อุตุฯเตือนรับมือพายุเข้าอีก2ลูก


เพิ่มเพื่อน    

 "ประยุทธ์" เตือน ปชช.พร้อมรับมืออุทกภัยตลอดเวลา "บิ๊กฉัตร" สั่งวงประชุมบริหารจัดการน้ำติดตั้งระบบโทรมาตรวัดน้ำฝนต้นน้ำสำคัญในเขตอุทยานฯ   "เลขาฯ สทนช." แจ้งทั่ว ปท.ยังมีฝนตกหนัก หลังอุตุฯ คาดพายุจะเข้าไทยช่วง ส.ค.-ต.ค.อีก 1-2 ลูก "มท.1" ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เร่งระบายน้ำต่อเนื่อง มั่นใจหากไม่มีมรสุมเพิ่ม 2 สัปดาห์แห้ง "รมว.เกษตรฯ" สำรวจความเสียหายเกษตรกรเตรียมจ่ายเงินชดเชย "ศูนย์เฉพาะกิจฯ" เฝ้าระวัง 2 เขื่อนไหญ่น้ำไหลเข้าเพิ่มขึ้น

    เมื่อวันที่ 24 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า  นอกจากเรื่องสภาพลมฟ้าอากาศอันจะนำมาซึ่งปัญหาอุทกภัยในปัจจุบัน เราก็พยายามแก้มาโดยตลอด หลายอย่างก็ดีขึ้น แต่เราอย่าคิดว่ามันจะไม่กลับมาอีก ถ้าหากว่ามีพายุอะไรเข้ามา ต้องเตรียมการ เตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา 
    ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล 
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบระบบโทรมาตรให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. พิจารณาติดตั้งระบบโทรมาตรวัดน้ำฝนบริเวณพื้นที่ต้นน้ำสำคัญๆ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น เขื่อนแก่งกระจาน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานด้วย
    "ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ รวมถึงมีระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม มีจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนน้ำอูน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนรัชชประภา ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางความจุมากกว่า 50 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณเกินความจุ 80% มีจำนวน 3 แห่ง" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว 
    รองนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านเทคนิคการดูแลบำรุงรักษา และการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น  ละให้ติดตามรายงานสภาพน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้ สทนช.รวบรวมวิเคราะห์ และสรุปเพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ รวมทั้งให้ สสนก.จัดทำระบบฐานข้อมูลรายงานสภาพน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแบบออนไลน์ โดยให้ผู้รับผิดชอบแต่ละหน่วยงานเป็นผู้รายงานด้วย 
    นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงวันที่ 24-29 ส.ค.61 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มได้ 
ส.ค.-ต.ค.มีพายุอีก 2 ลูก
    "กรมอุตุนิยมวิทยายังได้คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชัน โซนร้อนและไต้ฝุ่น) จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูก ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. และมีโอกาสสูงที่พายุจะเคลื่อนเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ส่วนในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. มีโอกาสที่พายุจะเคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนเข้าสู่บริเวณภาคใต้ อย่างไรก็ตาม แม้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก แต่ก็มีอ่างเก็บน้ำจำนวนไม่น้อยที่มีปริมาณค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ที่ประชุมจึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำน้อยด้วย อาทิ แผนการทำฝนหลวงในพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีความจุน้อยกว่า 30% และขอให้เตรียมการจัดทำแผนการส่งน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์" รองประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกล่าว 
    วันเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรี และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยบริเวณใกล้วัดชลธราราม (วัดท่าซิก) อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  
    พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำเขื่อนเพชรยังต้องเร่งระบาย แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย เพราะระดับน้ำยังล้นสปิลเวย์ ซึ่งพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ อ.ท่ายางและ อ.แก่งกระจาน โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร พืชสวนได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยหลังน้ำลดคณะกรรมการฯ จะเข้าไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่ เพื่อพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนตามเกณฑ์
    "หากไม่มีมรสุมในช่วงนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเขื่อนแม่ประจันต์มีพื้นที่กักเก็บน้ำได้น้อย แต่การจะหาพื้นที่เพิ่มเติม ต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการและต้องสอบถามประชาชนในพื้นที่ด้วย ส่วนพื้นที่ตัวเมืองเพชรบุรี สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ต่อเนื่อง" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
    ส่วนนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานพื้นที่ จ.เพชรบุรี เร่งสำรวจความเสียหายที่มีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรจากการระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน พร้อมกับในขณะนี้หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ของกระทรวงเกษตรฯ ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจกับพี่น้องเกษตรกรทุกสาขา ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งจัดการในเรื่องทะเบียนเกษตรกรให้เรียบร้อย เนื่องจากจะใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรดังกล่าว นำไปใช้ในการสำรวจความเสียหายหลังจากสถานการณ์น้ำคลี่คลายแล้ว เพื่อจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรที่ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งจะดำเนินการด้วยความรวดเร็วและประสานงานกับทางจังหวัดเพื่อทำงานในเชิงรุกต่อไป
    นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการแก้ไขอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ทำให้มีความเชื่อมั่นว่าปริมาณน้ำในปีนี้จะไม่ท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอย่างแน่นอน แต่จะมีบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เปราะบาง ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากน้ำล้นตลิ่ง แต่มีสาเหตุมาจากน้ำซึมผ่านทำนบที่กั้นไว้ ซึ่งเป็นพื้นที่ในวงจำกัด และมีไม่กี่แห่ง โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ดำเนินการสูบออก 
5 วันน้ำเพชรคลี่คลาย
    นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า น้ำที่ท่วมตัวเมืองเพชรบุรีขณะนี้ได้นำกระสอบทรายมาปิดล้อมพื้นที่น้ำท่วม 6 จุด และเร่งสูบน้ำกลับลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ขณะเดียวกันได้เสริมเครื่องผลักดันน้ำที่บริเวณวัดคุ้งตำหนัก อำเภอบ้านแหลม เพื่อเร่งระบายน้ำออกอ่าวไทยให้เร็วที่สุดในช่วงน้ำทะเลลงต่ำสุด คาดว่าไม่เกิน 5 วัน สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเพชรบุรีจะคลี่คลาย 
    ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวถึงสถานการณ์อ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษว่า มี 2 เขื่อน คือ 1.เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ปริมาณน้ำ 557 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มขึ้น 14 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107% ปริมาณน้ำไหลเข้า 21.00 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มจากวันที่ 23 ส.ค. 5.35 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำไหลออก 7.21 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มจากเมื่อวาน 1.05 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้มีการแจ้งเตือนให้ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ทำให้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ เพิ่มขึ้น
    2.เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี ปริมาณน้ำ 8,043 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 11 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 91% ขณะที่ปริมาณน้ำไหลระบายออก 48.24 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้น 6.31 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งส่งผลกระทบกับพื้นที่รีสอร์ตที่สร้างอยู่ในแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี แต่น้ำยังไม่สูงกว่าตลิ่ง 
    นายสำเริงกล่าวว่า สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่เฝ้าระวังจำนวน 3 อ่างที่มีระดับน้ำลดลง ได้แก่ 1.เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ปริมาณน้ำ 760 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากวันที่ 23 ส.ค. 7 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 107% น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 1.10 ม. ลดลง 14 ซม. ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 64 ซม. แนวโน้มลดลง และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี สูงกว่าระดับตลิ่ง 50 ซม. แนวโน้มทรงตัว แต่ยังคงมีพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีได้รับผลกระทบน้ำท่วม ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี มีน้ำท่วมพื้นที่ที่มีระดับต่ำกว่าความสูงของคันกั้นน้ำเทศบาล ซึ่งทุกหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
    2.เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ปริมาณน้ำ 195 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 87% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 7.93 ล้าน ลบ.ม. ลด 0.53 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลออก 6.84 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 0.77 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 80 ซม. ลดลง 11 ซม. และ 3. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำ 327 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 5.11 คิดเป็น 84% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 6.79 ล้าน ลบ.ม. ลดลง 1.35 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายออก 11.21 ล้าน ลบ.ม. เท่าเดิม
    "จากการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ รวมถึงปริมาณฝนที่ตกในหลายพื้นที่ พบมีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมืองฯ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำนครนายก แม่น้ำยังที่ อ. เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงระดับเตือนภัยเนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่" ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติกล่าว.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"