คณะกรรมการสอบสวนของยูเอ็นเรียกร้องให้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.ของพม่าลาออกจากตำแหน่ง และให้นำตัวนายพลผู้นี้พร้อมกับนายทหารอีก 5 นายของพม่า ดำเนินคดีในศาลระหว่างประเทศในความผิดฐานล้างเผ่าพันธุ์, ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและก่ออาชญากรรมสงคราม ขณะเฟซบุ๊กสั่งแบน 20 แอคเคาต์ซึ่งรวมถึงของนายพลผู้นี้ด้วย
แฟ้มภาพ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส.พม่า ร่วมพิธีตรวจแถวสวนสนามวันวีรชน ที่นครย่างกุ้ง เมื่อ 19 ก.ค. 2561 / AFP
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานในวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม 2561 ว่าคณะกรรมการค้นหาความจริงที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2560 เพื่อสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เปิดแถลงข่าวที่นครเจนีวาในวันเดียวกัน ระบุว่า นายพลพม่าหลายนายซึ่งรวมถึงพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ต้องถูกสอบสวนและดำเนินคดีฐานล้างเผ่าพันธุ์ในภาคเหนือของรัฐยะไข่
กองทัพพม่าเปิดปฏิบัติการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่ยกกำลังหลายร้อยคนโจมตีที่ตั้งของฝ่ายความมั่นคงในรัฐยะไข่ และสังหารตำรวจกว่า 10 นายเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ผลักดันให้ชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐนี้ราว 700,000 คนอพยพหนีข้ามแดนเข้าสู่บังกลาเทศ พร้อมกับคำบอกเล่าถึงความเหี้ยมโหดของทหารและม็อบชาวพุทธยะไข่ ที่วางเพลิง, เข่นฆ่า และข่มขืน ซึ่งทำให้ยูเอ็นระบุว่า เทียบได้กับการล้างเผ่าพันธุ์ ทางการพม่าปฏิเสธคำกล่าวหานี้ โดยยืนกรานว่าปฏิบัติการของกองทัพเพื่อปราบปรามกองกำลังติดอาวุธโรฮีนจา
รายงานผลการสอบสวนระบุว่า พวกนายทหารพม่าต้องถูกสอบสวนและดำเนินคดีฐาน "ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและก่ออาชญากรรมสงคราม" ต่อชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ รวมถึงต่อชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐกะฉิ่นและรัฐชานทางเหนือของพม่า นอกจากนี้ รายงานยังชี้ว่า กลยุทธ์ของกองทัพนั้นไม่สอดคล้องและไม่สมส่วนอย่างยิ่งต่อภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่มีอยู่จริง
คณะกรรมการสรุปไว้ในรายงานว่า มีข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนการสอบสวนและดำเนินคดีกับพวกนายทหารในกองทัพพม่า พร้อมกับระบุชื่อนายทหารพม่า 6 นาย ซึ่งรวมถึง ผบ.สส. ที่อยู่ในสายบังคับบัญชา และยังมีรายนามทหารพม่าอีกจำนวนมากที่คณะกรรมการพร้อมจะแบ่งปันให้แก่องค์กรที่มีศักยภาพและน่าเชื่อถือเพื่อนำตัวบุคคลเหล่านี้มาดำเนินคดีตามบรรทัดฐานและมาตรฐานระหว่างประเทศ
มาร์ซูกิ ดารุสมาน ประธานคณะกรรมการอิสระระหว่างประเทศค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพม่า แถลงที่เจนีวาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 / AFP
มาร์ซูกิ ดารุสมาน ประธานคณะกรรมการชุดนี้ ยืนกรานระหว่างการแถลงข่าวที่เจนีวาด้วยว่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ควรลาออกจากตำแหน่งทันที
รายงานได้กล่าวโจมตีนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐ ด้วยว่า เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรายนี้ไม่ได้ใช้สถานะของการเป็นผู้นำรัฐบาลโดยพฤตินัย หรืออำนาจเชิงศีลธรรมของนาง เพื่อยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้
คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสอบสวนภายในพม่า พวกเขาจึงอ้างอิงผลการสอบสวนจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เหยื่อและพยาน 875 ราย รวมถึงภาพถ่ายดาวเทียม และภาพถ่าย วิดีโอและเอกสารที่น่าเชื่อถือ
รายงานบรรยายรายละเอียดความโหดร้ายที่กระทำต่อชาวโรฮีนจา ทั้งการฆาตกรรม, บังคับให้สูญหาย, ทารุณ และใช้ความรุนแรงทางเพศ ทั้งการข่มขืน และรุมโทรม โดยพวกทหารที่กระทำในวงกว้าง ภายในหมู่บ้านอย่างน้อย 10 แห่ง ซึ่งบางกรณีมีผู้หญิงและเด็กหญิง 40 คน โดนกระทำในคราวเดียว
คณะกรรมการยังกล่าวถึงบทบาทของเฟซบุ๊กด้วย โดยชี้ว่าสื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ความเกลียดชังอย่างได้ผลในพม่า ซึ่งทำให้เฟซบุ๊กประกาศทันทีหลังจากนั้นว่า พวกเขาได้แบนบัญชีของบุคคลและองค์กรชาวพม่า 20 บัญชีจากการใช้เฟซบุ๊ก รวมถึงบัญชีของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |