คลายล็อก 9 ข้อ แค่เอื้อภาคี 'คสช.'


เพิ่มเพื่อน    

      ภายหลังข้อเสนอคลายล็อกกิจกรรมทางการเมือง 9 ข้อที่ผู้มีอำนาจปล่อยออกมา โดยให้ คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขให้มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.-ธ.ค.61 ภายหลังร่าง พ.ร.ป.ส.ส. และ พ.ร.ป.ส.ว.ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงราชกิจจานุเษกษาในเดือนกันยายนนี้ 

      เสียงวิจารณ์ที่ตามมาส่วนใหญ่ว่าเป็นการลดอุณหภูมิร้อนมิให้ปรอทแตก หลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกาศใช้มาเกือบปี และโรดแมปการเลือกตั้งถูกกำหนดอย่างเร็วสุด 24 ก.พ.ปีหน้า แต่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองได้อย่างเสรี และสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการคือใช้มาตรา 44 ปลดล็อก 2  คำสั่งสำคัญ ได้แก่ 1.ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 57/2557 ที่ยังคงห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

      2.คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ  12 ที่ยังห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

      แต่ 9 ข้อที่ปล่อยออกมาเป็นเพียงงานธุรการของพรรคการเมือง ยังมิพักถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้พรรคเกิดใหม่ หลังประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.สืบทอดอำนาจต่อไปแต่ยังไม่มีความพร้อม   

      ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องทุนประเดิม 1 ล้านบาทใน 180 วัน การหาสมาชิก 500 คนใน 6 เดือน โดยจะแก้เป็นนับจากคำสั่งนี้ออกไป ส่วนการมีสมาชิก 5,000 คนใน 1 ปี และ 10,000 คนใน 4 ปี แก้เป็น  180 วัน และ 4 ปีนับจากคำสั่งนี้ออกไปตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

      รวมทั้งการยกเลิกทำไพรมารีโหวตแบบซ้อนรูป คือให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวน 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหาร 4 คน จากสมาชิกพรรค 7 คน ลงไปคุยกับสมาชิกแต่ละเขตจังหวัดจำนวน 100 คน โดยมีองค์ประชุมเกิน 51 คนก็สามารถเลือกผู้สมัครได้ทั้งจังหวัด แล้วนำรายชื่อไปเสนอให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาเห็นชอบ จึงมีคำถามว่านี่คือเจตนารมณ์ของไพรมารีโหวตหรือไม่

      โดยประเด็นนี้ถือเป็นการหักหน้า สนช. ที่พากเพียรพยายาม โดยอ้างเพื่อปฏิรูปการเมืองป้องกันการครอบงำจากผู้มีอำนาจและขจัดนายทุนพรรคให้หมดไป ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ยกร่างกฎหมายคือ กรธ.ท้วงติงก็ไม่ฟัง จนเกิดอาการขัดลำกันเองและ คสช.ต้องมาแก้ไข ผลที่ตามมาสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่รอบคอบ และไร้ซึ่งการตรวจสอบถ่วงดุลเช่นสภาทั่วไปที่มีฝ่ายค้านทำหน้าที่   

      กลับมาที่พรรคการเมืองเก่า สิ่งที่ได้รับจากการคลายล็อกคือ การคัดเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ และหาสมาชิกพรรคใหม่หลังถูกเซตซีโรไป 

      รวมทั้งยังส่งผลดีให้บางพรรค เช่นพรรคเพื่อไทยจะได้มีหัวเสียที หลังปล่อยออกมาหลายชื่อและทำให้บางคนเสียผู้เสียคนไปแล้ว ส่วนลูกพรรคก็จะได้รับทราบถึงแนวทางทำงานว่าจะต่อสู้รูปแบบใด รวมทั้งท่อน้ำเลี้ยงอาจจะไหลหลังเหือดแห้งไปเกือบ 4 ปี  

      ผิดจากพรรคประชาธิปัตย์ที่อาจใช้โอกาสเด็ดขั้วหัวหน้าพรรคอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือไม่  สาเหตุก็เพราะมีภาพลักษณ์ที่บอบช้ำ และความขัดแย้งจากการเมืองที่เผชิญมาตลอด 10 ปี รวมถึงข้อหาเด็กดื้อของใครบางคน โดยชื่อบุคคลที่ขึ้นมาทาบชั้นคือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค  และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่มีผลงานขั้นเทพในโครงการรับจำนำข้าว    

      นอกจากนี้ การคลายล็อก 9 ข้อนี้ยังไม่ลดข้อครหา 2 มาตรฐาน เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่สามารถหาเสียงได้ และเสียโอกาสนำเสนอนโยบายและการพบปะประชาชนในเวลาที่กำจัด จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งตามข่าวที่ระบุว่ากลางเดือน ธ.ค.นี้ ขณะที่วันเลือกตั้งอย่างเร็วสุดคือวันที่ 24 ก.พ.62   

      เมื่อเปรียบเทียบกับ คสช.ที่มีแนวโน้มว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลงมาสังกัดบัญชีรายชื่อนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ โดยมีกระแสข่าวว่า อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมเป็นหัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์เป็นเลขาธิการพรรค คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งปัจจุบันหาเสียงได้ทุกวันมาเกือบปี พร้อมอัดงบประมาณผ่านโครงการประชารัฐและไทยนิยมเข้มแข็ง โดยมี  บัตรลุงตู่ หรือบัตรสวัสดิการแห่งงรัฐ 11.4 ล้านใบเบิกร่องหาคะแนนแต่ฝ่ายเดียวต่อไป 

      ควบคู่กับกลุ่มสามมิตรที่ดูด ส.ส.และรับฟังปัญหาจากคนทั่วประเทศ เช่นเดียวกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศลงพื้นที่หาเสียงทั่วประเทศ และเชื่อว่าจะไม่ถูกจับตาเข้มงวดเหมือนพรรคฝ่ายตรงข้ามอย่าง พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทย   

        ดังนั้น การคลายล็อก 9 ข้อ มองแล้วก็เอื้อประโยชน์แก่ คสช.และเครือข่ายเท่านั้น พรรคการเมืองอื่นๆ รอไปก่อน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"