“ประยุทธ์” ยันยึดโรดแมปเดิมไม่เปลี่ยน โยนยืดเวลาเป็นเรื่องของ “สนช.-กรธ.” ไม่ได้ก้าวล่วง วิษณุรับหากเลื่อนเลือกตั้งจริงก็ไม่เกิน 1 เดือน “ดอน” เชื่อ ”มะกัน-อียู” เข้าใจเป็นเหตุจากฝ่ายนิติบัญญัติ “กมธ.วิสามัญฯ” ลั่น 25 ม.ค.มี 3 ทางเลือก ใช้ทันที-90วัน-120 วัน “ปชป.-พท.” ประสานเสียงถล่ม พร้อมหวังสมาชิกฝักถั่วเห็นแก่ประเทศ ลบภาพไอ้ห้อยไอ้โหนตรายาง “มาร์ค” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตีความคำสั่งที่ 53/2560
เมื่อวันอังคาร ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติแก้ไขมาตรา 2 ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อีก 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า เคยบอกแล้วว่าเป็นการทำงานของ สนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาตลอด ซึ่งรับฟังในเหตุผล แต่ทั้งหมดยังมีขั้นตอนอีกหลายอย่างที่ต้องตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายพิจารณาร่วมกัน สรุปแล้วอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน แต่จะเลือกตั้งเมื่อไร ประการใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“เราต้องทำให้สภานั้นเข้มแข็ง ต้องเชื่อมั่น เพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบสภาและรัฐสภามากนัก วันนี้ผมต้องทำเป็นตัวอย่าง ผมเชื่อมั่นใน สนช. ใน กรธ. ผมไม่ไปก้าวล่วง ผมเคยบอกไว้แล้วว่าการเข้าไปก้าวล่วงในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯ ย้ำว่า ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โรดแมปก็เคยพูดไว้แล้ว เป็นไปตามกำหนดเวลาที่บอก แต่ถ้าจะมีข้อพิจารณาอะไรเพิ่มเติม ก็รับฟังเหตุฟังผลซึ่งกันและกันว่าควรเป็นอย่างไร เพราะทุกคนคงมุ่งหวังให้ประเทศชาติมีความสงบปลอดภัย และเดินหน้าไปด้วยดีเท่านั้นเอง เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ให้ขั้นตอนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นให้คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยื่นไปเถอะ เป็นเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะพิจารณา ส่วนกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ คสช.ปลดล็อกแทนนั้น เป็นเรื่องของ กกต.ที่เสนอแนวคิดดังกล่าว ซึ่งท่านไปเตรียมแต่งงานของท่านก็ดีแล้ว ก็ยินดีกับท่านด้วย ท่านบอกว่าไม่ได้เชิญมา แต่ถ้าท่านเชิญมาจะไปหรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็ถือเป็นเรื่องความสุขของท่าน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวเช่นกันว่า รัฐบาลจะชี้แจงอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของ สนช. ให้เขาว่าไป ส่วนที่ กกต.ระบุให้ปลดล็อกจะง่ายกว่านั้น ถือเป็นการมองคนละมุม กกต.มองอีกอย่าง รัฐบาลก็มองอีกอย่าง ขณะนี้กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ ให้เขาทำให้เสร็จก่อน ขอให้ใจเย็น ปลดล็อกแน่
ชี้เลื่อนจริงก็แค่ 1 เดือน
เมื่อถามว่า หากเลื่อนโรดแมปอาจกระทบกับภาพลักษณ์ประเทศ รัฐบาลจะไปพูดคุยทำความเข้าใจกับ สนช.หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบกลับว่า เรายังไม่ได้เลื่อน รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร เป็นเรื่องของ สนช.และ กรธ. รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง จะมาโทษรัฐบาลได้อย่างไร เขาทำกฎหมาย และเราไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดของแต่ละบุคคลได้ คนกว่า 200 คนเราจะไปพูดกับเขาได้อย่างไร ถ้ารัฐบาลไปยุ่งก็ถูกโจมตีว่าเข้าไปยุ่ง
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะเข้าที่ประชุม สนช.วันที่ 25 ม.ค. วันนั้นจะทราบว่าร่างสุดท้ายของ กมธ.นั้นเป็นอย่างไร สนช.อาจไม่เห็นด้วยก็ได้ หรือหากเห็นด้วยจะต้องดูความเห็นจาก กรธ.และ กกต.ว่าสุดท้ายจะนำไปสู่การตั้ง กมธ.ร่วมหรือเปล่า จะใช้เวลาพิจารณาต่อไม่เกิน 1 เดือนจะแล้วเสร็จ โดยสามารถแก้ไขในชั้น กมธ.ได้ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีขั้นตอนอีกยาว
“ถ้าอ่านข่าวพบว่ามี กมธ. 2 คนบอกว่าขยายเวลา 90 วันน้อยเกินไป จึงเสนอให้เป็น 120 วัน แต่วันนี้ต้องดูว่า 90 วันนั้น สนช.จะเอาด้วยหรือไม่ยังไม่รู้เลย แต่ กมธ.มีสิทธิแปรญัตติเพิ่มเป็นอย่างอื่น” นายวิษณุกล่าว และว่า ส่วนข้อเสนอ กกต.ให้ปลดล็อกง่ายกว่านั้น ขอให้ถาม คสช. เพราะประเด็นนี้เป็นทางออกทางหนึ่ง แต่ คสช.จะทำหรือไม่ เป็นเรื่องของ คสช.
เมื่อถามว่า การขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป จะทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เร็วไปที่จะพูด แต่ที่พูดมาตลอดในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาว่าการขยายเวลาไม่ได้หมายความว่าไม่ทันโรดแมป เพราะการทำตามโรดแมปทันหรือไม่นั้น ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ดังนั้นโอกาสเลือกตั้งยังอยู่ตามโรดแมปนั้นยังมี เช่นเดียวกับโอกาสที่จะไม่อยู่ก็ยังมี จึงต้องยอมรับ แต่หากสมมุติการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจริง เชื่อว่าเลื่อนไม่กี่วัน อาจเลื่อนแค่ 1 เดือน แต่หากเลื่อนเลือกตั้งแล้วต้องอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถอธิบายได้ ทุกคนต้องยอมรับ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เหนือการควบคุม
ส่วนนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศกล่าวว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศเอาไว้ระหว่างเยือนสหรัฐอเมริกาว่าจะเลือกตั้งในปี 2561 แต่เรื่องการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของ สนช.ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนนายกฯ เป็นฝ่ายบริหาร ดังนั้นเป็นคนละส่วนกัน และตอนนี้ก็ยังไม่มีนานาชาติถามมา แต่ถ้าถามก็จะชี้แจงว่าต้องแยกส่วนกัน และตราบใดที่ไม่มีเลือดตกยางออก จะไม่เป็นเหตุให้ประเทศอื่นๆ นำเอามาเป็นประเด็น
เมื่อถามว่า สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่งมีมติฟื้นระดับความสัมพันธ์ตรงนี้ จะทำให้อียูเปลี่ยนท่าทีหรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ต้องรอดูว่าเขามองมุมไหน ถ้ามองว่าไม่ได้เป็นการเปลี่ยนของฝ่ายบริหาร ไม่ได้เป็นการดำเนินการของนายกฯ แต่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ ก็น่าจะเข้าใจ เพราะอียูเองก็มีรัฐสภา ส่วนสหรัฐนั้น คิดว่าเขาไม่ถือว่าเราผิดคำพูด ถ้าเขาแยกแยะได้ เพราะนายกฯ พยายามขับเคลื่อนและผลักดันตามโรดแมปที่จะให้เลือกตั้งในเดือน พ.ย.
