ขอเท่ากันหมด! แรงงานจี้ล้มมติ ขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า


เพิ่มเพื่อน    

สมาพันธ์แรงงานฯ จี้รัฐบาลทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แนะยึดหลักสากลเท่าเทียมกันทั่วประเทศ เลิกอนุ กก.จังหวัดให้มี กก.ระดับชาติ ครม.ยังไม่ถกข้อเสนอ กกร. หลังขอให้ทบทวนมติ แจงยังมีเวลาพิจารณา นายกฯ ระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลดีเงินหมุนเวียนในระบบ วอนทุกฝ่ายร่วมมือกันหาข้อมูลให้ชัดเจน  มิเช่นนั้นจะล่มสลาย กกร.เผยยื่นนายกฯ ทบทวนแล้ว ชี้ไม่สอดคล้องสภาพ ศก.ในพื้นที่ หวั่นกระทบเอสเอ็มอีส่งผลคนว่างงานเพิ่ม  
    ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) วันที่ 23 มกราคม สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. และ น.ส.ธนพร วิจันทร์ รองประธาน คสรท. พร้อมสมาชิกประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามหลักสากลและเท่ากันทั่วประเทศ
    โดย น.ส.ธนพรกล่าวว่า คสรท.ขอประกาศจุดยืนเดิม และเรียกร้องต่อนายกฯ และรัฐบาล 4 ข้อ คือ 1.ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามหลักการสากล เพื่อให้สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้อย่างเพียงพอ 2.ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั่วประเทศ 3.ยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ ที่มีองค์ประกอบครอบคลุมทุกภาคส่วน และ 4.ให้รัฐบาลวางมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง หากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานไม่ยอมทบทวนเรื่องนี้ เราจะมีการเคลื่อนไหวต่อไป
    ด้านนายชาลีกล่าวว่า เราต้องการให้มีการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากกลไกการทำงานล้มเหลว ทั้งนี้ พบว่าอนุกรรมการฯ บางจังหวัดไม่มีตัวแทนลูกจ้าง ทำให้ค่าจ้างที่เสนอเข้ามาส่วนกลาง มาจากนายจ้างฝ่ายเดียว และบอร์ดค่าจ้างพิจารณาค่าจ้างโดยไม่มีการนำข้อมูลจากอนุกรรมการฯ มาพิจารณา เพราะมีธงของนายจ้างและรัฐบาลอยู่แล้ว ตัวเลขจึงไม่ตรงกับที่อนุกรรมการฯ แต่ละจังหวัดเสนอมา จึงมองว่าเป็นการใช้อนุกรรมการฯ เพียงเพื่ออ้างอิงปรับค่าจ้างเท่านั้น  และจะเสนอให้บอร์ดค่าจ้างเพิ่มคณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการหรือนักเศรษฐศาสตร์สังคม จะได้ครอบคลุมทุกด้าน ประเด็นสำคัญที่รับไม่ได้คือการลดภาษีให้กลุ่มทุน 1.5 เท่า และลดเงินสมทบประกันสังคม 1 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอยากให้ รมว.แรงงานหรือปลัดกระทรวงแรงงาน ทบทวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง เป็นที่ยอมรับทั้งนายจ้างและลูกจ้างด้วย
    ภายหลังการประชุม ครม. พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ยังไม่ได้มีการหารือถึงกรณีข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ขอให้รัฐบาลทบทวนมติการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากเห็นว่ายังพอมีเวลาที่จะพิจารณา เพราะเรื่องดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.2561
    โดยในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน อีกทั้งการปรับขึ้นค่าแรงก็จะต้องช่วยให้เกิดเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยติดตามและสอดส่องดูแลเรื่องการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่เป็นธรรมด้วย
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ที่เสนอให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศว่า ส่วนหนึ่งมาจากที่รัฐบาลไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยนับตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เพราะโดยปกติแล้วจะมีการขึ้น 1% ต่อปี แม้ตัวเลขการขึ้นค่าแรงจะไม่ถือว่าสูงมากนัก แต่ก็จะเป็นผลดี ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินในระบบมากขึ้น จึงขอให้พี่น้องแรงงานมีความเข้าใจด้วยว่า ถ้าหากเราทำโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง แข็งแรง มั่นคงได้ เช่น การลงทุน ก็จะทำให้รายได้ของประเทศมีมากขึ้น เก็บภาษีได้มากขึ้น ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง จนนำไปสู่การปรับขึ้นค่าแรงในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อจะขึ้นค่าแรงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหาข้อมูลให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเกิดการล่มสลาย เกิดปัญหาหนักกว่าเดิม ขอให้ทุกคนได้ร่วมมือกันก่อนในระยะแรก
      นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศว่า นับจากนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนที่มีการรวมกลุ่มเข้าสู่กระบวนการ แม้จะยังมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเราจะดูว่าส่วนไหนที่ได้รับประโยชน์แล้ว และส่วนไหนที่ยังไม่ได้รับ จึงต้องมีแผนงานเพื่อแก้ไขความยากจน ส่วนเรื่องสภาวะเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ติดตามอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใด โดยต้องดูเศรษฐกิจโดยรอบประเทศและทั่วโลกประกอบกัน  เพราะวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินกันทั่วโลก เกิดความผันผวนต่างๆ จึงต้องดูให้รัดกุม เพราะจะผลีผลามมากไม่ได้        
     พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศไม่ตรงตามมติอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดว่า ตัวเลขนี้เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ยืนยันว่าตรงกับของจังหวัด จึงไม่น่ามีปัญหาอะไร ซึ่งในการเสนอ ครม. จะยึดตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ส่วนสาเหตุที่ยังไม่สามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ได้ เพราะเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนธุรการ โดยจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า
    รมว.แรงงานกล่าวว่า หลักการในการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5% โดยเฉลี่ย ถือว่าสูงในรอบ 3- 4 ปีที่ผ่านมา ความจริงแล้วเขาเสนอมาเพียงไม่ถึง 1% แต่รัฐบาลมองทุกด้าน เพราะเห็นว่าน่าจะพิจารณาโดยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน ผู้ประกอบการ และเรื่องเงินเฟ้อ ค่าแรงที่ขึ้นครั้งนี้ต่ำสุดคือ 5 บาท และสูงสุดคือ 22 บาท อย่างไรก็ตาม คิดว่าคงไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ แต่ส่วนใหญ่ตอบรับค่อนข้างดี ส่วนเรื่องผลกระทบเรามีมาตรการรองรับหลายเรื่องแล้ว จากข้อมูลที่เรามีในช่วงใหม่ๆ อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่หลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้นมากต่อเศรษฐกิจ ส่วนกรณีเครือข่ายแรงงานเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นเท่ากันนั้น ต้องดูหลายเรื่อง และเรื่องดังกล่าวต้องมีอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา
    ทางด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. เปิดเผยถึงผลกระทบต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ว่าได้สอบถามความคิดเห็นไปยังสมาชิกทั่วประเทศ กว่า 92% ของจังหวัดทั้งหมด เห็นว่าปรับเกินกว่าที่คณะอนุกรรมการจังหวัดเสนอ และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งนี้กกร.จะเสนอรัฐบาลให้ทบทวนมติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ซึ่งอยากให้เป็นไปตามมติของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
    "รวมถึงจะส่งผลต่อ 35 จังหวัดที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง อาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้งค่าครองชีพจะสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ทั้งนี้ วันที่ 23 ม.ค. กกร.มีการนำเสนอมติดังกล่าวต่อนายกฯ อย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เพราะจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร บริการ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ซึ่งจะเป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นจากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน” นายกลินท์กล่าว
    นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางที่ให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ทั่วประเทศใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ เพราะการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นตามมติคณะกรรมการค่าจ้างกลางฯ 5-22 บาท หรือ 1.64-7.14% จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการเกษตร ภาคบริการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีจำนวนมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"