ม.44 แก้ปม 'ไพรมารีโหวต' สวนทางปฏิรูป วิกฤติใหญ่เกิดแน่


เพิ่มเพื่อน    

         มีความชัดเจนจาก บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุปฏิทินการเลือกตั้งเบื้องต้นจะจัดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.2562 โดยยืนยันว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปในเดือน ก.พ.2562 ไปก่อนตามที่เคยพูดไว้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ค่อยว่ากันอีกที

                เป็นการตอกย้ำของรัฐบาล คสช.อีกครั้งว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปต้นปี 2562 และระบุวันเวลาชัดเจน ตามที่ กกต.กำหนดเป็นตุ๊กตาคือ 24 ก.พ.62 แต่ นายกฯ ก็ยังออกตัวว่า "ถ้าทำไม่ได้ ก็ค่อยว่ากันอีกที"

                นั่นหมายความว่า สถานการณ์การบ้านเมืองวันนี้และวันข้างหน้า ก็ยังมีปัจจัยพิเศษที่อาจอยู่นอกเหนือที่ คสช.จะควบคุมได้

                ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในวันที่ 24 ก.พ.2562 พรรคการเมืองก็มีเวลาหาเสียงไม่ต่างจากในอดีต แต่ถ้าจัดเลือกตั้งช้าสุดในเดือน พ.ค. ก็มีเวลาหาเสียงมากกว่าทุกครั้ง ที่จะมีเวลาหาเสียงจริงประมาณ 30 วันเท่านั้น

                ดังนั้นหากไม่มีเหตุนอกเหนือความคาดหมาย ปฏิทินการเลือกตั้งจะอยู่ช่วง 24 ก.พ.-พ.ค.62 แน่นอน

                แต่ด้วยเหตุที่รัฐบาล คสช.ให้คำมั่นสัญญาไว้บ่อยครั้ง และก็เลื่อนมาหลายครั้ง จึงทำให้หลายฝ่ายก็ยังไม่เชื่อใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปดังกล่าวเช่นเดิม

                อย่างไรก็ตาม ยังมีความคืบหน้าอีกระดับ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่าเตรียมคลายล็อกทางการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถทำไพรมารีโหวตได้โดยการใช้ ม.44 แก้ปมปัญหาดังกล่าว โดย นายวิษณุ เตรียมร่างคำสั่ง คสช.ไว้แล้ว คาดว่าหลังการประชุม คสช. วันอังคารที่ 28 ส.ค.นี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น

                สำหรับ ไพรมารีโหวต หรือ การเลือกตั้งเบื้องต้น เป็นขั้นตอนในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมือง หรือการส่งผู้สมัครจากพรรคการเมือง เพื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยสาขาพรรคประจำจังหวัดจะเป็นผู้คัดเลือกส่งตัวแทนทั้งระบบ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการสรรหาขั้นสุดท้ายคือ สมาชิกพรรคจะประชุมเพื่อลงคะแนนว่าผู้ใดเหมาะสม แล้วส่งให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาเห็นชอบ

                ซึ่งกระบวนการดังกล่าวพรรคการเมืองต้องมีการเตรียมการและใช้เวลาพอสมควร เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับ พ.ศ.2560 กำหนดเงื่อนไขให้มีสาขาพรรค และจำนวนสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้ง เพื่อคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ ที่พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไข

                แต่ คสช.ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้เป็นข้อจำกัดของพรรคการเมืองในการทำไพรมารีโหวต

                และเมื่อจะมีการแก้ปม ไพรมารีโหวต ก็จะเกิดคำถามตามมาอีกว่า จะขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่?

                โดยในรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ระบุไว้ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติกฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง"

                เจตนารมณ์ดังกล่าวผู้ร่างคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ถอดบทเรียนความล้มเหลวของพรรคการเมืองที่เจ้าของพรรคเป็นนายทุนไม่กี่คนมีอำนาจครอบงำพรรค และเมื่อเข้าสู่อำนาจรัฐก็เกิดการแสวงหาประโยชน์จนเกิดการต่อต้านและวิกฤติทางการเมือง

                กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ จึงกำหนดให้พรรคการเมือง "เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง"

                โดยบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองอย่างละเอียด โดยเฉพาะการประชุมสาขาพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน ซึ่งหากจะส่งผู้สมัคร ส.ส. 350 เขต ก็ควรมีสมาชิกจังหวัดละ 100 คน ทุก 77 จังหวัด  

                โจทย์ก็คือ แล้วจะแก้ปมปัญหาอย่างไรไม่ให้ขัด รธน. ขณะที่ นายวิษณุ เคยเปิดเผยว่า มีความเห็น 4 แนวทาง คือ 1.ทำไพรมารีโหวตแบบจังหวัด ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 145 2.ยังไม่เริ่มใช้ไพรมารีโหวต 3.การทำไพรมารีโหวตแบบภาค 4.หากไม่ใช้การทำไพรมารีโหวต จะใช้รูปแบบใดมารองรับแทน เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัครเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45

                ล่าสุด นายวิษณุ ยังเปิดเผยถึงข้อเสนอ 6 ข้อ คือ 1.พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้ 2.ให้ความเห็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ 3.สามารถดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้ 4.ตั้งกรรมการเพื่อสรรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 5.ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้ ข้อ 6.จำไม่ได้ แต่ไม่ใช่การหาเสียงเลือกตั้ง

                ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า "การทำไพรมารีโหวตนั้น ก็ต้องทำให้ได้ เพราะเขียนไว้แล้วในกฎหมาย ซึ่งในปีแรกจะมีปัญหาหรือไม่ จะต้องแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ก็ต้องทำให้ได้ในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางกฎหมาย" โดยอ้างว่า "เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งอย่างที่ทุกคนต้องการ ให้เกิดความสงบสุข ซึ่งกฎหมายเขียนมาอย่างนี้ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง"

                อย่างไรก็ตาม แม้การทำไพรมารีโหวตจะมีข้อจำกัดสร้างความยุ่งยากให้พรรคการเมือง แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ หลายพรรคก็เตรียมตัวเข้าสู่สนามแล้วเช่นกัน แต่เมื่อ คสช.กลับลำ จะรื้อระบบไพรมารีโหวตอีกก็ทำให้หัวเสียได้เหมือนกัน

                โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีไพรมารี ซึ่งประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่นๆ และ กกต.ต้องทำงานบนสมมติฐานว่า กฎหมายที่รัฐบาลผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาว่าจะทำอย่างไร เขาก็เตรียมการทำอย่างนั้น แต่มาวันนี้การที่ยังไม่ปลดล็อก รัฐบาลและ คสช.ก็กำลังคิดเอาเองว่าจะต้องแก้ไพรมารีอย่างไร แล้วไม่ได้บอกให้ใครรู้

                “ผมสันนิษฐานว่าเดี๋ยวจะแก้กฎหมายอีกแล้ว แล้วผมก็ต้องมานั่งเปลี่ยนแผนว่า ที่ตั้งใจจะปฏิบัติตามกฎหมายนี้ก็คงต้องเปลี่ยนอีกว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายที่แก้อีกแล้วนี้อย่างไร ตอนสมาชิกพรรคก็เป็นอย่างนี้มาทีหนึ่งแล้ว จริงๆ การปูทางเพื่อให้เกิดความราบรื่นที่สุดล็อกที่ต้องปลดก่อนเพื่อน” นายอภิสิทธิ์กล่าว

                 ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปลดล็อกการเมืองโดยสิ้นเชิง เพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และคำสั่งที่ 57/2557 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนยกเลิกเงื่อนไขและข้อห้ามอื่นใด ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 โดยควรยกเลิกโดยสิ้นเชิงเบ็ดเสร็จ มิใช่เพียงการคลายล็อก

                เช่นเดียวกัน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา มีความเห็นว่า ต้องปลดล็อก ไม่เพียงคลายล็อกเท่านั้น และควรเสนอให้ คสช.ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งเพียงพอแล้ว เพราะทุกวันนี้พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไปต่างเคารพกติกาและปฏิบัติตามกฎหมายกันทั้งนั้น เหลือเพียง คสช. ไม่ต้องยุ่งยากทำให้คนเขาติฉินเอาอีก จะมาใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อจนกระทั่งคลายความศักดิ์สิทธิ์ไปหมดแล้ว หรือกลายเป็นของตลกทำให้ผู้คนสับสนว่าระหว่างรัฐธรรมนูญกับมาตรา 44 ใครจะใหญ่กว่ากัน และเรื่องนี้รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ปฏิบัติอยู่นี้มีเจตนาอะไร มีเป้าหมายอยู่ที่ไหน

                อย่างไรก็ตาม หากใช้ ม.44  โดย เนติบริกร เขียนกฎกติกาใหม่ให้สามารถทำไพรมารีโหวตได้ง่ายขึ้น ก็ถือเป็นการฉีกเจตนารมณ์เดิมของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองอยู่ดี ซึ่งปัญหาทั้งหมดก็มาจาก คสช.ไม่เร่งดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่ง 53/60 ทำให้เกิดปัญหา แล้วก็จะมาออกคำสั่งใหม่แก้คำสั่งเดิม กลับไปกลับมา เหมือน ไม้หลักปักขี้เลน

                และเมื่อไม่สามารถทำตามเจตนารมณ์ รธน.ที่ต้องการปฏิรูปการเมือง ก็น่าจับตาว่า การเมืองไทยก็จะวนกลับไปสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำเหมือน หลบใน รอวันปะทุ

                นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง วิกฤติการเมืองไทย นับหนึ่งใหม่หลังวันเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอีกรอบหลังเลือกตั้ง แต่น่าจะหลังนายกฯ คนต่อไป ซึ่งจะไม่ใหญ่โตมากนัก วิกฤตินั้นก็ยังมาจากเหตุเดิมคือตัว "ทักษิณ" ที่ยังไม่ยอมแพ้ และไม่มีเหตุให้ทักษิณต้องยอมแพ้เสียด้วย ยิ่งเห็นลู่ทางชนะการเลือกตั้งเข้ามาต่อรองอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ได้ใหม่ ก็ยิ่งฮึดสู้

                 เพราะ สงคราม ในความคิดของทักษิณยังจบไม่ลง คล้ายสมัยสงครามยุค "นโปเลียน" ต้องให้เกิดการเผด็จศึกแบบสงครามวอเตอร์ลู และนำไปสู่เกาะ Saint Helena เท่านั้น สงครามทักษิณจึงจะจบ แต่จะไม่เกิดวิกฤติใหญ่ถึงเลือดนองท้องช้าง เพราะยุคสมัยนี้มีตัวควบคุม คือ กองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ สถาบันกษัตริย์ และวัฒนธรรมไทย       

                 อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุด้วยว่า สังคมทำสงครามกับทุนทักษิณ แต่ทุนอื่นใน 10 ทุนยักษ์ของหัวขบวนในตลาดหุ้นนั้น เลวหรือดีกว่าทุนทักษิณ หรือเลวพอกัน และกลุ่มทุนนั้นเติบโตกว่า 10% ขณะที่ GDP ขยับไปไม่ถึง 4% (ในยุคทหารครองเมือง) ทุนเหล่านี้กลับแอบซ่อนอยู่นอกสนามรบ ปล่อยให้ “ทุนทักษิณ” เผชิญหน้าในสนามรบ อยู่ฝ่ายเดียว หาไม่สังคมการเมืองก็จะอยู่กันแบบนี้ คนจนมากขึ้น คนรวยกระจุกตัว ครอบครองทรัพย์สินเกิน 70% ของทรัพย์สินในประเทศ 

                แล้ววิกฤติการเมือง วิกฤติสังคม ประเทศนี้จะหมดไปได้อย่างไร?.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"