ศูนย์เฉพาะกิจฯ เตือน 28 ส.ค. "สกลนคร-บึงกาฬ-นครพนม" เฝ้าระวังน้ำท่วม หลังติดตั้งกาลักน้ำ 25 ชุดที่เขื่อนน้ำอูนแล้วเสร็จ เร่งเพิ่มการระบายน้ำอีกวันละ 1 ลบ.ม. กำชับ 24 จังหวัดทั่วประเทศรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก "กาญจนบุรี" ขยายเวลาระบายน้ำเขื่อนวชิราลงกรณไปจนถึง 3 ก.ย. "คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ" เรียกทุกฝ่ายประชุม 27 ส.ค.นี้
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ แถลงถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญว่า ในวันที่ 28 ส.ค. การติดตั้งกาลักน้ำ 25 ชุดที่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร จะแล้วเสร็จ ทำให้การระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีกวันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันปริมาณน้ำ 567 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% ปริมาณน้ำไหลเข้า 12.44 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.33 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 8.12 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 3.38 ล้าน ลบ.ม.
"ศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้เน้นย้ำการแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำใน 3 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้น" นายสำเริงกล่าว
ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า ส่วนเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีแนวโน้มน้ำไหลเข้าเขื่อนลดลง ปัจจุบันปริมาณน้ำ 754 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 106% น้ำล้นทางระบายน้ำ (สปิลเวย์) สูง 99 ซม. ลดลง 1 ซม. ปริมาณน้ำไหลเข้า 13.71 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 3.51 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลออก 14.31 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.66 ล้าน ลบ.ม. โดยระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 92 ซม. แนวโน้มลดลง และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่ง 2 ซม. แนวโน้มลดลง ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่ยังได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง
สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำ 8,150 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 92% ปริมาณน้ำไหลเข้า 112.35 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 11.35 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 52.29 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำปัจจุบันยังไม่สูงกว่าตลิ่ง แต่กระทบพื้นที่รีสอร์ตที่สร้างอยู่ในแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี ทั้งนี้ ยังมีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่องด้วย
'สกลฯ-นครพนม'อ่วม
ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า ในส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำสำคัญๆ ที่พบว่ามีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งขณะนี้ มีน้ำสูงกว่าตลิ่งในแม่น้ำน่าน จ.อุตรดิตถ์ แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร ห้วยหลวง จ.อุดรธานี ลำเซบาย จ.ยโสธร แม่น้ำยังที่ อ. เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด แม่น้ำเพชรบุรี จ.เพชรบุรี คลองพระปรง จ.สระแก้ว แม่น้ำนครนายก จ.นครนายก ขณะที่แม่น้ำโขงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.หนองคาย
"สภาพอากาศวันนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 24 จังหวัด ภาคเหนือ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ภาคตะวันตก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ไทยยังคงมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงราย 44.0 มม., แพร่ 41.5 มม., ลำปาง 40.5 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.อุบลราชธานี 55.0 มม., สกลนคร 44.4 มม., อุดรธานี 38.6 มม. ภาคกลางได้แก่ จ.ลพบุรี 39.0 มม., เพชรบูรณ์ 39.0 มม. และภาคตะวันออก ตราด 39.0 มม.” ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าว
ที่ จ.สกลนคร สถานการณ์น้ำในเขื่อนน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร ยังเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากฝนที่ตกสะสมลงมา ระดับความจุเก็บกักอยู่ที่ 564.44 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 109.12 ของระดับเก็บกักปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากระดับน้ำในเขื่อนน้ำอูนสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับพื้นที่หมู่บ้านที่อยู่รอบเขื่อน ในพื้นที่ ต.นาใน อ.พรรณานิคม และ ต.หนองปลิง อ.นิคมน้ำอูน หลายหมู่บ้านถูกน้ำอูนเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งสวนปาล์ม ยางพารา และนาข้าวของชาวบ้านเป็นบริเวณกว้าง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ยังคงมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก
นอกจากนี้ ที่บ้านโนนสวรรค์-อูนดง ต.นาใน อ.พรรณานิคม มีชาวบ้าน 28 หลังคาเรือนถูกน้ำจากเขื่อนน้ำอูนโอบล้อมรอบหมู่บ้าน และท่วมถนนเส้นทางที่ใช้สำหรับเดินทางเข้าสู่หมู่บ้านเป็นระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ระดับน้ำสูงกว่าถนนประมาณ 50 เซนติเมตร ส่งผลทำให้รถไม่สามารถสัญจรผ่านเข้า-ออกได้เช่นปกติ ชาวบ้านต้องเดินทางเข้า-ออกด้วยเรือเพียงอย่างเดียว
มีรายงานว่า หมู่บ้านแห่งหนึ่งหากปริมาณน้ำอูนยังสูงขึ้นอีกจากฝนสะสมที่ตกลงมาจะเหลืออีกประมาณ 70 เซนติเมตร น้ำจากน้ำอูนจะเข้าท่วมหมดทั้งหมู่บ้านแห่งนี้ นอกจากนี้ จากการสำรวจหมู่บ้านรอบเขื่อน ยังพบว่าหลายหมู่บ้านระดับน้ำจ่อเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยหลายหลัง ทางราชการจึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์สภาพน้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ท้ายเขื่อนและรอบเขื่อนน้ำอูน
จ.นครพนม ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดนครพนมยังไม่เจอแสงแดด ท้องฟ้าถูกปกคลุมด้วยเมฆมานานกว่า 10 วัน และฝนที่ตกหนักยาวต่อเนื่อง ส่งผลให้แม่น้ำสงครามยังคงเอ่อล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ล่าสุดมีระดับอยู่ที่ 14.35 เมตร เพิ่มขึ้นจากวันที่ 25 ส.ค. 6 ซม.
จากสถิติย้อนหลังปี 2538 ระดับน้ำในแม่น้ำสงครามสูง 14.60 ม. ครั้งนี้ถือว่าขึ้นสูงสุดในรอบ 23 ปี โดยมวลน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร หมู่ 1, 9 ต.หาดแพง อ.ศรีสงคราม ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 35 หลัง และได้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง รวมทั้งอพยพสัตว์เลี้ยงไปสู่ที่ปลอดภัยแล้ว
ทั้งนี้ โครงการชลประทานนครพนม รายงานระดับน้ำในแม่น้ำโขงของสถานีตรวจวัดชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม วันที่ 26 ส.ค.2561 เวลา 08.00 น. มีระดับน้ำอยู่ที่ 12.47 เมตร เพิ่มขึ้นจากเวลา 06.00 น. 1 ซม. เป็นสัญญาณว่าน้ำโขงเริ่มจะทรงตัว
ขณะที่ MRC (Mekong River Commission) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล คาดการณ์ระดับแม่น้ำโขงที่นครพนมไว้ว่า จะมีมวลน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น วันที่ 25 ส.ค. จะมีปริมาณน้ำ 12.38 เมตร, วันที่ 26 ส.ค. จะเพิ่มเป็น 12.45 เมตร ถึงวันที่ 27 ส.ค. จะสูง 12.61 เมตร และวันที่ 28 ส.ค. จะสูงถึงระดับ 12.73 เมตร โดยให้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
กาญจนบุรีเร่งพร่องน้ำ
จ.บึงกาฬ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ (ปภ.บึงกาฬ) รายงาน
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ปัจจุบันประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) แล้วทั้ง 8 อำเภอ 44 ตำบล 340 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 7,026 ครัวเรือน 25,923 คน พื้นที่การเกษตรทั้งนาข้าว พืชสวน พืชไร่ บ่อปลา สวนยางพารา สวนปาล์ม รวม 42,127 ไร่
ส่วน จ.กาญจนบุรี นายไววิทย์ แสงพาณิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ทำการแทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีหนังสือที่ กฟผ.954400/00223 เรื่อง ขอขยายเวลาการระบายน้ำเขื่อนวชิราลงกรณกรณีพิเศษ ถึงหัวหน้าศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี
หนังสือตอนหนึ่งระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบยังมีปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนมาก จึงเป็นเหตุให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามประกาศของศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ กฟผ. ฉบับที่ 1/2561 เรื่องแผนการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และข้อสั่งการของผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงขอขยายเวลาการระบายน้ำผ่านช่องทางปกติวันละ 43 ล้าน ลบ.ม. ผ่านช่องทางระบายน้ำล้น (spillway) วันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมการระบายน้ำวันละ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อไปจนถึงวันที่ 3 ก.ย.2561 และจะติดตามสถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนเพื่อพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำต่อไป
มีรายงานว่า ในวันที่ 27 ส.ค. เวลา 10.00 น. คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จะร่วมประชุมครั้งที่ 24/2561 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน กทม. โดยมีเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), กรมชลประทาน, สำนักการระบายน้ำ กทม., กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมโยธาธิการและผังเมือง, และ กปร. เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |