ส่ง1,733ชื่อผู้พิพากษา ชี้กรณีแรกในรอบ17ปี


เพิ่มเพื่อน    

     “สืบพงษ์” นำรายชื่อ 1,776 ตุลาการยื่นถอดถอน “ชำนาญ” พ้น ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว เลขาธิการศาลชี้เป็นกรณีแรกตั้งแต่มีกฎหมายมา 17 ปี ลั่นทำด้วยความรอบคอบ คาดใช้เวลากว่า 1 เดือนก่อนลงมติ  เพราะต้องยืนยันชื่อ รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาแจงก่อน ยังมึนหากผู้ถูกร้องลาออกเรื่องต้องยุติหรือไม่
     เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 ส.ค. ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2, นายพงษ์ศักดิ์ ตระกูลศิลป์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และ น.ส.มณี สุขผล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา  เดินทางมาเป็นผู้แทนยื่นคำร้องต่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้มีการลงมติเพื่อถอดถอนนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ในฐานะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกา พร้อมรายชื่อ 1,776 ข้าราชการตุลาการที่เข้าชื่อตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 42 โดยมีนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้รับมอบ
     นายสืบพงษ์กล่าวว่า ได้นำรายชื่อข้าราชการตุลาการจำนวน 1,776 คน ที่ประสงค์จะถอดถอนนายชำนาญออกจาก ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งในรายชื่อได้แบ่งแยกผู้พิพากษาแต่ละระดับชั้นศาลเอาไว้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้จนกว่าเลขาธิการสำนักงานศาลฯ จะตรวจนับถูกต้อง และปิดประกาศก่อน โดยยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการข่มขู่ ส่วนเรื่องการตอบรับดูได้จากจำนวนผู้เข้าร่วมลงชื่อถอดถอน และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการติดต่อกับผู้ถูกร้อง
    ด้านนายสราวุธกล่าวว่า สำนักงานศาลฯ จะตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารตามมาตรา 42 และ 43 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม และระเบียบของ ก.ต. ที่ได้ออกมาในเรื่องการเข้าชื่อและการถอดถอน ก.ต. โดยการดำเนินการจะรายงานให้ทราบเป็นระยะถึงขั้นตอนไหนบ้าง และหากตรวจสอบรายชื่อครบถ้วนแล้ว ก็จะรีบส่งให้ศาลทั่วประเทศปิดประกาศคำร้องและรายชื่อของผู้เข้าชื่อทั้งหมดพร้อมกันภายในวันที่ 29 ส.ค.นี้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม แต่มีชื่ออยู่หรือประสงค์ถอนชื่อ จะสามารถแจ้งให้เอาชื่อออกได้ภายใน 20 วันนับแต่วันปิดประกาศ ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.ต.
     นายสราวุธกล่าวต่อว่า เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วให้ถือว่ารายชื่อของผู้เข้าชื่อที่ไม่มีการคัดค้านเป็นรายชื่อที่ถูกต้อง ถ้ามีจำนวนไม่ครบถ้วน จะแจ้งให้ผู้แทนของผู้เข้าชื่อทราบเพื่อจัดให้มีการเข้าชื่อเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วมิได้เสนอการเข้าชื่อจนครบจำนวนก็จะจำหน่ายเรื่อง แต่หากการเข้าชื่อถูกต้องครบจำนวน ก็ถือว่าการเข้าชื่อมีผลสมบูรณ์ ก็จะส่งคำร้องไปให้ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกร้องขอให้ถอดถอนภายใน 7 วัน เพื่อให้ ก.ต.ผู้นั้นจัดทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้ข้อกล่าวหาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำร้อง
     “จากนั้นเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจะจัดให้ปิดประกาศคำชี้แจงเพื่อแก้ข้อกล่าวหา หรือประกาศว่าไม่มีการยื่นคำชี้แจงดังกล่าวแล้วแต่กรณี ณ ที่ทำการของสำนักงานศาลยุติธรรม และศาลยุติธรรมทั่วประเทศ และจัดให้มีการลงมติเพื่อถอดถอนต่อไป ซึ่งสำนักงานศาลฯ จะปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดไว้เคร่งครัดทุกประการ” นายสราวุธยืนยัน
     เมื่อสอบถึงหลักในการดำรงตนของผู้พิพากษานั้นควรเป็นอย่างไร นายสราวุธตอบว่า การปฏิบัติตนของผู้พิพากษาใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ได้กำหนดข้อปฏิบัติไว้อยู่แล้วในมาตรา 62 บัญญัติให้ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายจริยธรรมด้วย ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมเป็นความผิดทางวินัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาพิพากษาคดี การวางตน การประกอบภารกิจอื่น หรือการวางตนของสมาชิกในครอบครัว มีทั้งหมดกว่า 40 ข้อด้วยกัน
     ถามอีกว่า หากตรวจสอบรายชื่อเสร็จและครบตามจำนวน ก.ต.ผู้ถูกร้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า กฎหมายเขียนไว้ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 43 ส่วนต้องหยุดเมื่อไหร่นั้น เรื่องนี้จะต้องรายงานไปยัง ก.ต.ให้เป็นผู้วินิจฉัยว่าต้องเริ่มหยุดปฏิบัติหน้าวันไหน ซึ่ง ก.ต.มีทั้งหมด 15 คน หากหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่น่ามีปัญหากับการทำงาน
