24 ส.ค.61 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2561
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ตามที่สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความว่า…หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา ด้วยพระอาการประชวรไข้หวัดใหญ่นั้น คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถมาระยะหนึ่งแล้ว จากนั้นพระอาการโดยรวม “ดีขึ้น”
ไม่ทรงมีพระปรอท (ไข้) ทรงพระกรรสะ (ไอ) ลดลง รับสั่งได้ดี เสวยพระกระยาหารได้ดี คณะแพทย์ขอพระราชทานให้ประทับที่โรงพยาบาล เพื่อถวายการฟื้นฟูพระวรกายต่อไป ผมขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยทุกคน ร่วมใจกัน ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระองค์ ทรงหายจากพระอาการประชวรและขอทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงโดยเร็ว ขอพระองค์ทรงพระเจริญครับ
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพิสูจน์การคำนวณสถานที่และเวลาการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ณ หมู่บ้านหว้า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระองค์ทรงคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปี ว่าจะเกิดเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ โดยปีนี้ถือว่าเป็นการครบรอบ 150 ปี ของการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นและสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศไทย
ในปีนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และเผยแพร่ผลงานการวิจัย ความก้าวหน้ากระตุ้นความสนใจ ส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 16 ถึง 26 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค ฮอล์ล 2 ถึง 8 เมืองทองธานี
ในงานจะมีหน่วยงานต่างๆ กว่า 100 หน่วยงานจาก 10 ประเทศ มาร่วมจัดแสดง โดยมี 9 เรื่องโดดเด่น อาทิ นิทรรศการวิทยาศาสตร์ติดถ้ำ โดยมีการนำเรือดำน้ำจิ๋ว หรือเรือดำน้ำหมูป่า ที่มีหน้าตาเหมือนแคปซูล พัฒนาโดย “อีลอน มัสก์” เจ้าของกิจการขนส่งอวกาศสเปซเอ็กซ์ มาจัดแสดง พร้อมกับให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ติดถ้ำ เพื่อให้ผู้ชมได้เรียนรู้ด้านภูมิศาสตร์ธรณีวิทยา เทคโนโลยีกู้ภัย สภาพร่างกายเมื่ออยู่ในถ้ำ และการเตรียมตัวไปเที่ยวถ้ำ
นิทรรศการยุคข้อมูลครองโลกหรือ “BIG DATA” นิทรรศการวิกฤตขยะเทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต และซูเปอร์ฟู้ด หรืออาหารแห่งศตวรรษเป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนมาจัดแสดงด้วยนะครับ
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ จัดขึ้นตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน สร้างแรงบันดาลใจ” ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21สู่อาชีพใหม่ๆ หรืออาชีพที่เกี่ยวกับสะเต็ม (STEM) ที่เป็นการบูรณาการศาสตร์หลายแขนง ในการทำงาน ก็ถือว่าเป็นความท้าทาย ที่จะทำอย่างไรให้เด็กสามารถเข้าถึงสะเต็ม (STEM) ได้ง่าย มองว่าเป็นเรื่องสนุก และเกิดแรงบันดาลใจเพื่อก้าวสู่เส้นทางอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ซึ่งผมเห็นว่าปัจจุบัน “สะเต็ม –STEM” อาจจะไม่เพียงพอนะครับ สำหรับการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ แต่เราต้องการ “ความคิดสร้างสรรค์” ไปด้วย ก็อยากจะให้เพิ่มเติม “ศิลปะ (A-Art)”เป็น “สะตีม –STEAM” ลงไปด้วยจะได้สมบูรณ์ ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อการประยุกต์ การริเริ่ม และการกล้าสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ไม่ใช่เป็นเพียงการลอกเลียนแบบ โดยปราศจากการประยุกต์ ดัดแปลง มิฉะนั้น ประเทศของเราก็จะไม่มีโอกาสที่จะเป็น “เจ้าของ และ ผู้ส่งออก” เทคโนโลยีของโลกได้เลย
ที่ผ่านมา นโยบาย “วิทย์สร้างคน” ได้มีการผลักดันผ่านโครงการต่างๆ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เช่น การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติใน 4 ภูมิภาค รวมถึงมีคาราวานวิทยาศาสตร์เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้โดย ได้เพิ่มเส้นทางคาราวานสายใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ
ตลอดจนโครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ให้รู้ว่าในอนาคตอันใกล้ ควรจะเรียนอะไร ไปทำอาชีพอะไรจึงจะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่กำลังจะก้าวไปสู่สังคม 4.0 นะครับ
นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกหลายโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ โครงการขยายห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) โครงการพัฒนาทักษะการคิดเชิงตรรกะให้แก่เด็กและเยาวชนด้วยกิจกรรม Coding และคิดไบร์ท (KidBright) ซึ่งจะถ่ายทอดความรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในภูมิภาคและโรงเรียนด้อยโอกาส
โดยได้แจกจ่ายให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 200,000 ชุด ใน 500 โรงเรียน โครงการจัดการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์สิ่งประดิษฐ์ เพื่อสร้างสนามแข่งขันให้เยาวชนได้พัฒนาผลงาน และเรียนรู้จากคนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ เข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร
สุดท้าย โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab)นะครับ ที่จะไปสร้างในโรงเรียน วิทยาลัยอาชีวศึกษา และวิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศอีก150 แห่ง เพื่อจะสร้างพื้นที่ให้นักเรียนสามารถเข้าไปใช้สถานที่ อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ ทางวิศวกรรม ให้สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์เป็นชิ้นงานต่างๆ เป็นการยกระดับฝีมือ ความชำนาญ และความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น
นโยบายวิทย์สร้างคนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นั้น กำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย และนำประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0ได้อย่างมั่นคง ถ้าเราเปลี่ยนความคิดคนไทยให้มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ได้ เราจะมีเหตุมีผล และส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนา ให้ก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคตอันใกล้
และสามารถจะไปสานต่อในเรื่องของ เกษตรกรรม เรื่องของอาชีพต่างๆ ที่มีรายได้น้อยด้วยนะครับ เราต้องเอาวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อีกสาขาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันก็คือสาขาวิทยาศาสตร์ประยุคนะครับ ทั้งสองอย่างเอามาด้วยกัน ก็จะขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนตัวเอง ครอบครัวไปด้วย ในอนาคต
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานะครับ ผมก็ได้นำคณะเดินทางลงไปประชุมคณะ รัฐมนตรี ที่จังหวัดชุมพร และระนอง ในการลงพื้นที่ทุกครั้ง ก็ดีใจ ชื่นใจ เห็นรอยยิ้มของพี่น้องประชาชนนะครับ ทั้งที่มา และอาจจะไม่ได้มา ก็ได้ฝากความห่วงใยมาถึงรัฐบาล มาถึงผมด้วย ก็ขอขอบคุณนะครับ พี่น้องชาวระนอง หลายคน ก็แสดงความพึงพอใจ ชุมพร ด้วยนะครับ
จังหวัดระนองนั้น อาจจะเป็นจังหวัดเล็กๆ มี ส.ส. เพียงคนเดียว แล้วก็อาจจะ เขาไม่เคยเห็นนายกฯ มาที่จังหวัดระนองนะครับ แล้วอยู่ใกล้ชิดกับเขาแบบ ผมเห็นว่า “ทุกจังหวัด” ไม่ว่าจะเล็ก จะใหญ่ มีความสำคัญทั้งหมด เพราะว่ารัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศนะครับ เพียงแต่ว่าเราต้องกำหนดบทบาทนะครับ ในแต่ละพื้นที่ ว่าจะมีอะไรที่แตกต่างกันบ้างตามศักยภาพ เพราะการเป็นรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี นั้น เราจะต้องเป็นรัฐบาลของ “คนทั้งประเทศ” นะครับ เราเลือกใครไม่ได้
ในส่วนของ “ทีมเตรียมงาน – ส่วนล่วงหน้า” ก็ได้บอกว่าว่า มีคุณป้าคนหนึ่ง อยู่ที่ร้านขายน้ำข้างบ่อน้ำพุร้อน มาตั้งแต่ตี 3 ตื่นมานะครับ มารอต้อนรับ ก็ขอขอบคุณนะครับ หลายๆ ท่านก็คงลำบากเหมือนกันในการมาพบผมในครั้งนั้นนะครับ ขณะที่ผมและคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเดินทางมานี้ ก็ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าของเจ้าหน้าที่ในทุกระดับนะครับ ก็ได้มีการพูดคุย เก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง จากประชาชน โดยตรงด้วยนะครับ
ผมก็เชื่อว่าการเดินทางมาครั้งนี้จะช่วย “เติมเต็ม” ซึ่งกันและกัน โดยจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาพรวมของประเทศ นะครับ จะต้องเชื่อมโยง เกื้อกูล และสอดคล้องกัน นั่นคือเศรษฐกิจของประเทศไทยนะครับ ไม่ใช่ว่าเล็กๆ น้อยๆ อาชีพนี้ อย่างเดียว แล้วแต่ละพวก แต่ละกลุ่มก็มีความต้องการคนละอย่าง สองอย่าง แต่ถ้าเราไม่สร้างเครือข่าย ให้เกิดขึ้นมาให้ได้ ในพื้นที่กว้างขึ้น ตลาดมากขึ้น สร้างกลไกในการเชื่อมโยงมากขึ้น เป็นไปไม่ได้นะครับ
เพราะฉะนั้นพี่น้องก็คงจะต้องเดือนร้อน จากคำกล่าวที่ว่าเศรษฐกิจเราตกต่ำ คนจนไม่มีเงินใช้ ทำนอบนี้มาโดยตลอด แล้วก็ถ้าเราไม่แก้ไขแบบที่กำลังทำวันนี้ จะยิ่งกว่าเดิมไปเรื่อยๆ นะครับ ผมก็อยากจะเรียนพ่อแม่พี่น้องให้ทราบนะครับ
ระนอง – ชุมพร นั้นเราถือว่าเป็น “ประตู” สู่ภาคใต้ตอนล่างของไทย เชื่อมโยงสองฝั่งนะครับ อ่าวไทยกับอันดามัน สำคัญต่อยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของประเทศ ที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มักเกิดขึ้นในฝั่งชายทะเลตะวันออกของทวีปเอเชีย นะครับ ตั้งแต่เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาถึงชายฝั่งของประเทศในอาเซียน
ซึ่งในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก จะมีความสำคัญมากขึ้นไม่แพ้กัน เพราะว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากนะครับ มีประชากรหนาแน่น เป็นตลาดขนาดใหญ่ แล้วก็ทำให้มีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นอีกโอกาสนะครับ ที่เราจะสามารถขยายตลาด และกระจายคู่ค้าออกไปได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ 2 จังหวัด ทำหน้าที่เป็น “ประตู” ที่เปิดกว้างของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศเอง ภายใน แล้วก็ภายนอกด้วยนะครับ การค้าระหว่างประเทศ
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ รัฐบาลได้เน้นการพัฒนาจังหวัดระนอง ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Smart Living City) ผ่านการส่งเสริมเรื่องแพทย์ทางเลือก เพราะมี “บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ” โดยจะต้องดูแล รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำ ให้มีความสมบูรณ์ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต
พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้า โลจิสติกส์ ชายฝั่งอันดามัน ซึ่งก็จะสนับสนุนแนวคิด การเชื่อมโยงของกลุ่มประเทศอินโด-แปซิฟิก และ One Belt One Road ของจีนนะครับ เพื่อการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาใช้ประโยชน์ท่าเรือระนองให้เต็มศักยภาพนะครับ
สำหรับชุมพร นั้นเช่นเดียวกันก็คงจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรกรรมและบริโภคได้ นอกจากนี้ จะต้องเร่งส่งเสริมเรื่องวิสาหกิจชุมชนและการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ดีขึ้น
นอกจากใน 2 จังหวัด ที่ไปเยี่ยมชม ด้วยตัวเองแล้ว ผมยังได้มีโอกาสหารือในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้กับผู้แทนประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานและการพัฒนาพื้นที่ อันได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นะครับ อาทิ โครงการที่สำคัญ4 ด้าน ก็คือ...
1. การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่าย ใช้เป็นประโยชน์ ในการเป็นประตูส่งสินค้าออกไปทางฝั่งตะวันตก (Western Gateway) สำหรับเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้ รวมถึงประเทศจีน มีทั้งการขยายทางหลัก การก่อสร้างใหม่ การสร้างถนนเชื่อมสองฝั่งทะเล
รวมถึงการเร่งรัดการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายหาดอ่าวไทย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อาทิ “ทางราง” ก็ได้มีการพิจารณาโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ เชื่อมโยงชุมพร ลงไปถึง ปาดังเบซาร์ และการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่
“ทางน้ำ” มีการพิจารณาพัฒนาท่าเทียบเรือ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ในขณะที่ “ทางอากาศ” ก็ได้หารือในเรื่องการปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้นโครงการเหล่านี้นะครับ จะช่วยเตรียมความพร้อมในการเตรียมการแผนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศต่อไปอีกด้วย โดยแผนงานโครงการต้องทำให้ชัดเจน คำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นหลัก รวมถึงให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาลอีกด้วย
เรื่องที่ 2. การผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จะพัฒนาทั้งการแปรรูปการเกษตร การประมง เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Base Industry) ที่ต่อยอดจากการผลิตน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการยกระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ให้เป็นศูนย์กลางของงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และยางพารา ยกระดับเกษตรกรรายย่อยให้มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปให้มากขึ้น โดยมีการหารือเรื่องการจัดตั้ง Oil Palm City ที่สุราษฎร์ธานี มีการส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพ ชีวมวล จากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ
มีการพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจัดทำมาตรฐาน การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน สำหรับรองรับอุตสาหกรรม 4.0 มีการสร้าง Smart Farmer การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตรตามแนวประชารัฐ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตร สินค้าและบริการ
รวมทั้งการจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร ทั้งนี้เพื่อจะยกระดับ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ “คลัสเตอร์เกษตร” ภาคใต้นะครับ ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างกลไกและขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็วที่สุด ร่วมกันกำหนดพื้นที่เพาะปลูก มีการทำเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชเสริมพืชหลัก และการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่เป็นต้น
โดยจะต้องนำ Big Data มาใช้มากขึ้นด้วยข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาวิเคราะห์ สนับสนุนการตัดสินใจ การวิเคราะห์สถานการณ์ “การตลาดนำการผลิต” และแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะได้ส่งเสริมการทำเกษตรให้ตรงจุดนะครับ
นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ลงทะเบียนแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหลัก เพื่อจะบ่งบอกถึงแหล่งการเพาะปลูกพืชต่างๆ อีกด้วยเพราะต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว หากไม่พบแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหรือปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีการซื้อสินค้าเกษตรดังกล่าวนะครับ ก็จะเกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้น อื่นๆ ตามมาอีก
3. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่กับแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยให้เชื่อมโยงกับอันดามัน นะครับ (Royal Coast Andaman Cruise) เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ “ริเวียร่าเมืองไทย”
นอกจากการท่องเที่ยวในภาพรวมแล้ว ยังมีการหารือการพัฒนาศักยภาพ เพื่อจะรักษาความปลอดภัยเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งทางบกและทางน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยในเชิงป้องกัน และ CCTV ในเชิงป้องปราบ เป็นต้น
การยกระดับแหล่งท่องเที่ยว เช่น สปาวารีบำบัดน้ำพุร้อนและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้สามารถสนับสนุนธุรกิจในชุมชนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว และการก่อสร้างศูนย์การกีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับประเทศ
4. การศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ป่าไม้ และป่าชายเลน (Green and Culture) การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่สุราษฎร์ธานี การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้เรื่องน้ำท่วม รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในจังหวัดพังงาและระนองเป็นต้น
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ในจังหวัดชุมพร ซึ่งสร้างขึ้นเป็น “แก้มลิงธรรมชาติ” นั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในจังหวัดชุมพร และเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรกรรม และผลิต น้ำประปาหล่อเลี้ยงชุมชนในอนาคต แล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็น “แหล่งท่องเที่ยวชุมชน” ได้อีกด้วย
โดยเฉพาะ ถ้าหากมีเรื่องราว – เรื่องเล่าให้ศึกษา ก็ช่วยดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี โดยหนองใหญ่นี้ ได้มี “เกาะกลางน้ำ” ที่เกิดจากการนำดินจากการขุดบึง ปรับแก้มลิง มาถมจนเป็นเกาะ อยู่กลางน้ำ โดยมีการนำไม้ยืนต้นพันธุ์ภาคใต้ที่ใกล้สูญพันธุ์มาปลูกไว้หลายชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของนกและกวาง
มีการสร้าง “สะพานไม้เคี่ยม” ตามที่เห็นในรูปวันนี้ ที่สวยงามเชื่อมต่อระหว่างเกาะกับฝั่ง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เดินชมทัศนียภาพได้อีกด้วย ซึ่งสะพานนี้ สร้างเมื่อปี 2552 ยาว 295 เมตร กว้าง 1.2 เมตร
ที่น่าสนใจคือ สร้างโดยแรงงานเด็กวัยรุ่นเพียง7 คน ใช้เวลาเพียง 45 วัน ใช้เงิน 460,000 บาท โดยไม่อาศัยเครื่องมือเครื่องจักรใดๆ ช่วยเลย สาเหตุที่ต้องใช้ไม้เคี่ยม เนื่องจากเป็นไม้ที่ทนน้ำ ทนแดด ทนฝน
ส่วนรูปทรงสะพานที่คดโค้ง มีขึ้นมีลง ก็แฝงด้วยคำสอนที่ว่า...เปรียบเหมือนชีวิตมนุษย์ ซึ่งย่อมมีทั้งขึ้นและลง และบางครั้งต้องคดเคี้ยวบ้าง ปัจจุบันเกิดการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา กลุ่มพลังมวลชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดชุมพร จึงร่วมกันบูรณะจนแล้วเสร็จในรูปแบบปัจจุบันที่เห็นนะครับ ภายในวันเดียว
ผมจึงอยากนำ “เกร็ดความรู้” เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซึ่งแฝงด้วยความยิ่งใหญ่ มาเล่าให้พี่น้องทั่วประเทศได้ฟัง ในทุกๆ ที่ ย่อมมีที่มาที่ไป ล้วนน่าศึกษา หากเราไม่มองข้ามนะครับ อีกทั้ง ยังมีแง่มุมสอนใจคนเราได้ด้วย นะครับ
นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่จะส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการก่อสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องดูความเหมาะสมในเรื่องของพื้นที่ต่อไป
รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในเครื่องมือรักษาพยาบาลและคุณภาพการบริการของโรงพยาบาล นอกจากนี้ การสนับสนุนการดำเนินงาน OTOP Academy เพื่อส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจะพิจารณาในเรื่องความพร้อมของบุคลากรและรูปแบบการบริหารจัดการต่อไป
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ “ทุกครั้ง” ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานต่างๆ ไม่ใช่มาเพื่อแจกเงินหรือแจกงบประมาณ อย่างที่หลายคนกล่าวอ้างกันมานะครับ ผมไม่ทำเช่นนั้น แต่มาเพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยงงบราษฎรทำความเข้าใจ โครงการที่มีแต่ดั้งเดิมที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีที่ผ่านมา เช่น โครงการรักษาพยาบาล การศึกษาฟรี การเกษตร หนี้สิน ฯลฯ เราคงต้องดำเนินการต่อนะครับ
แต่ระหว่างนี้ เราต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณที่จะมากขึ้นในอนาคตหลายๆ รูปแบบด้วยกันนะครับ และก็สิ่งที่ผ่านมานั้นก็จะมีปัญหาอยู่หลายประการ แต่เราก็ไม่สามารถจะล้มเลิกได้ แต่เราต้องทำให้ดีกว่าเดิม ทุกอย่างต้องดีขึ้นกว่าเดิม แล้วก็มั่นคง ยั่งยืนนะครับ เพื่อคนไทยของพวกเรา รักษาวินัยทางการเงินการคลังของประเทศอีกด้วย อย่าไปคิดอะไรสั้นๆ คิดแต่ปลายทาง
ถ้าเราใช้เงินตรงปลายทางให้มาก ต่อๆ ไปโครงการเหล่านี้ รวมแล้วจะใช้งบประมาณมากขึ้น แล้วเราจะไม่สามารถไปดูแลอย่างอื่นได้ ไปลงทุนอะไรก็ไม่ได้ เพราะติดอยู่กับงบประมาณพวกนี้ แต่เราลดจากปัจจุบันไม่ได้ เพราะบางอย่างทำมาแล้วนะครับ แต่ต้องทำให้ดีขึ้น ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเข้ามาใช้ ประชาชนบางท่านไม่ทราบ ไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำให้ดีขึ้นอย่างไร ทราบแต่เพียงว่ามันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อนั่นเมื่อนี่ แต่มันมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนอันนี้ไม่เข้าใจ ไม่รู้ นะครับ
ก็อยากให้ทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมกัน ให้เห็นทั้งประโยชน์และปัญหาควบคู่กันไปด้วย ทุกครั้งที่รัฐบาลได้ลงพื้นที่ ก็พบว่าประชาชนมีความต้องการในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องเดิม เรื่องใหม่ เรื่องซ้ำซาก เราเข้าใจนะครับ และก็รับมาพิจารณา หลายเรื่องที่ลงไปนี่ อยู่ในแผนงานโครงการแล้ว บางเรื่องที่ยังไม่อยู่ในแผน ก็นำมาพิจารณาความเหมาะสม เพื่อจะจัดหางบประมาณนะครับ จัดลำดับความจำเป็นความเร่งด่วน
ในส่วนของเรื่องงบประมาณนี้เช่นกัน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจว่าเราได้งบประมาณจากไหน อย่างไร เพราะรัฐบาลมีอย่างเดียวนะครับ จากภาษีทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงเรื่องนี้ จะมีปัญหาหมด แต่ทุกคนก็ต้องเข้าใจนะครับว่า ท่านเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ หรือประเทศชาติต้องการอะไรก็แล้วแต่ ต้องมีเงิน มีงบประมาณ และต้องใช้เวลาในการดำเนินการนะครับ
ในการเดินทางลงพื้นที่นั้นนะครับ ผมและคณะรัฐมนตรีก็ได้พยายามอย่างยิ่ง วันนี้ลงไปถึง 72 พื้นที่ด้วยกัน พร้อมๆ กันก็แยกย้ายกันไป ทั้งรองนายกฯ รัฐมนตรีก็แบ่งๆ กันไปนะครับ แล้วก็ประชุมร่วมกัน บางคณะบางชุดก็ร่วมกับคณะรัฐมนตรีไป
หลายเรื่องนะครับ วันนี้ที่ผมติดตามจากโซเชียลมีเดียบ้าง จากสื่อบ้าง มีกลุ่มผู้ไม่หวังดี อาจจะกลุ่มการเมือง สื่อที่ อาจจะเจตนาไม่บริสุทธิ์ บิดเบือนว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยทำอะไรให้เลย 4 ปี ทีผ่านมาทุกอย่างเริ่มตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆหมด เพราะทุกอย่างก็ต้องสืบทอดกันมาทุกรัฐบาลนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับทำไว้มากน้อยเพียงใด แล้วก็ทำเสริมเพียงใด แล้วมาแก้ไขอะไรบ้าง คิดแบบนี้นะถึงจะสร้างสรรค์
ถ้าท่านติแบบนี้ทั้งหมด แล้วท่านบอกว่าวันนี้ที่รัฐบาลทำเหมือนกับรัฐบาลก่อนทำมา แล้วผมถามว่าถ้าผมอ้างว่ารัฐบาลก่อนสร้างปัญหาอะไรไว้บ้าง ท่านจะฟังผมไหมล่ะครับ ก็อยากจะให้สื่อสารไปถึงประชาชนด้วย
ผมเป็นกังวลกับพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนอยู่ข้างล่าง โดยที่เขาไม่เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรให้กับเขา เพราะบางอย่างอาจจะยังไม่ถึงเขา บางอย่างถึงแล้ว แต่เขาต้องการมากขึ้น บางที่ยังไม่ถึง คนบางคนกำลังบิดเบือนว่าถ้าวันหน้าเขาจะทำให้ใหม่ แล้วก็คนเก่าๆ ทั้งสิ้นนะครับ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ทำความเข้าใจด้วย
ฝากบรรดาส่วนราชการต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ด้วยนะครับ กรุณารวบรวมสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำมาไม่ว่าจะของเดิม ของใหม่ แก้ไขปัญหากฎหมาย กฎหมายวันนี้ก็ยิ่งมีความขัดแย้งมาก ผมถึงต้องบอกแล้วว่าต้องมอง 2 ทางด้วยกัน ว่าท่านต้องการอะไรให้มันดีขึ้น ต้องการความปลอดภัยให้มากขึ้น บางอย่างกฎหมายก็ต้องปรับแก้ ถ้าท่านบอกว่าปล่อยทุกอย่างอิสระเสรี แล้วมันจะได้ไหมล่ะครับ ที่พูดมาทั้งหมดน่ะ ไม่ได้หรอกครับ
เพราะฉะนั้นจึงต้องทำงานร่วมกันที่เรียกว่าประชารัฐ เพราะฉะนั้นในการลงพื้นที่ครั้งนี้ผมถือว่าผู้ที่ได้ผลประโยชน์สูงสุดคือประชาชนนะครับ แล้วรัฐบาลก็ได้ประโยชน์จากการที่ประชาชนให้ข้อมูลชัดเจน และสื่อสารกันด้วยความเข้าใจว่าได้หรือไม่ได้ นี่ได้เมื่อไร เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจกันนะครับ
ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนะครับ ทั้งฝ่ายรัฐบาลส่วนล่วงหน้า ประชาชนในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้อนรับเป็นอย่างดียิ่งนะครับ ผมก็ไม่ชอบที่เป็นพิธีทางการมากนัก ทานอะไรง่ายๆ ใกล้ขิดประชาชนให้มากๆ นะครับ
สุดท้ายนี้ ...นอกจากเรื่องสภาพลมฟ้าอากาศ อันจะนำมาซึ่ง “ปัญหาอุทกภัย” ในปัจจุบันนะครับ เราก็พยายามแก้มาโดยตลอด หลายอย่างก็ดีขึ้น แต่เราอย่าคิดว่ามันจะไม่กลับมาอีก ถ้าหากว่ามีพายุอะไรเข้ามา ต้องเตรียมการ เตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลานะครับ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเป็นห่วงพี่น้องประชาชนก็คือ เรื่องการรักษาสุขภาพนะครับ โดยองค์การอนามัยโลกมีรายงานว่าทุกประเทศทั่วโลก พบผู้ป่วย “โรคไม่ติดต่อ” เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันสูง ประเทศไทยมีอัตราป่วยโรคเหล่านี้สูงเช่นกันนะครับ
แต่ที่น่ายินดีก็คือ ประเทศไทยได้รับการประเมินและชื่นชม จากองค์การอนามัยโลก ว่ามีการดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุม “โรคไม่ติดต่อ” ได้ดีเยี่ยม ติด 10 อันดับแรกของโลก น่าภูมิใจนะครับ ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียด้วย สิ่งดีๆเหล่านี้บางทีไม่ทราบนะครับ ทุกคนก็ไปบิดเบือนเป็นเรื่องของความเดือดร้อนอะไรต่างๆ มากมาย การเมือง เรื่องประชาธิปไตย โดยลืมไปว่านี่เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศนะครับ
“โรคไข้หวัดใหญ่” ซึ่งเป็น “โรคติดต่อ” ที่มีแชร์ข้อมูลในสื่อโซเชียลในปัจจุบัน แล้วก็สร้างความตื่นกลัวให้กับพี่น้องประชาชน ความจริงแล้ว ในปีนี้มีจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่นี้ จำนวน “ลดลง”
สาเหตุของอาการที่ทรุดลง หรือเสียชีวิต เนื่องยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในการดูแลรักษาอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก แล้วก็มักจะไม่ไปปรึกษาหมอนะครับ พบแพทย์ ไปซื้อยาปฏิชีวนะ หรือยาสมุนไพรกินเอง จึงขอแนะนำว่า หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดเมื่อยร่างกาย ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
นอกจากนี้ ควรป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ “ทุกสายพันธุ์” หลักง่ายๆ ก็คือ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” นะครับ หมายถึง “ปิดปาก ปิดจมูก” ด้วยหน้ากากอนามัย หากจะไอ – จาม ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง เพื่อรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคม
“ล้างมือบ่อย ๆ” ด้วยน้ำและสบู่ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร “หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย” หรือในสถานที่แออัด มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก
และ “ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม” แม้มีอาการป่วยเล็กน้อย ก็ควรหยุดพักผ่อนรักษาตัวอยู่ที่บ้านนะครับ จนกว่าจะหายเป็นปกติ สงสัยให้สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 นะครับ
ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” รักษาสุขภาพ และ “ทุกครอบครัว” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นะครับ สวัสดีครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |