต อ.ปากช่อง 5.นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำ นปช. ลงเขต อ.เสิงสาง, อ.ครบุรี 6.นายทอง วิริยะจารุ อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมาลงเขต 1 อ.เมืองฯ 7.ร.ต.อ.สุปชัย อินทรักษา เขต 3 อ.สูงเนิน และ 8.ดร.พจน์ เจริญสันเที๊ยะ อดีต ผอ.เขตการศึกษาหลายเขต ลงเขต อ.ด่านขุนทด และ ดร.อรทัย พลวิเศษ ภริยาตน ลงเขต อ.บัวใหญ่ ส่วนตนไปทำงานให้ระดับพรรคที่ต้องดูแลภาพรวม
โวกวาด สส.โคราชยก จว.
"เราได้นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาเป็นประธานที่ปรึกษากลุ่มสามมิตร ฉะนั้นวันที่ทุกคนที่มาสังกัดกลุ่มสามมิตร คงจะมาลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่เราคาดหวังว่าจะมี ส.ส. สามมิตร วันนี้ จ.นครราชสีมามีทั้งหมด 14 เขตเลือกตั้ง สามมิตรดูแล้วคาดหวังว่าน่าจะยก 14 เขต ทุกเขตเลือกตั้งของ จ.นครราชสีมา เพราะวันนี้คะแนนความนิยมของกลุ่มสามมิตรกับผู้สมัครที่มีแสงสว่างในตัวเองมีความพร้อมบวกสองอย่างแล้วเข้ารวมกันก็น่าจะยกจังหวัดนครราชสีมาได้" นายภิรมย์กล่าว และว่าส่วนจะคลายล็อกให้พบปะชาชนได้นั้น เป็นเรื่องของนโยบาย คงบอกไม่ได้ว่าคลายแค่ไหนอย่างไร
นายภิรมย์กล่าวด้วยว่า เมื่อวันก่อนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำหัวหน้าทีมกลุ่มสามมิตรให้ตนไปประสานงานตามที่กลุ่มสามมิตร อยากได้หมอแสง หรือนายแสงชัย แหเลิศตระกูล หมอสมุนไพรเกี่ยวกับมะเร็ง หรือที่เรียกว่าหมอปราชญ์ชาวบ้าน ว่าตนได้สอบถามความคิดของหมอแสงชัยแล้วว่าคิดอย่างไรถ้าจะมาร่วมกับกลุ่มสามมิตร เพราะเราทำตรงกันคือการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเหมือนกัน ถ้ามาอยู่กับกลุ่มสามมิตรหรือกับรัฐบาล โอกาสที่จะขยายเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนที่ป่วยเป็นโรคร้าย โรคมะเร็ง อาจจะได้ดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งหมอแสงก็ได้ขอบคุณกลุ่มสามมิตรที่เชิญให้มาร่วมกับกลุ่ม บอกว่ามีความสุขกับการทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ แต่ว่าในอนาคต ถ้ามีโอกาสเหมาะสม ทุกอย่างลงตัวหมด หมอแสงก็อาจจะพิจารณาว่าอาจจะมาร่วมหรือไม่ร่วมก็ได้
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวถึงกรณี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ระบุพรรคเพื่อไทยอาจสูญพันธุ์ เพราะมีสมาชิกถูกตัดสิทธิ์เพราะถูกยุบพรรคทางการเมือง 2 ครั้งว่า หากเป็นตัวผู้กระทำผิดโดยตรงและถูกคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ตามมาตรา 97 (11) ของรัฐธรรมนูญ 60 จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้ตลอดชีวิต แต่หากเป็นกรณีคนบ้านเลขที่ 111 ของพรรคไทยรักไทย และคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย 109 คน ซึ่งถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งโดยผลทางกฎหมาย แต่ไม่เป็นผู้กระทำผิดทุจริตการเลือกตั้งโดยตรง และเมื่อรับโทษมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี และพ้นความผิดมาแล้ว ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 60 ได้ตามปกติ
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวตอบโต้นายนิพิฏฐ์ว่า ขอขอบคุณที่เป็นห่วงเป็นใยพวกเรา แต่ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยคงจะพอมีความรู้อยู่บ้าง อาจจะไม่เก่งเท่าคนพรรคประชาธิปัตย์เรื่องสร้างวาทกรรม แต่พรรคเพื่อไทยก็ผ่านร้อนผ่านเย็นมาพอสมควร ต้องไม่ลืมว่าผลผลิตพรรคเพื่อไทยก็แปลงร่างมาจากพรรคพลังประชาชน และก็มาจากพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไป เพราะอะไรสังคมก็รับรู้ หลายคนถูกตัดสิทธิ์ เราก็ฟันฝ่ามาได้ เพราะเรามีคนใหม่ที่พร้อมจะมารับธงเดินหน้าต่อไป.
วันเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงสื่อมวลชนถึงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง หรือไม่
ทั้งนี้ ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ประกอบมาตรา 170 บัญญัติว่า หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้อง คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง และเอกสารประกอบแล้ว ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏมูลเหตุที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมหรือการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด กรณียังไม่มีเหตุอันควรสงสัย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนตามบทบัญญัติดังกล่าว และโดยที่คดียังมีปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่กรณีตั้งประเด็นโต้แย้งกันอยู่ จึงกำหนดให้มีการนัดไต่สวนพยาน 3 ปาก ในวันอังคารที่ 25 ก.ย.61 เวลา 10.00 น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |