ไทย-จีน win-win:จากซำปอกงถึงสีจิ้นผิง


เพิ่มเพื่อน    


    อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำปักกิ่ง คุณวิบูลย์ คูสกุล พูดในงานสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนครั้งที่ 7 เมื่อเร็วๆ นี้ เน้นว่าทั้งสองประเทศจะคบหากันแบบ win-win จะต้องให้โครงการ One Belt One  Road หรือ  Belt and Road Initiative (BRI) กับโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ของไทยเดินหน้าไปพร้อมกัน
    ตอนหนึ่งท่านทูตวิบูลย์ย้อนไปสมัยอยุธยากว่า 600 ปีก่อนหน้านี้ ก็ถือเป็นช่วงสำคัญช่วงหนึ่งในความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยเป็นยุคที่เจิ้งเหอ (Zheng He) นักเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ของราชสำนักจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิงเดินทางมาเพื่อบุกเบิกขยายความสัมพันธ์และการค้ากับประเทศในภูมิภาคแถบนี้ 
    กรุงศรีอยุธยาที่เป็นราชธานีของไทยสมัยนั้น ซึ่งเปิดกว้างรับการค้ากับต่างชาติก็เป็นจุดหมายที่เจิ้งเหอให้ความสำคัญและแวะพักกองเรือเป็นเมืองท่าแรกๆ  
    ตามบันทึกในประวัติศาสตร์ ตลอดระยะเวลาการเดินเรืออันยาวนานของเจิ้งเหอจากจีน 7 ครั้ง  อย่างน้อยที่สุดเคยแวะพักกองเรือที่กรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้ง (ดูแผนที่ประกอบ)
    กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นเป็นราชธานีที่เปิดรับการเข้ามาของทุกชนชาติ มีชุมชนนานาชาติในกรุงศรีอยุธยาที่ยังมีบันทึกและหลักฐานบ่งบอกจนถึงทุกวันนี้
    แน่นอนว่าชุมชนชาวจีนก็เป็นอีกชุมชนที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุด จนน่าประหลาดใจที่บันทึกประวัติศาสตร์ของไทยไม่นับชุมชนจีนเป็นชุมชนต่างชาติ แต่เป็นชุมชนที่มีการอยู่ร่วมกับชุมชนไทยท้องถิ่นอย่างผสมกลมกลืน ถือเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญของนโยบายของไทยที่มีต่อชาวจีนโพ้นทะเลในยุคต่อมา 
    ท่านทูตเท้าความว่าในทศวรรษ 1970 ในช่วงที่จีนเริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในกลุ่มอาเซียน รูปแบบนโยบายของประเทศไทยในการกำหนดสถานภาพของจีนโพ้นทะเลที่ยืดหยุ่นสอดคล้องในทางปฏิบัติ ได้กลายเป็นตัวอย่างหรือแบบปฏิบัติที่จีนประสงค์ให้ประเทศอาเซียนอื่นๆ  ดำเนินตามในกระบวนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในยุคนั้น
    ท่านทูตวิบูลย์มีความเชี่ยวชาญภาษาจีน ท่านเล่าว่าเจิ้งเหอเป็นที่รู้จักของประชาชนแถบนี้ในนาม  "ซำปอกง" คำออกเสียงสำเนียงแต้จิ๋วจากคำ "ซานเป่ากง" 
    ในภาษาจีนกลาง คำแปลมีอีกนัยหนึ่ง อาจจะตีความว่าคือ "แก้ว 3 ประการ" หรือพระรัตนตรัย
    ตามบันทึกบางอันในส่วนนี้ถึงกับเชื่อว่า เจิ้งเหอมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ
    ในกาลต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1403 สิ่งที่น่าสนใจในส่วนนี้คือ "ซำปอกง" ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความนับถือศรัทธาของคนในภูมิภาค เฉพาะในประเทศไทยมีวัดที่สร้างเป็นอนุสรณ์แด่ซำปอกงอย่างน้อย 3 แห่ง มีอำเภอมีแม่น้ำชื่อบางปะกงซึ่งหมายถึงซำปอกง ที่ดลใจให้เกิดเพลงรักอมตะมากมาย 
    ท่านทูตวิบูลย์บอกว่าหลักฐานเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของเจิ้งเหอ ที่นอกจากสะท้อนความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการเดินเรือแล้ว ที่สำคัญที่สุดคือหลักการ “共享太平之福" คือ "ร่วมรับประโยชน์จากสันติสุขที่มีร่วมกัน" 
    นั่นเป็นโลกทัศน์ที่กว้างไกลล้ำยุคของราชสำนักหมิง เชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์ในข้อคิดริเริ่ม Silk Road  ทางทะเลยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ของจีนและ BRI ในภาพรวม หรือแม้กระทั่ง "ความฝันจีน" คือ  Chinese Dream ก็ได้แรงดลใจจากโลกทัศน์กว้างไกลนี้
    ท่านทูตบอกต่อว่า
    "เส้นทางสายไหม" หรือ "Silk Road" ตั้งแต่ยุคโบราณทำให้จีนสามารถขยายการแลกเปลี่ยนการค้าและกิจกรรมวัฒนธรรมอื่นๆ กับนานาประเทศ 
    จีนสามารถส่งออกสินค้าสำคัญที่เลื่องลือไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายคราม ใบชา ตลอดจนโลหะมีค่าอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็นำเข้าสินค้าที่จีนขาดแคลนจากต่างประเทศ ประเด็นสำคัญในส่วนนี้คือการเกื้อเสริมเติมเต็มซึ่งกันและกัน 
    การเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกันในลักษณะนี้ เป็นจิตวิญญาณสำคัญที่ขับเคลื่อนเส้นทางสายไหมในยุคโบราณ ฉันใดก็ฉันนั้น การพัฒนาเพื่ออำนวยผลประโยชน์ร่วมกันก็จะเป็นพลังหลักขับเคลื่อน BRI  ในยุคใหม่ของจีนในความร่วมมือที่มีกับนานาประเทศ 
    และก็แน่นอนรวมทั้งกับประเทศไทย ผู้นำยุคใหม่ของจีนล้วนมีวิสัยทัศน์และตระหนักดีว่า เมื่อใดก็ตามที่จีนมีนโยบายเปิดและมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับนานาประเทศ จีนก็จะเจริญรุ่งเรือง 
    ดังเช่นยุคเส้นทางสายไหมสมัยโบราณ และถัดมาในยุคการเปิดประเทศตามนโยบายท่านเติ้งเสี่ยวผิงใน 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
     และแน่นอนผู้นำจีนยุคปัจจุบันก็ยิ่งตระหนักดีว่า การสานฝันของจีนสู่ยุครุ่งเรืองที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง  (伟大复兴中华) ตามความฝันจีน หรือ Chinese Dream นั้น การดำเนินการตามยุทธศาสตร์  BRI ในกระบวนเชื่อมประสานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้ากับนานาประเทศนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด ดังเช่นผลสำเร็จของการเปิดการติดต่อทาง Silk Road กับนานาประเทศ โดยเฉพาะในยุคราชวงศ์ถังในศตวรรษที่ 7 เป็นส่วนผลักดันสำคัญให้จีนสามารถพัฒนาถึงยุค "รุ่งเรืองสุด" หรือ 盛世 ได้ในประวัติศาสตร์
    บทเรียนหรือข้อสรุปในส่วนของ Silk Road โบราณที่บอกกับเราคือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกับไทยนั้นมีมาตั้งแต่โบราณกาล 
    ประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของความสัมพันธ์ในส่วนนี้คือ ความเจริญรุ่งเรืองของความสัมพันธ์ลักษณะนี้ที่จีนมีกับประเทศอื่นๆ สามารถตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาผลประโยชน์ที่มีร่วมกันในลักษณะที่เรียกว่า Win-Win ได้
    เส้นทางสายไหมในอดีตจะกลายเป็นเส้นทางสายไหมยุคดิจิทัลได้อย่างไร พรุ่งนี้ผมเอาเนื้อหาของคำปราศรัยของท่านทูตวิบูลย์มาเล่าต่อครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"