สังคมที่ขาดซึ่งสติปัญญา


เพิ่มเพื่อน    

      ตกใจ!!!!!

                วานนี้ (๒๔ สิงหาคม) เห็นข่าวนายกฯ ลุงตู่ ชี้นิ้ว บอกให้นักข่าวทำเนียบรัฐบาลรายหนึ่งออกไปจากทำเนียบรัฐบาล

                เรื่องมันมาจากการต่อปากต่อคำ จากการที่นักข่าวเอาแต่ถามประเด็นการเมือง แต่ลุงตู่ข้องใจทำไมไม่ถามเรื่องเศรษฐกิจบ้าง

                พูดง่ายๆ มันเกิดอาการงอน 

                ฝ่ายหนึ่งงอน ฝ่ายหนึ่งตอด

                ฝ่ายนักข่าวบ่นว่า "ต่อปากต่อคำก็ไม่ได้ด้วย"

                ลุงตู่ได้ยินก็ขึ้นซิครับ

                "ก็ไม่ได้ไง นินทาอะไรวะ ไม่ต้องมาต่อปากต่อคำกับฉันหรอก ต่อปากต่อคำไม่ได้ ก็ออกไปข้างนอกโน่น ใครที่พูดเมื่อกี้"

                คือ...คนนอกมองเป็นเรื่องใหญ่

                แต่นักข่าวทำเนียบฯ ขำๆ

                เป็นเรื่องปกติของลุงตู่โกรธง่าย หายเร็ว ไม่อาฆาต

                ทีนี้ประเด็นคือ ทำไมถามเรื่องการเมืองไม่ได้

                ถามแล้วทำไมลุงตู่ควันออกหู

                ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจจะดีตาม

                เมื่อไหร่ก็ตามที่การเมืองแย่ โกงกินสารพัด รัฐบาลหมกมุ่นกับผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตเชิงนโยบาย เศรษฐกิจพังพินาศ

                การเมืองจึงมีความสำคัญกว่าที่หลายๆ คนคิด

                สำคัญหมด....ไม่ว่าจะเป็นการปูทางไปสู่การเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งแล้วรัฐบาลใหม่ที่มารับไม้ต่อจะเป็นอย่างไร

                บรรดากองเชียร์กองแช่งจะผสมโรงอีกหรือไม่?

                ประเด็นการเมืองจึงเป็นเรื่องต่อเนื่อง คำตอบ คำถาม ในวันนี้ส่งผลไปอีกครึ่งปี หนึ่งปี หรือมากกว่านั้น

                ถามว่าลุงตู่รู้มั้ยว่า การเมืองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

                รู้ครับ!

                แต่บางเรื่องบางประเด็นอยู่เหนือการควบคุม

                และนั่นอาจนำมาซึ่ง การไม่อยากต่อปากต่อคำ

                อยากให้อ่าน....

                พิภพ ธงไชย เขียนไว้ในเฟซบุ๊ก

                ..........วิกฤติการเมืองไทย นับหนึ่งใหม่หลังวันเลือกตั้ง

                เมื่อคืนไปออกรายการคนเคาะข่าว ที่ NEWS 1 ของคุณเติมศักดิ์ จารุปาน กับอาจารย์วันวิชิต บุญโป่ง อาจารย์หนุ่มไฟแรงจาก ม.รังสิต

                ก่อนนั้นในค่ำวันจันทร์ก็ไปสังสรรค์กับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักสิทธิมนุษยชนกับนักสันติวิธีหลายกลุ่ม และได้อ่านบทสัมภาษณ์ของคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ว่า "วิกฤติกำลังจะเกิด เลือกตั้งก็ไม่จบ"  ในแทบลอยด์ ไทยโพสต์

                ดูผู้คนจะเห็นประเด็นตรงกัน เพียงแต่คาดการณ์ต่างกันว่า จะใหญ่โตแค่ไหน จะถึงกับเลือดตกยางออกมากน้อยเพียงใดหรือไม่ ด้วยมองเหตุแห่งวิกฤติไม่ตรงกัน ทั้งผลที่ตามมาก็ไม่ตรงกัน

                ผมเองชี้ให้เห็นว่า วิกฤติใหญ่ที่สุดของไทย เกิดเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ๗ เมษายน ๒๓๑๐ และการสร้างกรุงธนบุรีระยะแรก แต่หลังจากนั้นถึงมีวิกฤตการณ์มาเป็นระยะๆ ก็ไม่ใหญ่โตเท่าคราวเสียกรุง และยุคสร้างกรุงธนบุรี ผมเชื่อว่าจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอีกรอบหลังเลือกตั้ง แต่น่าจะหลังนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งจะไม่ใหญ่โตมากนัก

                วิกฤตินั้นก็ยังมาจากเหตุเดิม คือตัว "ทักษิณ" ที่ยังไม่ยอมแพ้ และไม่มีเหตุให้ทักษิณต้องยอมแพ้เสียด้วย ยิ่งเห็นลู่ทางชนะการเลือกตั้ง เข้ามาต่อรองอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ได้ใหม่ ก็ยิ่งฮึดสู้ เพราะ "สงคราม" ในความคิดของทักษิณยังจบไม่ลง คล้ายสมัยสงครามยุค "นโปเลียน" ต้องให้เกิดการเผด็จศึกแบบสงครามวอเตอร์ลู และนำไปสู่เกาะ Saint Helena เท่านั้น สงครามทักษิณจึงจะจบ

                ที่ผมว่าจะไม่เกิดวิกฤติใหญ่ถึงเลือดนองท้องช้าง เพราะยุคสมัยนี้มีตัวควบคุม คือ กองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ สถาบันกษัตริย์ และวัฒนธรรมไทย

                สังคมไทยตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง ความสามารถของสถาบันกษัตริย์ไทย ทรงใช้สติปัญญาฝ่าฟันมาได้โดยตลอด ทำให้วิกฤติไม่บานปลายกลายเป็นวิกฤติใหญ่ เช่นประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศอื่นใดในโลกใบนี้

                ความคิดนี้ตรงกับ Kofi Annan ที่เคยกล่าวไว้ว่า “จริงๆ แล้วประเทศไทยถือว่าโชคดีมาก เพราะความขัดแย้งในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกแล้วถือว่าเล็กน้อยมาก ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรงในเรื่องอุดมการณ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนบ้าง แต่ก็เป็นประเด็นซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงและมีทิศทางที่ดีขึ้น คนไทยมีความภูมิใจในชาติ และยังโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยมาช้านาน”

                ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นตัวแทนญาติวีรชนพฤษภา ๓๕ ไปฟ้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ที่เจนีวา เมื่อนำคำฟ้องไปเทียบกับประเทศอื่น ของยุคสมัยเดียวกัน เช่น อาร์เจนตินา ความรุนแรงและความตายของเรากลายเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว

                กลับมาที่การเมืองบ้านเรา เราต่างเห็นตรงกันว่าเกิดวิกฤติแน่ ไม่ใช่เพราะทักษิณไม่หยุด นักการเมืองที่ลอยหน้าลอยตาก็ไม่หยุดที่จะ "เขมือบแผ่นดิน" กันต่อไป ตัวตัดสินคือคนรุ่นใหม่ ที่ห่างเหินการเลือกตั้งไปร่วมสิบปี คนรุ่นนี้จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร ยังเป็นที่สงสัย และมีตัวเลือกให้เขามากพอหรือไม่ ที่จะใช้ตัดสินใจเพื่อหาทางออกให้ประเทศไปจากคนรุ่นเก่า

                ผมชี้ให้เห็นถึงคุณภาพของคนไทยส่วนหนึ่ง ที่ผ่านระบบการศึกษาแบบอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง  คิดเลขไม่เก่ง และเป็นโรค "LD-Learning Disorder-โรคการเรียนรู้บกพร่อง" รวมแล้วถึง ๓๐% ที่จะโตพอไปใช้สิทธิ์ออกเสียงทางการเมือง ที่นักการเมืองผู้ฉวยโอกาสจะใช้เป็นเหยื่อทางการเมือง แล้วชนชั้นกลางระดับล่างที่มองแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ทั้งสองกลุ่มต่างตกอยู่ภายใต้สังคมอุปถัมภ์ ที่ระบบการศึกษาและสื่อมวลชนไม่ได้ช่วยยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพแต่อย่างใด  นอกจากการเรียนรู้การเมืองจากการเลือกตั้ง ที่เต็มไปด้วยข้อมูลลวง หรือข่าวลวง-Fake News ในโลกสมัยใหม่

                และยิ่งสังคมไทยไม่มี “วัฒนธรรมการอ่านหนังสือ” ด้วยแล้ว ภูมิปัญญาจะเติบโตได้อย่างไร

                สังคมในอนาคต จะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า "ชนชั้นที่ไร้ประโยชน์-Useless Class" โดยจะถูกควบคุมโดยกลุ่มชนชั้นสูง-Super Elite Class ที่ Yuval Noah Harari ว่าไว้ในโลกยุค AI (ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย  นำมาสรุปเสนอไว้)

                ที่ผ่านมาไม่มีนักการเมืองกลุ่มใด หรือพรรคการเมืองใด ช่วยยกระดับสติปัญญาในเรื่องนี้เลย จนแม้แต่อาจารย์พุทธทาสภิกขุ ก็เคยเทศนาถึงสังคมประชาธิปไตยในบ้านเราอย่างน่าเป็นห่วงว่า “ขาดซึ่งสติปัญญา”

                ที่กล่าวเช่นนี้ มิได้หมายที่จะไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง แต่เราจะอดทนพอต่อผลการเลือกตั้ง และความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ที่เต็มไปด้วยการโกงกิน โดยอ้างว่ามาจาก "เสียงสวรรค์" ของประชาชนได้หรือไม่ วิกฤติจึงยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

                ผมพูดเพิ่มเติมมากกว่าการพูดคุยในรายการคนเคาะข่าว และยังนึกทางออกไม่ได้ ถึงแม้จะมองเห็นอยู่ คือ “การปฏิรูปทุกด้าน” ตามที่กำลังเดินหน้ากันอยู่ แต่ที่ไม่มีความหวังกับนักการเมืองและพรรคการเมือง ด้วยไม่เห็นมีการชูธงการปฏิรูป นอกจากชู ”พลังดูด” จะมีเพียงพรรคใหม่บางพรรค ที่ชูว่าจะเปลี่ยนแปลงบางเรื่อง ซึ่งเรื่องที่จะเปลี่ยนนั้น ก็เพียงเป็น ”การตลาด” ที่ทักษิณเคยนำเสนอมาแล้ว โดยไม่เปลี่ยนไปถึงฐานรากของปัญหา ที่ลดความเหลื่อมล้ำ ลดการผูกขาดทางการค้า สร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ กระจายอำนาจและกระจายงบประมาณออกไป กับปฏิรูปการศึกษาให้ถึงตัวเด็ก

                ผมตั้งคำถามในวงสนทนาเมื่อคืนวันจันทร์ว่า สังคมทำสงครามกับทุนทักษิณ แต่ทุนอื่นใน ๑๐  ทุนยักษ์ของหัวขบวนในตลาดหุ้นนั้น เลวหรือดีกว่าทุนทักษิณ หรือเลวพอกัน และกลุ่มทุนนั้นเติบโตกว่า  ๑๐% ขณะที่ GDP ขยับไปไม่ถึง ๔% (ในยุคทหารครองเมือง) ทุนเหล่านี้กลับแอบซ่อนอยู่นอกสนามรบ ปล่อยให้ “ทุนทักษิณ” เผชิญหน้าในสนามรบอยู่ฝ่ายเดียว

                หาไม่สังคมการเมืองก็จะอยู่กันแบบนี้ คนจนมากขึ้น คนรวยกระจุกตัว ครอบครองทรัพย์สินเกิน ๗๐% ของทรัพย์สินในประเทศ

                แล้ววิกฤติการเมือง วิกฤติสังคม ประเทศนี้จะหมดไปได้อย่างไร ?..........

                ครับ....อย่าเพิ่งสรุปอะไรทั้งนั้น!    

                ประเด็นความขัดแย้ง ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ หาก "ทักษิณ" ยังคงเคลื่อนไหวอยู่

                ไม่ใช่เรื่องก้าวข้ามหรือไม่ข้ามทักษิณ              

                แต่เพราะเงื่อนที่สร้างโดยทักษิณยังคงอยู่ และ ทักษิณ พยายามนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง 

                ความขัดแย้งรอบกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ทักษิณ ใช้จุดอ่อนของสังคมไทย แอบอ้างประชาธิปไตย ผ่านการเลือกตั้ง ด้วยนโยบายประชานิยมสุดขั้ว

                มันยังตราตรึงผู้คนอยู่ไม่น้อย

                ใครบ้างไม่ชอบ ลด แลก แจก แถม

                เช่นกัน เมื่อได้ของลดแลกแจกแถมไปแล้ว จะมีสักกี่คนที่คำนึงถึงผลที่ตามมา และผลที่ว่าไม่ได้สร้างความเสียหายให้ใครคนใดคนหนึ่ง

                แต่มันคือหายนะของประเทศ

                และนี่จะทำให้การเมืองหลังเลือกตั้งยังคงมีความขัดแย้ง

                พรรคสนับสนุน คสช.ชนะ ปัญหาก็ยังอยู่

                เพื่อไทยชนะ ก็มีปัญหา

                เพราะรากเหง้าของปัญหาไม่เคยได้รับการแก้ไข

                ปฏิรูปประเทศที่พยายามตั้งไข่ในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา วันนี้ยังหาผลที่ปรากฏเด่นชัดไม่ได้ นอกจากข้อเสนอในเอกสาร

                แล้วไปว่ากันในรัฐบาลถัดไป

                ทุกอย่างมันก็ถูกผลักออกไป รัฐบาลหน้า และถัดไปเรื่อยๆ บนฐานความเชื่อมั่นในรัฐบาลเลือกตั้งที่มีไม่มากนัก

                ขณะเดียวกัน เมื่อเราเรียกร้องเอาจากฝ่ายการเมือง ว่าต้องปฏิรูปประเทศ แต่....สังคมไทยกลับติดอยู่กับที่

                ไม่อยากจะเปลี่ยนตัวเอง

                ความยากที่สุดอาจเป็นจุดนี้!         

                สังคมไทยส่วนหนึ่งโหยหาอยากจะกลับไปยุคทักษิณที่ประชานิยมเบ่งบาน การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเพื่อจะบอกว่า ประชานิยมทำลายชาติ มักถูกต่อต้านเสมอ

                ทักษิณจึงอยากจะก่อสงครามอีกครั้ง เพราะเห็นว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเสพติดประชานิยมอยู่

                ขณะที่กลุ่มทุนใหญ่มีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่าการเกาะอยู่กับอำนาจต้องทำอย่างไร และทุนใหญ่ไม่เคยฟาดฟันกันเอง

                ฉะนั้นโจทย์ที่ต้องตีให้แตกคือ จะขจัดเงื่อนไขในอดีตออกไปได้อย่างไร ขณะที่วันนี้สังคมไทยถูกตั้งคำถามว่า......

                "ขาดซึ่งสติปัญญา"

                                                                                                                ผักกาดหอม 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"