การศึกษาของ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก
เรื่อง “เจาะลึกแนวทางการรับรองไม้ยืนต้น 58 ชนิดหลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่”
จากมติคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 5/2561 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เห็นว่าการนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยมีการออกเป็นกฎกระทรวงตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 (พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ) รองรับ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 58 ชนิด ไม้สัก พะยูง ชิงชัน แดง เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลจำปี จามจุรี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ มะขามป้อม หว้า กฤษณา ไม้หอม ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม ฯลฯ เป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้เปิดเวทีกลางเสวนาทางวิชาการเรื่อง “เจาะลึกแนวทางการรับรองไม้ยืนต้น 58 ชนิด หลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่” เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และนำเสนอข้อมูลในเชิงวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการไม้ยืนต้น 58 ชนิด หลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่ ให้ผู้สนใจจากทุกภาคส่วนได้นำไปใช้ประโยชน์
ในเวทีเสวนา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า หากมองถึงปัญหาในการทำการรับรองไม้ยืนต้น ในปัจจุบันไม้เหล่านี้ยังไม่มีมูลค่า นำมาสู่ยุทธศาสตร์ต้นไม้เพื่อแผ่นดิน ที่สามารถใช้ไม้ยืนต้น เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทางธุรกิจ อยู่บนพื้นฐานในที่ดินกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย และจุดสำคัญที่จำเป็นต้องเร่งทำการศึกษาคือ การประเมินมูลค่าของไม้ยืนต้นอย่างเป็นรูปธรรม การตัดไม้ยืนต้นในที่กรรมสิทธิ์นั้นยังคงทำได้ยาก เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมายในมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 (พ.ร.บ.ป่าไม้) และที่สำคัญคือ การส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ในการปลูกและบำรุงรักษาไม้ยืนต้นให้แก่ประชาชน เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกชนิดไม้ยืนต้นแต่ละชนิดในพื้นที่ต่างๆ และการเสนอแนะให้มีการพิจารณาตัดคำว่า 58 ชนิดออก เพราะในความเป็นจริงแล้วไม้ยืนต้นในประเทศไทยนั้นมีมากกว่า 58 ชนิดอยู่แล้ว
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้ให้ความเห็นว่า จากข้อกำหนดในมาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่ได้กำหนดชนิดไม้หวงห้าม อาทิ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้พะยูง ฯลฯ ที่ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ใดในประเทศ รวมถึงที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครอง จะต้องถูกควบคุมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ หากทำการตัด ฟัน โค่น และอื่นๆ จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
“ดังนั้น เมื่อได้มีการแก้ไขมาตรา 7 ว่าให้ไม้ทุกชนิดที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้าม ในการทำไม้เพื่อประกอบการค้าหรือเพิ่มมูลค่า ไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เว้นแต่กรณีที่ต้องการส่งออกไม้หรือผลิตภัณฑ์ออกนอกราชอาณาจักรจะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำไม้ในพื้นที่เอกชนตามนโยบาย ปลูกง่าย ตัดง่าย ขายคล่อง และการเอื้อประโยชน์ในการนำไปเป็นหลักค้ำประกัน เพราะประชาชนบางคนในที่ดินก็มีไม้ยืนต้นที่มีมูลค่า ที่สามารถใช้แทนทรัพย์สินอื่นได้” บรรจงกล่าว
นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร
ด้านนายศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคาร ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการรับรองไม้ยืนต้นเพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ โดยใช้กระบวนการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง ในรูปแบบธนาคารต้นไม้ เพื่อประเมินต้นไม้และมูลค่า โดยใช้ฐานข้อมูลตารางปริมาตรไม้ ที่จัดทำโดยคณะวนศาสตร์ในปี 2552 เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวเพิ่มว่า ในปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมในธนาคารต้นไม้ 115,217 คน จาก 6,804 ชุมชน ผ่านการดำเนินการ 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1.เวทีปลูกต้นไม้ในใจคน 2.จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3.จัดตั้งธนาคารต้นไม้ 4.กำหนดพื้นที่ปลูกต้นไม้ 5.ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ 6.บันทึกรายการและมูลค่าต้นไม้ (สมุดธนาคารต้นไม้) 7.การเชื่อมโยงกับเครือข่าย โดยมีเงื่อนไขใช้ที่ดินจำนองร่วมกับมูลค่าของต้นไม้ ที่ประเมินเป็นหลักประกันในราคาการประเมินร้อยละ 50 โดยในการเปรียบเทียบราคาตามมาตรฐานของต้นไม้ที่รับขึ้นทะเบียน เช่น ต้นไม้อายุ 10 ปี มีการเจริญเติบโตที่มีเส้นรอบวง 74.17 เซนติเมตร จะมีมูลค่า 2,362 บาท/ต้น
ในส่วนของธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) นางวิมลรัตน์ เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ตามข้อกำหนด พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ได้ทำหน้าที่รับแจ้งการลงทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการกู้ โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนารมณ์ให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย
“ในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มากกว่า 2,800,000 ราย และประมาณ 800,000 ราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยส่วนใหญ่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ดังนั้น ในการใช้ทรัพย์เป็นหลักประกันที่กำหนดไว้ ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง ทรัพย์สินทางปัญญา สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ได้ออกเพิ่ม ในการกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันนั้น ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการ” วิมลรัตน์กล่าว
ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรมีการจัดการระบบการประเมินมูลค่าที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ มีการพัฒนาและประกาศใช้คู่มือการประเมินมูลค่า และพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรในการประเมินมูลค่าของต้นไม้ ผลักดันให้การขับเคลื่อนการนำต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจที่ได้มาตรฐาน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |