ครม.ใจป้ำให้ผู้ถือบัตรคนจนที่ฝึกอาชีพกดเงินสดจากเอทีเอ็มมาใช้ได้อีกเดือนละ 100-200 บาท หากเหลือเก็บไว้ใช้เดือนหน้าได้ กำหนดระยะเวลาถึง ธ.ค.61 รมว.มหาดไทยยันพิจารณา 9 หมื่นโครงการไทยนิยมยั่งยืนเสร็จสิ้น ก.ย.นี้ ยกระดับอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งประเทศดีขึ้น บอร์ดธ.ก.ส.ไฟเขียวขยายมูลค่าที่ดิน-ต้นไม้ เพื่อเป็นหลักประกันขอสินเชื่อเพิ่มเป็น 80%
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 สิงหาคม พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบกรณีการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แก่ผู้มีสิทธิ์ตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามมติครม.ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2560 และระยะที่ 2 วันที่ 9 ม.ค.2561 กรณีการให้เงินช่วยผู้ถือบัตรดังกล่าว โดยระยะที่ 1 จะได้จำนวนเงินเพิ่ม 200-300 บาทต่อ และระยะที่ 2 เพิ่มอีก 100-200 บาท สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองในแบบประเมินและเมนูการพัฒนารายบุคคล โดยขึ้นอยู่กับรายได้ขั้นต่ำ
"เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและกำลังซื้อแก่ผู้ถือบัตรให้สามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ตามต้องการ สำหรับช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ และส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ จึงได้มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนแนวทางจากการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภค- บริโภคที่จำเป็นรายเดือน ตามมาตรการเดิมของมติครม. เป็นการเติมเงินเข้าสู่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรดังกล่าวของผู้มีสิทธิ์แทน โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2561 จากเดิมที่เมื่อได้รับเงินแล้วต้องใช้จ่ายในร้านธงฟ้าเท่านั้น เปลี่ยนเป็นผู้ถือบัตรสามารถถอนเงินที่เติมเข้า เป็นเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มและสาขาของ บมจ.ธนาคารกรุงไทยได้เลย และหากแต่ละเดือนมียอดเงินคงเหลือ สามารถสะสมไว้ใช้สำหรับเดือนต่อไปได้ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะเงิน 100-200 บาทในระยะที่ 2 เท่านั้น"
พ.อ.อธิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับงบประมาณตั้งแต่การเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือน มี.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ในระยะที่ 2 สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จำนวน 4868.85 ล้านบาท และผู้มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/ปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จำนวนเงิน 826.98 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณในการดำเนินมาตรการ วงเงินรวม 35,679.09 ล้านบาท
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ผู้มีสิทธิที่เริ่มใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากเงินที่เติมลงบัตรในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรก จะต้องเปลี่ยนรหัส 6 หลักเดิม (เลขประจำตัวประชาชน 6 หลักสุดท้ายบนหน้าบัตร) จากเครื่อง ATM หรือเครื่อง ADM หรือสาขาของธนาคารกรุงไทยก่อน จึงจะสามารถใช้ซื้อสินค้าและถอนเงินในส่วนนี้ได้ และควรเก็บรักษารหัสไว้ อย่างดีไม่ควรลืม เพราะจะเกิดความยุ่งยากหากลืมรหัส 6 หลักดังกล่าว
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ที่ลงทะเบียนสวัสดิการในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมาแล้วจำนวน 3.6 ล้านคน โดยผู้สูงอายุที่รายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท จะได้เงิน 100 บาทต่อเดือน และผู้สูงอายุที่รายได้เกิน 3 หมื่นบาท จะได้เงิน 50 บาทต่อเดือน โดย พม.ใช้เงินจากกองทุนผู้สูงอายุที่มีเงินได้จากการเก็บภาษีบาปปีละ 4,000 ล้านบาท คาดว่าเงินกองทุนจะจ่ายให้ผู้สูงอายุได้ถึงเดือน มิ.ย.2562
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการว่า ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในระดับตำบล ได้ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความต้องการครบเป็นที่เรียบร้อยแล้วครบทุกหมู่บ้าน/ชุมชน รวม 82,271 แห่ง มีประชาชนเข้าร่วม 8.08 ล้านคน สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนตามกรอบหลัก 10 เรื่อง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสนบาท โดยกรมการปกครองมีหมู่บ้านและชุมชนเสนอโครงการทั้งสิ้น 8.1 หมื่น จำนวน 91,373 โครงการ โดยสำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้วร้อยละ 98.10 ขณะนี้หมู่บ้านและชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561
สำหรับแผนงาน/โครงการที่เสนอขอรับงบประมาณ แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.โครงการประเภทสร้างอาชีพ สร้างรายได้โดยตรง จำนวน 12,271 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 17.06 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ลานตากผลผลิตทางการเกษตร 3,622 โครงการ การปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยว 649 โครงการ และโรงสี 583 โครงการ 2.โครงการประเภทสร้างอาชีพสร้างรายได้โดยอ้อม จำนวน 9,999 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 13.90 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนเพื่อการเกษตร 2,541 โครงการ ขุดลอกสระ ห้วย หนอง คลอง บึง 2,164 โครงการ และลาน อเนกประสงค์/สาธารณประโยชน์ 2,045 โครงการ 3. โครงการประเภทส่งเสริมคุณภาพชีวิต จำนวน 49,653 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 69.04 โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ถนนสัญจรภายในหมู่บ้าน 14,362 โครงการ ศาลากลาง บ้าน/ศาลาประชาคม/อาคารอเนกประสงค์ 8,690 โครงการ และปรับปรุง ซ่อมแซมประปาหมู่บ้าน 6,103 โครงการ
"การดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความต้องการของประชาชน และนำมาสู่การกำหนดแผนงานและโครงการและดำเนินการตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้เห็นชอบให้มีการขยายมูลค่าที่ดินและต้นไม้บนที่ดินมาใช้เป็นหลักทรัพย์ ประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จะตีมูลค่าที่ดินเป็นหลักประกันเพียง 50% ให้มีการขยายเพิ่มได้ 80% ของมูลค่าที่ดินและต้นไม้ โดยให้นำมูลค่าของต้นไม้มาใช้เป็นส่วนควบหลักประกันเพิ่มได้อีก 30% หรือไม่เกินครึ่งหนึ่งของมูลค่าต้นไม้เพื่อสนับสนุนโครงการธนาคารต้นไม้ของรัฐบาล รวมถึงช่วยให้เกษตรกรเข้ามาขอสินเชื่อเพื่อนำไปใช้ทำการเกษตรหรือพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยมีผลแล้วตั้งแต่บัดนี้
เบื้องต้นได้กำหนดคุณสมบัติเกษตรที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้เป็นลูกค้าของธ.ก.ส. เป็นเจ้าของที่ดิน และต้นไม้ในคนเดียวกัน เป็นต้นไม้ตามที่ธนาคารกำหนด และใช้ได้เฉพาะพื้นที่ที่มี เอกสารสิทธิ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 6,804 ชุมชน เกษตรกร 1.5 แสนราย มีต้นไม้ในโครงการมากกว่า 11.7 ล้านต้น และมีการเริ่มทำโครงการนำร่องใน 2-3 สถาบันการเงินชุมชนที่นำต้นไม้มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อแล้ว สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินต้นไม้เป็นหลักประกันของธนาคาร จะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม้เนื้ออ่อน ต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ เช่น กระถิน สะเดา, กลุ่มที่ 2 ไม้เนื้อปานกลาง ต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลาง รอบตัดฟัน ยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ยางนา ตะเคียนทอง, กลุ่มที่ 3 ไม้ สัก ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง และกลุ่มที่ 4 ไม้เนื้อแข็ง ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟัน ยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น ไม้ พะยูง ประดู่ป่า นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาจากมาตรฐานการเจริญเติบโตของต้นไม้ ความยาวของรอบวงต้นที่ความสูงจากโคนต้น ตามหลักของคณะวนศาสตร์
พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เนื่องจากปัจจุบันระบบสุขภาพของไทยเน้นในเรื่องการรักษาฟื้นฟูมากกว่าการป้องกันโรคและเน้นการดูแลสุขภาพในระดับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วไป มากกว่าระดับศูนย์ สุขภาพชุมชน จึงต้องปฏิรูประบบสุขภาพ โดยในสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดให้มีคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยมี รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อกำกับดูแลเชิงนโยบาย และกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการตรวจสุขภาพแบบปฐมภูมิ นอกจากนี้ยังให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับบนี้ให้เกิดผล โดยต้องคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้กำหนดกลไกการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ เช่น สิทธิได้รับบริการปฐมภูมิอย่างเป็นธรรม และมีคุณภาพ หรือสิทธิการได้รับบริการ สาธารณสุขตาม สวัสดิการหรือสิทธิที่บุคคลนั้นได้รับตามกฎหมาย มีการกำหนดให้ควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานของหน่วยงานบริการปฐมภูมิ
"ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังมีบทเฉพาะกาลรองรับ 10 ปี ให้จัดหน่วยบริการปฐมภูมิในสัดส่วนที่เหมาะกับจำนวนผู้รับบริการและพื้นที่ นอกจากนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ใน 10 ปี ก็จะมีการใช้เงินในการดำเนินการกว่า 50,000 ล้านบาท โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลรัฐได้ 227,570 ล้านบาท" พ.อ.อธิสิทธิ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |