ความละเอียดละไมของดนตรีคลาสสิก ที่ไม่ต้องมีคำบรรยาย แต่ก็สัมผัสได้ถึงความไพเราะงดงามในเนื้อหาดนตรี แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ในเมืองไทย ดนตรีคลาสสิกกลับไม่เติบโต แม้ว่าดนตรีคลาสสิกจะเข้ามาในไทยนานมากนับร้อยปีมาแล้ว
นี่คือคำถามที่คนรักดนตรีคลาสสิกถามมานานหลายสิบปี และจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด อีกทั้ง สถานการณ์ของดนตรีคลาสสิก ก็ยังย่ำอยู่ที่เดิม มีคนฟัง คนเล่น ในวงจำกัด เฉพาะผู้ที่รักในดนตรีประเภทนี้เท่านั้น
เทียบกับประเทศเอเชีย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ได้กลายเป็นผู้นำโลกด้านดนตรีคลาสสิกไปแล้ว แม้ไม่มีเหตุผลแน่ชัดว่าเหตุใดคนผิวเหลืองเอเชีย ซึ่งบางประเทศมีความเป็นชาตินิยมสูง ถึงได้ชมชอบดนตรีคลาสสิก และมุมานะจนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับโลกได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเวทีแข่งขันในยุโรป หรืออเมริกา ชาวเอเชียจะกวาดรางวัลเป็นแชมป์ไปเกือบทุกที่
วกกลับมาที่ประเทศไทย วงการดนตรีคลาสสิกของไทย อยู่ในแนวระนาบมาตลอด แต่เมื่อปีที่แล้วได้เกิดจุดเปลี่ยนบางอย่างขึ้น เมื่อวงดนตรีซิมโฟนีเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ Thai Youth Orchestra :TYO TYO ไปชนะเลิศเป็นแชมโลกในเวทีการแข่งขัน เทศกาลดนตรีเยาวชนนานาชาติครั้งที่ 11 หรือ 11th Summacum laude International Youth Music Festival Vienna2017 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียเมื่อปีที่แล้ว
และเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม เพิ่งได้รับเชิญจากรัฐบาลประเทศสเปนให้ไปแสดงคอนเสิร์ต International Alicante of Youth Orchertra :FIJO ครั้งที่ 6 ที่เมืองอาลิคันเต จังหวัดหนึ่งในแคว้นบาวาเรีย ประเทศสเปน โดยเป็นการแสดงทั้งหมด 6 รอบ แบ่งเป็นการแสดงเดี่ยวของวง 3รอบและแสดงร่วมกับวงเยาวชนประเทศอื่น คือ เวเนซูเอล่า โปแลนด์ และสเปน อีก 3รอบ ภายใต้การกำกับของคอนดักเตอร์ชาวสเปน ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ชมการประเทศเจ้าภาพอย่างคับคั่ง เสียงปรบมือ ที่ยาวนาน
ถือได้ว่า TYO เป็นวงซิมโฟนีเยาวชนไทยวงแรกของไทย ที่ได้ออกไปแสดงนอกประเทศ ในดินแดนทวีปยุโรป ซึ่งเป็นต้นตำรับของดนตรีคลาสสิก ซึ่งคนดูชาวสเปนเกินครึ่ง คาดว่าไม่รู้จักประเทศไทย และน้องๆสมาชิกวงเองก็ไม่รู้จักผู้มาชมชาวสเปน นับเป็นดนตรีที่คนแปลกหน้า เล่นให้คนแปลกหน้าฟัง แต่ต้องยอมรับว่า ผลลัพธ์ที่ได้ได้รับการตอบรับจากชาวสเปน ที่ดีเกินคาด
