รัฐบาลท้องถิ่นรัฐเกรละของอินเดียที่ประสบอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี โจมตีรัฐบาลฮินดูชาตินิยมในกรุงนิวเดลีเป็นหมาหวงก้าง ที่ปฏิเสธรับความช่วยเหลือมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์จากยูเออี ขณะผู้ประสบภัยกว่าล้านคนยังต้องอาศัยตามศูนย์พักพิงแม้น้ำจะลดลงแล้ว
นักศึกษาอินเดียถือป้ายเรียกร้องขอรับบริจาค เพื่อนำไปช่วยผู้ประสบอุทกภัยที่รัฐเกรละ / AFP
รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เสนอให้ความช่วยเหลือแก่รัฐทางใต้ของอินเดียแห่งนี้ 100 ล้านดอลลาร์ ส่วนรัฐบาลกาตาร์เสนอเงินช่วยเหลือ 5 ล้านดอลลาร์ ประเทศมุสลิมทั้ง 2 ประเทศจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียมีแรงงานอินเดียทำงานอยู่จำนวนมาก รัฐเกรละที่ประสบภัยก็มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่รัฐบาลของนายกฯ นเรนทรา โมดี ซึ่งเป็นฮินดูชาตินิยม มีนโยบายปฏิเสธรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ
เมื่อคืนวันพุธ กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียประกาศว่า อินเดียจะยังคงยึดมั่นกับนโยบายช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูด้วยกำลังจากภายในประเทศ และไม่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างชาติ ส่วนเงินที่ต่างชาติจะมอบให้นั้นสามารถทำได้ด้วยการบริจาคผ่านชาวอินเดียหรือมูลนิธิของอินเดีย
โธมัส ไอแซค รัฐมนตรีคลังรัฐเกรละที่เป็นสังคมนิยม กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561 โจมตีรัฐบาลกลางที่ปฏิเสธรับเงินจากรัฐบาลต่างชาติ ว่าใช้นโยบายหมาหวงก้าง และหากรัฐบาลอนุรักษนิยมของโมดีไม่ยอมรับข้อเสนอของยูเออี พวกเขาก็ควรชดเชยให้รัฐเกรละ
ด้าน พีนารายี วิชายัน มุขมนตรีรัฐเกรละ เรียกร้องให้มีการเจรจาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างรัฐบาลเกรละกับรัฐบาลกลางเพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งนี้
ชายชาวอินเดียขนน้ำดื่มและอาหารที่แจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยในเมืองปันดานาด เมื่อวันอังคาร / AFP
รายงานเอเอฟพีกล่าวว่า อุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษของเกรละตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ทำให้มีคนเสียชีวิตและสูญหายรวมอย่างน้อย 420 คน และมากกว่า 1.3 ล้านคน ต้องอาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิงชั่วคราว ถึงแม้ว่าระดับน้ำจะลดลงมากแล้ว
ในอดีตอินเดียเคยปฏิเสธรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ภายหลังเหตุการณ์สึนามิถล่มมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 ซึ่งคร่าชีวิตคนในอินเดียหลายพันคน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกันว่า รัฐบาลอินเดียต้องการพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้เอง
รัฐเกรละประเมินว่า อุทกภัยครั้งนี้สร้างความเสียหายมูลค่ามากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ น้ำท่วมสร้างความเสียหายหรือทำลายถนนเป็นระยะทางถึง 10,000 กิโลเมตร และประเมินว่ามีบ้านเรือนเสียหายต้องสร้างใหม่ 20,000-50,000 หลัง
ตามข้อมูลของมุขมนตรีรัฐเกรละนั้น ขณะนี้มีชาวบ้านอยู่ในศูนย์บรรเทาทุกข์ 3,300 แห่ง รวมกว่า 1.34 ล้านคน เพิ่มขึ้น 300,000 คน ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ผู้อพยพที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนมากกลับมายังศูนย์พักพิงภายหลังกลับไปบ้านแล้วพบว่าบ้านของพวกเขาไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีก
ตำรวจกล่าวว่า เมื่อวันพุธมีรายงานว่า ชายวัย 68 ปี ฆ่าตัวตายภายหลังเห็นสภาพบ้านของเขาในเมืองโคธาด เขตเออร์นากุลัม และเมื่อต้นสัปดาห์ มีหนุ่มวัย 19 ปี ฆ่าตัวตายเพราะวุฒิบัตรการศึกษาสูญหายไปกับน้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |