ปีนัง เกาะของคนน่ารัก


เพิ่มเพื่อน    

จุดพักผ่อนชมทะเลใกล้ๆ Fort Cornwallis เมืองจอร์จทาวน์ เกาะปีนัง

จอร์จทาวน์ คือเมืองหลวงของรัฐปีนัง ซึ่งรัฐปีนังนั้นมีทั้งเกาะปีนัง ภาษามาเลย์เรียกว่า “ปูลัว ปีนัง” หมายถึง “เกาะหมาก” และพื้นที่ฝั่งแผ่นดินใหญ่ เรียกว่า “เซเปอรังเปไร”

เกาะปีนังในสมัยที่มหาอำนาจชาติละโมบอย่างจักรวรรดิอังกฤษมายึดครองนั้น เกาะได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เกาะปรินซ์ออฟเวลส์” ตามชื่อมกุฎราชกุมารอังกฤษ ส่วนชื่อเมืองจอร์จทาวน์ก็มาจาก “พระเจ้าจอร์จที่ 3” กษัตริย์อังกฤษในเวลานั้น

ผมเดินจากย่านสตรีทอาร์ทผ่านย่านลิตเติลอินเดีย ร้านรวงพากันเปิดเพลงอินเดียชวนให้เกิดบรรยากาศอยากเต้นและวิ่งไปพร้อมๆ กัน ข้ามถนน LebuhLight ตามชื่อ “กัปตันฟรานซิส ไลท์” ผู้เป็นตัวแทนบริษัท British East India ของจักรวรรดิอังกฤษที่เข้าถือกรรมสิทธิ์ในปีนังเมื่อ พ.ศ. 2339 จนมาถึงสนามหญ้าขนาดใหญ่ที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ปาดัง” ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวออกมาเดินเล่นกันเป็นครอบครัว หรือเป็นคู่ๆ เด็กเล็กๆ เป่าฟองสบู่กลายเป็นลูกโป่งลอยไปตามลมแล้ววิ่งไล่สนุกสนาน เด็กโตตั้งวงเตะฟุตบอล ส่งลูกกันไปมาโดยไม่ได้แบ่งทีมแข่งขัน เดินไปจนสุดสนามทางด้านทิศเหนือคือทางเดินและคันคอนกรีตที่ยกสูงริมทะเล ใว้สำหรับหย่อนใจและใช้เป็นเขื่อนกันคลื่น

ฝั่งซ้ายมือคือศาลาว่าการเมืองจอร์จทาวน์ และไม่ห่างกันคืออาคารสภาเกาะปีนัง ริมทะเลมีร้านอาหารแนวฟู้ดคอร์ตอยู่หลายร้าน ส่วนทางด้านขวามือคือFort Cornwallis, อนุสรณ์สถานหอนาฬิกาพระราชินีวิกตอเรีย และท่าเรือ

มัสยิด Kapitan Keling อายุ 217 ปีแล้ว

สำหรับ Fort Cornwallis หรือป้อมปราการของเมือง ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกาะปีนัง ตั้งตามชื่อ “ชาร์ลส์ คอร์นวอลลิส” ข้าหลวงใหญ่แห่งรัฐเบงกอล อีกอาณานิคมของอังกฤษในเวลานั้น

เวลาเย็นพอสมควรแล้ว ผมเดินหาแท็กซี่เพื่อจะไปเทศกาลอาหาร Taste of Penang 2018 ที่จัดอยู่บริเวณหน้าศูนย์การค้า Gurney Paragon ตั้งอยู่หลังถนน Gurney Drive ที่โด่งดัง ไม่ไกลจากวัดไชยมังคลาราม วัดสำคัญของชาวไทยและชาวพุทธในมาเลเซีย ใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะเจอแท็กซี่คันหนึ่ง

แจ้งโชเฟอร์ว่าจะไปวัดไชยมังคลาราม เขางงเล็กน้อยก่อนถามกลับมาว่า “วัดไทยใช่ไหม” ผมตอบว่า “ใช่” แล้วให้ดูแผนที่กูเกิลในมือถือเพื่อความมั่นใจอีกขั้น พอรถออกก็เห็นว่าไม่มีมิเตอร์ค่าโดยสาร โชเฟอร์อธิบายว่ารุ่นนี้ไม่มี ผมจึงถามราคา เขาตอบว่า “18 ริงกิต” (ทราบทีหลังว่าเป็นราคามาตรฐานที่คะเนตามระยะทางจากย่านลิตเติลอินเดียไปยังวัดไชยมังคลาราม) เขายังแสดงความจริงใจด้วยการบอกว่า “เวลานี้วัดไทยน่าจะปิดแล้ว คุณจะไปทำไม” ผมตอบว่า “ไม่เป็นไร ตั้งใจจะไปเทศกาลอาหารมากกว่า” เขาว่าสถานที่จัดงานเลยไปจากวัดไทยและบริเวณนั้นรถติดมาก ผมจึงบอกว่า “จอดตรงวัดไทยนั่นแหละครับ ผมเดินไปเอง” ดูเขาพอใจ

โชเฟอร์แท็กซี่เป็นคนอินเดีย บรรพบุรุษมาจากรัฐทมิฬนาดูพร้อมๆ กับบริษัทบริติชอีสต์อินเดียของอังกฤษและกองทัพของบริษัทแห่งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนของชาวอินเดียบนเกาะปีนังมีอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จากประชากรราว 9 แสนคน โดยที่มีชาวจีนประมาณครึ่งหนึ่ง และชาวมาเลย์ตามมาติดๆ

 วัดศรีมหาอุมาเทวี วัดฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดในปีนัง

“เราพูดภาษาทมิฬ ถ้าพูดกับคนอื่นเราพูดมาเลย์ กับนักท่องเที่ยวเราก็พูดภาษาอังกฤษ พวกเราไม่มีปัญหากันเลย ชาวปีนังอยู่กันอย่างสงบสันติ ไม่มีคนก้าวร้าว” เขาตอบอย่างภูมิใจเมื่อผมถามเรื่องภาษาที่ใช้ แล้วตัดพ้อนิดหน่อยว่า “มาเลเซียไม่มีธรรมชาติสวยๆ แบบเมืองไทยและบางแห่งในรัฐทมิฬนาดูของอินเดีย” ผมถามเขาว่า “คาเมรอนไฮแลนด์ไม่สวยหรือ” เขาว่า “มีแค่นั้นแหละ หมดแล้ว”

พ่อโชเฟอร์ช่างเจรจายังเล่าให้ฟังว่าเขากับเพื่อนจะไปเที่ยวหาดใหญ่กันทุกๆ 3 เดือน ล่าสุดไปถึงก็เรียกใช้หญิงบริการ นายหน้าบอกว่าทั้งคืน 400 ริงกิต ปรากฏว่าหญิงบริการมานั่งดื่มด้วย 2 ชั่วโมงก็กลับไป พวกเขาไม่พอใจจึงโวยวายต้องแต่สงบคำเมื่อนายหน้าชักปืนขู่

เขาถามผมว่า “คนพวกนี้คือใคร ทำงานให้ใคร” ผมตอบว่า “เขาเรียกพวกนี้ว่าแมงดา (ปิมป์) ทำงานให้นายใหญ่ที่หากินกับหญิงบริการยังไงล่ะ” ผมแปลกใจที่เขาไม่ทราบเรื่องแบบนี้

รถจอดที่หน้าวัด ผมยื่นธนบัตร 50 ริงกิตให้ เขาเรียกอาบังหน้าวัดไทยที่น่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาหา โชคดีของเราทั้งคู่ที่อาบังหน้าวัดมีเงินให้แลก แต่วัดไชยมังคลารามปิดเวลา 6 โมงเย็น ผมมาช้าไปไม่กี่นาที

 ร้านขายผ้าย่านลิตเติลอินเดียนอกจากแข่งกันขายผ้าแล้วยังแข่งกันเปิดเพลงออกลำโพงด้วย

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2388 เนื่องจากว่าก่อนหน้าที่จักรวรรดิอังกฤษจะเข้าปกครอง ปีนังอยู่ภายใต้การดูแลของสุลต่านรัฐเคดาห์ ซึ่งรัฐเคดาห์นั้นถือเป็นรัฐประเทศราชของสยาม จึงมีชาวสยามอาศัยอยู่ในเขตที่เป็นมาเลเซียทางเหนือในปัจจุบันจำนวนไม่น้อย บนเกาะปีนังเองก็มีชาวสยามอาศัยอยู่ พระราชินีวิกตอเรียจึงมอบที่ดินแปลงหนึ่งให้กับชาวสยามสำหรับสร้างวัดไชยมังคลารามขึ้นเพื่อความราบรื่นทางด้านการค้ากับกรุงรัตนโกสินทร์ โดยผู้ที่ทำพิธีมอบก็คือ “วิลเลียม บัตเตอร์เวิร์ท” ข้าหลวงประจำดินแดนช่องแคบในเอเชียอาคเนย์ของจักรวรรดิอังกฤษ (Straits Settlements) อาทิ มะละกา, สิงคโปร์ และปีนัง

ศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัดไชยมังคลารามเป็นการผสมผสานระหว่างไทย พม่า และจีนเข้าด้วยกัน ทำให้ดูแปลกไปจากวัดในประเทศไทย ข้อมูลจากเว็บไซต์ “พ่อท่านคล้าย.com” ระบุว่า เมื่อ พ.ศ. 2494 พระมหาไพรัช พระชาวไทยที่บวชอยู่ในมาเลเซียได้นิมนต์พ่อท่านคล้าย พระสงฆ์ชื่อดังจากจังหวัดนครศรีธรรมราชให้เดินทางไปยังเกาะปีนังเพื่อสร้างพระพุทธไสยาสน์ที่วัดไชยมังคลาราม ซึ่งต่อมา “นายเอี่ยม อมรสถิตย์” ชาวอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่างฝีมือเยี่ยมเป็นผู้ปั้นพระพุทธไสยาสน์ขึ้น ความยาว 108 เมตร แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 ปัจจุบันเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวเป็นอันดับ 3 ของโลก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระราชทานชื่อ “พระพุทธชัยมงคล” เมื่อคราวเสด็จประพาสปีนังพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2505 พระองค์ยังทรงตรัสชมว่า “ปั้นได้ดี ได้สวย”    

ปัจจุบันวัดไชยมังคลารามเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมของคนเชื้อสายสยามบนเกาะปีนัง โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์และลอยกระทง รวมถึงขบวนแห่ในวันวิสาขบูชา  

ตรงข้ามกับวัดไชยมังคลารามคือวัดธรรมิการาม วัดพม่าที่มีชื่อเสียงมากเช่นกัน และถนนเส้นนี้ก็มีชื่อว่า “ถนนพม่า” (Lorong Burma) เพราะวัดธรรมิการามนั้นสร้างขึ้นมาก่อน ในปี พ.ศ. 2346 และถือเป็นวัดพุทธที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดบนเกาะปีนัง อย่างไรก็ตามถนนชื่อ Lorong Bangkok ตั้งอยู่ถัดไปจากถนนพม่า ส่วนถนน Jalan Siam ก็มีเหมือนกัน ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร

เหล็กดัดแสดงภาพและเกร็ดข้อมูลของบะหมี่ต๊อกต๊อกบนถนน Lebuh China แต่อยู่ในย่านลิตเติลอินเดีย

บนถนน Jalan Kelawai ที่ผมเดินไปยังเทศกาลอาหารที่หน้าศูนย์การค้า Gurney Paragon รถราติดขัดอย่างที่โชเฟอร์แท็กซี่บอกไว้ การเดินจึงเป็นความคิดที่ดีกว่ามาก ไม่เกิน 1 กิโลเมตร ผมก็มาถึงงาน

บรรดาร้านอาหารจัดอยู่ใต้ซุ้มหลังคาสีขาวมียอดแหลมๆ หลายยอด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย มีอาหารจากโรงแรมต่างๆ, อาหารคาวตำหรับชาวบ้านจากหลากหลายวัฒนธรรม และอาหารจำพวกขนมและของหวาน ผมเห็นไก่ทันดูรีอยู่ในกลุ่มซุ้มที่ 2 ก็เดินเข้าไปหาทันที ป้ายบอกไว้ว่า 10 ริงกิต อาบังคนขายหยิบปีกไก่สีแดงน่ากินใส่กระทงกระดาษอย่างคล่องแคล่ว แล้วค่อยถามว่า “เอากี่ชุด” ผมไม่รู้ว่าชุดหนึ่งมีกี่ชิ้น ไม่ทันจะพูดอะไร บังก็หยิบลงไป 4 ชิ้นใหญ่จนเต็มกระทงพอดีแล้วบอกว่า 20 ริงกิต ผมรู้ตอนนี้เองว่าชุดหนึ่งมี 2 ชิ้น ยื่นเงินให้แล้วบังก็แถมขนมทำจากแป้งมาให้ 1 ชิ้น ซึ่งน่าจะกินคู่กัน ผมขอกระดาษเช็ดมือมาด้วยเพราะรู้ว่าต้องเลอะแน่นอน แล้วไปนั่งกินบนเก้าอี้ที่จัดไว้ ไก่รสชาติอร่อยดี แต่ไม่ควรเป็นส่วนปีกทั้ง 4 ชิ้น

ตอนแรกตั้งใจจะกินอย่างอื่นด้วยแต่เจอปีกไก่เข้าไป 4 ชิ้นใหญ่ก็รู้สึกอิ่มทันที เดินชมร้านอื่นๆ ให้ครบ แล้วเดินเข้าห้างเพื่อเข้าห้องน้ำและซื้อน้ำดื่ม อีกทั้งเผื่อว่าจะเจอรองเท้าที่ถูกใจ ซึ่งก็เจอเข้าจนได้ที่ร้านหนึ่ง เป็นรองเท้าสนีกเกอร์หนังสีขาว ลดราคาจาก 340 ริงกิตเหลือ 249 ริงกิต พนักงานสาวแขกชมว่าดูดีเมื่อลองใส่ (ผมไม่แน่ใจว่าเธอจะพูดคำอื่นได้ไหม) ผมขอลองสีน้ำตาลรุ่นเดียวกันอีกคู่ เธอถามว่า “จะรับคู่ไหนดี”  

บรรยากาศในเทศกาลอาหาร Taste of Penang 2018

“ทั้ง 2 คู่เลยครับ” เพี้ยนหรือต้องมนต์แขก ผมยังไม่เข้าใจตัวเองอยู่ทุกวันนี้ เพราะตอนเดินทางไปถึงปีนังนั้นได้ใส่รองเท้าผ้าใบไปแล้วคู่หนึ่ง อีกทั้งเตรียมรองเท้าแตะไปอีกหนึ่งคู่ เท่ากับว่าผมมีรองเท้าหุ้มส้น 3 คู่ และรองเท้าแตะหนีบอีก 1 คู่ที่จะต้องนำกลับเมืองไทย

สาเหตุที่ตัดสินใจซื้อเพราะคิดว่าจะเดินกลับที่พัก เช็กระยะทางแล้ว 3 กิโลเมตรกว่าๆ พอเดินได้ แต่รองเท้าแตะแข็งๆ ที่ใส่อยู่อาจทำให้ปวดเท้า และที่ไม่อยากนั่งแท็กซี่เพราะมองว่าระยะทางแค่นี้ค่าโดยสารคิดเป็นเงินไทยประมาณ 160 บาทนั้นค่อนข้างแพง เลยประหยัดไปเหนาะๆ 4 พันกว่าบาท จากนั้นก็เดินไปซื้อถุงเท้าที่แผนกซูเปอร์มาร์เก็ต พนักงานหนุ่มตาเหล่ใจดีบอกว่า “หมดแล้ว คุณไปซื้อร้านไดโสะสิ ถูกกว่า”

ถุงเท้าสีขาวจากร้านไดโสะของญี่ปุ่นรับกับรองเท้าใหม่สีขาว พร้อมแล้วที่จะออกเดินทาง แต่เมื่อเดินไปได้ไม่เท่าไหร่ถุงกระดาษใส่รองเท้าขาด โชคยังดีกล่องรองเท้ามีหูหิ้วจึงไม่มีปัญหา คิดจะลองนั่งรถเมล์แต่ไม่เห็นวิ่งผ่านหรืออาจจะหมดเวลาวิ่งไปแล้ว จึงเดินไปตามทางที่ระบุในแผนที่กูเกิล เดินไปเรื่อยๆ บนJalan Burma ถนนที่ยาวมากเส้นหนึ่ง และยังไม่ทันถึงครึ่งทาง สิ่งที่กลัวที่สุดก็เกิดขึ้นจนได้ รองเท้ากัด!  

ตอนแรกเกิดไอเดียพิลึกเข้าไปอีก คือคิดจะเปลี่ยนไปใส่คู่สีน้ำตาล เผื่อว่าจะไม่กัด แต่ก็ล้มเลิกไปเพราะดูจะเพี้ยนหนัก

จากถนน Jalan Burma เลี้ยวซ้ายเข้า Jalan Larut ซึ่งเดินมาได้ระยะทางมากกว่า 2 ใน 3 แล้ว เห็นร้านเคเอฟซีที่เป็นตึกเก่าสไตล์โคโลเนียล มีที่จอดรถกว้างขวาง แม้จะไม่หิวแต่อยากนั่งพัก และคิดว่าควรลองไก่เคเอฟซีตามสูตรเสียหน่อย เลือกชุดข้าวมันกับน่องไก่ทอด โคลสลอว์และน้ำอัดลม ราคา 9 ริงกิตกว่าๆ หรือประมาณ 80 บาทเท่านั้น ข้าวมันอร่อยดี น่องไก่รสชาติเหมือนไก่เคเอฟซีไทย ตอนแรกนึกว่าจะออกแขกๆ กว่านี้ แต่ก็คงขายได้ดีเพราะคนอาจจะเบื่อไก่แขกแบบเครื่องเทศหนักๆ ที่มีอยู่ทั่วไป  

จากนั้นก็ออกเดินต่อด้วยความอดทน แต่ทนได้ไม่ถึงที่พักก็งัดเอารองเท้าแตะออกมา ถอดสนีกเกอร์หนังเก็บใส่กล่อง รู้สึกว่าเดินคล่องขึ้นหลายเท่าตัว ถึงWeluv Travel Guesthouse ในซอย Lorong Kampung Malabar ราว 4 ทุ่ม อาบน้ำแล้วนอนงีบ สามารถหลับลงได้อย่างง่ายดายด้วยความเพลีย ตื่นมาราว 5 ทุ่ม เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ใส่แตะหนีบออกไปดูฟุตบอลอังกฤษในร้านบนถนน Chulia พร้อมกับจิบเบียร์ไทเกอร์ในราคาขวด (เล็ก) ละ 12 ริงกิต

ฟุตบอลจบลง ผมเดินผ่านที่พักเพื่อจะหาอะไรกิน (อีกรอบ) ก่อนนอน ข้ามถนน Jalan Penang ไป มีร้านผัดหมี่แต่ผู้ผัดเป็นคนแขก และอีกร้านไม่แน่ใจว่าขายอะไร ดูแล้วจะหนักท้องไปเพราะดึกมากแล้ว เดินกลับฝั่งมาเข้าร้าน 7-11 หยิบบะหมี่ถ้วยมาจ่ายเงิน แคชเชียร์สาวมีต้นตระกูลเป็นคนไทย (พูดภาษาอังกฤษ) เธอเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว ผมถามว่า “ไม่มีลูกเหรอครับ ?” เธอตอบว่า “เลิกกับสามีไปแล้วโดยที่ยังไม่มีลูก”

ขณะกดน้ำร้อนลงใส่ถ้วยบะหมี่ ผมหยิบเรื่องรองเท้ากัดขึ้นมาคุย เธอว่า “ต้องกัดรองเท้าเสียก่อนที่เราจะใส่”

“ก่อนที่มันจะกัดเรา” ผมเสริม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"