อย่างไรคือความสัมพันธ์ win-win?


เพิ่มเพื่อน    

    คุณวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำปักกิ่ง ให้ข้อมูลและบทวิเคราะห์ว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย-จีนที่จะต้องเป็นลักษณะ "ได้ประโยชน์ด้วยกัน" หรือ win-win อย่างน่าสนใจ 
    เมื่อวานนี้ผมได้ขออนุญาตท่านนำบางตอนมาเล่าให้ฟังแล้ว วันนี้ขอนำอีกส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์นั้นมาขยายความให้อ่านกัน
    ท่านบอกว่าในช่วงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ในหลายโอกาสไม่ว่าจะกับสื่อมวลชนหรือในเวทีสัมมนาในบริบทเกี่ยวกับประเด็นผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้แนวคิด Silk Road ทางทะเลนั้น ท่านมักยกตัวอย่างความรุ่งเรืองของ "การค้าสำเภาไทย-จีน" ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี 
    ในยุคนั้นการค้าทางทะเลระหว่างไทย-จีนเจริญถึงขีดสุด มีกองเรือสำเภาแล่นขนส่งสินค้าระหว่างเมืองท่าไทย-จีน ขาไปบรรทุกข้าว ดีบุก ไม้ซุง ของป่า หรือแม้กระทั่งรังนกนางแอ่นจากสยาม ขากลับจากจีนบรรทุกผ้าไหม ใบชา เครื่องปั้นดินเผา หรือหลายครั้งก็ถือโอกาสบรรทุกตุ๊กตาหินหรือที่เรียกว่า  "ตัวอับเฉา" ไว้ถ่วงน้ำหนักเรือโต้คลื่นขากลับ ตุ๊กตาหินเหล่านี้ปัจจุบันยังยืนตระหง่านต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ
    ทูตวิบูลย์บอกว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 3 ทรงใส่พระราชหฤทัยยิ่งในการรักษาและเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน พระองค์ทรงนำความมั่งคั่งจากการค้าสำเภากับจีนสู่สยาม และได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่าเป็น "พระบิดาแห่งการค้า" ของไทย 
    พระองค์โปรดฯ ให้มีการสร้างสำเภาจีนจำลองยาวกว่า 40 เมตรที่วัดยานนาวา ซึ่งชื่อวัดก็แปลได้ว่าเป็นยานพาหนะทางทะเล นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดฯ ให้สร้างวัดราชนัดดา วัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบจีนในกรุงเทพฯ อีกแห่งไว้เป็นอนุสรณ์สถาน
    ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคหลัง รูปแบบความสัมพันธ์ไทย-จีนแม้จะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์จากยุคสุโขทัยสู่อยุธยาและรัตนโกสินทร์ 
    อย่างไรก็ดี เนื้อหาสำคัญคือการอำนวยหรือเกื้อกูลผลประโยชน์ระหว่างกัน ในกระบวนความสัมพันธ์ที่ทำให้ยั่งยืนยาวนานผ่านแต่ละยุคสมัยมาได้นั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ  สังคมหรือความมั่นคง น่ายินดีที่คำว่า "ข้อริเริ่ม" ด้าน "One Belt, One Road" หรือ BRI ปัจจุบันมีการใช้กันอย่างเป็นทางการทั่วไปมากกว่าจะใช้คำว่า "ยุทธศาสตร์ One Belt, One Road" 
    คำว่า "ข้อคิดริเริ่ม" หรือ Initiative ในภาษาอังกฤษย่อมสื่อความหมายกว้างไกลกว่าในแง่ผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศตามแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหม สะท้อนจิตวิญญาณของความรุ่งเรืองและการอำนวยประโยชน์ร่วมกันของเส้นทางสายไหมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แน่นอนยังจะมีส่วนช่วยให้ประเทศต่างๆ เกิดความมั่นใจใน "The Rise of China" หรือการ "ผงาดขึ้นมาของจีน" นั้นว่าเป็นไปอย่างสันติ
    ท่านบอกว่าถ้าจะวิเคราะห์ถึงแก่นกันจริงๆ แล้ว ในกระบวนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียนโดยรวม รวมทั้งประเทศไทย ไม่มีสิ่งใดจะสำคัญเกินกว่าการสร้าง “ความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นระหว่างกัน” โดยผ่านผลประโยชน์จากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งประจักษ์ชัดจากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นในความสัมพันธ์ไทย-จีนตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน
    ทูตวิบูลย์ในฐานะที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาตลอด ยืนยันว่าในส่วนนี้ไทยและจีนโชคดีที่ไม่มีปัญหาพื้นฐานสำคัญที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกัน 
    “ถึงกระนั้นจากหลากหลายปัจจัย หากติดตามจากปฏิกิริยาข่าวสารต่างๆ ในภาคประชาสังคม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความเคลือบแคลงในส่วนที่เป็นผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย กลายเป็นประเด็นได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกันในโครงการต่างๆ ซึ่งอันที่จริงเรื่องลักษณะนี้ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ความสำเร็จที่แก้ไขปัญหาความไม่ลงตัวของผลประโยชน์ที่มีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกับมาเลเซียในกรณีปัญหาการทับซ้อนของไหล่ทวีปทางทะเล" ทูตวิบูลย์ย้ำ
    ในที่สุดภายใต้หลักการพัฒนาร่วมกันก็ทำให้ทั้งสองประเทศสามารถลุล่วงปัญหาได้แบบ Win-Win  คือได้ผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นปัญหาหรืออุปสรรคของความสัมพันธ์ ในส่วนนี้ นโยบาย "Go Global" หรือ "走出去" หรือ BRI ของจีนก็ตาม หากจะทำให้สัมฤทธิผลมากขึ้น จีนเองก็อาจจำเป็นต้องหารูปแบบการพัฒนาร่วมอันเป็นที่ยอมรับของประเทศอาเซียนอื่นที่อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้
    ท่านยกกรณีกับประเทศฟิลิปปินส์ภายใต้บรรยากาศผู้นำที่เน้นประโยชน์ร่วมในปัจจุบัน ซึ่งหากเร่งดำเนินการแก้ไขอุปสรรคที่มีอย่างเหมาะสมและมีความสอดคล้องลงตัวของผลประโยชน์ระหว่างกัน ก็ย่อมจะเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นที่อ้างสิทธิ์ดำเนินการตามเพื่อแก้ไขอุปสรรคที่มีอย่างมีความมั่นใจ
    “ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันนี้ย่อมส่งผลดีกับนโยบายด้านอื่น โดยเฉพาะโครงการ BRI ของจีนที่จะมีต่ออาเซียนโดยรวมอีกด้วย" อดีตทูตไทยประจำปักกิ่งบอก.
    พรุ่งนี้: เมื่อลมแรงจะสร้างกำแพงหรือกังหันรับลม?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"