     “ผู้พิพากษาทั้งประเทศที่ไม่ร่วมผู้ช่วยผู้พิพากษามีทั้งหมด 4,543 คน ซึ่ง 1 ใน 5 ที่สามารถเข้าชื่อก็จะมีจำนวน 909 คน ส่วนการถอดถอนต้องใช้มติเกินกึ่งหนึ่งเท่ากับ 2,272 คน” นายสราวุธระบุ
     เมื่อถามว่า ต้องใช้เวลากี่วันจึงจัดให้มีการลงมติถอดถอน ก.ต.ผู้ถูกร้องได้ นายสราวุธกล่าวว่า ขั้นตอนเราต้องปิดประกาศอย่างน้อย 20 วัน เพื่อให้คนที่ไม่ได้ลงชื่อหรือประสงค์ถอนชื่อ จากนั้นให้ ก.ต.ผู้ถูกร้องทำคำชี้แจงใน 7 วัน และปิดประกาศคำชี้แจงอีก 7 วัน แล้วถึงเข้าสู่กระบวนการการลงคะแนน คิดว่าน่าจะใช้ระยะเวลา 1 เดือนเศษ
    ถามว่าได้ดำเนินการทางวินัยกับฝ่ายใดบ้างหรือไม่จากเหตุการณ์นี้ นายสราวุธกล่าวว่า การดำเนินการทางวินัยมีขั้นตอนในการรับเรื่อง ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่อง ส่วนจะมีการดำเนินการทางวินัยกับ ก.ต.ผู้ถูกร้องหรือไม่นั้น ขอตรวจสอบก่อน ขณะนี้เป็นเรื่องการถอดถอน จึงไม่อยากให้นำไปรวมกระบวนการทางวินัย เพราะการถอดถอนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีระเบียบ ก.ต.ว่าด้วยการเข้าชื่อและลงมติถอดถอน พ.ศ.2544
“ต้องไปดูข้อกฎหมายอย่างละเอียดอีกที ซึ่งการถอดถอนครั้งนี้พอรับเรื่องแล้ว ผมต้องรายงานตามขั้นตอน” นายสราวุธกล่าวตอบเรื่องหาก ก.ต.ผู้ถูกร้องลาออกจาก ก.ต.กระบวนการถอดถอนจะสิ้นสุดหรือไม่อย่างไร
     สำหรับหนังสือคำร้องมีใจความสรุปว่า นายสืบพงษ์, นายพงษ์ศักดิ์ และ น.ส.มณี ผู้แทนของผู้เข้าชื่อได้ดำเนินกิจการที่จัดให้ข้าราชการตุลาการไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของข้าราชการตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาเข้าชื่อกันขอให้ถอดถอน ก.ต.ออกจากตำแหน่ง มีความประสงค์ยื่นคำร้องขอให้มีการลงมติเพื่อถอดถอนนายชำนาญออกจากตำแหน่ง ก.ต. จากกรณีเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2561 ที่ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลนัดสืบพยานจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2177/2559 นายชำนาญซึ่งเป็นสามีของพี่สาวโจทก์ และเป็นพี่ชายของทนายโจทก์ ซึ่งเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย 
     โดยเมื่อทนายโจทก์ถามค้านจำเลย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนสอบถามทนายโจทก์ว่าเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีอย่างไร นายชำนาญได้ลุกขึ้นโต้แย้งผู้พิพากษาด้วยเสียงดังว่า ทำไมจะไม่เกี่ยว ท่านไม่มีสิทธิ์ถาม มีหน้าที่ต้องบันทึก ถ้าไม่บันทึกจะร้องเรียน ตั้งกรรมการสอบถึงไล่ออก ผู้พิพากษาจึงบันทึกไปตามที่นายชำนาญโต้แย้งและพิจารณาคดีต่อ ช่วงบ่ายทนายความโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนตัว อ้างมีความเห็นไม่ตรงกับโจทก์ และขอเลื่อนคดีเพื่อให้โจทก์หาทนายความใหม่ เมื่อศาลออกนั่งพิจารณาพบว่าทนายความโจทก์กลับไปแล้ว มีนายชำนาญนั่งตรงที่นั่งทนายความโจทก์แถลงขอเลื่อนคดีแทน บอกว่าทนายโจทก์โกรธมากจะดำเนินคดีตามมาตรา 157 และร้องเรียนต่อด้วย แต่ได้ห้ามไว้ ต่อไปก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อ จะขอไปคุยกับทนายคนเดิมก่อน องค์คณะผู้พิพากษาจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีออกไป
     พฤติกรรมดังกล่าว นายชำนาญซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการที่มีอาวุโสสูง สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้คู่ความอีกฝ่ายและประชาชนทั่วไปเกิดความแคลงใจในความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เป็นการก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพิจารณาพิพากษาคดี ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 188 ที่บัญญัติให้ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม ปราศจากอคติ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 (ดูหมิ่นศาล) และขัดต่อประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด 5 ว่าด้วยจริยธรรมเกี่ยวกับการดำรงตนและครอบครัว ข้อ 35 ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาต้องเคารพและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ในกรอบศีลธรรม สุภาพ สำรวมกิริยามารยาท มีอัธยาศัยยึดถือจริยธรรมและประเพณีอันดีของตุลาการ ทั้งพึงวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธา และข้อ 37 ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาจักต้องไม่ก้าวก่ายหรือแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาอื่น ซึ่งมีมูลอันเป็นความผิดทางวินัย ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 จึงไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. ขอให้ดำเนินการจัดให้มีการลงมติถอดถอนนายชำนาญออกจากตำแหน่ง ก.ต.ต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"