รัฐบาลนัดบิ๊กสื่อกล่อม
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในวันที่ 25 ม.ค. เวลา 13.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์นายวิษณุจะมาพูดคุยกับสื่อในเรื่องของกฎหมายและเรื่องการเมือง โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายลูกว่าด้วย ส.ส.ว่าจะมีผลต่อตารางเวลาหรือไม่อย่างไร โดยได้เปลี่ยนชื่องานแถลงข่าวจาก Meet the Press เป็น “สื่ออยากรู้ รัฐอยากเล่า” ตอน กฎหมายหลายรสเพื่ออนาคตประเทศไทย และสามารถติดตามการแถลงข่าวได้ทางเฟซบุ๊กของเพจไทยคู่ฟ้า และสื่อหลักในเครือข่ายของรัฐ รวมทั้งจะเชิญบรรณาธิการและคอลัมนิสต์สำนักข่าวต่างๆ ให้ร่วมรับฟังด้วย
“นายกฯ อยากให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับสื่อ จึงจัดรับประทานอาหารร่วมกับสื่อทุก 2 เดือน ซึ่งรัฐมนตรีที่มาร่วมรับประทานอาหารกับสื่อจะเกี่ยวข้องกับงานด้านประชาสัมพันธ์ เช่น นายวิษณุ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยจะเริ่มในช่วงปลายเดือน ก.พ.” พล.ท.สรรเสริญระบุ
ส่วนความเคลื่อนไหวของ กมธ.นั้น นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงผลประชุมว่า ในวันที่ 25 ม.ค. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และวันที่ 26 ม.ค. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวาระ 2-3 ซึ่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ย้ำต่อสมาชิก สนช. ว่าการประชุม สนช.สัปดาห์นี้มีความสำคัญมาก ขอให้มาร่วมประชุมมากที่สุด ใครติดภารกิจประชุมหรือดูงานต่างประเทศขอให้เลื่อนกำหนดไปก่อน ซึ่งในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ รัฐบาลไม่มีการส่งซิกอะไรมา โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ยังมีประเด็นเห็นต่างค่อนข้างมากหลายประเด็นระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย
“ผมจะอภิปรายในมาตรา 2 เรื่องการให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นจาก 90 วัน นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยเห็นด้วยกับการขยายเวลา 90 วัน เนื่องจากจำเป็น เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถเตรียมตัวได้ทัน” นพ.เจตน์กล่าว
นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล เลขานุการ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า ในวันที่ 25 ม.ค. กมธ.จะเสนอความเห็นต่อที่ประชุมเพื่อกำหนดเวลาการให้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผล 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ให้มีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่ กรธ.เสนอ 2.ให้ยืดเวลาการใช้บังคับไป 90 วันตามมติเสียงข้างมากของ กมธ. และ 3.ให้ยืดเวลาใช้บังคับกฎหมายออกไป 120 วัน ที่ กมธ.วิสามัญฯ ได้เคยเสนอไว้
“กมธ.วิสามัญฯ ได้พิจารณาเห็นแล้วว่าการกำหนดเวลา 90 วัน เหมาะสมและเพียงพอต่อการให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัว ขณะที่ 120 วันนั้นนานเกินไป ซึ่งมติของที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ไม่ได้รับใบสั่งมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นความเห็นของ กมธ.วิสามัญฯ ที่เป็นอำนาจโดยชอบธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทั้งหมดคงต้องรอดูการประชุม สนช.ในวันที่ 25 ม.ค.อีกครั้ง”นายนิพนธ์กล่าว
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยอมรับว่า ยังไม่ทราบเหตุผลในการยืดเวลาบังคับใช้ ดังนั้น ถึงที่สุดแล้ว กรธ.จะใช้สิทธิ์โต้แย้งเพื่อตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่ จึงต้องรอฟังเหตุผลของ สนช.อีกครั้ง และการยืดเวลา
จะอาจจะมีหรือไม่มีผลต่อการเลื่อนเลือกตั้งก็ได้ และหากเลื่อนจริง ก็อาจเลือกตั้งปลายเดือน ธ.ค.2561 หรือก็ไม่น่าเกิน 2-3 เดือน
ด้านซีกนักการเมืองนั้น นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การแถว่าไม่เคยรับใบสั่งจาก คสช. สมาชิก สนช.ต้องไปถามนายพรเพชรว่า คสช.สั่งอะไรมาบ้าง สนช.ทำตามไปแล้วกี่ฉบับ ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ถ้าไม่มีใครสั่งแล้วเขียนกฎหมายต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช.ขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ได้อย่างไร ถือเป็นยุคที่ออกกฎหมายตามใจชอบของผู้เป็นเผด็จการอย่างแท้จริง
ปลุกสมาชิกฝักถั่วโชว์สปิริต
“ที่จะขยายเวลาอีก 90-120 วัน แถมให้มีมหรสพแสดงได้ ล้วนแต่ตอบสนองต่อพรรคทหาร และเป็นประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์และผู้มีอำนาจทั้งสิ้น ขนาด กกต.ยังคัดค้าน แต่ สนช.ไอ้ห้อยไอ้โหนก็ยังดันทุรังทำตามประสาพวกเมาอำนาจในปีสุดท้าย ผมได้แต่หวังว่า สนช.ที่ดีมีคุณธรรมจะอภิปรายคัดค้านฝากไว้ในแผ่นดิน ส่วน สนช.ที่กำลังสร้างตราบาปให้กับประเทศชาติ ก็ปล่อยให้เขาทำไป ลาภยศสรรเสริญฝันถึง ส.ว.สมัยหน้านั้น ขอให้ได้รับผลกรรมทันตาเห็นจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในอนาคต” นายวัชระกล่าว
นายนพดล ปัทมะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า เหตุผลที่อ้างว่าแก้เพื่อช่วยพรรคการเมืองนั้นฟังไม่ขึ้น ถ้าต้องการให้การเลือกตั้งยืดออกไป ก็บอกกันชัดๆ ไปเลย ปัญหาทั้งหมดแก้ได้ตรงจุดโดยการยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมหรือปลดล็อก อุปมาเหมือนใช้วิธีปีนออกจากบ้านทางหน้าต่างแทนที่จะไขกุญแจปลดล็อกออกทางประตู ไม่อยากเห็นการแก้ปัญหาแบบวัวพันหลัก ประเทศและประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และจะสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือและกระทบเกียรติภูมิของประเทศ
“เชื่อว่ายังมีสมาชิก สนช.ที่ห่วงบ้านเมือง และขอเรียกร้องให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.ทบทวนเรื่องนี้ ป้องกันไม่ให้เกียรติภูมิและประโยชน์ของประเทศเสียหาย เพราะนอกจากไทยไม่นิยมแล้ว สากลก็ไม่นิยมด้วย” นายนพดลกล่าว
ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ควรต้องถามความเห็นของคนไทยทุกภาคส่วนด้วย แค่ข้ออ้างที่ว่าชาติมหาอำนาจคงไม่ถือสาถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะเบี้ยวสัญญาแค่นั้นมันยังไม่พอ อย่ามองประชาชนเป็นหุ่นยนต์ไร้สมอง คนไทยทุกคนควรมีส่วนร่วมคิดร่วมตัดสินใจ
“ที่รัฐบาลอ้างว่าการพิจารณาเลื่อนเลือกตั้งของ สนช. รัฐบาลไม่รู้ไม่เห็น และสั่ง สนช.ไม่ได้ จัดเป็นคำอธิบายแบบพวกโลกสวย เนื่องจากเห็นๆ กันอยู่ว่าสมาชิก สนช.นั้น คสช.คัดเองกับมือตั้งแต่แรก จะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งในความเป็นอิสระของ สนช.ว่าเป็นแค่สภาตรายางหรือเป็นหุ่นเชิดให้ใครหรือไม่” ร.ท.หญิงสุณิสาระบุ
วันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์พร้อมด้วยแกนนำพรรคได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งดังกล่าว โดยยกเหตุผลประกอบคำร้อง 5 พร้อมแนบสำเนาประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องตอบรับการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2557 และสำเนาข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เรื่องการตั้งพรรคการเมืองใหม่ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงประเด็นเสนอขอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นตามที่นายอภิสิทธิ์เสนอหรือไม่ หากไม่ ก็จะแจ้งให้ผู้ร้องรับทราบ แต่หากพิจารณาแล้วเห็นชอบตามผู้ร้องว่าคำสั่งนั้นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป โดยจะต้องขอคำชี้แจงจากผู้ออกกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ภายใต้แรงกดดันจาก คสช. และจะเร่งรัดตรวจสอบให้ทันก่อนวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งจะเป็นวันแรกที่อนุญาตให้พรรคการเมืองใหม่สรรหาสมาชิกได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |