ขั้วใหญ่ รอตั้งรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 ขั้วใหญ่ตั้งรัฐบาล หลังเลือกตั้ง รปช.ตัวเลือกดีสุดของบิ๊กตู่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ย้ำโรดแมปการเลือกตั้งอีกรอบเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ระบุวันเวลาไว้ชัดเจนว่าจะให้มีการเลือกตั้งภายในช่วงวันที่ 24 ก.พ. 62 เว้นแต่มีเหตุไม่คาดคิดต้องเลื่อนออกไปอีกก็ค่อยมาว่ากันอีกที ซึ่งช่วงดังกล่าวตรงกับที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต.ได้กางปฏิทินการเลือกตั้งไว้ก่อนหน้านี้   ส่งผลให้การเมืองและการเตรียมการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองต่อจากนี้ต้องขยับหนักขึ้น 

                ด้านพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) แกนนำพรรค พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรค รปช.-อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) และอดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ ที่ถูกเรียกขานกันว่า ขุนศึกการข่าว วิเคราะห์กระดานการเมืองการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รวมถึงความพร้อมของพรรค รปช.ที่มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นคีย์แมนพรรค โดยประเมินว่าการเมืองหลังการเลือกตั้งน่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของพรรคการเมืองประมาณ 4-5 พรรค ที่ตอนนี้ก็พอมองเห็นแล้วว่าจะประกอบด้วยพรรคการเมืองใดบ้าง โดยคาดว่าจะมีทั้งพรรคที่ได้ ส.ส.ประมาณ 100 คน, 60 คน, 50 คน พรรคการเมืองเหล่านี้จะมารวมกันแล้วส่งคนไปเป็นรัฐมนตรี หากนายกฯ เป็นพลเอกประยุทธ์ก็ต้องมาทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ รัฐบาลที่เข้ามาใหม่แล้วหวังว่าจะได้กำไรมันลำบาก เพราะการที่คิดว่าเข้ามาแล้วจะมาทำโครงการอะไรใหญ่ๆ เพื่อหาเงินมันไม่มีแล้ว เพราะถูกกำหนดให้ทำไปแล้วในรัฐบาลนี้ ก็เหลือแค่จะทำอย่างไรให้โครงการเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด

                พลโทนันทเดช ระบุว่า ขั้วพรรคการเมืองที่มีโอกาสจะได้จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะไม่หนีไปจากพรรคการเมืองเหล่านี้จับมือกันคือ พรรคประชาธิปัตย์, พรรค รปช., พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ พรรคเหล่านี้มีแน่นอน รวมถึงพรรคอื่นๆ เช่น พรรคพลังชล มองแล้วขั้วนี้ก็น่าจะได้ ส.ส.รวมกันเกิน  250 เสียงขึ้นไป ที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา อย่างไรก็ตามยอมรับว่าก็มีโอกาสที่พรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่งคือ ฝ่ายพรรคเพื่อไทย-พรรคอนาคตใหม่ ฝั่งนี้ก็มีโอกาสจะตั้งรัฐบาลได้ หากสถานการณ์การเมืองอีก 4-5 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่ค่อยดี  เพราะการบริหารงานของรัฐบาลในปัจจุบันจะเป็นตัวตัดสินว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร

...หากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารประเทศได้ในระดับแบบนี้ โอกาสของพรรคเพื่อไทยก็หมด แต่หากรัฐบาลเกิดข้อผิดพลาดในช่วงใกล้การเลือกตั้ง พรรคพวกนั้นก็มีโอกาสจะได้ ส.ส.มาก พรรค รปช.ก็อาจได้ ส.ส.น้อย มันก็เกี่ยวกับผลงานรัฐบาลที่จะออกมาภายใน 4-5 เดือนต่อจากนี้ หากมีการเลือกตั้งแล้วจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ การประท้วงเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจมี แต่จะไม่มีผลให้เกิดการประท้วงใหญ่ ซึ่งหากทักษิณแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มองว่าก็คงไม่คิดทำอะไรอีกแล้ว ทักษิณคงเลิกรา

                พลโทนันทเดช เชื่อว่า การเลือกตั้งคงจะเกิดขึ้นภายในช่วงวันที่ 24 ก.พ.62 ตามที่นายกฯ ประกาศไว้ แต่หากเลื่อนออกไปก็อาจเกิดจากปัจจัยกฎหมายแต่ก็คงทำได้เล็กน้อย เพราะเมื่อทางฝ่าย กกต.ออกมาบอกในเรื่องวันเลือกตั้งแบบนี้แล้ว กกต.ก็คงมั่นใจพอสมควร เพราะรอบนี้ กกต.ออกมาบอกก่อนรัฐบาล แสดงว่าความมั่นใจของ กกต.มีพื้นฐานมาจากหลายเรื่อง เช่นเคยผ่านการปรึกษาจากรัฐบาลมาก่อน

                สำหรับเส้นทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ ที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่าจะตัดสินใจทางการเมืองภายในเดือนกันยายนนี้ พลโทนันทเดช วิเคราะห์ว่า หากพลเอกประยุทธ์ไปลงในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 1 ใน 3 ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งก็จะสวยงาม ส่วนจะมาด้วยการเป็นนายกฯ คนนอกก็ยังเป็นไปได้ แต่มันจะไม่สง่างาม การมาด้วยการเป็นนายกฯ คนนอกจะมีเสียงต้านมาก แต่ก็มองว่าพลเอกประยุทธ์ยังไม่น่าจะตัดสินใจทางการเมืองเลยในระยะนี้ เพียงแต่อาจจะตัดสินใจว่าจะลงเล่นการเมืองแน่นอน แต่จะไม่บอกว่าจะลงเล่นพรรคการเมืองพรรคใด

ผมสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เล่นการเมืองต่อไป เพียงแต่พรรคการเมืองที่พลเอกประยุทธ์ไปอยู่ด้วยต้องมีทหารน้อยลง เหตุที่เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ควรเล่นการเมืองเพราะคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ยังดีอยู่ อีกทั้งสิ่งต่างๆ ที่พลเอกประยุทธ์ทำไว้ เช่นเรื่องของยุทธศาสตร์ต่างๆ มองว่าเป็นเรื่องที่ใช้ได้ ก็ควรเข้ามารักษาแนวคิดนี้เอาไว้ ส่วนเรื่องไม่ดีหลายเรื่อง เมื่อหลังการเลือกตั้งแล้วมีการตั้งรัฐบาลใหม่ มันก็ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล จะตัดสินใจแบบเดิมอีกไม่ได้ อีกทั้งมาตรา 44 ก็ไม่มี การตัดสินใจต่างๆ ก็ต้องพึ่งคะแนนเสียงของพรรค การทำงานต่างๆ ของพลเอกประยุทธ์ก็จะต้องรอบคอบมากขึ้น

รปช.เชื่อได้ ส.ส.เฉียดร้อย!

พลโทนันทเดช วิเคราะห์ขยายความที่แสดงความเชื่อมั่นว่าขั้วการเมืองฝ่าย ปชป.-รปช.-พลังประชารัฐ จะจับมือกันตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า สำหรับฝ่ายพรรค รปช.ถึงตอนนี้คนในพรรคประเมินว่า พรรคน่าจะได้ ส.ส.จำนวนไม่น้อย โดยอาจจะได้ไม่ต่ำกว่าร้อยเสียง

ความเชื่อดังกล่าว พลโทนันทเดช-กรรมการบริหารพรรค รปช.  อ้างว่า เกิดจากที่คนในพรรควิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะ 1.เรามองเห็นว่าพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคกำลังหลักที่อาจจะได้ ส.ส.จำนวนมาก แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นมองดูแล้วพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.จำนวนลดน้อยลง 2.ในการเลือกตั้ง พรรคจะส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง และเมื่อดูกติกาตามรัฐธรรมนูญค่อนข้างจะเอื้อต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก 3.พรรค รปช.ไม่เหมือนพรรคการเมืองใหม่อื่นๆ เพราะมีฐานเสียงของประชาชน มีพื้นฐานของพี่น้อง กปปส.จำนวนมาก โดยที่พวกเขาจำนวนมากก็ยังไม่รู้ บางทีตอนนี้ไปเจอคนที่เคยร่วมกับ กปปส.เขาก็บอกว่าเพิ่งรู้ว่ามีการมาจัดตั้งพรรค รปช. จึงเชื่อว่าหากต่อไปเขารู้กันมากก็จะมาช่วยสนับสนุนพรรค รปช. หากเขารู้ว่าเรายังคงรักษาอุดมการณ์อยู่ พรรคต้องใช้เวลาอีก 4-5 เดือนข้างหน้า ในการหาเสียง ที่เราก็มั่นใจว่าจะมีฐานเสียงดังกล่าวมาสนับสนุนพวกเรา

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากปัจจุบัน ตอนนี้พรรค รปช.มีความพร้อมในการตั้งสาขาพรรคแต่ละจังหวัดในภาคใต้ได้หมดครบทุกจังหวัดแล้ว เช่นเดียวกับในภาคอีสานก็ทราบว่าสามารถตั้งสาขาพรรคได้เกือบครบหมด ยังขาดอีกแค่สองจังหวัด โดยมีสมาชิกในพื้นที่ครบ และเมื่อมองไปอีก 4-5 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้เราจะพร้อมมากกว่านี้ ผมจึงคาดว่าพรรค รปช.จะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่าร้อยคน

ที่บอกว่าไม่ต่ำกว่าร้อยคน ไม่ใช่เป้าหมายที่สูงเกินไป เป็นเป้าตามปกติ และไม่ใช่การประเมินส่วนตัว แต่คนในพรรคประเมินกันไว้ อย่างภาคใต้ก็มองว่าเราอาจได้ ส.ส.เขตประมาณ 4 คน โดยที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตของพรรค รปช.ในภาคใต้ ที่เชื่อว่าคนของพรรคเราจะมาอันดับสองหมด ส่วนภาคอีสานก็มองว่าอาจจะได้ ส.ส.ประมาณ 3-4 คน โดยผู้สมัคร ส.ส.อีสานของพรรครปช.น่าจะได้อันดับ 2 หรืออันดับ 3 เมื่อรวมกันสองภาคก็ทำให้เชื่อว่าคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคน่าจะได้ประมาณ 30-40 คนอย่างต่ำ อันนี้คิดเฉพาะในภาคใต้กับอีสาน

...ส่วนในกรุงเทพมหานครตอนนี้พรรคยังไม่ได้เริ่มต้นอะไรมากนัก แต่ก็มีผู้มาสนใจติดต่อขอสมัครเยอะ แต่ก็มองว่าผู้สมัครของพรรคถ้าไม่ได้อันดับหนึ่งก็อาจได้อันดับสอง เพราะเชื่อว่าฐานเสียงส่วนใหญ่ของพรรคอยู่ใน กทม.อยู่แล้ว จึงไม่น่าวิตก ส่วนภาคอื่นๆ เช่นภาคกลาง ภาคเหนือ พรรคยังไม่ได้ประเมินว่าจะได้คะแนนเสียงเท่าใดเพราะการดำเนินงานยังไม่ได้เริ่มต้น แต่ก็มีความคืบหน้าเช่นภาคเหนือ ภาคตะวันออก ก็มีคนมาแจ้งความจำนงขอจัดตั้งสาขาพรรคประมาณ 4-5 แล้ว ก็เลยทำให้คนของพรรคประเมินสถานการณ์ถึงตอนนี้ว่าเฉพาะในภาคอีสานกับภาคใต้ พรรคน่าจะได้ ส.ส.เขตและคะแนนที่นำไปคิดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ออกมาได้อย่างน้อย 40-50 คน เพราะพื้นฐานของเราหนาแน่นมาก อีกทั้งอีก 4-5 เดือนข้างหน้าประชาชนจะรู้จักเรามากขึ้น เพื่อนเก่าๆ จะกลับมาหาเรา ผนวกกับกติกาตามกฎหมายที่ทำให้การซื้อเสียงทำได้ยาก ก็ทำให้เรายิ่งมีโอกาสมากขึ้นไปใหญ่

ปชป.-รปช.ไม่ใช่พรรคพันธมิตร

กระนั้น พลโทนันทเดช ยอมรับว่า การหาเสียง การเจาะฐานเสียงของพรรค รปช.มีความเป็นไปได้ที่จะไปทับซ้อนกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่เลือกตั้งบางส่วน แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เราถือว่าเป็นคนดี การหาเสียงจึงเป็นเรื่องเด็ดขาดที่พรรค รปช.จะไม่มีการโจมตีระหว่างกัน สิ่งที่แข่งขันก็คือประชาชนจะตัดสินใจว่าจะเอาใคร สนับสนุนนโยบายพรรคไหน หากเราแพ้แล้วประชาธิปัตย์ชนะก็ถือว่าโอเค ได้คนดีเข้าสภาก็ไม่เป็นไร

-ถือว่าพรรค รปช.เป็นพันธมิตรกับ ปชป.?

ไม่ถือว่าเป็นพันธมิตรอะไรกัน เพราะพรรค ปชป.มีแนวทางคือ เขาจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญและบอกว่าไม่เอาด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็ถือว่าแนวทางยังขัดกันอยู่กับพรรค รปช. ส่วนที่คนไปบอกกันว่าพรรค รปช.สนับสนุนบิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงเพราะว่าพรรคเรามีนโยบายกับความเห็นสอดคล้องกัน อย่างเรื่องการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลที่ปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ เพียงแต่ไม่ได้ลงมาดูปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ผลการปฏิรูปประเทศตอนนี้ของรัฐบาล มองว่าในอีกสิบปีข้างหน้าประเทศจะดี  เราก็เห็นว่าควรต้องรักษาเรื่องการปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลทำไว้ แล้วก็เข้าไปเสริมในบางเรื่องเช่นการปฏิรูปตำรวจ เราก็อยากเห็นการแยกหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ งานด้านนิติเวชออกมาเป็นหน่วยงานพิเศษที่ออกมาจากตำรวจ เพื่อพัฒนาบุคลากร เพราะฉะนั้นแนวคิดของเรากับพลเอกประยุทธ์ตรงกันหลายเรื่อง หากอนาคตพลเอกประยุทธ์ไปเป็นหัวให้กับพรรคการเมืองใด แล้วพรรคการเมืองนั้นมีนโยบายตรงกับพรรค รปช. เราก็สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่หากพรรคดังกล่าวไม่มีนโยบายที่ตรงกับพรรค รปช. เราก็ไม่สนับสนุน พรรค รปช.เราเป็นพรรคทำงานให้ประชาชน เราพร้อมจะเป็นรัฐบาลหรือไม่เป็นรัฐบาลก็ได้ไม่มีปัญหา

ถามว่าเหตุใดแกนนำพรรคอย่างสุเทพจึงมั่นใจว่าพรรค รปช.ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน คนในพรรค รปช. พลโทนันทเดช ไขข้อสงสัยนี้ว่า เพราะนโยบายของพรรค รปช.เหมือนกับนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทุกประการ

พลเอกประยุทธ์ไปอยู่พรรคไหน ผมก็เชื่อว่าต้องดึงนโยบายไปด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพลเอกประยุทธ์ เพราะเรามีนโยบายเหมือนพลเอกประยุทธ์ และที่สำคัญเราเป็นพรรคของคนดี

-หากพลเอกประยุทธ์ลงในบัญชีหนึ่งในสาม แล้วมีการตั้งรัฐบาล ในตอนรวมเสียงตั้งรัฐบาล พรรครปช.พร้อมไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์หรือไม่?

เราไปแน่นอน ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากนโยบายตรงกัน เราลงไปเลย

-แต่หากพลเอกประยุทธ์ไม่ลงหรือลงในบัญชีรายชื่อนายกฯ แต่พรรคของพลเอกประยุทธ์ได้ ส.ส.น้อยกว่าของประชาธิปัตย์ หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล พรรค รปช.ก็พร้อมไป?

พร้อมครับพร้อม เราก็พร้อม หากเราตกลงกันในเรื่องนโยบายกันได้ เช่นหาก ปชป.จะให้เราไปร่วมด้วย ก็จะต้องรักษาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ ต้องไม่แก้ รธน.ในสี่ปีแรก

เชื่อทักษิณ-พท.ทรงกับทรุด

                พลโทนันทเดช ใช้มุมวิเคราะห์การเมืองในฐานะอดีตนักการข่าวจาก ศรภ.-สำนักข่าวกรองแห่งชาติ มองกรณีทักษิณ ชินวัตร ผู้นำพรรคเพื่อไทยตัวจริง แสดงความเชื่อมั่นว่าเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งแบบหิมะถล่มว่า ทักษิณคาดว่าการเมืองจะเป็นแบบเก่า คิดว่าประชาชนจะเป็นแบบเก่าๆ คิดว่าการซื้อเสียงจะทำง่ายเหมือนเดิม ทั้งที่ปัจจุบันนี้การสื่อสารผ่านสังคมโซเชียลมีเดียมันแรงและเข้าถึงคนทุกกลุ่ม คุณจะไปโกหกใครต่อไปอีกแบบเดิม ตอนนี้มันลำบากแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จะตื่นขึ้นมาแล้วรับรู้เอง เรื่องเหล่านี้ทักษิณคาดไม่ถึง คนไม่อยู่ในประเทศไทยมาสิบกว่าปีจะมาคาดคะเนการเมืองในประเทศไทยได้อย่างไร คนที่ไปบอกหรือไปเล่าอะไรให้ทักษิณฟังก็เล่าแต่เรื่องดีๆ ใครจะกล้าไปเล่าไปบอกว่า "หัวหน้ามันไม่ไหวแล้วคราวนี้" ใครจะกล้าไปพูดแบบนี้ ก็ทำให้ทักษิณประมวลเหตุการณ์จากข้อมูลรอบตัวและข่าวสารที่ได้รับที่ไม่เป็นความจริง อีกทั้งลูกหลานที่อยู่ในกรุงเทพมหานครที่เป็นลูกคนรวย ไม่เคยมีความลำบากในการทำธุรกิจ ไม่เคยผ่านความยากลำบาก ไม่เคยไปสัมผัสคนชั้นล่าง  เลยทำให้ทักษิณประเมินจากข้อมูลที่ผิดพลาด ประเมินจากข้อมูลแบบเดิมที่ไม่ใช่ข้อมูลในปัจจุบัน

                ...ผมว่าเพื่อไทยให้ชนะเลือกตั้ง ต่อให้แลนด์สไลด์อย่างไรก็ไม่เกิน 150 คน ผมมั่นใจ เพราะข้อมูลข่าวสารตอนนี้เกิดขึ้นมากมาย แล้วอีก 4-5 เดือนข้างหน้าต่อจากนี้ เมื่อทักษิณประกาศแบบที่บอก ต่อไปข้อมูลเรื่องไม่ดีของทักษิณจะเข้าถึงประชาชนได้ชัดเจน เช่น ประชาชน พวกชาวนาเกือบแสนคนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ยอมจ่ายเงินค่าข้าวให้ แล้วทำให้รัฐบาล คสช.เมื่อเข้ามาก็ไปจ่ายแทนให้  ชาวนาเหล่านี้ย่อมรู้เรื่องดีว่าคืออะไร หรือทหารเกณฑ์กว่าแสนคนที่เข้าไปประจำการในช่วงการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงช่วงปี 2552 และ 2553 พวกนี้เมื่อหมดหน้าที่แล้วกลับไปบ้าน ทางฝ่ายทักษิณจะไปซื้อพวกเขาได้อย่างไร อย่างมากก็ซื้อได้แค่ 10-20เปอร์เซ็นต์ พวกเขาเคยผ่านเหตุการณ์เขารู้ว่าเหตุการณ์ตอนชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงเป็นอย่างไร พวกนี้คือคนใหม่ๆ ตัวละครใหม่ๆ ที่ทักษิณไม่เคยนึกถึงไว้เลย

                สำหรับกระแสข่าวจะนำคนในครอบครัวสายชินวัตร-วงศ์สวัสดิ์ขึ้นมานำทัพพรรคเพื่อไทย ก็มองว่า มันก็จะเหมือนเดิม ไม่ได้มีความแตกต่างจากเดิมอะไร ทักษิณไม่กล้าตัดสินใจเอาคนนอกครอบครัวมานำพรรคเพื่อไทยเพราะจะทำให้สั่งได้ลำบาก เห็นได้จากตัวอย่างที่ทักษิณตัดสินใจผิด ตอนนำคุณสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แล้วจากนั้นมาก็ไม่มีปรากฏการณ์แบบนี้อีกเลย ดูแล้ว เขาก็คงนำคนในครอบครัวขึ้นมาเพราะคอนโทรลง่าย ทักษิณไปประเมินว่าตัวเขาเองยังเป็นที่รักของประชาชนมากมาย โดยเฉพาะประชาชนในภาคอีสาน อันนี้เป็นเรื่องที่ทักษิณคิดผิด.

 

--------------------------------------------

จากขุนศึกการข่าว สู่คีย์แมนพรรค รปช.

                พลโทนันทเดช-อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.ภาคใต้) และอดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ ที่เคยมีผลงานเด่นๆ อาทิ เป็นอดีตหัวหน้าชุดเฉพาะกิจติดตามแกะรอยจนทางการไทยสามารถจับกุมตัว "ฮัมบาลี" แกนนำขบวนการ Jemaah Islamayah (เจไอ) ผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายคนสำคัญที่สหรัฐต้องการตัว ที่ถูกทางการไทยจับตัวได้เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2546 ซึ่งในวันนี้พลโทนันทเดชลงมาเล่นการเมืองเต็มตัว กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย หลังก่อนหน้านี้คอยวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะการวิพากษ์เรื่องของระบอบทักษิณ-การเคลื่อนไหวของเสื้อแดง

พลโทนันทเดช พูดถึงการเข้าสู่สนามการเมืองว่า เป็นเพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจากฝ่ายตรงข้ามของทักษิณ 3 ครั้ง พันธมิตร 2 ครั้ง กปปส. 1 ครั้ง และมีการต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีลักษณะรุนแรง จะไม่พูดว่าใครถูกใครผิด แต่เห็นชัดว่าการชุมนุมมีคนมาร่วมมากขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ อย่างการชุมนุมของ กปปส. 200 กว่าวันมีอยู่ 4-5 วันที่มีคนออกมาร่วมชุมนุมเป็นล้านคน หากเราคุมคนจำนวนนี้ไม่ได้ ความเสียหายย่อมเกิดกับประเทศชาติโดยส่วนรวม ผมก็คิดว่าหากผมลงไปลงการเมือง ที่มีกติกาที่ดีตามรัฐธรรมนูญและมีคนใหม่ๆ เข้ามา จนเข้าไปเป็น ส.ส.แทนพวกอดีต ส.ส.รุ่นเก่าได้จำนวนมากจะเป็นเรื่องดี จึงลงมาเล่นการเมือง

...สำหรับที่เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรค รปช. เป็นเพราะเห็นว่ามีพรรคการเมือง 3-4 พรรคที่ยึดมั่นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างพรรค ปชป.ก็ไม่มีพื้นที่ให้ผมเข้าไปทำการเมือง เพราะ ปชป.เป็นพรรคเก่า ที่มีระบบอาวุโส แต่ รปช.เป็นพรรคจัดตั้งใหม่ และไม่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง เพราะนักการเมืองในพรรคมีคนเดียวคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ

...ก็ใช้เวลาตัดสินใจนานเหมือนกันในการจะเข้ามา จนกระทั่งมีการจัดตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มนิสิตนักศึกษาในอดีตบางกลุ่มที่เคยคัดค้านต่อต้านสถาบันมาก่อน ผมจึงตัดสินใจเข้ามา เพราะผมเคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการการบังคับใช้กฎหมายเพื่อพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเป็นประธานอนุกรรมการชุดนี้ตั้งแต่สมัยก่อนรัฐประหารที่เป็นวุฒิสภา อยู่มา 2 สมัย จนมาถึงยุค สนช.ตอนนี้ก็รู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยในเรื่องความแตกแยกระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ที่เป็นส่วนสำคัญทำให้ตัดสินใจลงมาเล่นการเมือง ตอนนี้ก็เพิ่งลาออกมาเพื่อเล่นการเมือง อีกทั้งในพรรค รปช.ส่วนใหญ่ก็รู้จักกันอยู่แล้ว เคยร่วมเคลื่อนไหวกันมา และยิ่งที่พรรค รปช.ประกาศว่าจะพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์และมีอุดมการณ์ที่จะทำพรรคของประชาชนและนำระบบเศรษฐกิจพอเพียง จึงตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรค รปช.

พลโทนันทเดช กล่าวว่า หลังมีการเลือกหัวหน้าพรรคคือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท.และอดีตปลัดกระทรวงการคลังเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคและเลือกกรรมการบริหารพรรคไปเมื่อ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงการหาสมาชิกพรรคเพื่อเปิดประชุมใหญ่สมัชชาพรรค พรรคอื่นเขาหาสมาชิกพรรคกัน 1,000-2,000 คน ก็เปิดประชุมได้ แต่ของ รปช.เรากำหนดไว้ว่าจะต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 50,000 คน เราถึงจะเปิดประชุมสมัชชาพรรค เพราะในฐานะที่เราเป็นพรรคของประชาชน ซึ่งคนภายนอกอาจมองว่ายาก แต่เราต้องการให้ลูกพรรคมีความกระตือรือร้นและรู้ว่าการทำพรรคการเมืองมันยาก ไม่ใช่ว่าหาคนมา 100-200 คน แล้วมาจัดตั้งพรรคการเมือง แต่เราต้องการหาให้ได้ 50,000 คน ที่แม้คนจะทักท้วงว่าหากหาได้แล้วจะไปจัดประชุมกันที่ไหนได้ ที่รองรับคนได้ 50,000 คน แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาภายหน้า เรามีผู้ก่อตั้งพรรคที่เสียเงิน 50,000 บาท รวม 600 คน ที่ยื่นไปให้ กกต. ตอนนี้ก็มีเงินทุนประมาณ 35 ล้านบาท เราก็คิดว่าสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรค 600 คน หากไปหาสมาชิกพรรคให้ได้สักคนละ 100 คน ก็เท่ากับ 60,000 คน ซึ่งก็ยากเหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละคน

จากนั้นเราก็จะให้สมาชิกพรรค ผู้ก่อตั้งพรรคทั้งหมดที่ตั้งไว้ 50,000 คน ที่เริ่มดำเนินการหาแล้ว และคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน หากได้ครบตามจำนวนก็จะให้แต่ละคนลงพื้นที่ไปพูดคุยกับประชาชนว่า พรรค รปช.มีแนวทางพรรคอย่างไร โดยหม่อมเต่าก็จะลงพื้นที่หาเสียงกับพวกเราด้วย โดยสมัชชาพรรคหากได้ตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็สามารถจัดประชุมได้โดยไม่ต้องรอให้ คสช.ปลดล็อก

สำหรับเรื่องการทำไพรมารีโหวต พรรค รปช.พร้อมทำไพรมารีโหวตร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น ที่ภาคอีสาน ภาคใต้ ตอนนี้พรรค รปช.พร้อมแล้ว เพราะมีการเตรียมจัดตั้งและเปิดสาขาพรรคไว้แล้ว รวมถึงได้รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขตใน 2 ภาคนี้ไว้แล้วบางส่วน ส่วนภาคอื่นๆ ก็จะมีการดำเนินการต่อไปทั้งภาคเหนือ กลาง ถึงตอนนี้ยืนยันว่า พรรค รปช.พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมีการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.ปีหน้า แม้ในช่วงนี้ประชาชนยังไม่คุ้นเคยกับพรรค รปช.มากนัก ยังจำชื่อพรรคไม่ค่อยได้ แต่ตอนนี้พยายามให้คนจำชื่อพรรค รปช.ให้ได้ก่อน ต่อจากนี้จะมีการเผยแพร่อุดมการณ์ของพรรค เช่น การพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการเป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่ยึดถือประชาชนเป็นใหญ่ การดำเนินงานทุกอย่างของพรรคต้องมาจากประชาชน แม้แต่การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.

พรรค รปช.มีจุดแข็งคือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน จากเดิมที่ประชาชนมีสิทธิ์แค่ไปเลือกตั้ง ส.ส.ตอนเลือกตั้งพอลงคะแนนเสียงเสร็จสิทธิ์ดังกล่าวก็หมดไป แต่สำหรับพรรค รปช. หลังเลือกตั้งเสร็จ ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคก็มีสิทธิ์เท่าเดิม เช่น หลังเลือกตั้ง หากคนของพรรคเข้าไปทำงานการเมืองหรือมีตำแหน่งทางการเมือง ประชาชนก็ยังมีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคลากรของพรรคผ่านโครงสร้างของพรรค คือคณะกรรมการบริหารพรรคประจำจังหวัด รวมถึงโครงสร้างใหญ่คือคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรค ที่มีการออกมาเพื่อควบคุมบุคลากรทางการเมืองของพรรค รปช.อย่างเข้มแข็ง ใครทำไม่ดีก็ให้ออกจากตำแหน่งจากพรรคไปเลย รวมถึงการให้สมาชิกพรรคเข้ามาสื่อสารโดยตรงกับบุคลากรของพรรค ผ่านการสื่อสารช่องทางพิเศษ เช่นไลน์ที่จะมีการทำพิเศษขึ้นมา

พลโทนันทเดช กล่าวถึงนโยบายของพรรค รปช.อีกว่า จะมุ่งสร้างความเท่าเทียมของคนในสังคม เช่น เรื่องการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาหรือการปฏิรูปการศึกษา เราเห็นว่าทุกสถาบันการศึกษาที่รับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ ต้องใช้ตำราที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และต้องออกข้อสอบเข้าภายในตำราเท่านั้น ปัจจุบันมีการออกข้อสอบเกินเลยไปมาก จนทำให้นักเรียนในต่างจังหวัดไม่สามารถแข่งกับนักเรียนในกรุงเทพฯ ได้ แม้แต่นักเรียนในกรุงเทพฯ เอง นักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะกับไม่มีฐานะก็มีความแตกต่างกัน แต่หากใช้ตำราเล่มเดียวกันหมด ออกข้อสอบตามตำรา ทุกคนก็อ่านจากตำราเล่มเดียวกัน ก็จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน จากนั้นก็อยู่ที่ความขยันของนักเรียนแต่ละคน  

ขณะที่เรื่องการปฏิรูปประเทศ พรรค รปช.เห็นว่ารัฐบาล คสช.เริ่มต้นมาดีแล้วส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะการกำหนดโครงสร้างยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ตอนนี้ก็เหลือแต่การทำให้โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลดำเนินการไปได้ พรรคจึงสนับสนุนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล แต่บางโครงการเช่นการสร้างรถไฟฟ้า เราก็เห็นว่าที่ทำโครงการกันไว้มีความเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างอีก แต่ต้องเน้นการสร้างสถานีจอดพักรถเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการ

เอาแน่ชูเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง

พลโทนันทเดช ย้ำว่า พรรคให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจอย่างมาก อย่างเมื่อไม่นานมานี้ พรรคก็มีการจัดสัมมนาเรื่องนี้ ซึ่งหากหลังเลือกตั้งพรรคเข้าไปเป็นรัฐบาลก็จะเข้าไปผลักดันให้มีการปฏิรูปตำรวจต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำให้เกิด "ตำรวจจังหวัด" ให้ได้ เพื่อทำให้ประชาชนกับตำรวจคุ้นเคยกัน และให้มีสภาประชาชน ที่มีการคัดเลือกกันเข้ามา โดยมีการเปลี่ยนกันทุก 6 ดือน เพื่อมาควบคุมตำรวจจังหวัด จะทำให้การทำงานของตำรวจที่จะไปทำนอกลู่นอกทางลำบากมากขึ้น

เช่นเดียวกับเรื่อง กระจายอำนาจ พรรคจะพยายามผลักดันให้มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง แต่ระยะแรก เพื่อไม่ให้เจ้าพ่อประจำจังหวัดเข้ามาเป็น ผวจ. ก็เห็นว่าระยะแรก คือ 4 ปีแรก จะใช้วิธีการเลือกทางอ้อม โดยให้ประชาชนในจังหวัดมาออกเสียงเลือกคนมาเป็น ผวจ. โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนในจังหวัดก็ได้ มาประมาณไม่เกิน 4 คน แล้วส่งชื่อมาที่ส่วนกลาง จากนั้นรัฐบาลจะเลือกคนใดคนหนึ่งในชื่อที่ส่งมาให้ไปเป็น ผวจ. หากเห็นว่าชื่อที่ส่งมาไม่มีตำหนิ มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารงานได้ แต่หากรัฐบาลเห็นว่าทั้ง 4 คน ยังไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ รัฐบาลไม่สามารถตั้งให้เป็น ผวจ.ได้เลย จะส่งชื่อที่รัฐบาลเห็นว่าเหมาะสมไปให้ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ พิจารณา หรืออาจใช้วิธีรัฐบาลก็เสนอชื่อคนของส่วนกลางไปให้ประชาชนพิจารณาด้วยตอนที่ประชาชนมาเลือกคนเป็น ผวจ.ทางอ้อมตั้งแต่ขั้นตอนแรก

โมเดลนี้พรรคยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้แนวทางไหน แต่สิ่งที่เราจะทำแน่นอนก็คือ จากนั้นอีก 4 ปีถัดไป จะให้มีการเลือกตั้ง ผวจ.โดยตรง เพียงแต่ 4 ปีแรก จะต้องมีการปูพื้นฐานให้ประชาชนเข้าใจ จะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน แต่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจบทบาท แต่หลักสำคัญคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไปจะให้ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ใช่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย โดยจะให้ ผวจ.ต้องประชุมกับนายกฯ ทุกเดือน และให้สื่อมวลชนเข้าฟังการประชุมตลอด เพื่อเป็นการควบคุมการทำงานของ ผวจ. 

ทุ่กุลาร้องไห้ เขต ศก.พิเศษ

พลโทนันทเดช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจก็มี อย่างเช่นเรื่องของ ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งที่ผ่านมาคนของพรรคมีการลงพื้นที่ไปฟังความเห็นประชาชน ก็พบว่าทุ่งกุลาร้องไห้มีการพัฒนามา 20 กว่าปีแล้ว พรรคเห็นว่าต่อไปควรกำหนดให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นเขตกสิกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะทำให้งบประมาณของกระทรวงต่างๆ ที่ลงไปที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อไปไม่ต้องผ่านกระทรวงต่างๆ แต่ให้มาที่คณะกรรมการบริหารทุ่งกุลาร้องไห้ ที่จะมีประชาชนมาร่วมเป็นกรรมการด้วยครึ่งหนึ่ง โดยวางโมเดลไว้ว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ตรงไหนควรทำพื้นที่กสิกรรม พื้นที่จุดไหนให้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ จุดใดควรทำเขื่อนขนาดเล็ก และให้มีการตั้งโรงเรียนกสิกรรมเพื่อให้มีการมาเข้าเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นการเขียนนโยบายพรรคหลังจากการไปฟังความเห็นประชาชน

ส่วนที่คนมองกันว่าพรรค รปช.เป็นพรรคเฉพาะกิจ ทำเพื่อเลือกตั้งรอบเดียว โดยเฉพาะหากสุเทพเลิกเล่นการเมือง คสช.สลายไป พรรค รปช.ก็คงยุติบทบาท เรื่องนี้ พลโทนันทเดช ยืนยันว่า รปช.เป็นพรรคของประชาชนพรรคแรกที่จะอยู่ยาวคงทนถาวรตลอดไป แต่สำหรับตัวสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องยอมรับว่ามีคุณสุเทพคนเดียวที่เป็นอดีตนักการเมืองที่อยู่ในพรรค เราก็โชคดีที่ได้เขาเข้ามาดูแล มาให้คำปรึกษา เป็นกุนซือทางการเมืองของพรรค สุเทพจึงเป็นเสาหลักของพรรค รปช. แต่ในอนาคตเมื่อพวกเราเข้าไปเป็นนักการเมือง สุเทพก็จะค่อยๆ ถอยออกไป แล้วไปทำงานที่ตั้งใจ เช่น การทำโรงเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณที่เกาะสมุย ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำไว้มาก

...รปช.ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ เพราะคนที่เข้ามาทำงานในพรรคส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่าอย่างพวกผม และพวกเขาไฟแรง มุ่งมั่นที่จะทำงาน โดยหลายคนก็ยังไม่ได้เปิดเผยตัวมากเท่าไหร่

ถามถึงการที่คนภายนอกก็ยังมองว่า พรรค รปช.จะถูกชี้นำหรือต้องอยู่ภายใต้เงาของนายสุเทพ พลโทนันทเดช แจกแจงว่า ขอยกตัวอย่างการเลือกคนไปลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคจะใช้ระบบคือ ให้ผู้สมัครผู้ชายสลับกับผู้สมัครผู้หญิงสลับกันไปเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แล้วเราก็ส่งชื่อไปให้ประชาชนพิจารณาตอนประชุมสมัชชาพรรค เราไม่ได้จัดทำกันเอง เช่นเดียวกับรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขต ที่ก็จะมาจากการทำไพรมารีโหวต ทุกอย่างมาจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ สุเทพคนภายนอกอาจมองไปว่ามีอำนาจในพรรคมาก จะมาชี้นำอะไรไม่ได้มีบทบาทอะไรมากอย่างที่คนภายนอกคิด แต่ความจริงแล้วสุเทพเป็นคนกำหนดกลไกต่างๆ เหล่านี้เองเพื่อป้องกันไม่ให้พรรค รปช.เกิดความเสียหายในวันข้างหน้า ซึ่งคนในพรรคก็เห็นด้วยว่าเป็นกลไกที่ดี การดำเนินงานของพรรคจึงมีความเชื่อมโยงกับประชาชนมาก 

สำหรับกรณีที่ ป.ป.ช.มีการแจ้งข้อกล่าวหานายสุเทพในเรื่องคดีโรงพักตำรวจ ผมก็มองว่าไม่ได้มีผลอะไรกับพรรค รปช. เพราะสุเทพก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้อง ไม่ได้มาลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรค รปช. จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับพรรค และที่สุเทพต่อสู้เรื่องโรงพัก เขาก็ได้เปรียบ เพราะข้อมูลที่สุเทพนำมาแสดงก็ยืนยันได้ว่าเขาไม่ได้ทำผิด

อย่างไรก็ตาม พลโทนันทเดช ยอมรับว่า พรรค รปช.ที่เป็นพรรคตั้งใหม่ หากสุดท้าย คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองช้า พรรค รปช.ก็เสียเปรียบพรรคเก่า เพราะพรรคเตรียมเดินสายในต่างจังหวัด เพื่อปลุกสมาชิกว่าพวกเรายังอยู่ต้องออกมาช่วยกัน แต่เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรหากว่ายังไม่ปลดล็อก ก็ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เท่าที่ทำได้ โดยหลัง คสช.ปลดล็อกแล้ว พรรคก็จะมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อระดมทุน ขณะที่ เรื่องพลังดูดอดีต ส.ส.เข้าพรรคการเมืองบางพรรค มองว่ามันเป็นเรื่องปกติ เรื่องเก่าๆ ในเมื่อตอนนี้พรรคเพื่อไทยไม่มีความเข้มแข็ง เพราะผู้ใหญ่ในพรรคต้องออกไปอยู่นอกประเทศ ขณะที่ภายในก็มีการแตกแยกกันออกเป็นกลุ่มๆ เพราะพื้นฐานของพรรคเพื่อไทยก็มาจากการรวมกลุ่มการเมืองของกลุ่มต่างๆ พื้นฐานของพรรคไม่ได้เหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ การที่กลุ่มต่างๆ แยกตัวออกมาจากเพื่อไทย เลยเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่การดูดอะไร และประชาชนจะตัดสินใจเองว่าพรรคที่มีการมองว่ามีการดูดอะไรกัน ประชาชนจะเลือกหรือไม่เลือก.

                                                                                       โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

...................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"