“ธรรมชาติอยู่ได้ถ้าไม่มีเรา แต่เราอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีธรรมชาติ มันไม่ใช่เรื่องสนุก แต่เป็นเรื่องน่าเศร้า การดำรงชีวิตของเรากำลังค่อยๆ ทำลายธรรมชาติทุกขณะ ผมไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อม แต่ผมอยากนำเสนอความงดงาม ความน่าทึ่งของธรรมชาติ ให้ผู้คนได้ตระหนักคิดบางอย่าง” คำพูดตอนหนึ่งของ “Tom Jacobi” (ทอม จาโคบี) ช่างภาพเยอรมัน บนเวที “RPST Master Series Artist Talk” เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทอมยังพูดถึงธรรมชาติที่สวยงามบนโลก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลุกจิตสำนึกในการดูแลโลก ซึ่งเวทีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการภาพถ่าย “Beyond the Air We Breathe : addressing climate change” กับ “AWAKENING – Between Heaven and Earth, Between Light and Darkness” ที่จัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิลูซี และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ในเวที RPST Master Series Artist Talk ทอม จาโคบี เล่าผ่านประสบการณ์การเดินทางทั่วโลกในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557-2561 ในทวีปยุโรป แอนตาร์กติกา แอฟริกา ฯลฯ เพื่อค้นหาความหมายที่ซ่อนเร้นในธรรมชาติที่เขาได้ตามหาสถานที่ลึกลับ ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยธรรมชาติมากกว่าล้านปี และจะยังคงอยู่ไปตลอด ผ่านภาพถ่ายสีเทาที่เขาสะท้อนให้เห็นว่าภูมิทัศน์โบราณที่ธรรมชาติสร้างสรรค์กำลังส่งสัญญาณเตือนว่า มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้หากปราศจากธรรมชาติ ดังนั้นหากเรายังอยากดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เราคงต้องช่วยกันรักษาโลกนี้เอาไว้ เขาถ่ายภาพออกมาผ่านชุดภาพ “Awakening” ซึ่งประกอบด้วยชุดภาพ 3 ชุดคือ Grey Matter (s), Into the Light และ The Light Within และภาพชุดนี้เองที่ทำให้เขาได้รับรางวัล Photographer of the Year จาก Moscow International Foto Awards
ทั้งนี้ ทอมเล่าประสบการณ์เดินทางถ่ายภาพ ชุด Grey Matter (s) ว่าเป็นภาพที่ถ่ายในช่วงปี 2557-2558 ในชุดนี้เป็นภาพสีเทาที่กำลังแสดงถึงความมืด ความเงียบ ตนได้ออกไปถ่ายภาพที่ทวีปขาว หรือทวีปแอนตาร์กติกา จะเห็นได้ว่าภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพธารน้ำแข็งที่มีมานานแล้ว และเป็นสถานที่คอยเป็นสัญญาณเตือนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมชัดเจนที่สุด เพราะนับวันน้ำแข็งขั้วโลกจะละลายและค่อยๆ หายไป ในช่วง 30 ปีน่าจะหายไปแล้วมากกว่า 3 แสนล้านตัน ตนใช้เวลาถ่ายภาพที่ทวีปนี้ที่ประเทศไอซ์แลนด์ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืน ด้วยความยากลำบาก กว่าจะได้ภาพที่ต้องการทำให้ตนต้องใช้เวลามาก แต่ในเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการบางครั้ง ก็จะต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรที่ได้ตามที่เราต้องการไปเสียหมด ฉะนั้นภาพที่ได้จึงเป็นภาพที่เป็นธรรมชาติ ไม่ได้ประดิษฐ์ก็เพื่ออยากแสดงให้เห็นความมหัศจรรย์ของธารน้ำแข็งที่ละลายจนเกิดเป็นรูปร่างต่างๆ นอกจากนี้ ภาพที่ได้ก็ได้ย้ายไปยังสถานที่อื่นๆ อีกเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ภาพที่มีมุมต่างกัน บางภาพตนต้องกลับไปถ่ายใหม่ รอถ่ายแสงแรกของวันในช่วงที่มีแสง ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่าที่น่าอัศจรรย์ และค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่นๆ บนโลก
“ช่วงที่ผมเดินทางไปถ่ายภาพ ผมก็ได้เรียนรู้ว่า แม้ว่าทวีปแอนตาร์กติกจะมีความสวยงาม แต่มันมีความน่ากลัวอยู่ แล้วก็ยังเป็นแถบที่ผู้คนที่นั่นอยู่อย่างยากลำบาก อีกทั้งในฤดูหนาวยังมืดตลอดทั้งเดือน ทำให้ภาพที่ได้ในชุดนี้เป็นขาวดำหมด เพราะพบเจอกับความมืดตลอดเวลา แล้วก็มีไปถ่ายที่ทวีปอื่นๆ ด้วย เช่น อียิปต์ ไปดูศิลปะที่ธรรมชาติสร้าง อย่างเช่น บางภาพเกิดขึ้นโดยธรรมชาติสร้าง เช่น หินรูปร่างต่างๆ ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลที่อียิปต์ เป็นต้น” จาโคบีกล่าว
มาที่ชุด Into the Light ในชุดนี้มีภาพสีขาวเพิ่มมากขึ้น จาโคบีบอกว่า แสงสว่างเปรียบเสมือนยาชูใจให้กับเราทุกคน เพราะใครๆ ต่างก็ชอบความสว่างกันทั้งนั้น ในชุดนี้ถ่ายตอนปี 2558-2560 ตนพยายามหาภูมิทัศน์ที่มีแสงสว่างมากๆ แล้วก็ทำให้ภาพกลายเป็นสีขาว เช่น ถ่ายภาพทะเลทรายที่ Lençóis Maranhenses อุทยานแห่งชาติทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล เป็นพื้นที่ประมาณ 580 ตารางไมล์ (1,500 ตารางกิโลเมตร) ของเนินทรายสีขาวขนาดใหญ่ ในช่วงฤดูฝนโพรงกลางระหว่างเนินทรายจะเต็มไปด้วยน้ำทะเลที่ใสสะอาด ทำให้เห็นดินแดนมหัศจรรย์ของเนินทรายและทะเลสาบ มันค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์มากๆ นอกจากนี้ก็จะมีภาพหิมะ ภาพต้นไม้ ใบหญ้าต่างๆ ภาพท้องฟ้า ทะเล ฯลฯ ก็น่าทึ่งไม่ต่างจากชุดแรก
ส่วนชุด The Light Within เป็นเรื่องของการมีคนเข้ามาผสมผสานกับธรรมชาติ ตนได้ชวนนักโยคะ 2 คนจากลอสแองเจลิสมาร่วมงาน ถ่ายภาพในทะเลทรายอะตาคามา ประเทศชิลี ตนต้องการให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับธรรมชาติมากขึ้นในชุดนี้ นักโยคะที่มาร่วมงานกับตนได้เป็นแบบที่โชว์สรีระที่กลมกลืนกับธรรมชาติ อยู่ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีลมหนาว ภาพชุดนี้ถ่ายมาด้วยเบื้องหลังที่ยากพอสมควร แต่พวกเขาก็สามารถจะถ่ายทอดออกมาได้ดีและมีความแข็งแกร่งมาก
“ทั้ง 3 ชุดเริ่มจากความมืดครึ้ม ลึกลับไปจนสู่แสงสว่าง แล้วก็ความเหน็บหนาว ที่เปรียบเสมือนกับมนุษย์ที่พยายามออกมาจากความมืดเพื่อหาความสว่างและการมีชีวิต ซึ่งภาพแต่ละชุดต้องการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติของโลก เพื่อที่จะปลุกเราให้ตื่น ให้เห็นว่าโลกมีธรรมชาติที่สวยๆ อีกมาก ผมพยายามที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโลกของเรากับวิวัฒนาการของจิตวิญญาณมนุษย์ หลายๆ ภาพมักได้รับคำถามมาว่า ผมใช้โฟโต้ช็อปหรือไม่ จริงๆ ผมไม่ได้ใช้ เพราะผมไม่ชอบการแต่งภาพ ผมอยากแสดงภาพที่เป็นจริงเกี่ยวกับธรรมชาติ บางแห่งมันมืด บางแห่งมันสว่างจริงๆ ผมแค่อยากนำเสนอภาพของธรรมชาติ เพื่อที่จะทำให้คนได้ตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่บนโลกมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม นอกจากกิจกรรม “RPST Master Series Artist Talk” แล้ว ทอม จาโคบี ยังได้นำภาพชุด “Awakening” ของเขามาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่าย “Beyond the Air We Breathe : addressing climate change” ด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้-2 กันยายน 2561 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือติดตามผลงานของเขาที่ www.tomjacobi.de
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |