กดปุ่มสร้างโมโนเรล2สายแก้จราจร


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" กดปุ่มสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง โมโนเรล 2 สายแรกของไทย แก้วิกฤติจราจร กทม.-ปริมณฑล สั่งคมนาคมเคลียร์ปัญหาเวนคืนที่ดิน ย้ำต้องปลอดทุจริต "อาคม" รับลูกนายกฯ คุมเข้มความปลอดภัย คนกรุงได้ใช้ปลายปี 64 "รฟม." ชงบอร์ดเคาะสายสีส้มตะวันตก 31 ส.ค.นี้
    ที่บริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหมวดทางหลวงศรีนครินทร์ เขตบางนา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทย คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะกลุ่มผู้ถือหุ้น บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด  (มหาชน) เดินทางมาร่วมงานด้วย 
    โดยนายกฯ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้ถือว่าพวกเราได้มาร่วมกันสร้างบริบทให้ประเทศ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศ ถือเป็นหนึ่งในโครงการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ  ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทุกคนทราบดีว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ถือว่าหนักหนาสาหัส จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาให้ได้ แต่ปัญหาที่สำคัญคือการใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง หลายเส้นทางยังติดขัดในเรื่องที่ดินของเอกชน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องค่าเวนคืนซึ่งต้องหาวิธีการที่เหมาะสมตอบแทนประชาชน อาทิ การแบ่งปันผลประโยชน์จะทำได้หรือไม่ ขอมอบเป็นนโยบายให้กระทรวงคมนาคมไปดำเนินการ ทำอย่างไรให้ลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน  โดยพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น และมีการสั่งการตรวจสอบลงไป จึงขอย้ำว่าจะต้องไม่มีการทุจริตอย่างเด็ดขาด ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครทั้งสิ้น 
    "การก่อสร้างต่างๆ ย่อมเกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างแน่นอน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขอความร่วมมือ  อย่าลืมว่าคนที่อยากให้ก่อสร้างก็มี แต่ก็ยังมีคนไม่อยากให้ก่อสร้างเพราะไม่ได้ใช้งาน ก็เกิดการต่อต้าน  ต้องชี้แจงให้คนทั้งสองฝ่ายเข้าใจถึงความจำเป็น ไม่อย่างนั้นจะขัดแย้งกันไปมาไม่จบสิ้น ก็ฝากทุกคนช่วยทำความเข้าใจด้วย วันนี้เราต้องเสียสละและช่วยกัน รวมทั้งขอฝากผู้ประกอบการว่า ในการดำเนินโครงการต้องทำให้มีมาตรฐาน มีความรวดเร็ว แข็งแรง รวมทั้งดูแลประชาชนในเรื่องของราคาค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุด เราต้องทำให้คนประมาณ 15 ล้านคน ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการพัฒนาและมีการเจริญเติบโตขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ขอให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างของโครงการอื่นๆ อีกมากมาย เพราะรัฐบาลไม่สามารถลงทุนทั้งหมดได้ ภาระจะเยอะ ต้องช่วยรัฐบาลระวังในเรื่องของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างด้วย น่าจะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินสัดส่วนที่กำหนด ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำให้เกิดความเชื่อมั่นให้ได้ว่า วันข้างหน้าจะต้องไม่เกิดเรื่องราวที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต 
    จากนั้นนายกฯ ทำพิธีกดปุ่มเพื่อเทคอนกรีตลงสู่ฐานราก ถือเป็นสัญลักษณ์เริ่มการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สาย ก่อนเดินไปดูจุดเทคอนกรีต พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการโครงการ และกล่าวระหว่างเยี่ยมชมด้วยว่า "ทุกอย่างต้องทำให้เกิดความไว้วางใจ"  
    ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับค่าเวนคืนที่ดินที่จะก่อสร้างโครงการดังกล่าว ในส่วนของราชการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งกรมทางหลวงและกรุงเทพมหานครได้ส่งมอบพื้นที่เกือบ 100% เป็นไปตามกฎหมายกรอบงบประมาณ ส่วนเอกชนกำลังดำเนินการตามขั้นตอนของข้อกฎหมาย  
    ส่วนที่มีข้อเรียกร้องให้เพิ่มค่าเวนคืนที่ดินนั้น มีขั้นตอนทางกฎหมายรองรับ และจะต้องเป็นไปตามราคาประเมินและมีหลักฐานการซื้อขายที่มาจากกรมที่ดิน ไม่ใช่การเรียกร้องราคาที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนเจ้าของ
    ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงการให้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย และให้เร่งคืนพื้นที่ผิวจราจรให้เร็วที่สุดหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทาง โดยกระทรวงคมนาคมจะใช้ระบบตั๋วร่วมเข้ามาดำเนินการเชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และจะจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว ต่อไปคิดระยะทางตามสถานี 
    สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีกลุ่ม BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานมีระยะเวลาการลงทุนรวม 33 ปี 3 เดือน แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาพร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 งานให้บริการและบำรุงรักษา ระยะเวลา 30 ปี โดยให้เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสาร
    ปัจจุบันการดำเนินงานระยะที่ 1 ของรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา  3.10% (สิ้น ก.ค.61) ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา 5.07% (สิ้น ก.ค.61) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มั่นใจว่าสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและทดลองระบบพร้อมเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปี 64 ส่วนการเดินรถไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดจะมีกรอบราคาค่าโดยสาร 14-42 บาท 
    นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า  รฟม.เตรียมเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการร่วมทุน PPP Net Cost เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ หากได้รับอนุมัติจะเปิดประมูลเป็นสัญญาเดียว ประกอบด้วยงานก่อสร้างโยธา วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท และงานวางระบบ รวมถึงบริหารจัดเก็บรายได้ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท
    นอกจากนี้จะเสนอโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จากสถานีศรีรัชเข้าเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม.ในวันที่ 31 ส.ค.นี้เช่นกัน หลังจากที่โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ต่อขยายเส้นทางไปตามถนนรัชดาภิเษกสิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.ได้รับอนุมัติไปครั้งที่แล้ว ทั้งหมดจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อบรรจุในแผนแม่บทการจราจร หลังจากนำเสนอเข้ากระทรวงคมนาคมเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะจะมีการเวนคืนที่ดิน ซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินการและเอกชนจะจ่ายชดเชยภายหลัง
    นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รวบรวมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอร่างกฎหมายต่อ ครม. ทั้งนี้ คาดหวังว่าการใช้งานระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งสาธารณะ จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นการเดินทางที่ประหยัดเวลา ประหยัดค่าเดินทาง และสนับสนุนการลดการใช้เงินสด  เพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายของภาครัฐ
    ขณะที่นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี วงเงิน 2.15 แสนล้านบาทว่า บ.ซิโน-ไทยฯ จะเป็นผู้ดูแลแผนงานก่อสร้างภาพรวมราว 1.2 แสนล้านบาท เบื้องต้นยอมรับว่าเป็นงานที่ยากเพราะมีเวลาก่อสร้างเพียง 5 ปี ดังนั้นจึงต้องอาจเจรจาหาตัวบริษัทซับคอนแทรกต์มาช่วยดำเนินงาน ส่วนด้านการเข้าประมูลนั้นจะจับกลุ่มพันธมิตรเดิม คือ BSR ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรรายที่ 4 แต่ต้องรอให้บอร์ดของพันธมิตรเห็นชอบเรื่องดังกล่าวก่อน จากนั้นจึงลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ซึ่งคาดว่าจะลงนามได้เร็วที่สุดต้นเดือน ก.ย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"