เด็กๆเหล่าสมาชิกวงTYO ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการแสดง สมาชิกวงที่มีอายุน้อยสุด 13ปีและอายุมากสุดไม่เกิน25ปี
เยาวชนTYO มีความรู้สึกอย่างไรกับประสบการณ์การไปแสดงที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก น้องปีเตอร์ หรือ ดช.ปีย์ ภักดีจิตร์ วัย 13ปี ไวโอลิน 1 ที่เล่นไวโอลินมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ กล่าวว่า 3 คอนเสิร์ตที่สเปน มีคนดูเยอะมากทำให้ รู้สึกมีแรงบันดาลใจในการเล่นมากขึ้น และรู้สึกอยากเล่นให้เต็มที่ ไม่ต้องห่วงว่าจะเล่นผิด ในฐานะนักดนตรี รู็ว่าเสียงปรบมือที่คนดูชาวสเปนมอบให้เป็นความจริงใจบ่งบอกว่าเราเล่นดี และการที่ได้เห็นคนดูชาวสเปนจำนวนที่เยอะมากๆ มากกว่าคนดูที่ประเทศไทยหลายเท่าตัว นับเป็นความภูมิใจมากๆที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยได้มาแสดงครั้งนี้ และถือว่าทำให้ฝรั่งได้เห็นว่าวัฒนธรรมของเราไม่ใช่เป็นเรื่องกับกับแค่ช้างหรืออาหารไทยเท่านั้น แต่ทำให้เห็นว่าความสามารถของคนไทย ที่อาจจะเก่งแตกต่างออกไปจากที่ผ่านมา
น้องปีเตอร์
"รอบแรกคนดูอาจจะน้อยครับ แต่ก็มากกว่าคนดูที่บ้านเรา แต่พอรอบที่ 2กับ 3คนดูเยอะมากขึ้น และซ้ำหน้าเดิมๆอีก แสดงว่าเราได้ทำอะไรถูกต้องสักอย่าง คนดูถึงได้มากขึ้นเรื่อยๆ "หนุ่มน้อยกล่าว
นางสาวอติภา วิเศษโอภาส น้องแคนดี้ อายุ 16ปี ไวโอลิน 1 ที่เล่นไวโอลินมาตั้งแต่ 7ขวบ กล่าวภูมิใจได้มาเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้คนต่างชาติได้รู้จักคนไทย ความรู้สึกที่มีคนดูชาวสเปนปรบมือดัง ยาวนาน และเมื่อได้เห็นเขายิ้ม เราก็ยิ้มไปด้วย ทำให้หายเหนื่อย
"ตอนที่พวกเราออกไปเดินเที่ยว มีบางคนเดินตาม มาทักบอกว่าจำได้ว่าเราเล่นคอนเสิร์ตเมื่อวาน บอกว่าเล่นได้ดีมาก แค่นี้หนูก็ดีใจมาก เพราะความรู้สึกก่อนมานี่ เหนื่อยมาก ซ้อมหนักมาตลอดแต่พอมาเห็นคนดูที่นี่ ที่เยอะก็หายเหนื่อยเลย"
น้องแคนดี้
ดญ.สขิตา แก้วเทวี หรือน้องจอม อายุ 13ปี เล่นไวโอลินตั้งแต่ 8ขวบ บอกว่า การมาแสดงครั้งนี้ เป็นการโชว์ต่างชาติเห็นความสามารถ และสิ่งที่เห็นคือเขาชอบเวลาเราเล่น ไม่เคยเล่นต่างประเทศ เคยเล่นแต่ในประเทศไทยซึ่งคนดูไม่เยอะขนาดนี้ ตอนแรกตกใจเห็นคนดูที่สเปนเยอะมาก มีความตื่นเต้น กลัวจะเล่นผิด พอตั้งสติก็สามารถเล่นต่อไป
"พอเห็นพวกฝรั่งขอบ หนูก็ยิ้ม พอเขาปรบมือ พอเขาลุกขึ้นยืน หนูก็รู้สึกดีมากๆ พอเราเล่นจังหวะกับคนดู เขาก็เล่นตามเรา เหมือนเขาเอ็นเตอร์เทนไปกับเรา ทำให้การแสดงไม่น่าเบื่อ เทียบกับคนดูคนไทยจะไม่ค่อยเล่นกับเรามาก ดีใจมากเหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งในวง การปรบมือของเขา เหมือนเขาปรบมือให้เราด้วย เพื่อนๆ ก็เหมือนหนู คือยิ้มรับกับการตอบรับของเขา "น้องจอมกล่าว
น้องจอม
น้องการ์ด -ยศธร พงศกร กิจรุ่งเรืองไพศาล อายุ 20ปี กำลังเรียนชั้นปี 3 คณะดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่นคลาลิเน็ต ตั้งแต่อายุ13 โดยเริ่มจากการเล่นวงโยธวาทิตโรงเรียนก่อนที่จะมาเป็นสมาชิกTYO การ์ดบอกว่า คนดูที่สเปนเยอะกว่าบ้านเรา แต่การเล่นความรู้สึกที่ให้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนดู เพราะมองการสร้างดนตรี มันเป็นการสร้างจากฝ่ายเรา เราไม่สามารถเล่นตามคนดูได้ ไม่ใฃ่คนเยอะแล้วถึงจะใส่เต็มที่
"ที่สเปนเราสัมผัสได้ว่า เขาชอบเราจริงๆ เสียงปรบมือจากคนดู สำหรับผมเป็นเสียงอีกรูปแบบหนึ่งที่ก้องในใจ แม้ผมหลับตา ผมก็แยกได้ว่าเป็นเสียงปรบมือตามมารยาท หรือเสียงจากใจจริงๆ ผมขนลุกเลย แม้ตอนแรกผมรู้สึกเหนื่อยๆ เราต้องยืนขึ้น เพื่อต้อนรับเสียงปรบมือที่เขาให้เรานานมาก แต่พอนึกขึ้นได้ว่าภาพลักษณ์ของคนไทยคือสยามเมืองยิ้ม ผมยิ้มเต็มที่เลยครับ "
น้องการ์ด
นนท์ -นนทกร มีแสง อายุ 23ปี เป็นสมาชิกที่ถือว่าอาวุโสเป็นรุ่นพี่ของวง นนท์ เป็นผู้เล่น ฮอร์น จบปริญญาตรีด้านศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรังสิตแล้ว และเป็นสมาชิกวง TYO มายาวนาน7-8ปี เคยออกจากวงไปพักหนึ่งแล้วกลับเข้ามาใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของวงที่ไปชนะเป็นแชมป์โลกที่เวียนนาเมื่อปีที่แล้ว นนท์บอกเล่าความรู้สึกที่ได้ไปแสดงที่สเปนว่า เขาให้เกียรตินักดนตรี มันจะฟังได้จากเสียงปรบมือ ปกติเล่นคอนเสิร์ตที่ไทยคนไม่ได้ปรบมือแบบนี้ แต่ที่เวียนนาปีที่แล้ว มีการปรบมือแบบนี้ เหมือนเราให้เขา เขาก็ให้เรากลับมาที่สเปนก็เช่นกัน
"เหมือนตอนเด็กๆผมถามตัวเองว่า เราซ้อมมาตั้งนานหลายชั่วโมง แล้วพอเวลาเล่นเสร็จ คนดูเขาปรบมือ ได้เพียงแค่นี้หรือ แต่พอไปเวียนนา ผมรู้ว่าใช่อย่างนี้จริงๆ รู้สึกภูมิใจ ชื่นใจ ที่ซ้อมมาทั้งหมดก็หายเหนื่อย ที่สเปนก็เหมือนกันครับ ภูมิใจ หายเหนื่อยด้วยเช่นกัน ดีใจกับตัวเอง ดีใจกับประเทศไทยที่ได้รับโอกาสครั้งนี้ โอกาสไม่ได้มาตลอด ถ้าถามว่า จะมีผลยังไงต่อไป ผมรู้สึกว่าหลังจากนี้ มันทำให้วงการดนตรีคลาสสิกเกิดการขยับเขยื้อน ไม่Stable เหมือนแต่ก่อน มันต้องมีอะไรสักอย่างเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้รุ่นน้องรุ่นต่อๆไป ได้รับโอกาสมากขึ้น ตรงนี้ป็นจุดเปลี่ยนหรือโอกาส ให้เขารู้จักเรามากขึ้นในด้านดนตรี"นนท์กล่าวสรุป
นนท์
ไม่ได้มีแต่เพียงความรู้สึก ดีใจ ภาคภูมใจในฐานะตัวแทนประเทศไทยเท่านั้น น้องๆหลายคนยังมีความหวังว่าวงการดนตรีคลาสสิกจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า สาวน้อยแคนดี้บอกว่า อยากให้TYO เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีคนในประเทศเรามาดูมากขึ้น ใส่ใจดนตรีคลาสสิกมากขึ้น เพราะเวลามีคอนเสิร์ตคนบ้านเรายังมาดูน้อย แต่ที่นี่เขาให้ความสำคัญ
โพสต์
ซัน
แดน
ขณะที่ โชติ บัวสุวรรณ (ซัน) ไวโอลิน อัจยุติ สังข์เกษม (โพสต์) วิโอลา สมาชิกวงTYO ที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว ทำงานเป็นข้าราชการสังกัดกรมศิลปากร และคณิน อุดมมะนะ (แดน) ไวโอลิน อดีตสมาชิกวงที่มีดีกรีเป็นอาจารย์คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันทั้ง 3คนมีฐานะเป็นสมาชิกวง ที่่ร่วมเล่น และยังเป็นผู้ช่วยฝึกสอนการเล่นให้กับน้องๆ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้วงการดนตรีคลาสสิกของไทยพัฒนาก้าวหน้าไปมากกว่านี้ เพราะการรับรู้เรื่องดนตรีคลาสสิกไทยยังอยู๋ในวงแคบ และต่างบอกว่าเด็กไทยเก่ง แต่ขาดประสบการณ์ จึงต้องได้รับการสนับสนุนเติมเต็มในส่วนนี้
"แดน"ที่มีสถานภาพเป็นอาจารย์ด้านดนตรี มองว่า ถ้าการพัฒนาประเทศทำให้เราต้องพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีขึ้นมา การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถดนตรีคลาสสิกก็เหมือนกับการพัฒนาอีกด้านของประเทศที่เราควรให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังจะเห็นได้ว่า เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือจีน ที่เป็นประเทศที่เพิ่งพัฒนาประเทศไม่นาน ล้วนให้ความสำคัญกับดนตรีคลาสสิกอย่างมาก ให้การสนับสนุนมากมายอย่างจีน มีการเปิดมิวสิคฮอลล์มาก มากจนมีวงไม่พอไปเล่น ทุกวันนี้ นักดนตรีคลาสสิกของจีนก้าวหน้าไปไกล มีความสามารถเป็นเลิศ จนทำให้ผู้นำด้านดนตรีคลาสสิกไม่ได้อยู่ที่ตะวันตกอีกต่อไป แต่อยู่ที่เอเชียแทน
"ในไทยผมเชื่อว่า วงการดนตรีคลาสสิกจะพัฒนาขึ้น แต่ต้องใช้เวลาสัก 10ปี คงต้องเป็นช่วงของคนรุ่นใหม่ Generation ใหม่ที่จะมาสานต่อ แต่เราต้องปลูกฝังคนตั้งแต่วันนี้ เหมือนอย่างที่ประเทศเจริญแล้วเขาทำกัน ในบ้านเราพวกมิวสิค ฮอลล์ เพื่อเล่นวงออร์เคสตรา ยังมีน้อย และเรายังต้องโฟกัสไปที่การสร้างประสบการณ์ให้กับผู้เล่นอีกด้วย อีกด้านในแง่คนดู ก็ควรมีส่วนช่วยสนับสนุนด้วยเช่นกันครับ ทุกวันนี้คนดูบ้านเรายังน้อย"แดนสรุป.
เด็กไทยร่วมเล่นกับวงนานาชาติ
cr.ทุกภาพจาก เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |