ปัจจุบันเด็กยุคใหม่กลายเป็นเหยื่อของโลกโซเชียลมากขึ้น ทั้งถูกล่อลวงไปทำอนาจารและถ่ายคลิปไว้สำหรับแบล็กเมล์ เยาวชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไหนจะถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ยาลดความอ้วน จากปัญหาที่เกิดขึ้นก็มีเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งลงพื้นที่ให้ความรู้น้องๆ หนูๆ ในการรู้เท่าทันภัยโซเชียล และบางแห่งก็มีจัดการทำแอปพลิเคชันตรวจสอบเว็บไซต์ออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม หรือบางหน่วยงานก็ได้มีการเปิดรับจิตอาสา เพื่อทำหน้าที่รับตรวจสอบและติดตามสื่อโซเชียลที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน
ทว่าคำถาม??? ที่เกิดตามมา คือภารกิจที่เครือข่ายรู้เท่าทันสื่อได้สร้างขึ้นมา มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ อีกทั้งเมื่อดำเนินงานไปแล้วมีการติดตามผลการทำงานอย่างไรบ้าง เพราะกระแสข่าวสถิติเยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อแช้ตและแชร์นั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ
พี่ปู-วันชัย บุญประชา เลขานุการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ให้ข้อมูลว่า แม้ปัจจุบันจะมีเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อเกิดขึ้นหลายแห่งด้วยกัน แต่การจะบอกว่ามีประสิทธิภาพประสิทธิผลแค่ไหน ก็ต้องดูที่เจตนาของผู้เฝ้าระวังสื่อ เพราะถ้าหากทำด้วยเจตนาที่ดี ไม่ได้แอบแฝงการกลั่นแกล้งสื่อออนไลน์ที่เป็นคู่แข่งกัน และหาก “กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ” ได้รับการฝึกฝนทักษะ ในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ดี ตรงนี้ก็จะทำให้เขาสามารถเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ดีได้มากขึ้น
พูดง่ายๆ ว่า ดีกรีของเฝ้าติดตามสื่อที่กระทำไม่เหมาะสมต่อเยาวชนก็จะดีขึ้นเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่สำคัญนอกจากเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังฯ ที่ดีแล้ว แต่ต้องทำงานใน 2 ลักษณะควบคู่กันก็จะทำให้ประสบผลสำเร็จ หรือสะท้อนไปยังผู้ผลิตสื่อออนไลน์ไม่เหมาะสมได้ตระหนักรู้และระวังมากขึ้น ในสร้างสรรค์เนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการทำให้เขารู้ว่าตอนนี้กำลังมีคนจับจ้องเขาอยู่ หากว่าผลิตสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ออกมาต้องติดอาวุธรู้เท่าทันตั้งแต่เล็ก
ต้องติดอาวุธรู้เท่าทันตั้งแต่เล็ก
“อย่างแรกที่จะทำให้เด็กรู้เท่าทันสื่อแบบไม่ตกเป็นเหยื่อ ก็คงต้อง “สอนให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม” ว่าตัวเยาวชนอาจตกเป็นเหยื่อของโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ทั้งจากทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ ตลอดจนสื่อออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ที่สำคัญเด็กจะต้องไม่นิ่งเฉย ซึ่งความรู้เท่าทันสื่อเหล่านี้ต้องผลักดันให้เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา แต่เนื่องจากจำนวนเด็กเยาวชนทั่วประเทศมีสูงถึงราว 25 ล้านคน ดังนั้นการมี “ระบบมอนิเตอร์” หรือการที่มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มาให้ข้อมูลความรู้ในลักษณะของการบอกข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ก็จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการเท่าทันสื่อที่ไม่เหมาะสม และมีภูมิต้านทานสิ่งที่ไม่ดีมากขึ้น เช่น หากมีการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับสินค้าและอาหารไม่ปลอดภัยในโลกโซเชียล ซึ่งหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญก็จะให้ข้อมูลว่าจริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร โดยไม่ชี้ผิดถูก แต่จะให้เด็กเป็นตัดสินใจเอง เป็นต้น”
ส่วนคำถามที่ว่าช่องทางในการเฝ้าระวังสื่อในปัจจุบัน ที่องค์กรเครือค่ายเฝ้าระวังสื่อต่างๆ ได้จัดทำออกมานั้นมีเพียงพอหรือไม่ อย่างไร พี่วันชัยบอกให้ฟังว่า อันที่จริงแล้วเครื่องมือหรือแม้แต่แอปพลิเคชันต่างๆ ไม่สำคัญเท่ากับการที่ชุดเครื่องมือเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้คนตื่นตัว และไม่นิ่งเฉยเมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อของสื่อที่ไม่เหมาะสม แต่สิ่งที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการตื่นตัวของผู้บริโภค เมื่อกำลังรู้สึกว่าตัวเองได้รับความไม่เป็นธรรมจากสื่อโซเชียล เช่น “เรื่องอาหารและบริการที่ไม่ปลอดภัย” เรื่องนี้คนจะตื่นตัวมากครับ ก็รู้สึกว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการที่คนเริ่มตระหนักรู้และใส่ใจในการไม่ตกเป็นเหยื่อโลกออนไลน์ในเรื่องนี้มากขึ้นครับ"
กฎหมายต้องครอบคลุมและศักดิ์สิทธิ์
ด้าน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ตัวแทนเครือข่ายสิทธิเด็กแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองว่า สำหรับเรื่องการเฝ้าระวังและติดตามสื่อที่ไม่เหมาะสม ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ แต่ทั้งนี้คงไม่ถึงกับไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่จำเป็นต้องร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ยกตัวอย่างว่า นอกจากการเพิ่มช่องทางในการให้ความรู้เกี่ยวกับเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ที่ไม่ปลอดภัยกับเด็ก เยาวชนแล้ว กฎหมายในการเอาผิดกับผู้ที่ผลิตสื่อไม่เหมาะสมก็ต้องออกมาให้สอดรับกัน ที่สำคัญผู้บริโภคเมื่อได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงจากโซเชียล ก็ต้องช่วยกันแจ้งความ หรือแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เจ้าพนักงานทุ่มกำลังมาตรวจติดตามเรื่องนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ค่อนข้างมีภารกิจมาก ดังนั้นหากมีผู้เสียหาย หรือผู้ปกครองพาเด็กและเยาวชนมาร้องเรียน ก็จะทำให้เรื่องนี้ไม่ถูกเพิกเฉยหรือถูกมองข้ามไป
“ที่ผ่านมาหลายคนที่เล่นเฟซบุ๊กอาจเคยถูกหลอกขายสินค้าที่ด้อยคุณภาพ แต่เยาวชนหรือคนทั่วไปที่ใช้สื่อโซลเชียลดังกล่าวก็มักจะช่วยกันเตือนภัยกันเองในรูปแบบของการแชร์ข้อมูล หรือแม้แต่การเข้าไปแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุภาพกับผู้ที่หลอกขายของออนไลน์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีผู้ที่อยากได้โดยไม่ได้เข้าไปหาคอมเมนต์เตือนภัยดังกล่าว แต่กลับกลายเป็นว่าได้เข้าไปสั่งซื้อสินค้า เพราะความอยากได้ ประกอบข้อความที่มีผู้แสดงความคิดเห็นด้านลบจากการขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานก็สามารถลบออกได้
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ผู้เสียหายอาจจำเป็นต้องแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อไม่ให้เรื่องนี้เงียบหายไป อีกทั้งการให้ข้อมูลของหน่วยงานเฝ้าระวังสื่อก็ต้องบอกให้ผู้บริโภครู้ว่า ขั้นตอนการแจ้งความเอาผิดเมื่อถูกหลอกจากโลกโซเชียลนั้นทำอย่างไร เช่น ต้องเริ่มจากการก๊อบปี้หน้าจอ ของโฆษณาชวนเชื่อเอาไว้ ชื่อเฟซบุ๊กอะไร และจะต้องแจ้งที่ไหน ทั้งนี้ เพื่อทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเห็นว่า เมื่อการแจ้งกับหน้าที่ตำรวจแล้วได้มีการจับปรับ หรือเห็นเป็นรูปธรรมมากแค่ไหน หรือได้เงินคืนจากการถูกหลอกซื้อสินค้าครบหรือไม่ อย่างไร ในส่วนของพ่อแม่และครูอาจารย์ในโรงเรียน ก็ต้องหมั่นคอยเตือนหรือพูดคุยให้เด็กๆ ระมัดระวังตัว เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงจากการเล่นโซเชียล เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าการเฝ้าระวังสื่อไม่เหมาะสม ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่ายค่ะ”
ในส่วนของการติดตามผลจากการได้รับผลกระทบในการใช้โซเชียล โดยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องทางด้านไอทีนั้น ทั้งเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตลอดจากการที่เด็กถูกหลอกลวงให้ติดเกมออนไลน์ หรือที่เด็กถูกถ่ายคลิปอนาจาร ดร.ศรีดา สะท้อนว่า
“ต้องบอกว่ายังไม่ค่อยมีการติดตามผลจากผู้ร้องเรียน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคดีที่เกี่ยวข้องกับระบบไซเบอร์จะค่อนข้างยากในการติดตามและหาข้อมูล หรือต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ แต่ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะขึ้นอยู่กับองค์กรที่รับแจ้งว่าต้องการที่จะแถลงผลให้กับประชาชนรับรู้มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างว่า เมื่อมีผู้มาร้องเรียนเรื่องการถูกหลอกลวงจากโซเชียล กระทรวงดิจิทัลฯ ที่ทำงานด้านนี้ก็จะออกมาแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า ตอนนี้ได้บล็อกเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมไปเท่าไรแล้ว เป็นต้นค่ะ กล่าวได้ว่า หน่วยงานที่ทำงานด้านเฝ้าระวังสื่อ ในปัจจุบันเน้นการประชาสัมพันธ์ ให้รู้ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในโลกโซเชียล แต่ถ้าสามารถตรวจสอบ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานได้ ก็จะช่วยกระตุ้นให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นไป เพราะอย่างที่เรียนไปว่า การทำงานเรื่องเฝ้าระวังสื่อไม่เหมาะสมต้องร่วมมือกันหลายฝ่ายๆ ค่ะ”.
คนไทยติดโซเชียลงอมแงม
เมื่อเร็วๆ นี้มีข้อมูลจากงานเสวนาเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันปัญหาการเผยแพร่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางสื่อออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “พฤติกรรมออนไลน์ ภัยหรือสร้างสรรค์” ที่สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจัดขึ้น ระบุว่า ข้อมูลของสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ที่สำรวจพฤติกรรมการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า คนไทยใช้สื่อออนไลน์มากถึงร้อยละ 86.9 โดยใช้ในวันทำงาน หรือวันเรียน 3.30 ชม./วัน วันหยุด 3.36 ชม.
ส่วนใหญ่โพสต์ข้อความ ภาพและคลิปต่างๆ เพื่อสร้างกระแสรับรู้ทั้งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ และถ่ายทอดสดหรือ Live สด มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ฆ่าตัวตาย ทำร้าย แสดงออกเกี่ยวกับพฤติกรรมหัวร้อนที่เป็นกระแสทางลบ ส่งผลต่อพฤติกรรมเลียนแบบให้เด็กที่ยังขาดวิจารณญาณ สอดรับกับสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพล ที่ระบุว่า ร้อยละ 61.45 ยอมรับว่า Live สด ทำให้มีการใช้งาน Social Media เพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.04 เห็นว่า Live สดที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้เกิดการเลียนแบบ ร้อยละ 66.72 คิดว่าทำให้เกิดความเครียด ร้อยละ 71.83 เห็นว่าสื่อโทรทัศน์ที่นำภาพการที่ไม่เหมาะสมของสื่อออนไลน์ไปเผยแพร่ยิ่งเพิ่มความรุนแรงในสังคม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |