28ส.ค.61-เด็กลด- อัตราการเกิดประชากรต่ำ ถึงเวลามหา'ลัยรัฐ-เอกชน ต้องปรับตัว ลดหลักสูตรและสาขา แต่ต้องเพิ่มวิชาที่คนวัยทำงานสนใจ ที่ปรึกษา ทปอ.เผยเด็กมีทางเลือกมากขึ้น มหาวิทยาลัยนอกเข้ามาเปิดการเรียนผ่านออนไลน์ อีกทั้งค่านิยมนักเรียน ม.6 ก็เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดปริญญา น้นความรู้ที่ทำมาหากินได้ "หมออุดม"ระบุเปิดทาง 3พันหลักสูตรที่มหา'ลัย ขออนุมัติตั้งแต่1ส.ค.ชี้เฟ้อหรือไม่ ขึ้นกับสำนึกสภามหาวิทยาลัย
นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ามหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งรับนักศึกษาได้เพียง 6-7 คน ว่า ตนก็เห็นข่าวดังกล่าวจากสื่อมวลชนเช่นกัน แต่ส่วนตัวมองว่า มหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็มีการรับนักศึกษาหลากหลายวิธี ซึ่งกระบวนการรับนักศึกษาปีนี้ผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) สามารถรับได้ทั้งระบบรับตรง ระบบแอดมิชชั่น และความเป็นจริงแล้วจะพบว่า มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน ประสบปัญหาว่า บางสาขาวิชามีจำนวนผู้เรียนให้ความสนใจสมัครเรียนน้อยลง เช่น สาขานิเทศศาสตร์ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว และค่านิยมของนักเรียน ม.6 ก็เปลี่ยนไป นอกจากนี้พบว่า กระบวนการ TCAS ค่อนข้างยาว กว่า 10 เดือน กว่าเด็กจะผ่านแต่ละวิธีมาถึงมหาวิทยาลัยเอกชนก็เปิดภาคเรียนแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาจำนวนประชากรวัยเรียนลดลง ซึ่งก็ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนต้องเร่งปรับตัว รวมทั้งการปรับจำนวนอาจารย์ผู้สอนให้เหมาะสมกับจำนวนนักศึกษาที่ลดลง ซึ่งถือเป็นกระบวนการปกติของมหาวิทยาลัยเอกชน
ด้านนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ที่ปรึกษาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่งล้วนได้รับวิกฤตจากจำนวนนักเรียนที่ลดลง และมีแนวโน้มชัดเจนว่า นักเรียนจบม.6 เข้าเรียนมหาวิทยาลัยลดลง โดยดูได้จากจำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยที่เหลือเยอะมาก ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว โดยนอกจากจัดการเรียนการสอนแก่เด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษาแล้ว ต้องจัดการศึกษาเพื่อคนวัยทำงาน ให้แก่คนที่อยู่ในวัยทำงาน อีกทั้ง หลักสูตรไหนที่ไม่มีผู้เรียนก็ต้องปิดตัวลง หรือยุบรวม และอาจส่งผลให้มีการปรับบุคลากรในสายวิชาต่างๆ แต่ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรใหม่ ปรับการเรียนการสอน ผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ให้ตอบสนองภาครัฐ และเอกชน รวมถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่สนใจเลือกเรียนสาขาที่จบแล้วมีงานทำ อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่เห็นค่าปริญญาน้อยลง บางคนมาเรียนเพื่อเอาความรู้มากกว่าจะนำไปประกอบอาชีพ และมีทางเลือกในการเรียนมหาวิทยาลัยต่างประเทศมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยในอเมริกาดังๆ มาเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นต้น มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว บทบาทภารกิจของตนเองมากขึ้น
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้มีมติเห็นชอบการปรับเปลี่ยนวิธีการรับทราบการอนุมัติหรือการให้ความเห็นชอบหลักสูตรระดับอุดมศึกษา โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้การเปิดหลักสูตรเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย เมื่อสภาอนุมัติหลักสูตร มหาวิทยาลัยนั้นๆ จะเปิดสอนได้เลย แต่จะต้องส่งข้อมูลมาให้ สกอ. เพื่อตรวจสอบว่าหลักสูตรนั้นเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เช่น จำนวนอาจารย์ผู้สอนครบหรือไม่ วุฒิของอาจารย์จบมาตรงกับหลักสูตรที่เปิดสอนหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งจะมีการประกาศผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนทั่วไปรับทราบ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมแล้ว
"ที่ผ่านมาการรับรองหลักสูตรของมหาวิทยาลัย จะต้องส่งหลักสูตรให้สกอ. พิจารณารับรองก่อน จึงจะเปิดสอนหลักสูตรนั้นๆ ได้ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 1-2 ปี ส่งผลให้มีหลักสูตรที่รอการพิจารณาอนุมัติจาก สกอ.กว่า 3,000 หลักสูตร ซึ่งหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป จะกลายเป็นหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย และไม่ตอบโจทย์ตลาดเเรงงาน จึงต้องเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ผมได้ตีกลับ 3,000 หลักสูตรที่ค้างอยู่ใน สกอ.กลับไปยังสภา เพื่อให้ทำหน้าที่แล้ว” รมช.ศธ. กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่มอบอำนาจให้สภามหาวิทยาลัยสามารถอนุมัติหลักสูตรเอง จะทำให้เกิดปัญหาการเปิดหลักสูตรเฟ้อหรือไม่นั้น นพ.อุดม กล่าวว่า ตนคิดว่าการเปิดสอนหลักสูตรใดก็ตาม เป็นอำนาจของสภาอยู่เเล้ว และสภาต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบในการเปิดหลักสูตรแต่ละหลักสูตร หากเปิดเเล้วไม่เป็นไปตามความต้องการของตลาด หรือหากเปิดเเล้วมีความผิดพลาด และไม่ได้มาตรฐาน มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบโดยตรง