ต้านโกง7ปีดีขึ้น ปลื้มสัญญาคุณธรรมเซฟงบ2.5หมื่นล้าน


เพิ่มเพื่อน    

29 ส.ค. 61 - ที่โรงแรมดุสิตธานี นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) เป็นประธานแถลงข่าว “7 ปี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)”  ว่า ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้ประชาชนคนไทย  ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จากการสำรวจของหอการค้าไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการแถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยล่าสุดพบว่า ทัศนคติและจิตสำนึกต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ไม่ยอมรับคอร์รัปชันโดยสิ้นเชิง  โดยร้อยละ 99 เห็นว่าคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ยอมรับรัฐบาลที่เก่งมีผลงานดีเด่นแต่ทุจริต

นายประมนต์ กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ใช้ยุทธศาสตร์ 3 ป. คือ เปิดโปง ป้องกัน และปลูกฝัง โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ช่วง  ช่วงแรกระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2557 พบปัญหาและอุปสรรคเรื่องความร่วมมือจากภาครัฐยังน้อยประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการและการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้ กิจกรรมหลักในช่วงนี้ จึงเป็นการปลุกกระแสผ่านโครงการต่างๆ อาทิ คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การจัดอบรม “หมาเฝ้าบ้าน”, การจัดทำพิพิธภัณฑ์กลโกงชาติ, การริเริ่มข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชันเสนอต่อคสช., การจัดทำหลักสูตร “โตไปไม่โกง” การร่วมจัดทำดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) และการจัดทำสารคดีสั้น“ปลูกจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชัน” เป็นต้น

สำหรับที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2557 - 2560 สถานการณ์คอร์รัปชันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการขับเคลื่อนขององค์กรฯ ภาคีเครือข่าย และความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยใช้ยุทธศาสตร์ทำงานร่วมกับรัฐบาล มีผู้แทนเข้าร่วมเป็น สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ส่งผลให้ภาครัฐมีความจริงใจและให้ความร่วมมือ ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา นำไปสู่การออกนโยบาย กฏหมาย ที่เอื้อต่อการปราบคอร์รัปชันได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบยิ่งขึ้น อาทิ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ผ่านโครงการข้อตกลงคุณธรรม และโครงการเพื่อความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ, พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาขออนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 การผลักดันให้มีบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง พ.ศ. 2560 และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ตัดสินนักโทษหนีคดีโดยไม่หมดอายุความ และการมีบทลงโทษเอกชนและประชาชนที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ

ผลจากการที่องค์กรและภาคีเครือข่าย ร่วมผลักดันกฎหมายดังกล่าว อย่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ  พ.ศ. 2560 กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐผ่านโครงการข้อตกลงคุณธรรม นับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน พบว่าในโครงการข้อตกลงคุณธรรม มีหน่วยงานเข้าร่วม 73 โครงการ มูลค่ารวม 875,428 ล้านบาท มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จำนวน 45 โครงการมูลค่ารวม 103,839 ล้านบาท ช่วยประหยัดงบประมาณให้รัฐได้สูงถึง 25,128 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.20 นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันทำให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความโปร่งใสยุติธรรม และมีการแข่งขันมากขึ้น  แต่ยังพบปัญหาเกี่ยวกับ ระบบบริหารราชการแผ่นดินและการใช้อำนาจรัฐเปิดช่องทางการรับสินบน หน่วยงานราชการไม่ตอบสนองต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่นเท่าที่ควร การบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอภาค เกิดความเสื่อมศรัทธาในหมู่ประชาชนบ้าง

“ตลอด 7 ปี ที่องค์กรและภาคีเครือข่าย ได้ผนึกกำลังต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยหลายประการ ได้แก่ เกิดเครือข่ายคนไทย ทั้งประชาชน นักธุรกิจ นักวิชาการสื่อมวลชนและ ข้าราชการ ร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีพลังและต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยปลุกกระแสให้เห็นถึงความเลวร้ายของการโกงชาติ และได้ร่วมผลักดันให้เกิดกฎหมาย เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมและระบบราชการ ที่รวดเร็ว เอื้อต่อการต้านโกงและเอาผิดคนโกง ที่สำคัญคือ ทำให้คนไทยไม่ยอมทน กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตและการโกงมากขึ้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และภาคีเครือข่ายยังมีความมุ่งมั่น ที่จะสู้ต่อไป จะกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ พร้อมใจกันตื่นรู้สู้โกง ทำให้การโกง ทุจริตคอร์รัปชันหมดไปจากประเทศไทย นำความเจริญอย่างยั่งยืนมาสู่ประเทศไทยที่น่าอยู่อีกครั้งหนึ่ง”  นายประมนต์ ระบุ

ด้านนายวิเชียร พงศธร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงก้าวต่อจากนี้ไปในปี2561 องค์กรและภาคีเครือข่าย จะยังคงเดินหน้าติดตามหลายประเด็นคอร์รัปชันที่ยังไม่บรรลุผล อาทิ การผลักดันเรื่องการปฏิรูปราชการ ตำรวจ และกฎหมายที่ล้าสมัย, การติดตามโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ   ที่สำคัญๆ และการพัฒนาการดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้ Big Data & Analytics มาใช้ในการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น และพัฒนาระบบนิเวศสร้างค่านิยมต่อต้านคอร์รัปชันในเด็ก ในสื่อ ภาคธุรกิจ และประชาสังคมต่อไป

พร้อมทั้งสานต่อการจัดกิจกรรมรณรงค์วันต่อต้านคอร์รัปชันของปี 2561 ที่มีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้มีกำหนดจัดงานในวันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายนนี้ ณ ภิรัช ฮอลล์ อาคารไบเทคเฟส 2 ไบเทคบางนา ภายใต้ธีม งาน “คนไทย ตื่นรู้สู้โกง” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมเกิดความตื่นตัวและลุกขึ้นมาร่วมใจกันต่อต้านคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"